บันทึกภาพการแสดงเพลงอีแซว งานปิดทองหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์


แสดงว่าเพลงอีแซว ยังไม่ล้าสมัย เพียงแต่การถ่ายทอดความสามารถของผู้แสดงจะเข้าไปถึงหัวใจของท่านผู้ชมได้มากน้อยเพียงใด

บันทึกภาพการแสดงเพลงอีแซว

งานปิดทองหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์

อำเภอเมือ ง จังหวัดสุพรรณบุรี

วันที่ 3  เมษายน 2552

ชำเลือง  มณีวงษ์ (รายงาน)

 

          ปีละ 2 ครั้งที่ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี จะได้ร่วมทำบุญปิดทองหลวงพ่อโต พระใหญ่ของจังหวัดสุพรรณบุรี คือ ในเทศกาลเดือน 5 ตั้งแต่ขึ้น 5-9 ค่ำ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ฤดูร้อน) และอีกครั้งหนึ่งในเดือน 12 ตั้งแต่ขึ้น 5-9 ค่ำ เทศกาลลอยกระทง (ฤดูหนาว) ทางวัดจัดงานครั้งละ 5 วัน 5 คืน ในตอนกลางวัน วันที่ 3-4 ของงาน (วันที่ 1-2 เมษายน 2552) มีเทศมหาชาติ เป็นกิจกรรมสำคัญของงานทุกปี และในตอนกลางวันจะมีประชาชนจากสถานที่ต่าง ๆ เดินทางมาปิดทองหลวงพ่อโต และฟังพระธรรมเทศนา เป็นจำนวนมาก

             

 

          ที่วัดป่าเลไลยก์ จะแตกต่างจากสถานที่จัดงานที่อื่น ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ในเรื่องของค่าที่ ร้านค้าเช่าพื้นที่ขายของโดยตรงจากทางวัดและราคาถูกมาก ทำให้สินค้าที่มาจำหน่ายในงานปิดทองหลวงพ่อโต ที่วัดป่าเลไลยก์ ราคาไม่แพง พอจับจ่ายซื้อหากันได้อย่างสบาย ไม่เหมือนบางสถานที่ แม่ค้าพ่อขายบ่นกันระงมไปเลยเรื่องค่าที่ก็เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการบริการสถานที่ขายของในงานสำคัญ ๆ

          

          ในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานได้จัดให้มีมหรสพ 3 ชนิดสมโภช ในงานแต่ละคืน ได้แก่

1.     ลิเก คณะพรศักดิ์  สุขเกษม จากบึงฉวาก อ.เดิมบางนางบวช

2.     ภาพยนตร์ 2 จอ ฉายภาพยนตร์ไทยและเทศ

3.     เพลงอีแซว 5 คณะ ในคืนสุดท้าย คณะเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ 

         มหรสพทุกชนิด จะเริ่มทำการแสดงตั้งแต่เวลา 21.00-24.00 น. สำหรับวงเพลงอีแซว ของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 นั้น ได้ไปร่วมงานที่วัดป่าเลไลยก์ ตามคำเรียกร้องของท่านผู้ชม และคณะกรรมการจัดงานวัดป่าเลไลยก์ก็จัดให้

 

          รถยนต์ 2 แถวของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 พานักแสดงไปถึงวัดป่าเลไลยก์เวลา 16.25 น. ได้ยินเสียงโฆษก คุณพี่สุนทร ดอนเจดีย์ ประกาศว่า คืนนี้เป็นหน้าที่ของวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ลูกศิษย์ของอาจารย์ชำเลือง มณีวงษ์ มาทำการแสดง เมื่อเด็ก ๆ พักผ่อนกันชั่วครู่ ต่างก็เตรียมสถานที่ ขึ้นฉากเวที ขึงฉากด้านหน้าเวที ตั้งสแตนด์ป้ายชื่อ 2 แผ่นต่อกัน วางเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องหน้าเวทีเด็กๆ ไปรับประทานอาหารที่โรงครัวส่วนผมงดอาหารหนักดื่มน้ำและอาหารว่างเล็กน้อย

          เวลาประมาณ 19.30 นาที ผมให้เด็ก ๆ เขาแต่งตัวเตรียมความพร้อม และเมื่อถึงเวลา 20.45 น.เดินแถวไปยังหน้าวิหารหลวงพ่อโต เพื่อกราบขอพร และเดินแถวกลับมาที่เวที นั่งหันหน้าไปทางท่านผู้ชมที่มานั่งรออยู่ก่อนแล้ว ที่ยืนรอก็มาก เพลงอีแซว เริ่มทำการแสดงเมื่อเวลา 20.55 น.ไปจนถึงเวลา 00.15 น. ของวันใหม่จึงจบการแสดง (รวมเวลาที่ทำการแสดง 3 ชั่วโมง 20 นาที)

      

            

          

          ความประทับใจที่เด็ก ๆ มิอาจลืม คือตอนที่เพลงร้องลาจบลงแล้ว ท่านผู้ชมอีกเป็นจำนวนมาก ยังยืนถือเสื่อปูรองนั่ง ยืนมองมาที่เวทีการแสดงทั้งที่เด็ก 2 คนพูดลาท่านและกล่าวว่าจบการแสดงไปแล้ว ผมในฐานะครูผู้ฝึกสอนเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ  ขอกราบขอบพระคุณน้าจำลอง รุณเจริญ คณะกรรมการจัดมหรสพ ขอบคุณท่านผู้ชมทุกท่าน ที่ได้ให้ความเมตตา ให้รางวัล ให้คำชื่นชม และแบ่งข้างเชียร์นักแสดง บอกว่า  ให้สู้เขาลูก อย่ายอมแพ้ เป็นภาพที่เคยพบเห็นในอดีตมานาน แต่ยังคงมีให้เห็นในวันนี้ ปี 2552 แล้ว นั่นแสดงว่าเพลงอีแซว ยังไม่ล้าสมัย เพียงแต่การถ่ายทอดความสามารถของผู้แสดงจะเข้าไปถึงหัวใจของท่านผู้ชมได้มากน้อยเพียงใด ทีมงานใช้เวลาเก็บอุปกรณ์ประมาณ 30 นาทีก็เสร็จ เดินทางกลับไปถึงโรงเรียน 02.00 น. เหน็ดเหนื่อย แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้ไปทำหน้าที่

          

 ชำเลือง  มณีวงษ์ ครูผู้สืบสานการแสดงเพลงพื้นบ้าน จังหวัดสุพรรณบุรี 

หมายเลขบันทึก: 254016เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2009 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท