ปัญหาในการทำกิจกรรม TPM


ถ้าพนักงาน อ่าน -เขียน หนังสือไม่ได้จะ share ความรู้กันได้อย่างไร

หลังจากที่ผมได้เคยแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับกิจกรรม TPM ไปแล้วมาวันนี้หลังจากได้รับ assignment สัปดาห์นี้เรื่องแรกที่นึกถึงว่าจะเกี่ยวข้องก็คือกิจกรรม TPM นี่แหละครับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำ KM ที่ใหญ่ที่สุดที่ผมประสบอยู่ทุกสัปดาห์ในการประชุมกิจกรรม TPM ของบริษัท
จากการที่ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น TPM Coordinator ของบริษัท(ด้วยผู้บริหารคิดว่าผมนี่แหละครับเหมาะสมที่สุด) หลังจากที่ผมได้รับการอบรม course TPM ว่า TPM คืออะไร มีขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรมอย่างไรบ้างก็คิดว่า TPM นี่ไม่ยากเท่าไรหรอกน่า......ที่ว่ามีขั้นตอนการดำเนินงาน 7 step มีการวางแผนการกิจกรรมกัน 5-7 ปี over กันมากไปหรือเปล่า (ที่ปรึกษาอยากได้ค่าจ้างเยอะละสิ หรือว่า TPM center ของบริษัทกลัวว่าจะไม่มีงานทำ) จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาผ่านไป 3 ปี ครึ่งเร็วเหมือนโกหก ก็ไม่อยากจะเล่าให้ฟังเลยครับว่าตอนนี้กิจกรรมเพิ่งจะดำเนินการใน step ที่ 2 เองครับ(ยังไปไม่ถึงครึ่งทางและไม่ได้ตามแผนอีกต่างหาก)
ในการทำกิจกรรม TPM นั้นจะต้องมีคณะทำงานก่อนอันประกอบด้วย  Pillar ทั้ง 8 คือ
1. การให้ความรู้และการฝึกอบรม
2. การบำรุงรักษาด้วยตนเอง
3. การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง
4. การบำรุงรักษาตามแผน
5. ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
6. การบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพและรักษาคุณภาพ
7. การควบคุมเบื้องต้นสำหรับเครื่องจักร / ผลิตภัณฑ์ใหม่
8. การเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานบริหาร
ซึ่งทั้ง 8 ท่านที่มาทำหน้าที่ pillar นี้แหละครับจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม TPM ให้สามารถดำเนินไปได้นอกจาก pillar ทั้ง 8 แล้วก็ยังมีสมาชิกกลุ่มย่อย(Small Group) ในการทำกิจกรรมอีกด้วย Small Group ก็มาจากพนักงานที่ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรนี่แหละครับไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกเพราะคลุกคลีทำงานกับเครื่องจักรทุกวันย่อมรู้จักเครื่องจักรนั้นดี
ก็มาต่อกันเลยครับว่าตอนนี้กิจกรรมที่ทำอยู่นั้นเป็นอย่างไรและพบกับปัญหาอะไรบ้างทำไมจึงล่าช้ากว่าแผนนักก็ขออธิบายคร่าวๆดังนี้ TPM Step 1 การทำความสะอาดเบื้องต้นเพื่อค้นหาข้อบกพร่อง ซึ่งก็มี concept ในการทำง่ายๆครับ   การทำความสะอาดคือ การตรวจสอบ “Cleaning is Inspection” การตรวจสอบ คือ การค้นหาปัญหาและเมื่อพบปัญหาต้องทำการฟื้นฟูกลับสภาพเดิมและการปรับปรุงเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
หลังจากที่ทำการประชุมชี้แจงให้ small group ทราบว่า TPM Step 1 มี concept อย่างไร  Small Group ก็เริ่มงานกันเลยครับ เริ่มทำแผนการทำความสะอาดกันเลย set ไว้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
อะไรคือ การทำความสะอาด??? ที่บอกว่าทำความสะอาดกันทุกสัปดาห์มองดูข้างนอกน่าชื่นชมมากครับผิดหูผิดตาเลยข้างนอกดูสะอาดมันวับแต่อย่าเปิดดูข้างในครับ......มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ดังนั้นคณะทำงานก็ต้องทำการชี้แจงพนักงานให้ตระหนักว่าการทำความสะอาดนั้น มีความหมายมากกว่าการขัดเงาภายนอก ตู้ควบคุมไฟฟ้าหรือฝาครอบ แต่ยังหมายถึงการขจัดสิ่งสกปรกที่ปกคลุมสะสมมานับปีบนทุกส่วนของเครื่องจักรออกทั้งหมด โดย
1.        การเปิดฝาครอบฝาปิดทั้งหลายออก
2.        ถ่ายน้ำมันในถังเก็บทิ้ง
3.        สัมผัสแตะต้องชิ้นส่วนของเครื่องจักรที่เราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน
การทำเช่นนี้ จะทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ที่มันผิดปกติไป หรือไม่น่าจะเป็นแบบนั้น ทำให้เราต้องไตร่ตรองดูว่าที่แท้จริงแล้ว เครื่องจักรควรจะเป็นอย่างไร การทำความสะอาดที่ไม่เปิดเผยปัญหาและสิ่งผิดปกติออกมาเป็นการละเลยความเชื่อมโยงที่สำคัญยิ่งระหว่างการทำความสะอาดกับการตรวจสอบ 
นอกจากการทำความสะอาดเครื่องจักรแล้วกิจกรรม TPM Step 1 ยังมีอีก 3 กิจกรรมที่ต้องทำคือ       
1.  การประชุมกลุ่มย่อย (Small Group Meeting) – กลุ่มย่อยต้องมีการประชุมเป็นประจำ โดยแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ รวมทั้งมีบันทึกผลการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อการติดตามผล
                2. กระดานแสดงกิจกรรม (Activities Board) – แสดงขั้นตอนของกิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยตนเอง และผลการดำเนินงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมไปถึงจำนวนข้อบกพร่องและสื่อสารในเรื่องบทเรียนประเด็นเดียว
                3. บทเรียนประเด็นเดียว (One Point Lesson) – เป็นการฝึกให้พนักงานได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเองและสามารถสอนผู้อื่นได้ อันนี้แหละครับที่อยากจะเล่าถึงปัญหาที่พบในการทำกิจกรรม TPM ว่ามีอะไรบ้าง
ในการที่จะทำให้พนักงานได้มีการ share knowledge กันได้

บทเรียนประเด็นเดียว – OPL (One Point Lesson) คือ การเขียนสรุปรายการหนึ่งประเด็นลงบนกระดาษ 1 หน้า   โดยสมาชิกกลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมนั้นต้อง นำสิ่งที่เป็นความรู้ต่างๆ มาเขียนลงในแบบฟอร์ม เพื่อที่จะได้ทำการถ่ายทอดให้กับสมาชิกกลุ่มได้รับทราบต่อไป โดยความรู้ / สิ่งต่างๆ ที่จะนำมาเขียนนั้น แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

ความรู้พื้นฐานเสริม อะไรที่ควรจะรู้ จากจุดที่มองว่ารู้จริงๆ หรือเปล่า หาทางสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (หาจากหนังสือ , วารสาร , ฯลฯ                                                                       
ตัวอย่างปัญหาสู่ปัญหา   จากมุมมองว่า ความรู้เทคนิคอะไรที่ผิดอยู่ และจะนำไปสู่ปัญหาอะไร และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น จำเป็นต้องรู้อะไร     
ตัวอย่างการแก้ไขปรับปรุง  ต้องลงไปลึกถึงราก ต้องทำแผนปรับปรุงการดำเนินการโดยให้แนวคิดที่จะทำให้เกิดผลปรับปรุงงาน
ความปลอดภัย / สภาพแวดล้อม จุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การหลีกเลี่ยงและการป้องกันเพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

 

ปัญหาที่พบสำหรับกิจกรรมการเขียน OPL ก็คือ พนักงานเขียน OPL กันน้อยมากครับในกลุ่มมีพนักงาน 5 คน เวลาผ่านไป 3 เดือนมีเขียนกันไม่ถึง 10 เรื่อง (จากเป้าหมายว่าต้องมีการเขียน OPL 1 เรื่อง/คน/สัปดาห์)  ทีมงานก็ต้องมีการประชุมเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและสอบถามจาก small group  ว่าทำไมจึงไม่ค่อยจะเขียน OPL กันเลย ก็ได้คำตอบว่าไม่รู้จะเขียนอะไร บ้าง หรือว่าบางเรื่องที่จัดว่าเป็นความรู้พื้นฐานนั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องง่ายๆ สมาชิกในกลุ่มนั้นก็รู้และทราบดีกันอยู่แล้วก็ไม่น่าจะต้องเขียนและถ่ายทอดให้เพื่อนในกลุ่มทราบอีก
หลังจากนั้นผมได้ได้มีการประชุมร่วมกับ TPM center และคณะทำงานกิจกรรม TPM ของบริษัทต่างๆ ในกลุ่มบริษัทศรีตรังฯ พอได้ sharing ปัญหาที่พบเรื่องพนักงานไม่ค่อยจะเขียน OPL ก็พบปัญหาที่คล้ายกันนี่แหละครับ แต่บางบริษัทก็มีปัญหามากกว่าที่ผมพบอีกนั่นก็ คือ พนักงานอ่าน-เขียน หนังสือไม่ได้ก็บางตำแหน่งงาน เช่น พนักงานล้างยางนี่ไม่ต้องใช้แรงงานที่มีการศึกษานี่ครับ จบ ป4. ก็ทำงานได้ พนักงานเขียนได้แต่ชื่อของตัวเอง (เพื่อเซ็นต์รับเงินเดือน) ก็เพียงพอแล้วแล้วจะไปหวังว่าเขาจะเขียน OPL ได้อย่างไร 
จากปัญหาเหล่านี้ที่ปรึกษากิจกรรมก็แนะนำว่าการถ่ายทอดความรู้ของกิจกรรมการเขียน OPL นั้นถ้าพนักงานไม่ถนัดเรื่องการเขียนก็สามารถให้ถ่ายทอดจากรูปภาพได้ซึ่งก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าการเขียนเสียอีกหรือว่าให้พนักงานแจ้งหัวหน้างานให้ช่วยเขียน OPL ให้ก็ได้เหมือนกัน
จากนั้นก็ได้แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการเขียน OPLดังนี้ครับ
1.ชี้แจงให้พนักทราบว่าการเขียน OPL สามารถ ทำได้ทั้งการเขียนบรรยายและใช้อธิบายด้วยรูปภาพ
2.สำหรับพนักงานไม่สามารถเขียนหนังสือได้ก็ให้แจ้งหัวหน้างานให้เป็นผู้เขียนให้
3.จัดการรณรงค์การเขียน OPL ด้วยการให้รางวัลแก่พนักงานเพื่อจูงใจให้เขียน OPL จัดประกวดการเขียน OPL
จากนั้นกิจกรรมการเขียน OPL ก็ดีขึ้นเรื่อยๆครับพนักงานให้ความร่วมมือมากขึ้น กิจกรรมก็ดำเนินต่อไปได้
วันหน้าผมจะเล่าต่อนะครับว่ากิจกรรม TPM ที่ทำนั้นมีอุปสรรคและแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2580เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2005 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีแบบฟอร์มตัวอย่างบ้างไหมค่ะ

จาก นายรัก  องค์กร

เชื่อหรือไม่ว่า ที่ๆผมอยู่ small group ของผมมี 2 คน มีหัวหน้ากับเลขาฯ ครับ เลขาทำอะไรไม่เป็น (แม้แต่คิด) สรุปผมต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่คิด.. ทำ.. สรุป.. และโกหก ผ่านมา 3ปีแล้วครับ พนักงานลาออกไปหลายคน  สมองผมเบลอ.. งานผมเสีย..สุขภาพผมแย่.. ครอบครัวผมหย่า.. เจ้านายหัวเราะร่ากับผลสำเร็จ

TPM เป็นกิจกรรมที่ดีครับ ถ้าอยู่ในองค์กรที่มีผู้บริหารที่ดี ไม่เห็นแ่ก่ตัว หวังว่าเพื่อนๆ คงไม่เหมือนผม

 

 

ผมเห็นด้วยกับนายรัก องค์กร ครับ

ตอนนี้ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธาน TPM แต่มีความรู้นิดเดียวหาอ่านตามบทความมันจะรอดไหมครับ

บัง กลโลหะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท