ธรรมโอสถ: วิธีช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง/รุนแรง


ธรรมโอสถ

 ธรรมโอสถ: วิธีช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง/รุนแรง

นลเฉลย

ผู้ป่วยกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือ โรคที่รุนแรง โดยเฉพาะโรคที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มักจะมีปัญหาท้อแท้ใจ ขาดกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้าย หลายรายถึงขั้นหมดอาลัยตายอยาก ไม่ร่วมมือในการรักษา ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ญาติใกล้ชิดมักจะกังวล กลัวว่าถ้าผู้ป่วยรู้ว่าตนเป็นอะไรจะมีทำใจไม่ได้ หลายครอบครัวเลือกที่จะใช้วิธีปิดบังความจริง ไม่บอกให้ผู้ป่วยรู้ว่ากำลังเป็นโรคร้ายแรง ทั้งที่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ปกปิดกันยาก เพราะผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดรักษา ต้องไปเจอผู้ป่วยคนอื่นๆที่เป็นแบบเดียวกัน ต้องเจอกับบุคลากรทางการแพทย์หลายคน การจะปิดบังความจริงโดยหวังให้คนที่ผู้ป่วยต้องไปพบเจอ ร่วมมือในการปิดบังความจริงด้วยจึงเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญเรื่องที่ยากกว่า คือการบิดบังความรู้สึกของญาติเอง ญาติหลายรายที่พยายามบอกว่า ผู้ป่วยไม่เป็นอะไรมาก แต่ตนเองกลับมีอารมณ์ซึมเศร้า หรือร้องไห้ให้ผู้ป่วยเห็น การปิดบังความจริงนั้นอาจพอทำได้ แต่การปิดบังอารมณ์นั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะต้องทำอยู่ตลอดเวลา  แต่ถึงจะยากอย่างไรก็พอจะทำได้ถ้าญาติรู้ตัวว่าขณะนั้นตนรู้สึกอย่างไร และรู้วิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ของตน แต่สิ่งที่ปิดบังได้ยากที่สุดคือ ร่างกายของผู้ป่วยเอง อย่างที่เริ่มไว้ข้างบนครับ บทความนี้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง โรคที่เรื้อรัง อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จึงจะมีแต่ ทรงกับทรุด อาการป่วยไม่สบายเหล่านี้เอง เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยรับรู้ได้โดยง่าย เคยลุกไหวกลายมาเป็นต้องนอนติดกับเตียง เคยมีแรงทำนู่นทำนี่กลายเป็นอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เคยทานอาหารได้กลายเป็นเบื่อไม่อยากทานอะไร เคยไม่ปวดกลายเป็นมีอาการเจ็บปวด ฯลฯ อาการเหล่านี้เองที่ไม่มีใครสามารถปกปิดผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่แม้ไม่รู้ว่าตนป็นโรคอะไร ก็จะพอรู้ว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง หลายคนรู้แม้กระทั่งว่าตนคงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แม้ว่าญาติจะพยายามปกปิด ไม่บอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม  ที่พูดมาทั้งหมดมิได้พยายามบอกว่าเราควรบอกความจริงกับผู้ป่วย เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าการพยายามปิดบังความจริงนั้นทำได้ยาก และอาจเกิดปัญหาได้อย่างไร อย่างที่ขึ้นหัวข้อไว้ครับ นอกจากวิธีปิดบังแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยที่เป็นโรครุนแรง หรือ โรคเรื้อรังได้ ลองอ่านดูนะครับอาจเป็นวิธีที่ใช้ทดแทนการปิดบัง หรือใช้ไปด้วยกันทั้งสองวิธีก็ได้ วิธีที่ว่านี้มีขั้นตอนต่างๆดังนี้ครับ

1.      ดึงความสนใจของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่กำลังไม่สบาย มักจะกังวล คิดนู่นคิดนี่ไปต่างๆนานา ยิ่งในเวลาที่ต้องนอนป่วยอยู่คนเดียวแล้ว หลายรายจะกังวลทั้งเรื่องของตนเอง และเรื่องของคนอื่น เป็นห่วงคนใกล้ตัว เป็นห่วงงาน ห่วงอนาคตของคนรัก สารพัดจะห่วง ยิ่งห่วงก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งไม่สบาย ก็ทำให้ยิ่งกังวลมากขึ้น การชักชวนหรือ ดึงความสนใจของผู้ป่วยออกมาจากเรื่องกังวลใจเหล่านั้น จึงเป็นขั้นตอนสำคัญข้นตอนแรก เป็นดึง “สติ” ของผู้ป่วยให้หันมาสนใจ ในเรื่องที่ควรสนใจ ไม่ไปหมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องที่รังแต่จะทำให้ไม่สบายใจ หลายคนมักจะเทียบใจของเรา ว่าคล้ายลิง ไม่อยู่นิ่งวิ่งไปวิ่งมาตลอด และมักจะแนะนำให้ฝึกสติโดยพยายามดึงใจให้ไปจดจ่อกับสิ่งที่ “ควรสนใจ” หรือ ให้อยู่กับปัจจุบัน คำแนะนำเหล่านี้อาจใช้ได้ดีในสภาวะการปกติ หรือในผู้ที่ผ่านการฝึกฝนมาบ้างแล้ว แต่ในผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องเผชิญกับโรคที่รุนแรง หรือ ผู้ที่ไม่เคยได้รับการฝึกสติมาก่อน คำแนะนำที่ให้มักไม่ได้ผล ในกรณีเหล่านี้ญาติ หรือ คนใกล้ชิด ผู้ป่วยอาจทำตัวเป็นเชือก ที่คอยผูกดึง “ลิง” หรือ จิตใจ ของผู้ป่วยให้ ติดอยู่กับหลัก ไม่เตลิดเตลิงไปครุ่นคิดกังวลถึงเรื่องร้ายที่ผ่านมาหรือที่ยังมาไม่ถึง วิธีการนั้นไม่ยาก เพียงแต่ต้องคอยชวนพูดคุย ชวนสนทนา ดึงความสนใจของผู้ป่วยให้หันไปสนใจเรื่องดีๆ ให้สนใจในเรื่องปัจจุบัน ไม่ไปคิดกังวลถึงเรื่องที่ผ่านมา หรือเรื่องของอนาคต พอดึงความสนใจได้แล้วก็ทำขั้นถัดไป

2.      ชวนให้นึกถึงเรื่องดีๆ ถามถึงสิ่งที่ผู้ป่วยภูมิใจ คุยเรื่องที่ผู้ป่วยสนใจ เรื่องดีๆของผู้ป่วย ในกรณีที่ไม่สามารถนึกถึงเรื่องดีๆของผู้ป่วยได้ อาจเล่าให้ผู้ป่วยฟังถึงเรื่องที่ดีของตนก็ได้ การดึงให้ผู้ป่วยสนใจในเรื่องดีนี้ อาจรวมไปถึงการให้ฟังเพลง การชวนทำกิจกรรมที่เพลิดเพลิน เช่นการทำงานศิลปะ การอ่านหนังสือที่ผู้ป่วยชอบให้ฟัง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการสับสน หลงวัน เวลา หรือ ไม่รู้ว่าตนอยู่ที่ไหน จำคนที่มาเยี่ยมผิดๆถูกๆ การดึงให้ผู้ป่วยสนใจในเรื่องปัจจุบัน ให้รู้ว่าวันนี้วันอะไร ตอนนี้กี่โมงแล้ว กำลังอยู่ที่ไหน หรือว่ากำลังคุยกับใคร การช่วยบอกให้ผู้ป่วยรู้ข้อมูลง่ายๆหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยหายสับสนได้   

3.      เพียรพยายาม ดึงความสนใจของผู้ป่วยเป็นประจำ โดยอาจใชวิธีผลัดเปลี่ยนเวรกัน ถ้าสามารถทำได้ตลอดเวลาที่ผู้ป่วยตื่นก็จะดีมาก ผู้ป่วยที่กำลังทุกข์เรื่องอาการทางกายนั้น อาการเจ็บไข้ของผู้ป่วย จะเป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยมีความกังวลอยู่เสมอ ดังนั้นการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหลุดจากวังวนดังกล่าวจึงจำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ทำบ่อยๆ  

4.      ชักนำให้เกิดความสุข ให้นึกถึงความสุข หรือ อาจจะพูดอีกอย่างว่าทำให้ได้รับผลบุญ จากสิ่งดีๆที่ผู้ป่วยเคยทำ ผลบุญนี้มิได้จำกัดแค่การทำบุญกับพระสงฆ์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงผลบุญอื่นๆ เช่น การที่ผู้ป่วยได้เลี้ยงดูบิดามารดา การที่ผู้ป่วยได้เลี้ยงดูบุตร การที่ได้ทำเรื่องดีๆที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกภูมิใจ เป็นสุขใจ การชวนให้นึกถึงเรื่องเหล่านั้นจะช่วยให้ใจเกิดความสุข

5.      ความสงบ เมื่อใจเริ่มพบกับความสุข จิตใจที่เคยวุ่นวาย คิดกังวลเรื่องต่างๆก็จะสงบลง เมื่อใจสงบ ใจจะสบาย ความทุรนทุรายที่มีจึงเหลือแค่เพียงความไม่สบายทางกายเท่านั้น การที่ใจสบายนี้นอกจากจะไม่ช่วยซ้ำเติมให้อาการทางกายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีผลช่วยให้อาการทางกายบรรเทาลงไปได้มากขึ้นด้วย

6.      เมื่อทำอย่างนั้นบ่อยๆเข้าในที่สุด จิตใจของผู้ป่วยจะเริ่มนิ่ง เปรียบเสมือนลิงที่นั่งอยู่ข้างหลักได้โดยไม่ต้องถูกเชือกดึง ใจที่นิ่งมีสมาธินี้ช่วยให้เกิดกำลังในการพิจารณาปัญหาด้านสุขภาพของตน มองเห็นทั้งด้านดีและด้านไม่ดีของชีวิต  

7.      การที่มองเห็นทั้งด้านดีและไม่ดีของชิวิตนี้เองช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปล่อยวาง ไม่เอาใจไปผูกติดกับเรื่องร้ายๆ แต่สามารถมองเห็นทั้งเรื่องดี และเรื่องร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต การเห็นเรื่องดีทำให้มีกำลังใจ ไม่รู้สึกหดหู่ ท้อแท้ การเห็นว่ามีทั้งเรื่องดีและร้าย ยังทำให้เห็นสัจธรรมของความไม่เที่ยง ช่วยให้ปล่อยวาง ได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนั้นเป็นขั้นตอนในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังเผชิญโรคร้ายแรง ญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะช่วยด้วยวิธีนี้ได้ต้องเจริญ พรหมวิหาร ๔ (อ่านรายละเอียดเพิ่มได้ในเรื่อง พรหมวิหาร ๔ และเรื่อง ปล่อยวางไม่เท่ากับขว้างทิ้ง) คือต้องเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ไปพร้อมๆกัน

สุดท้ายที่สำคัญ ธรรมโอสถ บทนี้มิได้มุ่งที่จะช่วยให้ ผู้ป่วยหาย แต่มุ่งให้ผู้ป่วย “มีความสุข” ถ้ายังมีชีวิตอยู่ได้ ก็อยู่อย่างมีความสุข ถ้าถึงคราวสิ้นอายุขัย ก็จากไปอย่างมีความสุข

ครับอ่านแล้วคิดเห็นอย่างไรก็ลองปฏิบัติดูนะครับ อานิสงค์ ใดๆที่ได้จากการเขียนบทความนี้ ผู้เขียนขอ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ และผู้อ่านที่ได้นำบทความนี้ไปปฏิบัติ ทุกท่าน ขอให้เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ

หมายเลขบันทึก: 255632เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2009 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณสำหรับบทความนี้ครับ ขออนุญาตว่าจะเก็บเกี่ยวไปสอนนักเรียนแพทย์และคนอื่นๆ ด้วย

มีบางประเด็นที่ขอแจมไว้ด้วยนะครับ

ที่โรงพยาบาลพุทธชินราชเราก็คุยกันถึงเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีหลายหน่วยหลายวงที่คุยกัน ที่คุยในส่วนที่ KM เกี่ยวข้อง เราเห็นพ้องกันว่า เราควรจะหาทางทำให้ผู้ป่วยรู้ตัว (ด้วยวิธีที่ดี) เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจทั้งคนไข้และญาติ เราคิดว่าการตายดีคือ ตายแบบไม่เจ็บปวด ไม่อดตาย ไม่ทรมาน และควรตายแบบหมดห่วง ได้เตรียมเรื่องต่างๆ เช่นจัดการหนี้สิน วางแผนอนาคตลูก หรือเคยโกรธกับใครก็ให้อโหสิเสียก่อน อยากเจอใครก็ได้เจอก่อน ได้ทำสิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ (คนไข้หลายคนอยากทำบุญ ระยะหลังนี้จึงเห็นหลายโรงพยาบาลนิมนต์พระเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่นไปรับบาตร ฯลฯ) เมื่อเราพยายามทำ ก็ทำให้เกิดความสุขและความรู้สึกดีๆขึ้น ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ คนไข้ และญาติ

เรามีคนไข้บางคนที่เตรียมตัวตายขนาด เตรียมเครื่องแต่งตัว ร่างคำกล่าวสุนทรพจน์ให้อ่านให้แขกที่มาร่วมงานศพของตนฟัง วางแผนชีวิตของผู้เกี่ยวข้องกับตัวเองทั้งหมด แล้วตายอย่างหมดห่วงครับ ดังนั้นสุขคติก็เป็นที่หวังได้

ยินดีครับ อาจารย์เอาไปสอนไปใช้ได้ตามแต่เห็นสมควรเลยครับ

เรื่องที่ให้ผู้ป่วย รับทราบและเตรียมตัวจากไปอย่างสงบ นั้น ผมเห็นด้วยครับ อย่างไรก็ดี เราพบบ่อยๆว่า ญาติ และผู้ป่วยบางคน ยังยอมรับไม่ได้ ยังวางอุเบกขาไม่เป็น ผมเลยเขียนบทความนี้ขึ้นมาครับ เพราะเชื่อว่าถ้าเขาพอสบายใจขึ้นจะยอมรับเรื่องร้ายๆได้ดีขึ้นครับ

เรื่องทำบุญ กิจกรรมทางศาสนา ในโรงพยาบาลนั้น ผมเห็นด้วยอย่างมาก และกำลังพยายามผลักดัน "โครงการโรงพยาบาลสถานศึกษาธรรม" อยู่ครับ ไอเดีย คือ โรงพยาบาลเป็นที่ ที่มี ทั้งการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย แต่น่าเสียดาย ที่ คนในโรงพยาบาล มักมองไม่เห็นสัจธรรมเหล่านี้ ถ้ามีกระบวนการ หนุนเสริมให้เขาดเหล่านั้น ได้มีโอกาส พิจารณาหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็คงจะดีครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ....

หนูได้อ่านบทความนี้ในหนังสือสุขภาพดีหมอจุฬาค่ะ...

เห็นว่ารายได้จากการจำหน่ายหนังสือมอบให้แก่การกุศลด้วย 

หนูก็เลยซื้อมาอ่านค่ะ...หนังสือดีมีประโยชน์มากเลยค่ะ

หนูขออนุญาติคุณหมอนำบทความของคุณหมอ  มาจัดทำเป็นบอร์ดประชาสัมพันธ์ใน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพที่หนูทำงานนะค๊ะ...หัวหน้าให้เลือกจัดบอร์ดอะไรก็ได้

หนูเลยนำเสนอบทความของคุณหมอ หัวหน้าบอกน่าสนใจค่ะ : )

เอาไว้ให้คนไข้ ญาติ อสม ฯลฯ ได้อ่านแล้วนำไปใช้กันค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ทวินันท์

นักวิชาการสาธารณสุข

คุณทวินันท์

ยินดีครับ จะเอาไปทำบอร์ด จะเอาไปถ่ายเอกสารแจก หรือจะเอาไปพิมพิ์ใหม่ ได้ทั้งนั้นครับ ที่อยู่ในหนังสือ กับ ที่อยู่ในเว็บนี้ ต่างกันเล็กน้อย แต่ที่เหมือนกันคือต้องการเขียนไว้แจกครับ ไม่มีลิกข์สิทธิ์ใดๆทั้งสิ้นครับ

อ่านบทความนี้แล้วประทับใจมาก ขออนุญาตนำไปใช้เป็นโมเดลในการดำเนินงาน อาจเพิ่มเติมในกิจกรรมบางอย่างเพื่อให้เข้ากับวิถีชุมชน ดิฉันตั้งใจจะศึกษาวิจัยเรื่องการนำหลักธรรมโอสถมาใช้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน รพ.สต.ค่ะ และตั้งใจจะพัฒนาการดำเนินงาน รพ.สต.เป็น "โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวิถีพุทธ"ต้องการเผยแผ่หลักธรรม แก่ จนท. แกนนำชุมชน อสม. และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ค่ะ ขอบคุณอีกครั้งสำหรับบทความนี้ที่จุดประกายในการทำงาน ขออานิสงส์ผลบุญที่ท่านได้ทำในครั้งนี้จงเกิดผลแก่ท่านและครอบครัว ประสบผลสำเร็จตามที่ท่านปราถนาทุกประการนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท