ท่องหนังสือตอนฝนตกทำความจำดี


...

 

ภาพที่ 1: ฝนที่ย่างกุ้ง พม่า (2 กรกฎาคม 2548)... คนที่นี่ชอบร่มแบบพับได้มาก เพราะฝนเมืองนี้ตกบ่อยมากๆ

รถในพม่าเกือบทั้งหมดเป็นรถมือสองขึ้นไป (3,4,5,...) ป้ายสีแดงเป็นป้ายรถแท็กซี่ ต้องรวยหรือใหญ่จริงๆ จึงจะมีสิทธิ์นั่งรถติดแอร์ เวลาฝนตกจะเปิดหน้าต่างก็ไม่ได้ เพราะฝนพม่าเม็ดโต ตกแรง ทำให้ฝ้าไอน้ำเกาะเต็มด้านในกระจก

...

โปรดสังเกตเด็กบนรถ 2 แถวนุ่งโสร่งสีเขียวเป็นชุดนักเรียน ชาวพม่าชอบสะพายย่ามแบบ "สะพายเฉียง" พม่ามีจุดเด่นในเรื่องการใช้ชีวิตที่ค่อนไปทางเรียบ-ง่าย-ประหยัด อดทนสมกับคำขวัญประจำชาติที่ว่า "เมี่ยน เมี่ยน เมียนม่าร์ (เมี่ยน = แข็งแรง; รวมแล้ว = พม่าแข็งแรงๆ)"

รถแท็กซี่ที่เป็นชาวพุทธจะมีรูปพระเจดีย์หรือรูปพระไว้หน้ารถ ดอกไม้ประดิษฐ์ทางซ้ายมือ คือ ดอกไม้บูชาพระ

...

 

ภาพที่ 2: ฝนที่เมาะละแหม่ง (Moulmein) เขตมอญ พม่า (14 กรกฎาคม 2551)... ฝนเขตมอญเม็ดโตมาก ทำร่มพับได้ของผู้เขียนพังไปเลย ร่มที่จะทนฝนแถวนี้ได้ต้องแข็งแรงและแน่นหนาหน่อย

ผู้เขียนมีโอกาสติดตามหมู่คณะไปส่งพระอาจารย์เรียนต่อที่วัดพะเอ้าตอย่า (วัดกบข้างใต้) ใกล้ๆ วัดเป็นบ้าน "ศิษย์เก่าประเทศไทย"

...

 

คุณอู ตอง หนุ่ยชาวพม่าเชื้อสายจีนเป็นคนพม่าที่ดีท่านหนึ่ง เพราะมีลูก 5 คน (ไกด์พม่าชาวเชียงตุงกล่าวในปี 2550 ว่า ชาวพม่าที่ "ดี" ต้องบวช 3 ครั้ง และมีลูก 3 คนขึ้นไป - พม่าถือว่า เลข '3' เป็นเลขดี)

ท่านเคยมาทำงานก่อสร้างแถวปทุมธานีประมาณ 14 ปี ตอนนี้ภรรยากับลูกสาวคนที่ 1 ทำงานทำความสะอาดแถวๆ ลาดกระบัง ลูกชายคนที่ 2,3 ทำงานโรงงานแถวๆ สมุทรสาคร ลูกสาวคนที่ 4 จบปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์ ยังหางานไม่ได้ ลูกชายคนที่ 5 เรียนปริญญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์ สรุปแล้วทำงานเมืองไทยเกินครึ่งบ้าน (ศิษย์เก่า 1; อยู่ในไทย 4; อยู่พม่า 2)

...

บ้านในเมืองแถบนี้จะพบคนที่ไปทำงานในไทยประมาณทุกๆ 4-5 หลังคาเรือน คนมอญ คนทวาย และคนไทยใหญ่มีแนวโน้มจะพูดไทยชัด

ชาวพม่าแท้จะออกเสียงตัวสะกดไม่ค่อยชัด (ยกเว้นเรียนภาษาอังกฤษหรือบาลีมาก่อน) ส่วนกะเหรี่ยง (กยิน) นั้นพูดไทยทีไร ทำตัวสะกดหล่นหายไปทุกที

...

..........................................................................

     

ศ.โจ ฟอร์กาส และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยนิว เซาต์ เวลส์ ออสเตรเลียทำการศึกษาพบว่า คนเรามักจะทำแบบทดสอบความจำ (memory test) ได้ดีในวันที่อากาศไม่ค่อยดี เช่น ฟ้าฝนมืดครึ้ม ฯลฯ และทำแบบทดสอบความจำได้ไม่ค่อยดีในวันที่อากาศดี เช่น ท้องฟ้าแจ่มใส ฯลฯ

ร้านค้าในออสเตรเลียยังมีแนวโน้มจะเปิดเพลงเศร้าๆ หรือช้าๆ เช่น เพลงของโชแป็ง (Chopin) ฯลฯ ในวันที่อากาศไม่ดี และเปิดเร็วๆ เช่น เพลงคลาสสิคเร็ว (Bizet's Carmen) ฯลฯ ในวันที่อากาศดี ซึ่งยิ่งเข้ากับบรรยากาศมากขึ้นไปอีก

...

ศ.ฟอร์กาสกล่าวว่า อากาศดีทำให้คนเรารู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ค่อยจะสนใจอะไรจริงจัง และจำอะไรไม่ค่อยได้

ตรงกันข้ามอากาศที่ไม่ดีกลับทำให้คนเราคิดอะไรช้าลง รอบคอบขึ้น แยกแยะ และจดจำได้ดีขึ้น

...

 

การศึกษานี้อาจมีปัจจัยรบกวนคือ เพลงที่เปิดในร้าน เนื่องจากผลการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า เพลงคลาสสิคประเภท "เรื่อยๆ มาเรียงๆ" หรือเพลงคลาสสิคที่ค่อนไปทางช้า เช่น โมซาร์ต ฯลฯ มีผลให้สมรรถภาพสมองดีขึ้น

การที่ร้านค้าในออสเตรเลียเปิดเพลงช้าๆ จึงอาจมีส่วนเสริมความสามารถในการจำได้เช่นกัน

...

ถ้าฝนฟ้าไม่ค่อยดีครั้งต่อไป... เรียนเสนอให้ลองหาอะไรมาท่องดู บางทีอาจจะจำได้ดีเกินคาดทีเดียว

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                     

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >  > 19 เมษายน 2552.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 256306เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2009 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท