การศึกษาเพื่อ "หาเงิน..."


ขอเพิ่มเติมมุมมองเชิงระบบ เพิ่มเติมจาก หนึ่งโลกเปลี่ยน สอง ระบบไม่เปลี่ยน เป็นสาม “สังคมเปลี่ยน...”

หลังจากที่ได้อ่านบทความช่วงแรกของ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ในเรื่อง ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้  ที่ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสเจอท่านที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้เดินทางร่วมกันไปที่เขื่อนดิน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเนื้อความที่ขออนุญาติเพิ่มเติมมีดังนี้

ในมุมมองของเราขอหยิบยกปัญหาการศึกษาในมุมมองเชิงระบบขึ้นมาอีกข้อหนึ่งก็คือ “สังคมเปลี่ยน”

เมื่อก่อนคนเราตั้งใจเรียนเพื่อที่จะทำงานในสิ่งที่ตนรัก คือ เรียกว่า “ทำงานตามอุดมการณ์”
แต่ปัจจุบัน คนเราตั้งใจเรียนเพื่อที่จะทำงานในสิ่งที่ตนรักเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากอุดมการณ์เป็น “เงิน”

เมื่อก่อนคนเรารักที่จะทำงานเป็นครู เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นทหาร เป็นตำรวจ ก็เพื่ออุดมการณ์ที่ใฝ่ฝันว่าจะกลับมาพัฒนาประเทศชาติและสังคม
แต่เด็ก ๆ สมัยนี้กลับตั้งต้นมองว่า อาชีพใดทำงานแล้ว “ได้เงินมาก” เงินซึ่งจะนำมาซึ่งฐานะ ชื่อเสียง เกียรติยศ และ “ผู้หญิง (คู่ครอง)” ขออนุญาตถกกันแบบตรง ๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมและห่วงถึงเนื้อหาวิชาการ

เด็ก ๆ สมัยนี้มองกันว่าทำงานอะไรจะได้เงินมาก จะมีเงินซื้อของไหม ผู้หญิง หนุ่ม ๆ จะมองหรือเปล่า จะได้แฟนสวยไหม ทำอาชีพนี้จะได้แฟนหล่อ ๆ รวย ๆ จบมาแล้วทำงานสบาย มีเงินเยอะ ซึ่งเงินจะนำมาซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

ด้วยเหตุนี้เอง “อุปสงค์ (Demand)” ของตลาดการศึกษาจึงมุ่งเป็นที่การ “เอนทรานซ์” เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งนั่นเป็นบันไดขั้นแรกของชื่อเสียง เกียรติยศ ทั้งตนเอง และ “วงศ์ตระกูล”

การสอบเข้าในสถานศึกษาในระบบ มหาวิทยาลัยปิด รวมถึงการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมนายร้อยต่าง ๆ เป็นค่านิยมของสังคม ที่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง มุ่งหวัง และปลูกฝัง บอกเด็ก ๆ ว่าดีนะ โก้นะ สบายนะ ได้เงินเยอะนะ มีคู่ครองดีนะ

ใจเด็กสมัยนี้มุ่งเงินเป็นอุดมการณ์...
อยากเป็นทหารไหม ไม่รู้ อยากเป็นตำรวจไหม ไม่แน่ อยากเป็นหมอไหม อันนี้ก็แล้วแต่
แต่ทว่าสอบติดแล้ว ระหว่างเรียน หลังเรียน “สบาย” เงินทอง ทรัพย์สิน ชื่อเสียง เกียรติยศติดตามมามากมาย เด็กทั้งหลายจึงได้ทะล้น และทะลักเข้าไปสอบเพื่อที่จะได้เข้าไปเรียน...

อีกทั้งวิศวกร สถาปนิก นักนิเทศศาสตร์ นักคอมพิวเตอร์ อาชีพอันหรูหรา ฟู่ฟ่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวทำให้ “อุปสงค์การศึกษา (Demand of Education)” เปลี่ยนไป

เมื่ออุปสงค์มีมากขึ้น อุปทาน (Supply) จึงต้องขับตาม
เมื่อก่อนเราเคยคุมอุปทานกันได้ คือ โควต้าในแต่ละปี แต่ละเอกมีเท่านี้ ก็เท่านี้ มหาวิทยาลัยไม่แคร์ที่จะต้องเปิดห้องเพิ่ม รับเพิ่ม เพราะไม่รับก็อยู่กันได้

แต่ทว่า... เมื่อมหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบ ต้องเลี้ยงตนเอง อุปสงค์มากด้านไหน อุปทานก็ต้องปรับตามไปด้านนั้น

สถาบันราชภัฏเริ่มปรับเป็นลำดับแรก เนื่องด้วยเพราะงบประมาณเดิมที่มีจำกัด
สถาบันฝึกหัดครู ที่มีจุดแข็งเรื่องครู จึงต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตใน “คณะวิทยาการจัดการ” เป็นหลัก

คณะวิทยาการจัดการ คือ คณะที่ผลิตบัณฑิตในสายบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น บริหาร การจัดการ การตลาด โดยเฉพาะ “นิเทศศาสตร์” ซึ่งเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันของสังคมยุคบริโภคสื่อของเด็ก ๆ ในปัจจุบัน

คณะวิทยาการจัดการ จึงเป็นคณะที่ใหญ่ มีเด็กมาก มีบุคลากรมาก ไปโดยปริยาย
มหาวิทยาลัยราชภัฏปัจจุบันแทบเรียกว่าอยู่ได้เพราะคณะฯ นี้

อยู่ได้เพราะมีอุปสงค์มาก เปิดเท่าไหร่ก็ไม่พอ ในที่นี้หมายถึงอุปสงค์ของเด็ก

แต่อุปสงค์ของตลาดจริง ๆ แล้ว ต้องการ “ครู” แต่ ครู หรือบัณฑิตในสายครุศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดแข็งมาก ๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น กลับเป็นจุดมุ่งหมาย หรือตัวเลือกสุดท้ายของเด็ก ๆ
แทบเรียกว่า “สอบอะไรไม่ติดแล้วค่อยไปเรียนครู...”

วัตถุดิบนำเข้า (Inputs) หรือเด็กจบ ม.6 ในปัจจุบัน ถูกร่อนออกไปเป็นทหาร ตำรวจ หมอ วิศวกร สถาปนิก นักบริหารธุรกิจ เหลือจำนวนน้อยจริง ๆ ที่จะมาเป็น “ครู”

ครูในปัจจุบันถึงมีปัญหา เพราะต้นเหตุมาจาก Input

ต้องยอมรับกันจริง ๆ ว่า พื้นฐานอุปนิสัยของเด็ก ๆ ที่จะเข้าไปเรียนในสาขาใดนั้นสำคัญมาก
ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเอาใจใส่ ไหวพริบ สติปัญญา คนชั้นหมอกะทิถูกร่อนออกไปหมดแล้ว
คนที่เหลือมาเรียนครูในทุกวันนี้จึงเหลือเป็นหางกะทิ หรือจะเป็นคนที่มีอุดมคติจริง ๆ ก็มีน้อยมาก

แต่คนที่ IQ (Intelligent Quotient) มาก อัตตา (Ego) ก็มากตาม ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยที่ถูกนำด้วยคนเก่ง ๆ จึงมีปัญหา
เมื่อคนมี IQ สูง แต่ EQ (Emotional Quotient) ต่ำ จึงทำให้สังคมยิ่งเดินหน้าด้วย “เงิน” ไปกันใหญ่

เมื่อผู้นำซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเก่ง ๆ ที่จบมาได้งานดี ๆ ออกมาทำงานในสังคมแล้ว “ได้ดี”
เด็กเหล่านี้จึงกลายเป็นตัวอย่าง เป็นปูนียบุคคลที่สังคมยกย่อง หมู่บ้านยกย่อง โรงเรียนเก่ายกย่อง แล้วเด็ก ๆ ทั้งหลายก็จะต้องเดินตามรุ่นพี่เหล่านี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเกิด “วงล้ออุปสงค์แห่งเงิน (Demand of Money Cycle  )” เกิดขึ้น แล้วหมุนเปลี่ยนกันไปกันอย่างไม่รู้จบ

ครูถูกมองเป็นผู้ต้อยต่ำ รายได้น้อย เกียรติน้อย แม้แต่จะทำถูก ทำดี แต่ก็ไม่มีใครอยากจะเรียน
นักการเมือง รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ แม้จะทำผิด คอรัปชั่น แต่ใคร ๆ ก็มุ่งที่จะไปเรียน

คนดี คือ “คนที่มีเงิน”
คนไม่ดี คือ “คนที่ไม่มีเงิน”

สังคมนี้เปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนเป็นสังคมที่นับถือเงิน “เงินคือพระเจ้า”
เงินเป็นสิ่งกำหนดทิศทางการศึกษา รายได้เป็นสิ่งกำหนดอนาคตเด็ก
อีกทั้งรายได้ยังเป็นตัวกำหนดพันธกิจ วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย

เมื่อมีผู้เสนอ (เด็ก) และมีผู้สนอง (มหาวิทยาลัย) สังคมไทยก็จักต้องเดินไปด้วย “เงิน” เช่นนี้เอง...

หมายเลขบันทึก: 257740เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2009 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เมื่อมหาวิทยาลัยในระบบต้องปรับเปลี่ยนตามเพราะงบประมาณถูกตัด ก็ต้องหาเงิน หารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง

โปรโมชั่นการศึกษาจึงออกมาต่าง ๆ มากมาย

บัณฑิตศึกษาออกมาเพื่อเลี้ยง "อุดมศึกษา"

ปริญญาโท ปริญญาเอก ทำหลักสูตรออกมาเพื่อเลี้ยงปริญญาตรี

อุปสงค์ของนักเรียน นักศึกษามีด้านไหน มหาวิทยาลัยเปิดได้ ทำได้ในด้านนั้น

อาจารย์ คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในสาขานั้นซึ่งมีน้อย จึงต้องคอยวิ่งไปเปิดหลักสูตรกันจ้าละหวั่น

เวลาสอนมีน้อยลง เวลาใกล้ชิดเด็กมีน้อยลง เวลาสัมผัสกับปัญหาเด็กมีน้อยลง เวลาทำวิจัยในชั้นเรียนมีน้อยลง

สถานศึกษานอกระบบปรับเปลี่ยนตาม

สถานศึกษาของรัฐในระบบ มีกระทรวง ทบวง กรม กำกับ ยังปรับเปลี่ยน ไฉนเลยสถานศึกษาเอกชนจะไม่ปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

สถานศึกษาเอกชนปรับเปลี่ยนง่ายและไวกว่าของรัฐเสียอีก

เด็กอยากเรียนอะไร อยากเรียนสาขาไหน จัดได้ จัดได้

คอมพิวเตอร์ ภาษา หลักสูตร International มีจัดไว้ให้เพื่อล่อตา ล่อใจอย่างครบครัน

เมื่อคนทั้งหลาย ธุรกิจทั้งหลาย กลายเป็น "ธุรกิจการศึกษา" ที่มุ่งแต่จะทำมาซึ่ง "เงิน" แล้ว ย่อมไม่มองไปไกลถึงอนาคตข้างหน้า คือ เด็กที่จบออกมาจะตกงานไหม...?

เพราะจะตกหรือไม่ตกงานไม่ใช่เรื่องของเขา เพราะเขาได้ผลิตสินค้าและบริการครบถ้วนกระบวนความตามข้อตกลงแล้ว

ใบปริญญา และชื่อตนที่แสดงว่า "บัณฑิต" นั้น เป็นข้อตกลงและพันธะสัญญาของมหาวิทยาลัย

เด็กจบแล้วจะมีงานทำหรือไม่ จะตกงานหรือไม่ แรงงานในสาขานั้นจะล้นงานหรือไม่ สังคมจะมีปัญหาหรือไม่ แต่ "มหาวิทยาลัยไม่มีปัญหา..."

หากจะใจแข็ง ผลิตบัณฑิตที่ขาดแคลนโดยเฉพาะ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เด็ก ๆ ก็เรียนกันไม่ไหว เพราะพื้นฐานความรู้ที่ถูกบ่มเพาะจากครูตั้งแต่ ประถม และมัธยมนั้นมีไม่เพียงพอ

เด็ก ๆ สมัยนี้รักสบาย (ขี้เกียจ) มากขึ้น ตาม "อุดมการณ์เงิน"

เงินซื้อได้ทุกสิ่ง เด็ก ๆ สมัยนี้เลย "กระดูกไม่แข็ง"

พอกระดูกไม่แข็ง เรียนสายวิทย์ไม่ไหวก็หักเหไปเรียนสายศิลป์ เมื่อเรียนสายศิลป์เสร็จก็เลือกสอบในสาขาที่ขาดแคลนไม่ได้

หรือจะเลือกสอบได้ก็ไม่อยากเรียน เพราะว่า "มันยาก" เลือกเรียนสบาย ๆ ดีกว่า จะลำบากไปทำไม "พ่อแม่รวย"

รวยมากก็ไปเรียนต่างประเทศ เรียนคอมพิวเตอร์บ้าง ภาษาบ้าง กลับมาก็พกค่านิยมหรูหรา ฟู่ฟ่า มาสร้างปัญหาให้กับเด็กไทย

ตัวอย่างเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะตัวอย่างมีคุณค่ามากกว่าคำพูด

คนเก่งมีเยอะ คนดีมีน้อย

คนเก่งมักได้ดี คนดีไม่ค่อยได้ดี

คนเก่งถูกยอมรับ คนดีถูกเหยียบย่ำ

เด็กจึงเลือกเป็นคนเก่ง ถึงแม้ว่าเป็นคนโกง...

เลือกคู่ครอง มากกว่าเลือกพ่อแม่

เลือกเงินมากกว่าอุดมคติ

เลือกผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม

พื้นฐานชีวิตที่ไม่แกร่ง กระดูกที่ไม่แข็ง แล้วถูกหล่อหลอมด้วยสื่อ ที่กระเหี้ยนกระหือรือสื่อสารเรื่อง "เงิน"

เด็กทั้งหลาย มีเวลาอยู่กับพ่อแม่และครูน้อย มีเวลาอยู่กับสื่อมาก

สื่อก็มักเลือกสื่อสารคนเก่ง มากกว่าคนดี

อาชีพของคนร่ำรวย อาชีพของคนเก่ง มีพื้นที่หน้าสื่อ 99%

ดารา นักร้อง นักโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เป็นอาชีพที่สวยหรู งดงาม

รายได้ดี มีชื่อเสียง และได้การยอมรับ

สิ่งต่าง ๆ หมุนวนเป็นเกลียว ส่งต่อเป็น "ความฝัน" ให้กับเด็กไทยให้ใฝ่ใจ "เรียนเพื่อเงิน..."

เรื่องการศึกษานี้ ไม่มีใครช่วยใครได้อย่างยั่งยืน

ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันกิเลสของแต่ละคน

หากเด็กคนใดอยู่ในครอบครัวที่เข้มแข็ง กล่อมเกลาให้แข็งแรงต่อกิเลส เด็กคนนั้นก็จะเติบโตด้วยอุดมการณ์

หากเด็กคนใดอยู่ในครอบครัวที่อ่อนแอ หลงไหล ใฝ่ฝันในเงินและชื่อเสียง เด็กคนนั้นก็จะเติบโตตาม "เงิน"

เงินที่มาพร้อมกิเลส ตัณหา และราคะ

สิ่งเหล่านี้อยู่ที่พื้นฐานของจิต

ต้องพัฒนาจิตเด็กให้เข้มแข็ง

รู้จักการทำความดี รู้จักการเสียสละ

พัฒนาตนเองให้มีศีล มีสติ มีสมาธิ เพื่อที่จะมีปัญญารู้เท่าทันกิเลส และเล่ห์เพทุบายของคนทั้งหลายที่มุ่งแต่จะหาเงิน

ผู้ใหญ่ ผู้เป็นปูชนียบุคคลต้องทำตนเป็นแบบอย่าง เด็กทั้งหลายจักได้เดินตาม

ผู้ใหญ่เป็นอย่างไร เด็ก ๆ ไทยก็เป็นอย่างนั้น

เด็กจะทำตามอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ

ผู้ใหญ่ทำดี เด็กก็ย่อมทำดี และเดินในความดี...

นมัสการพระคุณเจ้า

  • ครูที่ดีต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก..เจ้าค่ะ
  • เมื่อทำดีก็มีความมั่นใจในการสั่งสอนอบรม
  • โดยไม่ต้องละอายใจเจ้าค่ะ
  • เมื่อไรจะมีครูดีเยอะ ๆ

ครูดีมีเยอะ ครูดีมีมาก ครูทุก ๆ คนเป็นคนดี

แต่ทว่าวันนี้ เมฆหมอกที่มีชื่อว่า กิเลส ตัณหา และราคะ นั้นมันมีมากเหลือเกิน

มิได้แต่เพียงปกคลุมใจครูเท่านั้น ยังปกคลุมคนต่าง ๆ ในทุก ๆ สาขา หลากหลายวิชาชีพ

ตัวอย่างที่ดี ก็เลยกลายเป็นแม่พิมพ์ที่บิดเบี้ยว

เนื้อแท้ แก่นแท้ยังดี แต่ขี้ฝุ่นแห่งกิเลสมันปกคลุมเยอะเหลือเกิน

เรื่องนี้ไปแท้ที่สายลม ท้องฟ้า ไปแก้ที่คนอื่นไม่ได้ ต้องปัดฝุ่นที่ใจของตนเอง

ครูต้องปัดฝุ่นให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง

ไม่เห่อเหิม หนัง ละคร ดารา ทีวี

ไม่หลงไหลทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ

ทำตนเป็นครอบครัวตัวอย่าง มีความกตัญญู กตเวทีต่อพ่อแม่ บรรพบุรุษ บุพการีชน

เป็นพ่อก็เป็นพ่อที่ดี เป็นแม่ก็เป็นแม่ที่ดี ทำหน้าที่ทุก ๆ หน้าที่ให้ดี

จะทำได้ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ต่อสู่กับกิเลสที่คอยจะมาถล่มทลายเราให้ได้

จะไปแก้ที่สื่อ ไปแก่ที่นักธุรกิจ นักการเมือง ที่จะคอยมุ่งหาผลประโยชน์กับเราไม่ได้

เราต้องสร้างสติ สร้างปัญญาที่จะต่อสู้กับภยันตรายนั่นคือกิเลสร้ายให้ได้ด้วยตัวของตัวเอง

สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก ฉีดวัคซีนให้ครอบครัว ทำตัวเป็นตัวอย่าง

ครูเป็นอย่างไรเด็กก็เป็นอย่างนั้น

ครูดี เด็กก็ดี...

ครู ต้องทำลายวัฒนธรรมและคำสบประมาทนี้ให้ได้

"จงทำในสิ่งที่ฉันพูด แต่อย่าทำในสิ่งที่ฉันทำ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท