รวมประเพณีสงกรานต์แปลก


แมกกาซีนแปลก วันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2552

ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย คำว่า สงกรานต์มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย การย้ายของพระอาทิตย์เข้าไปจักรราศีใดราศีหนึ่ง จะเป็นราศีใดก็ได้ แต่ความหมายที่คนไทยทั่วไปใช้หมายถึงเฉพาะวันและเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายนเท่านั้น
              สงกรานต์ในปีนี้ดิฉันก็อยากจะขอส่งความสุขให้คุณผู้อ่านด้วยการแนะนำประเพณีแปลกๆที่น่าสนใจเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ในปีนี้หลายๆจังหวัดมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ไปจนตลอดทั้งเดือน และบางที่ยังเลยไปถึงต้นเดือนพฤษภาคมด้วย เรียกว่าเยอะเสียจนไม่มีใครสามารถเดินทางไปร่วมงานได้ทั้งหมด ประเพณีสงกรานต์ของหลายจังหวัดเรียกว่าฟังชื่อแล้วอาจไม่คุ้นหู เริ่มกันที่ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขามีประเพณีชื่อ
ประเพณีแห่นางกระดานหรือแห่นางดาน   ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 – 15 เมษายน บริเวณสวนศรีธรรมาโศกราช หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และวัดเสมาเมือง ประเพณีนี้จัดว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ของเมืองนครและเป็นประเพณีปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดูที่กำเนิดขึ้นที่นี่เป็นแห่งแรกในเมืองไทย หลายคนอาจจะสงสัยว่านางกระดานนั้นเป็นใคร นางกระดานในที่นี้ หมายถึง แผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอกที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ แผ่นแรกคือ พระอาทิตย์พระจันทร์ แผ่นที่สองคือพระธรณี แผ่นที่สามคือพระแม่คงคา เพื่อใช้ในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า เพื่อให้เกิดความสงบสุข น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และคุ้มครองมนุษย์ให้ปลอดภัย ในขบวนพิธี ส่วนมากนิยมจัดขบวนกันที่ฐานพระสยม (บริเวณตลาดท่าชีปัจจุบัน)     ในเวลาโพล้เพล้   ขบวนแห่ประกอบด้วยเครื่องประโคมดนตรีอันมีปี่นอก   กลองแขกหรือกลองสองหน้าและฆ้อง   ถัดมาเป็นเครื่องสูง    ซึ่งประกอบด้วยฉัตร  พัดโบก  บังแทรก  บังสูรย์         มีพระราชครูและปลัดหลวงเดินนำหน้าเสลี่ยงละคน   มีพราหมณ์ถือสังข์เดินตาม    ปิดท้ายด้วยนางละครหรือนางอัปสรและ  ผู้ถือโคมบัว และในอดีตมีการโล้ชิงช้าด้วย

จังหวัดนราธิวาส จัดงานสมโภชเจ้าแม่โต๊ะโมะ ที่ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ อ.สุไหงโก-ลก วันที่ 23 เมษายน – 2 พฤษภาคม ในงานมีขบวนแห่เจ้าแม่และองค์เทพอื่นๆ พิธีออกเกี้ยวขององค์เทพ พิธีโปรยข้าวตรอกดอกไม้มั่งมีศรีสุขลอยฟ้า การแสดงเชิดสิงโตและมังกร เอ็งกอ ประมูลวัตถุมงคล ประเพณีเทกระจาด เทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจังหวัด และศาลเจ้าแม่โตะโม๊ะนี้ในสามจังหวัดชายแดนใต้ถือว่าใหญ่และดังรองจากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในตัวเมืองปัตตานีเลยทีเดียว ส่วนมากนักท่องเที่ยวมาเล สิงคโปร์ จะเดินทางมากราบไว้และเป็นที่รู้จักมากกว่าคนไทยด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีการจัดงานสงกรานต์ที่หาดป่าตองจังหวัดภูเก็ต วันที่ 10 13 เมษา, หาดใหญ่มิดไนท์สงกรานต์ วันที่ 11 – 14 เมษา ที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ถนนธรรมนูญวิถีและถนนเสน่หานุสรณ์ มีการจำลองวิถีชีวิตของชุมชนชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกวดนางสงกรานต์นานาชาติ และมีการเล่นน้ำสงกรานต์ยามค่ำคืน

ภาคเหนือ จังหวัดตากมีงานประเพณีสงกรานต์และแข่งขันมวยคาดเชือกที่สนามกีฬาเทศบาลเมืองแม่สอดและบริเวณตลาดริมเมย วันที่ 12 – 15 เมษายน ภายในงานมีการประกวดนางสงกรานต์ไทย–พม่า แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ชกมวยคาดเชือกไทย-พม่า และการจัดแสดงวัฒนพรรมไทย-พม่า นับว่าเป็นอีกงานที่น่าไปเพราะมวยคาดเชือกปัจจุบันหาดูได้ยาก เป็นการชกมวยแบบไทยในสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เปลี่ยนไปใช้การสวมนวมแทน นักมวยคาดเชือกจะใช้เชือกพันที่หมัดทั้ง 2 ข้างจนแข็งและผูกเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของแต่ละคน การชกมวยแบบนี้จะเน้นชั้นเชิงมากกว่าพละกำลัง ส่วนสนามแข่งขันก็เป็นสนามหญ้าหรือลานวัด มีเชือกกั้น 1 เส้น มีกรรมการห้าม ปัจจุบันการชกแบบคาดเชือกยังมีชกกันอยู่ในประเทศพม่า ในประเทศไทยมีเพียงการแสดงและมีการชกในบางเทศกาลอย่างเช่นสงกรานต์นี้เท่านั้น ในการชกใช้กติกาแบบพม่า ไม่ได้ใช้กติกาแบบมวยไทย นักมวยเอกยุคคาดเชือกที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ นายขนมต้ม

ส่วนที่จังหวัดลำพูน มีประเพณีไม้กำสะหรีหรือไม้ค้ำโพธิ์ วันที่ 17 – 18 เมษายน การแห่ไม้ค้ำสรี หรือการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ อันหมายถึงพระศรีมหาโพธิ์ จัดขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ เชื่อกันว่าการที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ว่าผู้ค้ำนั้นมีส่วนในการค้ำชูพระพุทธศาสนา ในงานพิธีชาวบ้านจะร่วมกันไปหาไม้ค้ำซึ่งมีขนาดใหญ่แล้วนำมาตกแต่งให้งาม จากนั้นจึงทำพิธีแห่ไม้ค้ำ ร่วมขบวนกันเพื่อไปถวายวัดและนำไปค้ำต้นโพธิ์ ส่วนมากจะนำไปค้ำต้นโพธิ์ต้นใหญ่ที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ ที่หมู่บ้านของตนเอง

ภาคตะวันออก จังหวัดระนอง บริเวณสวนสาธารณะรักษะวาริน มีการจัดงานสงกรานต์น้ำแร่ เล่นสงกรานต์กันด้วยน้ำแร่ วันที่ 13 – 15 เมษายน เนื่องจากจังหวัดระนองได้ชื่อว่าเป็นเมืองน้ำแร่ มีแหล่งน้ำแร่ร้อนธรรมชาตินับสิบแห่งกระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ โดยแหล่งน้ำแร่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ภายในสวนสาธารณะรักษะวาริน ซึ่งประกอบด้วยบ่อน้ำแร่ร้อน 3 บ่อ คือบ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูกสาว มีอุณหภูมิสูงประมาณ 65 องศาเซลเซียส มีส่วนผสมของแร่ธาตุที่สำคัญมากมาย และเป็นแหล่งเดียวในประเทศที่ไม่มีส่วนผสมของกำมะถันเจอปนอยู่เลย สามารถดื่มได้จากแหล่งกำเนิดโดยไม่ต้องผ่านวิธีกลั่นกรองใดๆ (Potable Hot Spring ) ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แหล่งในโลก จึงมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์น้ำแร่-แช่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นี่กันเป็นประจำทุกปี ในงานเทศกาลนี้ จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้สูงอายุจากทุกอำเภอ กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมมิตรภาพไทย-พม่า นอกจากนี้ยังมีน้ำแร่พระพุทธมนต์บรรจุใส่ขวดพลาสติกแจกจ่ายให้ผู้มาร่วมงานด้วย

ส่วนที่เมืองพัทยานั้นก็มีการจัดงานบริเวณลานโพธิ์นาเกลือและวัดชัยมงคล มีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่น แข่งขันยิงหนังสติ๊กซึ่งด้ามหนังสติ๊กถือเป็นสินค้า otop ที่ขึ้นชื่อของชาวบางพระ แข่งขันชักเย่อริมหาด แข่งปีนเสาน้ำมัน และยังมีประเพณีกองข้าว ซึ่งพิธีนี้เริ่มประมาณ 5 โมงเย็น โดยจะมีการจุดธูปเชิญผีสางเทวดาให้มารับเครื่องสังเวยที่ชาวบ้านนำมาใส่กระทงเตรียมไว้ และอำนวยพรให้ผู้มีศรัทธานำอาหารมาเซ่นสังเวยอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขายคล่องได้กำไรงาม เมื่อธูปหมดดอก ชาวบ้านจะล้อมวงรับประทานอาหารในสำรับ ร่วมกันร้องรำทำเพลงสนุกสาน ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ประเพณีกองข้าวบวงสรวงเป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรี ในสมัยโบราณนิยมจัดกันทั่วไปทุกอำเภอ ปัจจุบันอำเภอศรีราชาได้รื้อฟื้นและจัดประเพณีกองข้าวบวงสรวง เพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีและเสริมสร้างความสามัคคีของประชาชนในอำเภอศรีราชาและจังหวัดชลบุรี สีสันของงาน อาทิเช่น มวยตับจาก รำวงย้อนยุค และซุ้มอาหารไทย ฯลฯ                                                                                        นอกจากนี้ยังมีประเพณีอื่นที่น่าสนใจ เช่น งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางเสน บริเวณชายหาดบางแสน ในงานมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่น วิ่งกระสอบ แกะหอยนางรม มวยทะเล ฯลฯ งานประเพณีสืบสานงานสงกรานต์เกาะสีชัง ในงานมีการแข่งขันตะกร้อลอดบ่วง พิธีตีเมฆหมอกผี พิธีกองข้าว

            ภาคกลาง จังหวัดชัยภูมิ มีประเพณีรำผีฟ้า วันที่ 20 เมษายน (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5) ซึ่งโดยปกติการรำผีฟ้าเป็นการรำเข้าทรงเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน โดยมีการร่ายรำบูชาแถนหรือผีฟ้า แต่การรำผีฟ้าที่ภูพระแตกต่างไปจากการรำผีฟ้าที่อื่นตรงที่ว่าบรรดานางทรงหรือ ผีฟ้าทั้งหลายที่มีความเลื่อมใสศรัทธาพระเจ้าองค์ตื้อที่ภูพระจะมาร่วมชุมนุมกันกราบไหว้พระเจ้าองค์ตื้อในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อขอให้ท่านดลบันดาลความร่มเย็นเป็นสุข ในวันนี้บรรดาผีฟ้าซึ่งถือเป็นศิษย์หรือบริวารของพระเจ้าองค์ตื้อที่แยกย้ายกันไปอยู่ต่างถิ่นจะจะมารวมกันที่ภูพระตลอด 3 วัน แต่งกายโพกหัวด้วยผ้าขาวม้าไหม เคี้ยวหมากพลู บ้างก็กินเหล้า บ้างก็สูบบุหรี่ผสมพริกโดยไม่มีอาการจามหรือไอ มีพานบายศรีเล็ก ๆ และธูปเทียนมากราบไหว้บูชาพระเจ้าองค์ตื้อ รวมทั้งผ้าไตร ในขณะที่ผีฟ้ารำ ก็จะมีการบนบานศาลกล่าวในสิ่งที่ตนปรารถนา เวลารำก็รำไปเรื่อย ๆ ตามเสียงแคนโดยรำเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เป็นภาพที่น่าดูมาก เมื่อเสร็จพิธีกรรมนี้บรรดาผีฟ้าก็จะแยกย้ายกันกลับไปสู่ท้องถิ่นของตนและจะกลับมาใหม่ในปีต่อไป
จังหวัดสุโขทัย จัดประเพณีบวชพระแห่นาคด้วยช้างของชาวหาดเสี้ยว วันที่ 7 เมษาภายในงานมีการแห่นาคด้วยขบวนช้างที่จัดอาบน้ำตกแต่งอย่างสวยงาม แห่จากวัดหาดเสี้ยวผ่านตลาดของ อ.ศรีสัชนาลัย

จังหวัดนนทบุรี จัดงานสงกรานต์เกาะเกร็ด ที่วัดปรมัยยิกาวาส อ.ปากเกร็ด วันที่ 12 – 16 เมษายน ภายในงานมีการแสดงประเพณีแบบชาวมอญ การรำฟ้อนมอญ สงกรานต์ข้าวซอย แห่น้ำหวาน แห่ข้าวแช่ ตักบาตรทางน้ำ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาวมอญเกาะเกร็ดเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "ปัจอะห์ต๊ะห์" โดยจะมีการทำบุญเฉลิมฉลองกันอย่างมโหฬารทุกหมู่บ้านของชุมชนในเกาะเกร็ด ก่อนวันสงกรานต์จะมีการกวนขนมกาละแม ข้าวเหนียวเเดง ข้าวเหนียวแก้ว และมีการทำคะนอมจินหรือขนมจีนเพื่อทำบุญด้วย ในตอนเย็นและกลางคืนตามหมู่บ้านต่างๆจะมีการเล่นสะบ้ามอญ และทะเเยมอญ  หลังวันที่ 15 เมษายนจะมีการทำบุญกลางบ้าน จากนั้นจะมีการทำบุญต่อเนื่องไปอีกด้วยการทำบุญสรงน้ำพระ แห่หางหงส์ และจบด้วยการรำเจ้าประจำปีของแต่ละหมู่บ้าน ส่วนการแห่น้ำหวานนั้นเป็นประเพณีที่ทำหลังจากวันสงกรานต์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยชาวบ้านจะมาร่วมทำบุญด้วยการจัดขบวนแห่น้ำหวานบรรจุขวด เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์ไว้ฉันเวลากระหายน้ำ เมื่อขบวนแห่ถึงวัดใดก็นำน้ำหวานที่จัดไว้ถวายพระสงฆ์และสามเณรทุกรูปในวัด ขบวนแห่น้ำหวานจะมีทั้งนกและปลาเพื่อนำไปปล่อยตามวัดต่างๆด้วย  ตามเส้นทางที่ขบวนผ่านจะมีโรงทานตั้งอยู่เป็นระยะๆ มีน้ำดื่ม ขนมและของว่าง บริการแก่ผู้ร่วมขบวนหรือผู้ร่วมงานด้วย ซึ่งเป็นการให้บริการฟรี ประเพณีแห่น้ำหวานนี้ คนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ดได้ปฏิบัติเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ภาคอีสาน จังหวัดบุรีรัมภ์ จัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง วันที่ 2 – 4 เมษายน ภายในงานมีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมดวงอาทิตย์ขึ้นและตกตรง 15 ช่องประตู นมัสการพระพุทธพนมรุ้ง เจ้าพ่อปราสาททอง บวงสรวงดอกบัวแปดกลีบ ชมขบวนแห่พระนางภูปตินทรลักษมีและขบวนแห่เทพพาหนะทั้ง 10 ทิศ การแสดงแสงสีเสียงชุด “พนมรุ้งมหาเทวาลัย” โฮปบายดินเนอร์ ฯลฯ

 

หมายเลขบันทึก: 256676เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2009 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆที่ได้รับค่ะ

http://www.cashfiesta.com/php/join.php?ref=sasitronpasathinpimai

สมัครหน่อยค่ะ

ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ถ้าทำเยอะก็ได้เงินเยอะนะค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท