aung
นายสมเกียรติ วัลลภธารี

แนวคิด แนวทาง และปรัชญา


บุคคลแต่ละคนจะประสบความสำเร็จได้ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้ด้วยลำพังเพียงคนเดียว

เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2552  เวลาประมาณ 22.00 น. ผมได้รับชมรายการโทรทัศน์ทางโมเดิร์น 9 ทีวี เป็นการแข่งขันประกวดร้องเพลง โดยใช้ชื่อการประกวดว่า The Star (The Star  ค้นฟ้าคว้าดาว เป็นชื่อที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลาในรายการ) ผมติดตามดูรายการนี้ ไม่ใช่เพราะอยากเป็นนักร้อง ร้องเพลง หรือแม้แต่ประชาสัมพันธ์ให้รายการแต่อย่างใด สาเหตุที่ชอบ เนื่องจาก

1.       เป็นการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน มาเป็นตัวแทนแต่ละภาค (เปิดโอกาสให้มีทางเดินเพื่อก้าวสู่ฝันของผู้คน)

2.       การวิพากษ์วิจารณ์ของคณะกรรมการซึ่งบางครั้งอาจจะดุเดือดไปแต่ถ้ามองในทางสร้างสรรค์ ข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นทำให้ผู้เข้าแข่งขันรู้ว่าตนเองจะต้องพัฒนาอะไร พัฒนาได้อย่างไร

3.       มีผู้รู้คอยแนะนำ ฝึกซ้อม ทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้รับการพัฒนาความเป็นตัวตน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับตำแหน่งชนะเลิศ แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจะมีคุณค่ามากกว่า

4.       ได้เห็นการพัฒนาของผู้เข้าประกวด สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตระหนักอยู่ตลอดเวลา คือ มีผู้ชี้แนะในข้อบกพร่องของตัวเอง คอยเตือน คอยบอกว่าอะไรที่เรายังไม่รู้ ตัวเรายังสามารถทำอะไรได้อีก หรือจะต้องพัฒนา ปรับปรุงอะไรเพิ่มมากขึ้น

5.       ทำให้สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าอะไรที่เรายังไม่รู้ เราควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเอง

และตามที่ได้ติดตามในสัปดาห์นี้มีข้อคิดที่หลายคนอาจไม่เห็นด้วย ที่ว่า บุคคลแต่ละคนที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้ด้วยลำพังเพียงคนเดียวซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วข้อคิดดังกล่าวน่าจะเป็นจริงและเป็นเช่นนั้น เช่น การประสบความสำเร็จของการบริหารงาน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำงานเป็นทีม โดยที่ผู้บริหารจะต้องใช้กลยุทธมากมายในการชักจูงทีมงานให้ร่วมกันทำงานจนประสบความสำเร็จ โดยใช้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการบริหารงาน  นักร้องที่มีชื่อเสียงหรือประสบความสำเร็จ จะต้องมีทีมงาน ซึ่งอาจจะประกอบด้วย นักแต่งเพลง นักดนตรี ฯ  นักกีฬาที่จะประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยเพื่อนร่วมทีม ผู้ฝึกสอน และ/หรือ ผู้ให้ความอนุเคราะห์ ฯ

เมื่อพูดถึงเรื่องกีฬา ผมได้ดูรายการโทรทัศน์ต่อจากรายการ The Star  มีชื่อรายการว่า หนึ่งวันเดียวกัน ทางทีวีไทย เวลาประมาณ 22.45 น. ได้นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาวงการฟุตบอลในประเทศไทย ในระหว่างรายการ จะสอดแทรกปรัชญา หรือแนวคิดที่น่าสนใจ เช่น

1.       อย่ารังเกียจความผิดพลาด  แต่กุญแจที่สำคัญคือต้องชนะมากกว่าแพ้(เซอร์ อเลกซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)

สำหรับแนวคิดนี้ ด้วยสมองอันน้อยนิดเมื่อพิจารณาดูพบว่า ผู้มีแนวคิดนี้น่าจะเป็นนักคิดวิเคราะห์  นักปฏิบัติ  นักวางแผน  เป็นคนเอาจริงเอาจัง แต่ยืดหยุ่นได้บ้าง กล่าวคือ  การวางแผนจะต้องมองและวางเป้าหมายที่จะก้าวไปให้ถึง โดยนักวางแผนจะต้องรู้ข้อดี ข้อด้อยของตนเอง(ของทีม) เพื่อจะได้รู้ถึงแนวทางการพัฒนาทีม (ต้องหาตัวผู้เล่นจากทีมไหน อย่างไร เมื่อไร ต้องใช้จุดเด่นของผู้เล่นในแต่ละด้าน  ใช้ในสถานการณ์ใด) โดยในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนต้องวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างนั้น เพื่อสนับสนุน  ให้ขวัญกำลังใจ และชักจูงให้ทีมงานทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลสูงสุด ต่อเมื่อทีมงานทำงานอย่างเต็มความสามารถแล้ว ยังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายก็สามารถยอมรับได้ แต่ต้องกลับมาทบทวน วิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อพัฒนาต่อไป

2.       ผู้ชนะไม่ได้หมายถึงคนเป็นที่หนึ่ง แต่เป็นคนที่พัฒนาตนเอง

แนวคิดนี้ก็จัดว่าอยู่ในวงสนทนาของนักบริหารการศึกษาเช่นกันว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนานักเรียนของตนให้เต็มตามศักยภาพของตน คนที่เป็นที่หนึ่ง คือ คนที่เก่งที่สุด คงไม่มีใครเถียง แต่จะพัฒนาอย่างไรให้เก่งกว่าที่เป็นอยู่  ส่วนคนอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะคนที่เป็นที่หนึ่งจะมีวิธีการอย่างไรที่จะพัฒนาให้สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งความแตกต่างระหว่างบุคคลมีความหลากหลาย  ครูคือผู้จัดการเรียนการสอน จัดประสบการณ์ ก็ต้องหาวิธีการที่หลากหลายเช่นเดียวกัน ดังนั้น หน้าที่สำคัญนี้คงต้องมอบให้แก่บุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ผู้บริหาร  ครู  ศึกษานิเทศก์ ฯลฯ

3.       เมื่อคิดจะสู้ที่เหลือก็แค่พยายาม

แนวคิดนี้ เปรียบได้กับนักบริหารที่วางแผน เตรียมการ เตรียมกลยุทธ หรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ไว้พร้อมแล้ว เหลือเพียงแต่ผลักดันให้ทีมงานปฏิบัติให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารงาน โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคล

4.       ผันอะไร ต้องดูตัวเอง   (คำพูดนี้เป็นของคอลัมนิสต์กีฬาท่านหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้มักออกรายการที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลวันนี้ทางรายการได้เชิญมาเป็นแขกร่วมวงสนทนา) ถ้าพูดเป็นภาษาการบริหารจัดการ คือ การวางวิสัยทัศน์ในการพัฒนาองค์กรว่าจะนำพาองค์กรไปในทิศทางใด ผู้บริหารต้องดูบริบทขององค์กรเสียก่อนว่าในองค์กรนั้นมีความโดดเด่น ควรพัฒนา หรือผลักดันให้ประสบความสำเร็จในด้านใดด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสในการพัฒนา และอุปสรรค

สุดท้ายนี้ก็หวังเพียงแต่แนวคิดที่หลากหลายร่วมแสดงทัศนะและเติมเต็มให้แก่แนวคิดที่ได้นำเสนอ

หมายเลขบันทึก: 255318เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2009 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ
  • เติมเต็มไม่ได้เลยค่ะ ขออ่านอย่างเดียวไปก่อน
  • ความพยายาม การพัฒนาอาจจะเป็นเรี่องใกล้เคียงกัน
  • ขอบคุณค่ะ

อ่านแล้วใช่เลย... สิ่งใดไม่รู้ต้องค้นคว้าพัฒนาตนเอง

ชอบคำที่ว่า อย่ารังเกียจความผิดพลาด...บิ๊คบุ๊คเคยทำอะไร

ผิดพลาดมาเยอะ แต่นำข้อผิดพลาดมาพัฒนาตนเองเสมอๆ

ผิดเป็นครู ผิดคือแนวทางในการพัฒนาจุดบกพร่องให้ดีขึ้น

ไม่เคยคิดว่าความผิด คือความพ่ายแพ้ สิ่งสำคัญของความสำเร็จ

คือกำลังใจ ความมุ่งมั่น ความพยายาม และผลของความสำเร็จ

ย่อมงดงามเสมอ...จริงมั๊ยคะ

  • ผู้ชนะหมายถึงคนที่พัฒนาตนเอง
  • ขอบพระคุณสำหรับข้อคิดดี ๆ ค่ะ ที่ควรค่าในการนำไปปฏิบัติค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท