หมอบ้านนอกไปนอก(88): วิจัยระบบสุขภาพ


ระบบสุขภาพมีความหมายที่กว้าง เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตผู้คน ความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมที่มากระทบต่อสุขภาพ การกำหนดนโยบายจึงมีความสำคัญอย่างมากหากนโยบายนั้นได้มีการศึกษาวิจัยระบบสุขภาพที่เหมาะสมก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก

ผมมีความตั้งใจในการขอทุนไปเรียนที่เบลเยียมอยู่หลายประการนอกเหนือไปจากการได้ไปเปิดหูเปิดตาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในโลกต่างแดน การฝึกใช้ภาษาอังกฤษ การได้รับความรู้ใหม่ๆ การมีเพื่อนใหม่ที่มาจากสัญชาติเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่หลากหลายจากประเทศต่างๆ ทั้งผิวสี ผิวขาวและผิวเหลืองอย่างคนเอเชียเรา การได้รู้จักอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขในระดับนานาชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้ช่วยเปิดโลกทัศน์และกระบวนทัศน์ (ปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งใช้คำว่า กบาลทัศน์ ซึ่งผมคิดว่าให้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งดีเหมือนกัน) ของตนเองให้ทันต่อสถานการณ์ของโลกมากขึ้น

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากได้คือไปเรียนรู้วิธีการสร้างองค์ความรู้ของประเทศที่เจริญแล้ว เขาทำกันอย่างไรโดยเฉพาะองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพและสาธารณสุข ที่ทำให้โลกเขตร้อนหลายๆประเทศต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนรู้โรคเขตร้อนจากประเทศเมืองหนาวในยุโรป ที่แทบไม่พบหรือไม่มีโรคเมืองร้อนเหล่านั้นเลยเพราะเขาเป็นเขตเมืองหนาว

และอาจารย์หมอวิจารณ์ก็ได้ฝากโจทย์การบ้านข้อหนึ่งไปว่าช่วยไปดูการวิจัยระบบสุขภาพของเบลเยียมมาเขียนเล่าลงในบล็อกด้วย ผมเองก็พยายามหาข้อมูลในเรื่องนี้แต่ก็มีกล่าวถึงน้อยมาก จะคุยกับอาจารย์ที่สอนหลายๆท่านก็ไม่ค่อยมีเวลาให้คุยด้วย ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์โกเวิร์ต ที่เป็นผู้ประสานงานวิชาการของสถาบัน (เป็นสามีของทีน่า ที่ช่วยติดต่อสถานที่ฝึกงานในโรงพยาบาลที่แอนท์เวิปให้ภรรยาผม) ได้คุยกันเมื่อครั้งที่ผมพาภรรยาผมไปพบกับภรรยาเขาที่บ้านพักใกล้ๆกับโรงพยาบาล พอได้ข้อมูลมาบ้าง ปะติดปะต่อกับสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นจากการอยู่ที่เบลเยียม 10 เดือน พอจะสรุปให้เห็นภาพของการวิจัยระบบสุขภาพของเบลเยียมได้บ้าง ผมดูๆแล้วที่เบลเยียมเขาพยายามไม่แยกงาน สำนักงานออกมามากเกินไป และพยายามให้เป็นไปตามระบบงานปกติของเขา แต่เขาเน้นผู้เกี่ยวข้องสามฝ่ายคือภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้เข้ามามีบทบาท และไม่ได้แยก ส. ต่างๆออกมามากมายแบบบ้านเรา แล้วก็มาเจอปัญหามองดาวคนละดวง ทำงานไปคนละทาง บูรณาการงานกันไม่ได้

ระบบสุขภาพ หมายถึงระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ โดยมีขอบเขตและความหมายที่กว้างขวางเกี่ยวข้องกับเหตุและปัจจัยต่างๆที่มีผลเกี่ยวข้องกระทบกับสุขภาพมากมายหลายด้าน ทั้งปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพ (ชุดวิชา 54102 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) จากนิยามดังกล่าวนี้การวิจัยระบบสุขภาพจึงเป็นการวิจัยที่กว้าง เกี่ยวข้องกับปัจจัยรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้คนในสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล หมอ พยาบาล เท่านั้น

ประเทศไทยเราได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยระบบสุขภาพโดยมีการจัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขหรือสวรส. (The Health System Research Institute: HSRI) ขึ้นมาเพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดการวิจัยระบบสุขภาพที่จะช่วยกำหนดแนวทางการทำงานด้านสุขภาพหรือนโยบายทางด้านสุขภาพ แต่ก็ยังพบว่านโยบายสุขภาพหลายๆนโยบายกลับไม่ได้มีการวิจัยสนับสนุนเป็นเรื่องความต้องการของผู้มีอำนาจหรือผู้มีหน้าที่กำหนดนโนบายเท่านั้น อย่างเรื่องนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากได้มีการวิจัยเชิงระบบทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการ เราอาจพบปัญหาหรือข้อขัดแย้งน้อยกว่านี้เพราะเมื่อได้ผลวิจัยมาก็มีการปรับ การเตรียมให้พร้อมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

การสร้างองค์ความรู้ใหม่สามารถทำได้ทั้งการวิจัย (Research) และการจัดการความรู้ (Knowledge management) โดยอาศัยกระบวนการศึกษาทบทวนวรรณกรรมที่มีการตีพิมพ์ไว้แล้ว (ค้น) หรือไปศึกษาดูงานว่าที่อื่นๆเขาทำอย่างไรบ้างแล้วนำมาปรับใช้กับงานของตนเอง (คว้า) และในบางแห่งก็พยายามสกัดเอามาจากความรู้ประสบการณ์ของตนเองและเพื่อนร่วมงานเพื่อเอามาปรับประยุกต์ใช้และต่อยอดให้ดีขึ้น (ควัก) เท่าที่ผมได้ทราบที่เบลเยียมไม่ได้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขของประเทศขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และไม่ค่อยได้พูดกันถึงเรื่องการจัดการความรู้มากนัก แม้แต่ในสถาบันที่ผมเรียนนี้ก็ถือว่าเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของยุโรปก็มีคนที่สนใจและรู้เรื่องการจัดการความรู้น้อยมาก

แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คืออาจารย์แต่ละท่านมีงานศึกษาวิจัย มีการค้นคว้า การอ่านเอกสารงานวิจัยต่างๆเยอะมาก เวลามาสอนก็จะมีงานวิจัยที่ดีๆเอามาให้นักศึกษาได้อ่านและวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์กันอยู่เสมอ ในการทำวิทยานิพนธ์เวลานักศึกษาค้นคว้างานวิจัยมาทบทวนวรรณกรรม ก็พบว่าอาจารย์หลายท่านก็ช่วยค้นคว้าเพิ่มเติมมาให้นักศึกษาที่ตนเองให้คำปรึกษาไปอ่านเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก การค้นคว้าเอกสารเพื่อมาประกอบการอภิปรายหรือการสังเคราะห์เป็นงานเขียนต่างๆจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อยอดองค์ความรู้ได้ดี การทำงานวิจัยจึงถือเป็นภารกิจสำคัญของอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่น้อยไปกว่าการสอนหนังสือ แต่พบว่างานวิจัยหลายเรื่องของอาจารย์ที่สถาบันเป็นการนำเอางานวิจัยหลายๆงานในหัวข้อเดียวกันมาทบทวนและเรียบเรียงขึ้นมาเป็นงานวิจัยทำนองวิจัยเอกสาร (Documentary research)

แม้ว่าผมจะมองไม่ชัดนักเกี่ยวกับการวิจัยระบบสุขภาพของเบลเยียม แต่ก็พอได้ข้อมูลมาบ้างว่า เขาทำกันอย่างไร เช่น

การทบทวนการใช้ยาเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถจ่ายยาให้คนไข้ได้เองไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาลหรือคลินิก ทำได้แค่การเขียนใบสั่งยาแล้วคนไข้ถือใบสั่งยาไปรับยาที่ห้องยาของโรงพยาบาลสำหรับคนไข้ในและไปที่ร้านขายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์แต่ละคนจะถูกนำไปที่สำนักงานประกันสังคมเพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสั่งจ่ายยา การใช้ยาในภาพรวมของประเทศและแยกแยะออกมาเป็นของแพทย์แต่ละคนเพื่อดูความเหมาะสมของการใช้ยารวมในระดับประเทศและความเหมาะสมของการสั่งยาของแพทย์แต่ละคนว่าเบี่ยงเบนออกไปจากค่าเฉลี่ยปกติของแพทย์ส่วนใหญ่หรือไม่ ถ้าพบว่าเบี่ยงเบนไปแพทย์จะถูกกำหนดให้ไปศึกษาอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้มีความรู้ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมการสั่งจ่ายยาของแพทย์แต่ละคนได้แล้วยังเป็นการบังคับให้เกิดการศึกษาต่อเนื่องด้วย (Continuous Medical Education: CME

การทำวิจัยปฏิบัติการระบบสุขภาพที่พึงประสงค์โดยการสนับสนุนงบประมาณหรือทุนแก่อาจารย์มหาวิทยาลัยไปทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ  (Action research) ในพื้นที่จริงในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ในการพัฒนาระบบสุขภาพ ทำให้อาจารย์ที่สอนด้านต่างๆในมหาวิทยาลัยมีความรู้ทั้งภาคทฤษีและประสบการณ์จริงในพื้นที่ เช่นการบริหารระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชนบท การจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ การแก้ปัญหาเฉพาะโรคด้วยโครงการ (Vertical program) การจัดบริการสุขภาพด่านหน้า (First line health service) การบริหารเวชภัณฑ์หรือการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ (Local Health System)

การวิจัยปฏิบัติการ เริ่มต้นจากขั้นตอนของการวิเคราะห์สถานการณ์ (I: Situation analysis) แล้วก็ทำการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารงานวิจัยต่างๆหรือการทบทวนวรรณกรรมร่วมกับการจินตนาการถึงแนวทางใหม่เพื่อมาเข้าสู่ขั้นตอนที่สองคือการวางแผน (II: Planning) เป็นการนำองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่มารวมกับความคิด จินตนาการของผู้วิจัยเพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นระบบงานใหม่หรือวิธีการใหม่ ซึ่งถ้าเป็นการวิจัยทั่วๆไปก็จะได้แค่กรอบแนวคิด (Conceptual framework) แต่ในการวิจัยปฏิบัติการนี้ต้องได้ถึงแนวปฏิบัติเลย หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนที่สามคือการนำลงสู่การปฏิบัติ (III: Implementation) เป็นการปฏิบัติจริงตามกรอบ แนวทางหรือไกด์ไลน์หรือระบบที่วางไว้ ขั้นตอนนี้จะทำให้ผู้วิจัยได้มีโอกาสลงไปทำงานหรือสังเกตการณ์ในพื้นที่จริง ทำให้เกิดแนวคิด มุมมองที่ชัดเจนในการตีความ วิเคราะห์ผลการวิจัย และเข้าสู่ขั้นที่สี่คือการประเมินผล (IV: Evaluation) เป็นการประเมินผลว่าได้ตามที่กำหนดหรือวางแผนไว้หรือไม่ ได้เพราะอะไร ไม่ได้เพราะอะไร การประเมินผลอาจมีทั้งการประเมินเชิงปริมาณที่เป็นตัวเลขเชิงประจักษ์ชัด (KPI:Key performance indicator/index ไม่ใช่ Kill performance indicator ที่บางคนชอบใช้กัน) หรือการประเมินเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth interview) การสังเกต (Observation) หรือฟังจากเรื่องเล่า (Narrative หรือ Story telling) ก็ได้ หลังจากนั้นก็นำผลการประเมินมาสรุปความคิดรวบยอดหรือเสนอแนะทฤษฎีหรือโมเดลใหม่ รวมทั้งการเสนอแนะแนวทางที่ควรทำเพื่อให้ผลความสำเร็จที่ดีมากขึ้น

จะเห็นว่ากระบวนการของการวิจัยปฏิบัติการก็เหมือนกับการพัมนาคุณภาพตามวงจรคุณภาพเดมมิ่งคือP-D-C-A (Plan-Do-Check-Act) หรือ PDSA (Plan-Do-Study-Act) ของ พรพ. หรือหากพิจารราตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) หรือรางวัลการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ก็คล้ายๆกับการดูโครงร่างองค์กรแล้วต่อด้วยADLI (Approach-Deploy-Learning-Integration) นั่นเอง และอีกอย่างคือทางยุโรปเขาให้ความสำคัญและความสนใจการสร้างความรู้ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นอย่างมาก ไม่ได้เน้นแค่การวิจัยเชิงปริมาณที่ต้องอาศัยความมีนัยสำคัญทางสถิติเท่านั้น

การวิเคราะห์ระบบสุขภาพของประเทศที่ให้เงินสนับสนุนในรูปเงินช่วยเหลือประเทศหรือการเป็นDonor พร้อมกับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพหรือระบบสาธารณสุขเข้าไปร่วมทำงานวิเคราะห์ระบบสุขภาพที่เป็นอยู่ของประเทศนั้นๆ ดูจุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหา ข้อจำกัดต่างๆแล้วนำมาวิเคราะห์หาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบพร้อมกับการจัดทำโครงการในรูปการวิจัยปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ไปพร้อมๆกัน เช่น จีน เขมร แทนซาเนีย ยูกานดา เป็นต้น พร้อมทั้งนำเอาผลการวิเคราะห์และการวิจัยเอามาเป็นกรณีศึกษาให้นักศึกษาได้ร่วมเรียนและร่วมอภิปรายด้วย แล้วอาจารย์เกือบทั้งคณะก็มาร่วมฟังเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความคิดเห็นจากนักศึกษาที่มาจากหลายๆประเทศ เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน

การประเมินผลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศโดยทางสำนักงานประกันสังคมได้มีการนำเอาข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริการด้านสุขภาพมาวิเคราะห์ดูแนวโน้ม ความเหมาะสม ความเป็นไปของค่าใช้จ่ายเพื่อนำเสนอให้ทางโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพและกองทุนความเจ็บป่วยได้รับทราบข้อมูลย้อนกลับ และนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดวงเงินที่ทางสำนักงานประกันสังคมและกองทุนเจ็บป่วยจะต้องจ่ายให้แก่สถานพยาบาลหรือร้านขายยาต่างๆให้เหมาะสม อยู่ได้และไม่ฟุ่มเฟือบสุรุ่ยสุร่ายจนเกินไป นอกจากนี้ยังดูไปถึงการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีราคาแพง การกำหนดบัญชีราคายาแห่งชาติด้วย

การสนับสนุนทุนแก่มหาวิทยาลัยเพื่อทำการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยทราบว่าเงินทุนสนับสนุนการวิจัยของสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนที่ผมไปศึกษานี้ได้รับเงินสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลเพื่อการศึกษาวิจัยร้อยละ 50 และได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนช่วยเหลือต่างๆอีกร้อยละ 50 ทำให้สามารถลงไปทำวิจัยในพื้นที่ที่เน้นการวิจัยปฏิบัติการได้สะดวกมากขึ้น เพราะการวิจัยปฏิบัติการจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมากเพราะมีการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ มหาวิทยาลัยจึงสามารถสร้างหรือสังเคราะห์องค์ความรู้เชิงระบบขึ้นเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเองโดยอาจารย์ไม่จำเป็นต้องไปลอกเอาความรู้ของสถาบันอื่นๆมาสอนนักศึกษา จึงเกิดเป็นสำนักความคิด (School of Thought) ได้ง่าย อาจารย์ที่จะมาบรรยายในชั้นเรียนได้ก็จะต้องผ่านการเรียนรู้แนวคิดหลักของสถาบันก่อนโดยการเป็นอาจารย์ผู้ช่วย การฟังผู้เชี่ยวชาญหรือศาสตราจารย์บรรยายหลายๆครั้ง มีประสบการณ์ลงในพื้นที่จริงก่อน จึงจะสามารถเป็นอาจารย์ผู้บรรยายได้ ไม่ใช่จบมาปุ๊บก็สามารถอ่านตำราหรือลอกเอาตำราของคนอื่นมาสอนต่อหรือมาพูดต่อแค่นั้น

ในด้านการจัดการความรู้นั้น เท่าที่ผมสัมผัสในชั้นเรียนยังคงเป็นการเน้นการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นเอกสารวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว (Explicit knowledge) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นลักษณะของการส่งผ่านความรู้ (Knowledge transfer) มากกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing) แม้จะมีการตั้งวงคุยกันบ่อยมาก แต่ก็เริ่มต้นด้วยปัญหา แล้วมีการอภิปราย วิพากษ์หรือโต้วาที (Debate) กันโดยใช้ความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เน้นประสบการณ์หรือความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) มากนัก เวทีที่เริ่มจากปัญหาและมีการถกเถียงกันอย่างเมามัน ใครพูดช้าจะไม่ได้พูด เพราะจะถูกแย่งพูดไปจนหมดเวลา แล้วก็จะมีความคิดเห็นที่มักขึ้นต้นด้วย ผมคิดว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ แต่ก็ดีกว่าที่เคยเจอในเมืองไทยก็คือเวลาเถียงด้วยความคิดเห็นของเขา เขาจะอ้างอิงงานวิจัยที่เขาไปศึกษาค้นคว้ามาประกอบด้วย จึงยังคงมีความเป็นวิชาการมากอยู่ แม้แต่เพื่อนๆที่ไปเรียนด้วยกันเวลาเถียงกับเขาต้องบอกด้วยว่ามาจากวิจัยเรื่องไหน

ในเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพของเบลเยียมเอง ไม่ได้มีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติ โดยอาศัยข้อมูลจากการรวบรวมวิเคราะห์โดยสำนักงานประกันสังคม นำเอาข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติจริง เอามาปรับแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพหรือป้องกันการเกิดปัญหาของระบบสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในความคิดของผมคิดว่าการกระทำแบบนี้ก็คือการพัฒนางานประจำสู่การวิจัยนั่นเอง เป็นการวิจัยจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทำจริง ไม่ต้องไปทำการทดลองหรือลองทำ แล้วค่อยไปเก็บข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ทีหลัง ไม่ต้องมานั่งเขียนโครงร่างวิจัยกันก่อน แต่ก็พบว่าองค์ความรู้ในเรื่องระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ที่สร้างขึ้นก็ยังไม่สามารถนำไปปรับใช้กับของเบลเยียมได้มากนัก เพราะเป็นองค์ความรู้ที่สร้างจากบริบทของโลกที่สาม ทำให้นักการเมืองและประชาชนไม่ค่อยยอมรับมาปรับระบบสุขภาพของตนเองนัก

บ้านเมืองเรา หากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพ (ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา) แล้วไม่ทำแค่เป็นนายหรือนางไปรษณีย์ส่งข้อมูลผ่านไปตามระบบการไหลเวียนของรายงานเท่านั้น แต่เอาข้อมูลเหล่านั้นมาทำการประมวลผล จัดหมวดหมู่ ทำการวิเคราะห์ให้เห็นความร็ที่ซ่อนอยู่นั้น แล้วพยายามสังเคราะห์ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ น่าจะเกิดคุณูปการแก่ระบบสุขภาพไทยอย่างมาก

ข้อมูลที่เก็บกันอยู่ในระบบสาธารณสุขบ้านเรามีจำนวนมากมาย ทั้งที่เก็บตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขเอง และเก็บตามความต้องการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่การเก็บอย่างมากมาย ละเอียดจนจุกจิกอย่างนี้ก็พบว่าการต้องรีบทำให้เสร็จเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลได้ทันนั้น ทำให้ได้ข้อมูลที่อาจมีความคลาดเคลื่อนสูง เอาแค่มีส่งก็พอก่อนเรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง เพราะถ้าทำข้อมูลดีๆแต่ส่งไม่ทันก็มีโอกาสถูกตำหนิหรืออาจถูกตัดเงินสนับสนุนได้ ข้อมูลในระบบสาธารณสุขที่ได้จึงกลายเป็นลักษณะ Garbage in, Garbage out เวลานำไปประมวลผลแล้วสรุปออกมาสังเคราะห์ออกมาเป็นนโยบายในการทำงาน คนทำงานจึงมักบ่นว่าไม่สอดคล้องกับคนทำงานในพื้นที่ เวลาจะทำวิจัยจึงต้องออกไปเก็บข้อมูลกันใหม่ เพราะไม่ค่อยเชื่อถือข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

ผมจำได้ดีว่าตอนที่จบแพทย์ปี 2 ช่วงปิดเทอมได้ออกไปสำรวจพื้นที่เพื่อเลือกหมู่บ้านทำค่ายอาสา ก็ได้ออกไปพบปะพูดคุยกับข้าราชการในหลายๆหน่วยงาน มีอยู่วันนึงที่ไปที่สถานีอนามัยแห่งหนึ่งที่มีหมออนามัยเพียงคนเดียวกับพื้นที่สูงที่กว้างขวาง เป็นผมก็คงทำงานได่ไม่ครอบคลุมตามที่กำหนด ผมได้ถามพี่เขาว่างานก็เยอะ รายงานก็เยอะ แค่ทำงานกับไปประชุมก็หมดเวลาแล้ว พี่เอาเวลาไหนไปทำรายงานส่ง พี่เขาตอบผมว่า “น้องเอ๊ย เรื่องรายงานนี่ อย่าว่าแต่ทำเลย แค่เมค (Make) ก็ยังไม่ทันแล้วสะท้อนภาพได้ดีไหมครับ

การมีระบบข้อมูลที่ดี เลือกเก็บตามความเหมาะสม แล้วมีระบบการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ ในลักษณะของการก่อให้เกิดการวิจัยระบบสุขภาพที่ดี จะช่วยให้การกำหนดนโยบายสุขภาพหรือนโยบายด้านสุขภาพเป็นไปได้อย่างเหมาะสม นโยบายที่ออกมาก็จะส่งผลที่ดีต่อระบบสุขภาพของประเทศได้และมีความเป็นจริงในการนำนโยบายลงไปปฏิบัติได้มาก

 

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

โรงพยาบาลบ้านตาก อ.บ้านตาก จ.ตาก

16 เมษายน 2552

 

หมายเลขบันทึก: 255838เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2009 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอบคุณคุณหมอมากครับ
  • ที่ทำให้เข้าใจระบบวิจัยสุขภาพของต่างประเทศได้ดีขึ้น
  • ชอบตรงนี้
  • ตรงกันข้ามกับบ้านเรามากๆๆ
  • "อาจารย์ที่จะมาบรรยายในชั้นเรียนได้ก็จะต้องผ่านการเรียนรู้แนวคิดหลักของสถาบันก่อนโดยการเป็นอาจารย์ผู้ช่วย การฟังผู้เชี่ยวชาญหรือศาสตราจารย์บรรยายหลายๆครั้ง มีประสบการณ์ลงในพื้นที่จริงก่อน จึงจะสามารถเป็นอาจารย์ผู้บรรยายได้ ไม่ใช่จบมาปุ๊บก็สามารถอ่านตำราหรือลอกเอาตำราของคนอื่นมาสอนต่อหรือมาพูดต่อแค่นั้น"
  • ขอบคุณมากๆๆครับ

ตรงใจมาก

ข้อมูลที่เก็บกันอยู่ในระบบสาธารณสุขบ้านเรามีจำนวนมากมาย ทั้งที่เก็บตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขเอง และเก็บตามความต้องการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

เอาแค่มีส่งก็พอก่อนเรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง

คนทำงานจึงมักบ่นว่าไม่สอดคล้องกับคนทำงานในพื้นที่ เวลาจะทำวิจัยจึงต้องออกไปเก็บข้อมูลกันใหม่ เพราะไม่ค่อยเชื่อถือข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

 

ตรงใจมากเลยค่ะอาจารย์ โดยเฉพาะการทำงานปัจจุบันงานวิจัย ไม่ค่อยนำมาปรับใช้นี่คือเหตุผลหนึ่งกระมังคะ และผลงานมากมายไม่ได้นำมาใช้ แต่สามารถประเมินความก้าวหน้าได้

(จ้างทำก็เยอะ)

เม้น+โหวต ให้เราด้วยนะ

มีหลายอย่างที่ไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการค่ะเพราะขัดกับการปฏิบัติจริงๆ

ติดตามผลงานอาจารย์มาตลอดชื่นชมที่อาจารย์สามารถสร้างความรัก สามัคคีในองค์กร และพัฒนาบุคลากรทุกระดับไม่เลือกข้าง (ไม่เลือกเฉพาะคนที่เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างเดียว เรียกว่าอาจารย์ มืออาชีพจริงๆค่ะชื่นชม)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท