17 วิธีป้องกันอายุใบหน้าเกินอายุจริง(หน้าแก่)


  

...

อาจารย์ ดร.บาฮมาน กูยูรอน และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น โอไฮโอ สหรัฐฯ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างฝาแฝดเหมือนผู้หญิง อายุเกิน 40 ปี

เปรียบเทียบน้ำหนักโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index = BMI = อายุเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร 2 ครั้ง) และอายุใบหน้าจากการประเมิน (perceived age) ติดตามไป 2 ปี

...

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออายุใบหน้าว่า จะเป็นแบบหน้าอ่อนหรือหน้าแก่ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 7 ประการได้แก่

  • (1). น้ำหนักลดลง 4.54 กิโลกรัม > เพิ่ม 4 ปี
  • (2). ดัชนีมวลกายหรือ BMI ลดลง 4 หน่วย > เพิ่ม 2-4 ปี
  • (3). หย่า > เพิ่ม 1.7 ปี เมื่อเทียบกับโสดหรือมีคู่
  • (4-7). โรคซึมเศร้า การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์) การอาบแดด > เพิ่ม

...

ดร.กูยูรอนกล่าวว่า ตอนนี้กำลังศึกษาคู่แฝดเหมือนผู้ชายบ้างว่า อะไรเป็นปัจจัยทำให้หน้าอ่อนหน้าแก่

อ.นพ.อาจีฟ โกรเวอร์ เลขานุการสมาคมศัลยกรรมความงามพลาสติกสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ใบหน้าคนเราดูอ่อนหรือแก่... ไม่ได้อยู่ที่เส้นหรือรอยเหี่ยวย่น ทว่า.. อยู่ที่รูปโครงสร้างใบหน้า

...

คนเรามีแนวโน้มจะมีแผ่นไขมัน "แก้มลิง" ที่แก้มลดลง และเอ็นที่ช่วยดึงใบหน้าเริ่มหย่อนยานตั้งแต่อายุประมาณ 38 ปี การลดความอ้วนแบบเร็วทำให้ไขมันส่วนนี้แฟบลง

การลดความอ้วนเป็นพักๆ ทำให้น้ำหนักขึ้นๆ ลงๆ คล้ายลูกดิ่ง (yo-yo dieting) ส่งผลต่อแผ่นไขมันแก้มลิงที่หน้ามากเป็นพิเศษ

...

กลไกที่เป็นไปได้คือ ตอนน้ำหนักขึ้น... แผ่นไขมันจะหนาขึ้น ทำให้เอ็นบางๆ ที่รองรับถูกยืดออก พอน้ำหนักลง... แผ่นไขมันจะบางลง

ผลคือ แผ่นไขมันแก้มลิงที่หน้ายุบหย่อนลงไปทำให้แก้มตอบ และบริเวณรอบๆ จมูกกับริมฝีปากดูห้อยย้อย ไม่เต่งตึงดังเดิม

...

วิธีที่จะช่วยป้องกันปัญหาใบหน้าแก่เกินวัยที่สำคัญได้แก่

  • (1). นอนให้พอ และไม่นอนดึกเกิน
  • (2). ไม่ลดน้ำหนักเร็วเกิน 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
  • (3). ถ้าเป็นโรคนอนหลับยาก โดยเฉพาะหลับแล้วตื่นง่าย หรือโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาหมอใกล้บ้าน
  • (4). ไม่สูบบุหรี่ และไม่หายใจควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบเข้าไป
  • (5). ไม่ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ (แอลกอฮอล์)

... 

  • (6). ป้องกันแสงแดดจ้า (9.00-16.00 นาฬิกา) ด้วยการหลีกเลี่ยงแดด ทายากันแดด สวมแว่นกันแดดที่มีคุณภาพ สวมหมวก กางร่ม
  • (7). ออกแรง-ออกกำลังให้มากพอเป็นประจำ โดยเฉพาะการเดิน เดินเร็ว เดินขึ้นลงเนิน เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส (ถ้าเป็นไปได้... ควรสวมรองเท้าวิ่ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ)
  • (8). ออกกำลังแบบตะวันออก เช่น ไทเกก-ไทชิ โยคะ มวยจีน รำกระบองชีวจิต ฯลฯ เพื่อลดความเครียด
  • (9). กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว กินขนมปังโฮลวีท(เติมรำ)แทนขนมปังขาว
  • (10). เมื่ออายุเกิน 20 ปี... ควรเริ่มลดข้าวประมาณ 1 ใน 3 เติมถั่วและผักเข้าไปแทน (ไม่ควรเติมแต่ผัก เพราะผักทำให้อิ่มได้น้อยกว่าถั่วมากมาย และผักมีเส้นใยชนิดละลายน้ำที่ช่วยดูดซับโคเลสเตอรอลต่ำกว่าถั่ว)

...

  • (11). ฝึกชมคนรอบข้างอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และเพิ่มเป็น 3 ครั้งหลังอาหาร
  • (12). ฝึกไม่นำเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้มาคิดทั้งวัน เช่น ดูข่าวหรือติดตามข่าวได้ แต่ไม่ควรนำมาคิดเกิน 10 นาที โดยเฉพาะข่าวประท้วงในไทย ฯลฯ...
  • (13). ไม่ควรดู TV หรืออ่านหนังสือพิมพ์เกินวันละ 2 ชั่วโมง เนื่องจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่นำเสนอข่าวร้ายที่ทำให้เครียดมากเกินไป
  • (14). ถ้ารู้สึกเครียดควรหยุดดู TV และหยุดอ่านหนังสือพิมพ์เป็นพักๆ จนกว่าโลกเราจะมีสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวดี เช่น TV ส่งเสริมคนทำดีของมูลนิธิฉือจี้ของไต้หวัน ฯลฯ
  • (15). ฝึกหายใจเข้า-ออกช้าๆ ไม่เกิน 10 รอบ/นาที วันละ 10-15 นาที โดยนำมือข้างหนึ่งวางเบาๆ ที่หน้าอก มืออีกข้างหนึ่งวางที่หน้าท้อง เวลาหายใจเข้าให้ท้องป่องออกเล็กน้อย เวลาหายใจออกให้ท้องแฟบเข้าเล็กน้อย ถ้าฝึกเป็นประจำจะช่วยป้องกันความดันเลือดสูงได้ในคนบางคน

...

  • (16). รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง โดยการไม่ใช้สบู่มากเกินไป และใช้ครีมที่มี moisturizers (สารรักษาความชุ่มชื้น) ทาพอประมาณ
  • (17). กินผักผลไม้ทั้งผล (หรือน้ำผลไม้ปั่นไม่แยกกาก ไม่ใช่น้ำผลไม้กรอง) ให้มากพอเป็นประจำ

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา >                                                

  • Thank nytimes > Fiona Macrae. How dieting could leave you looking slender but older[ Click ] > March 30, 2009. / J Plastic and Reconstructive. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้ท่านนำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > > 11 เมษายน 2552.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

หมายเลขบันทึก: 255046เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2009 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท