คำถามที่เกิดขึ้นในใจหลังอ่านเรื่อง ปัญหาท้าทายและทางออกของสังคมไทย ของพระไพศาล วิสาโล


"การแก้ปัญหาที่มีรากเหง้าจากโครงสร้างสังคมนั้น ไม่มีวิธีใดที่ให้ผลรวดเร็วทันใจ คนไทยจึงยังจะต้องอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองไปอีกนาน" - พระไพศาล วิสาโล

บทความในคอลัมน์มองอย่างพุทธ เรื่อง ปัญหาท้าทายและทางออกของสังคมไทย ของ พระไพศาล วิสาโล แห่งเครือข่ายพุทธิกา (www.budnet.info) ในมติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๒ ชี้ว่า เหตุการณ์ความปั่นป่วนวุ่นวายและความรุนแรงในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ลำพังความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำหรือระหว่างบุคคลล้วนๆ ไม่อาจขยายวงไปอย่างกว้างขวางขนาดนี้ การที่คนจำนวนนับแสนเข้าเป็นพวกคุณทักษิณและกล้าท้าทายอำนาจรัฐมิใช่เพราะอำนาจเงินของเขาเท่านั้น หากเป็นเพราะประชาชนเป็นอันมากไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ พระไพศาลได้ยกตัวเลขที่ชี้ให้เห็น "ความเหลื่อมล้ำ" ทางเศรษฐกิจและสังคม เช่นรายได้เฉลี่ยที่ต่างกันหลายสิบเท่าตัวระหว่างคนจนและคนรวย(รวมคนชั้นกลาง) การถือครองที่ดินที่ ๕๐ คนแรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศ ถือไว้มากกว่า ๕๐ คนสุดท้ายถึง 291,670 เท่า คนระดับล่างที่ยากจนและถูกทอดทิ้งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท เมื่อคุณทักษิณมาเป็นรัฐบาล ได้หยิบยื่นผลประโยชน์จากส่วนกลางไปยังคนจนในชนบทโดยตรงผ่านนโยบายประชานิยม นับเป็นครั้งแรกที่คนระดับล่างรู้สึกว่าตนได้รับความใส่ใจจากผู้นำรัฐบาล นี่เองคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวชนบทและคนยากไร้ในเมืองจำนวนมากยังคงให้ความสนับสนุนคุณทักษิณให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ในขณะที่คุณทักษิณอาศัยชนชั้นล่างในชนบทเป็นฐานในการสถาปนาอำนาจนำ ชนชั้นนำกลุ่มเดิมที่มีฐานจากระบบราชการได้อาศัยชนชั้นกลางในเมืองเป็นกำลังสำคัญในการรักษาผลประโยชน์

แต่คนไทยมักมองปัญหาแค่ระดับบุคคล จึงมุ่งแก้ที่ตัวบุคคล เช่น เรียกให้มาเจรจากัน หรือไม่ก็ให้จัดการลงโทษ หรือกระทั่งจำกัดออกไป การเรียกร้องให้คนไทยสมานฉันท์กันมีความหมายน้อยมากหากละเลยเหตุปัจจัยในเชิงโครงสร้าง (ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม, เมืองกับชนบท, คนจนกับคนรวย, มีกลไกกระจายรายได้เป็นธรรม, ปฏิรูปที่ดิน, ปฏิรูประบบภาษี, ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์และเที่ยงธรรม ฯลฯ)

ท่านเห็นว่า การแก้ปัญหาที่มีรากเหง้าจากโครงสร้างสังคมนั้น ไม่มีวิธีใดที่ให้ผลรวดเร็วทันใจ คนไทยจึงยังจะต้องอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองไปอีกนาน

สรุปคือ

  1. ทำอย่างไรให้คนไทยเห็นปัญหานี้ร่วมกัน(ว่าเหตุมาจากโครงสร้าง)
  2. เมื่อเห็นร่วมกันแล้วก็ช่วยกันผลักดันให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดน้อยลง
  3. ในขณะที่มาตรการระยะยาวยังไม่บังเกิดผล จำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการระยะสั้นและระยะกลาง เช่น การสร้างกลไกเพื่อการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติ การมีเวทีต่อรองที่เท่าเทียม การทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และทีขาดไม่ได้คือการมีสื่อกลางเพื่อส่งเสริมความเข้าใจกันและกัน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเต็มที่ รวมทั้งเอื้อให้แต่ละฝ่ายได้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ไม่วาดภาพเป็นปิศาจร้ายที่ต้องทำลายให้พินาศ

พระไพศาลทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่ท้าทายสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง หากเราพร้อมเผชิญหน้ากับภารกิจดังกล่าวด้วยสติและปัญญา ความสงบร่มเย็นในบ้านเมืองก็เป็นอันหวังได้

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอวิธีแก้ปัญหาของท่าน จึงคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ท่านเสนอปรากฏขึ้นได้ ซึ่งผมยังคิดไม่ออกหรอกครับ แต่คิดเป็นคำถามเอาไว้ค่อยๆ คิดต่อไป ดังนี้ครับ

  1. การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นอาจเรียกได้ว่าคือการปฏิวัติสังคมเลยทีเดียว (คนละความหมายกับการปฏิวัติรัฐประหาร) จะมีวิธีไหนไหมที่ไม่ต้องผ่านความรุนแรง?
  2. การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง? (เช่น แนวคิดเชิงอุดมการณ์ที่สร้างกันขึ้นมาใหม่บนพื้นฐานวัฒนธรรมของเรา-ประสานสากล, ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี, องค์กรนำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ฯลฯ)
  3. หากจำเป็นต้องมีองค์กรนำ จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมืองไหม? พรรคการเมืองที่มีอยู่เวลานี้ เช่น ปชป. พท. หรืออื่นๆ จะนำได้ไหม? ซึ่งต้องถามก่อนว่าพรรคเหล่านี้สนใจที่ทำเรื่องนี้ไหม? (ไม่แน่ใจเหมือนกัน)
  4. หากไม่จำเป็นต้องมีองค์กรนำ จะใช้แบบหลายๆ องค์กร จะป็นองค์กรแบบไหนก็ได้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าต้องเปลี่ยนโครงสร้างมาช่วยกันแบบเครือข่ายจะได้ไหม? แต่ก็ต้องมีองค์กรประสานเครือข่ายอยู่ดีใช่หรือเปล่า?
  5. ส่วนมาตรการระยะสั้นและระยะกลางนั้น ผมเต็มไปด้วยคำถาม "อย่างไร" เช่น
  6. กลไกที่จะใช้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติคือกลไกอะไร? และจะสร้างกลไกนั้นอย่างไรที่ทุกฝ่ายยอมรับ? สภาผู้แทนฯ จะทำหน้าที่เป็นเวทีนี้ได้ไหม? ถ้าคิดว่าได้ บรรดาผู้แทนฯ ชุดปัจจุบันจะสนใจเรื่องนี้แค่ไหน? ถ้าสภาผู้แทนฯ ไม่ใช่เวทีที่เหมาะสม กลไกใหม่นั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
  7. เวทีต่อรองที่เท่าเทียมกันเป็นเวทีแบบไหนที่จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเต็มที่? ใครจะเป็น facilitator ในเวทีนี้? ที่สำคัญจะทำอย่างไรที่จะเป็นเวทีที่เอื้อให้แต่ละคน แต่ละฝ่าย ได้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน (คือเห็นว่าเราทุกคนมีอัตตา ตัณหา มานะ ทิฐิ ขณะเดียวกันก็มีเมตตาให้อภัย มีความกรุณาช่วยเหลือ ฯลฯ)
  8. จะทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย? (ตำรวจไม่ถูกนินทาว่าไม่มีน้ำยาหรือทำงานไม่สุจริต อัยการ และศาลไม่ถูกประท้วง) มีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งเป็นตำรวจระดับนายพัน พูดกันถึงเรื่องนี้ทีไรเขายืนยันว่าจากประสบการณ์การเป็นตำรวจของเขา คุกมีไว้สำหรับขังคนจนกับคนที่มีการศึกษาน้อยเป็นหลัก คนรวยกับคนชั้นกลางน้อยมากที่ติดคุก เศรษฐีหรือเจ้าพ่อพอรู้สึกว่าจะติดคุกเขาก็หนีไปต่างประเทศกัน
  9. การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ (ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเหมาะสมกับบ้านเมืองนี้ที่สุด) คืออะไร? จะสร้างการเมืองแบบนั้นขึ้นมาได้อย่างไร?
  10. เรื่องการปฏิรูปที่ดินทำกิน สนง.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ที่มีอยู่แล้วทำได้หรือไม่? ถ้าทำไม่ได้จะทำอย่างไร? ทั้งนี้รวมถึงปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่ยืดเยื้อมานานด้วย

ทั้งหมดนั้นเป็นคำถามที่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่หากใครคิดคำตอบได้สักข้อ และทำได้จริงแล้วก็จะเป็นกุศลยิ่งทีเดียว!

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๙ เมษายน ๒๕๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 256316เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2009 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์สุรเชษฐ

ขอเรียนตามตรงว่าปัญญายังน้อย

คงไม่อาจตอบคำถามใดๆ ได้สักข้อ

ตอนนี้ ก็ได้แต่คอยสำรวจจิตใจตัวเองว่า...

เราเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือเปล่านะ ???

  • หากจะใช้คำตอบของท่านพุทธทาสที่บอกว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ทราบว่าพอได้หรือเปล่าครับ
  • แต่ถ้าในความคิดของผมแล้วอยากตอบเพียงว่า คน เรานั้นส่วนใหญ่ไม่ต้องการเดินด้วยตนเอง(พึ่งตนเองหรือทำอะไรด้วยตนเอง) แต่ต้องอยู่ใต้ร่มเงาของคนอื่น(ผู้มีอำนาจอิทธิพลหรือมีปัจจัยมาก) มีคนเพียง ไม่กี่คนหรอกครับที่เป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่อิงอำนาจของผู้อื่น
  • การมีปัญญาทางพุทธศาสน์เท่านั้นแหละที่ทำให้คนหลุดพ้นอำนาจเหล่านั้นได้(ไม่ ใช่การมีปริญญาด้วยนะ)

อ่านเรื่องนี้แล้ว ก็นึกถึงเหตุการณ์เมื่อกลางเดือน เมษา

สวัสดีคะ

ตามมาอ่าน

อ่านแล้วก็คิด ก็เกิดความคิดความรู้สึกบางอย่าง

กลางเดือนที่ผ่านมา ผ่านแถวพระบรมรูปฯทุกวัน

ก็มีความคิดหนึ่งแวบขึ้น มา

ปัญหาระดับโครงสร้างจริงๆ แต่ จะแก้ได้ ก็ต้อง ย่อยๆ ทุกคน?

พูดไปพูดมา ทางแก้ น่าจะ เกิดขึ้นได้จาก

การแก้ที่หน่วยย่อยแต่ละหน่วยคือ ตัวเราแต่ละคน เกิดการปฎิรูปตัวเองด้วยตัวเองก่อน?

(transformation of consciousness)?

ต้องแก้ที่ ตัวเรา แก้ที่ใจเรา ?

แต่แน่นอนมันไม่เร็วทันใจ อย่างพระท่านว่าแน่

วันเวลาแต่ละคนจะบอกเอง?

แต่เรื่องอย่างงี้ ถึงเวลาแต่ละท่านจะรู้เองว่าถึงเวลาแล้ว

เมื่อไอ้กิเลส ที่เกาะในใจมานานแสนนาน มันกัดกิน แต่ละคนแต่ละแบบ

ประมาณว่าสุดรอบแล้ว กระดิกตัวต่ออีกไม่ได้

ต้องเร่งแก้ไขในจิต ในใจ แต่ละคนในตัวเรานี่แหระ

เมื่อเริ่มเห็น เริ่มแก้ ทุก อย่างจะเริ่มเบา เริ่มเย็น ลง

แล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาการเมือง หรือปัญหาครอบครัว สังคม

คงจะน้อยลง และเบาลง ไปอัตโนมัติ มั้ง??

พูดไปพูดมา ก็ต้องช่วยๆกัน รับผิดขอบตัวเอง ทำหน่วยย่อย(individual)ให้ok แล้วพอมารวมกันหน่วยใหญ่สังคมเราก็ผาสุขมั้ง ? โดยสำรวจตนเอง

เมื่อหน่วยย่อยๆ อ่อนโยน แล้วหน่วยย่อยๆก็จะไม่นึกถึงแต่ตนเอง ไม่เอาแต่ตนเองเป็นตัวตั้งแล้วจะมีการแบ่งปันกัน เมตตา กัน แล้วรวมๆ อะไรก็จะอ่อนโยนตาม โลกก็อ่อนโยน?

พูดไปพูดมา ก็ หลักการ เด็ดดอกไม้ดอกเดียวสะเทือนถึงดวงดาว?

นี่คือความคิดทั้งหมดที่แวบขึ้นมา

ประสบการณ์ยังน้อย ผิดถูก ก็ว่ากันต่อไป

อย่างไร เราก็พี่น้องกัน

คนดี ทำให้สังคมดี มีความสงบสันติ

สังคมดี ก็เอื้อให้คนมีกิเลศ (โลภะ โมหะ โทสะ)เบาบางลง

ท่ามกลางสังคมที่วุ่นวาย ไม่สุขสงบ

หากภายในเราสุขสงบ นิ่งพอ

ไม่ไหลตามอารมณ์ที่เร้าร้อนของผู้คนจำนวนมากในสังคมไปด้วย

ความสุขสงบก็เกิดทันที

ดังพุทธวจนะในพระธรรมบทว่า "ธรรมทั้งหลาย มีใจไปถึงก่อน ใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ"

บางคนก็ว่าการคิดเช่นนี้เป็นการเห็นแก่ตัว!

แต่ผมคิดว่าไม่ใช่การเห็นแก่ตัว

กำลังพยายามที่จะหาวิธีอธิบายอยู่ว่าเพราะเหตุใด.

เห็นด้วยกะอาจารย์

คงไม่ต้องอธิบาย

ใจของผู้นั้น และคนอื่นใกล้ชิด ก็จะสัมผัสได้และจะรู้เองว่า

ความสุขสงบ นั้น ต่างจากความเห็นแก่ตัว ......... โดยสิ้นเชิง

สวัสดีก่อนนอนคะ

ตามมาเยี่ยมกระทู้อีกทีก่อนสวดมนต์นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท