สู่การงานอันอุดม ; ว่าด้วยฉันทะ


เมื่อใดที่ใจเราเริ่มได้ด้วยฉันทะ เมื่อนั้นเราจะมีความเพียรอย่างมากมาย ความเพียรทำให้เรามีขันติธรรมมาเกื้อหนุนด้วย ไม่ว่าการงานจะหนัก และมีอุปสรรคมากเพียงใด เราจะก้าวผ่านไปได้

พิจารณาอยู่นานเหมือนกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของอะไร theme นั้นน่าจะไปจัดอยู่ในเรื่องการเยียวยาทางด้านจิตใจหรือไม่?

แต่แล้วข้าพเจ้า...ก็มองเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการงานเป็นหลัก จึงเลือกที่จะมาเขียนไว้ที่สมุดบันทึก R2R เพราะจากการเดินทางเป็นวิทยากรกระบวนการนั้นสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าพบว่าเป็นอุปสรรคเกิดขึ้นสำหรับคนหน้างาน นั่นก็คือ การเขียน...

โดยหน้าที่แล้วคนหน้างานส่วนใหญ่ถนัดต่อการปฏิบัติ...

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยน การพัฒนางานเพื่อไปสู่ความก้าวหน้า หรือการงานบางอย่างจำเป็นจะต้องมีเรื่องของการเขียน บันทึก วิเคราะห์ เก็บข้อมูลและเรื่องราวการทำงานเอาไว้ คนหน้างานก็จะมีอาการเขียนไม่ออก...

ข้าพเจ้าได้ทบทวนและใช้เวลาต่อข้อเขียนของคุณวรัญญา วชิโรดม เขียนไว้ที่ สาวิกา

โดยเขียนเรื่อง writer's block ข้าพเจ้าค่อนข้างเห็นด้วยทุกถ้อยความ นั่นอาจเป็นเพราะว่าเรามองเรื่องนี้ภายใต้ฐานคิดเดียวกัน คือ เรื่องของจิตใจ เพราะเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่ดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้นั้นเพราะมี "จิตใจ" เป็นบาทฐานสำคัญต่อการคิด พูด และกระทำต่างๆ ==> ไม่ใช่ปัญญาเพียงอย่างเดียว ปัญญานั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่ต่างคอยเกื้อหนุนกันและกันกับจิตใจใช้นำทางการดำรงชีวิต

อาการเขียนไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือ writer's block นี้ที่สุดแห่งสาเหตุแล้วมาจากสภาพจิตใจเป็นสำคัญ ซึ่งคุณวรัญญาเธอเรียกว่า มีเชื้อโรคอยู่ในจิตใจ ซึ่งข้าพเจ้าชอบคำนี้ของเธอมาก เรานั้นต่างๆ เป็นผู้มีเชื้อโรคเกาะกินใจกันอยู่มาก ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว... แต่ก็น้อยคนมากที่จะนำพาตนเองไปสู่การเยียวยา...

ทางจิตวิทยานั้น...

มีการแนะแนวทาง...การแก้ไขอาการนี้ไว้มากมาย...

แต่ข้าพเจ้ามองว่า มันไม่ถึงรากถึงแก่นแห่งจิต-จิตวิญญาณของมนุษย์ มันเป็นเพียงยาทาบรรเทาอาการเท่านั้นเอง...การถอนรากถอกโคนอาการดังกล่าว ต้องแก้ที่ต้นตอของต้นเหตุ

ต้นตอเกิดที่ไหน...?

ต้นตอเกิดที่ "จิต" ก็ไปแก้ที่จิต

มีสุดยอดปรมาณจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านจิตใจมากที่สุดอย่างหาใครเทียบไม่ได้อีกแล้ว บอกกล่าวไว้มาสองพันห้าร้อยกว่าปีว่า "ต้องนำยาที่ชื่อว่า อิทธิบาทสี่มาแก้" แก้ที่ต้นตอเลย

เริ่ม...ด้วย "ฉันทะ"...

"ฉันทะ" ต้องมี มีใจรักต่อสิ่งที่เราทำ

ข้าพเจ้าเกิดคำถามต่อไปอีกว่า ... แล้วเกิดว่าอยู่ๆ เราไม่ได้มาทำในสิ่งที่เรารักล่ะ เราจะสร้างใจรักต่อสิ่งที่เราทำได้อย่างไรกัน? ...

ปุจฉา ; ฉันทะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

วิสัชชนา ;

ก็ต้องมาจากการมี "สัมมาทิฐิ" หรือความคิดเห็นที่ถูกต้องต่อสิ่งที่เราทำ ต่อการงานที่เราทำ เราต้องมองและพิจารณาอย่างซึ้งลงไปในใจว่า "งาน" ที่เราทำนั้นเป็นงานที่มีคุณค่า มีประโยชน์

เมื่อเรามองเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของงานที่เราทำ ... ความงดงามในงานก็จะปรากฏขึ้น

และเมื่อเราได้มองซึ้งลงไปในใจแล้ว

ฉันทะก็จะปรากฏขึ้น..

และเมื่อฉันทะปรากฏขึ้น... ==> เพื่อนของฉันทะจะตามมาเอง อันประกอบด้วย "วิริยะ = ความพากเพียร บากบั่นไม่ย่อท้อ" "จิตตะ = อันมีใจจดจ่อ ตั้งมั่น ต่อการงานนั้น ไม่วอกแวกไปตามอารมณ์และความคิด" "วิมังสา =อันเป็นสภาวะแห่งการตรวจสอบ ไตร่ตรอง พินิจพิจารณาใคร่ครวญในการงานที่ทำนั้นเสมอ"...

ต่างๆ เหล่านี้จะปรากฏ...

ที่สำคัญ...พลังแห่งภายใน ที่เป็น "ความอดทน" เป็นแรงหนุนสำคัญ...ที่ทำให้เราผ่านอุปสรรคทางอารมณ์และความคิดไปได้

นอกจากนี้...สิ่งที่ข้าพเจ้าพบจากการเรียนรู้ และใคร่ครวญผ่านการถอดประสบการณ์อันเป็นทัศนะในส่วนตนที่ได้พบต่อตนเองนั่นก็คือ...

การที่เราจะพิจารณาอย่างซึ้งลงไปในใจได้นั้น ว่า "การงานของเรามีคุณค่า มีความหมายนั้น" ต้องอาศัยปัญญาช่วยในการใคร่ครวญ และเป็นการใคร่ครวญอย่างที่เราต้องเปิดประตูใจออกและมองเข้าไปให้เห็นในตัวงานของเราที่เราทำ ตระหนักว่านี่คือ หน้าที่ เราชอบหรือไม่ชอบ แต่นั่นน่ะ คืองานที่เราต้องทำและเผชิญ... จะเหนื่อยหนักหนาสาหัส แต่นั่นน่ะคือ หน้าที่ที่เราต้องทำ อันเป็นหน้าที่ที่ไม่มีใครบังคับ แต่เป็นหน้าที่ที่มนุษย์พึงทำ...

และการที่เราจะใช้ปัญญาใคร่ครวญได้นั้น  ต้องอาศัยบาทฐานมาจาก "สมาธิ"

สภาวะที่ใจเบาเบา ร่มเย็น เป็นสมาธินั้น จะทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดขึ้นไม่มัวด้วยอารมณ์และอคติ

ไม่มีปัญญาไม่มีสมาธิ ==> ยากที่จะใคร่ครวญได้อย่างลึกซึ้ง...

นั่นก็คือ ...ก่อนใคร่ครวญในการงานนี้ พึงได้น้อมใจลงทำสมาธิต่อจิตของตนเอง ใช้สมาธิเป็นบาทฐานของปัญญา ทำให้เราใช้ปัญญาได้อย่างถูกที่ ถูกเรื่อง และถูกเวลา

ทุกครั้งของการทำกระบวนการเรียนรู้ R2R ข้าพเจ้าจะให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ได้ทำสมาธิ...เพื่อจัดสภาวะแวดล้อมภายในจิตใจให้พร้อมต่อการเปิดประตูใจออกมาสู่การเรียนรู้อย่างใคร่ครวญ...จากโลกภายนอก

 

 

ถอดบทเรียนที่ผ่านการทบทวนตนเอง

แห่งการงาน

๑๓ เมษายน ๒๕๕๒

----------------------------------------------

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 255357เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2009 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณกะปุ๋ม

ฉันทะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การกระทำที่ดีค่ะ

หากไม่มีอยากให้เกิดเเค่ไหนก็ไม่เกิดค่ะโดยเฉพาะเรื่องงาน

สวัสดีค่ะคุณP 1. สุธีรา

การทำงานด้วยอารมณ์ เราจะทำไปได้เพียงครึ่งทาง...

แต่หากว่าเราได้ทำด้วย "ฉันทะ"....ไม่ว่าการงานจะยากแค่ไหน เหนื่อยเพียงไร และใช้เวลามากขนาดไหน เราก็จะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น...ที่สุดแล้วการงานที่เราทำจะสามารถพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ดั่งเป็นการงานอันอุดม...ได้นี่เองค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาร่วมแบ่งปันแนวคิดดีดีนะคะ

(^___^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท