ทักษะการกระตุ้นให้คิด


ทักษะการกระตุ้นให้คิด

8.  ทักษะการกระตุ้นให้คิด (Active Thinking)

ทักษะการกระตุ้นให้คิด
    ปัจจุบันเรื่องของการพัฒนาการคิดได้รับการยอมรับมากว่า สถาบันทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับใด ๆ ก็ตาม ทั้งระดับก่อนวัยเรียน ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะนิสิตให้ฝึกหัดครูผู้ที่จะต้องออกไปเป็นครูในอนาคต   เพราะเราเชื่อว่าถ้าผู้เรียนรู้จักคิดเป็นแล้ว เขาก็จะมีเครื่องมือในการเรียนรู้และสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้
จุดมุ่งหมายของทักษะกระตุ้นให้คิด  คือ
1.  เพื่อให้ผู้ฝึกรู้วิธีในการส่งเสริมความสามารถในการคิดของผู้เรียน
2.  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ อันจะช่วยเป็นแนวทางในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน
3.  เพื่อให้ผู้สอนตระหนักถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล
4.  เพื่อฝึกให้ผู้สอนและผู้เรียนมีใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
5.  เพื่อให้ผู้สอนรู้จักแบบของการคิดและพฤติกรรมของการคิดชนิดต่าง ๆ ที่จะสามารถนำไปฝึกปฏิบัติรวมทั้งฝึกให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ด้วย
แบบการคิด
วีรยุทธ  วิเชียรโชติ  และคณะ ได้ทำวิจัยตามโครงการวิจัยการสอนสืบสวนสอบสวน และได้จำแนกแบบการคิดเป็น  5 แบบ ดังนี้
1.  การคิดแบบวิเคราะห์  คือ  การคิดที่อาศัยข้อเท็จจริงรายละเอียดที่ปรากฏในสิ่งเร้าเป็นเกณฑ์ หรือรับรู้ในส่วนย่อยมากกว่าในส่วนร่วม
2.  การคิดแบบจำแนกประเภท  คือ  การคิดที่พยายามจัดสิ่งเร้าออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามประสบการณ์ของตน โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสิ่งเร้านั้น
3.  การคิดแบบโยงความสัมพันธ์ คือ การคิดที่พยายามโยงสิ่งเร้าต่าง ๆ ให้สัมพันธ์กัน
4.  การคิดแบบสังเคราะห์ คือ  ความสามารถในการรวมส่วนย่อยเข้าเป็นส่วนใหญ่     เรื่องราวใหญ่อันเดียวกัน ที่มีรูปแบบหรือหน้าที่ใหม่กว่าเดิม
5.  การคิดแบบวิจารณญาณ  คือ  ความสามารถในการใช้ปัญญาตัดสินหรือชี้ขาดเรื่องราวต่าง ๆ หรือความสามารถในการไล่เลียงหาเหตุผล เพื่อสรุปเป็นข้อยุติตามวิธีการวิทยาศาสตร์
พฤติกรรมการคิด
การคิดแบบวิเคราะห์  คือ การคิดอย่างมีเหตุผลในการรวมสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสิ่งเร้า ซึ่งประกอบด้วย
1.  ความคล้ายคลึงกันทางด้านกายภาพ เช่น สี ลวดลาย ขนาดหรือรูปร่างเหมือนกัน
2.  การแสดงอาการเหมือนกัน เช่น กำลังเดิน นั่ง นอน หรือเดินเหมือนกัน
3.  การมีสิ่งที่เหมือนกัน เช่น มีกระเป๋าหูขาดเหมือนกัน
4.  การแบ่งกลุ่มตามเพศ  หรือ  อายุ  เช่น ผู้ชาย ผู้หญิง หรือเด็ก
5.  การมีโครงสร้างเหมือนกัน เช่น ทำด้วยไม้ หรือทำด้วยเหล็กเหมือนกัน
การคิดแบบจำแนกประเภท  ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผลในการจัดกลุ่มต่าง ๆ โดยอาศัยคุณสมบัติที่มีร่วมกันซึ่งไม่อาจสังเกตได้ ประกอบด้วย
1.  การมีหน้าที่ การใช้หรือแสดงพฤติกรรมเหมือนกัน เช่น ใช้ฝาครอบป้องกันแมลงวันใช้สำหรับแข่งขัน
2.  การใช้ชื่อรวมสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นพวกเดียวกัน เช่น สิ่งมีชีวิต อาวุธ เครื่องกีฬา
3.  ความคล้ายคลึงของคุณสมบัติบางประการ เช่น ขึ้นจากดิน คนสร้างขึ้น หรือมีเครื่องยนต์เหมือนกัน เป็นการอ้างถึงคุณสมบัติที่มองไม่เห็นในสิ่งเร้า
การคิดแบบโยงความสัมพันธ์ ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผลในการจัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่มีร่วมกัน ประกอบด้วย
1.  การสร้างเรื่องให้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวข้องกัน  เช่น เอาลังใส่ท้ายรถลากไป  เป็นต้น
2.  การเปรียบเทียบระหว่างสิ่งต่าง ๆ เช่น สิ่งหนึ่งต่างไปจากสิ่งหนึ่ง หรือดีกว่าอีกสิ่งหนึ่ง
3.  การรวมสิ่งเร้าที่มีหน้าที่ร่วมกัน หรือต้องใช้ร่วมกัน  เช่น เก้าอี้คู่กับโต๊ะ  มีขวดต้องมีแก้วน้ำ
การคิดแบบสังเคราะห์ ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผลในการรวมส่วนย่อยเข้าเป็นส่วนใหญ่     เรื่องราวใหญ่อันเดียวกัน ที่มีรูปแบบหรือหน้าที่ใหม่กว่าเดิม ประกอบด้วย
1.  จัดลำดับเรื่องราวต่าง ๆ
2.  สร้างแบบแผนหรือโครงการขึ้นตามแนวใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.  จัดรูปสิ่งต่าง ๆ ขึ้นตามแนวใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การคิดแบบวิจารณญาณ ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผลโดยใช้ปัญญาตัดสินหรือชี้ขาด     เรื่องราวต่าง ๆ หรือความสามารถในการไล่เลียงหาเหตุผล เพื่อสรุปเป็นข้อยุติตามวิธีการ       วิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
1.  แยกความจริงออกจากความคิดเห็นได้
2.  สรุปจากข้อมูลที่ให้ไว้อย่างถูกต้อง
3.  บอกได้ว่าข้อตกลงเบื้องต้นที่อยู่เบื้องหลังการสรุปคืออะไร
4.  บอกได้ถึงข้อจำกัดของข้อมูล
รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาการคิด
1.  การสร้างความคิดรวบยอด (Concept Attainment) ผู้คิดคือ Jerome Bruner มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาความคิดแบบอนุมาน มีเหตุผล สามารถพัฒนาความคิดรวบยอดของตนเองและความสามารถในการวิเคราะห์ โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
1.1  เสนอข้อมูลและจำแนกความคิดรวบยอด
     -  ผู้สอนนำเสนอตัวอย่างที่ชัดเจน
     -  ผู้เรียนตั้งและทดสอบสมมติฐาน
     -  ผู้เรียนจำแนกตัวอย่างตามลักษณะเฉพาะที่สำคัญ
1.2  ทดสอบความคิดรวบยอดที่สร้างขึ้น
     -  ผู้เรียนจำแนกตัวอย่างที่ยังไม่ชัดเจนเพิ่มเติม โดยผู้สอนใช้วิธีตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่
     -  ผู้เรียนตรวจสอบสมมติฐาน  สรุปชื่อความคิดรวบยอด
     -  ผู้สอนย้ำวิธีการจำแนกตัวอย่างตามลักษณะเฉพาะ
     -  ให้ผู้เรียนยกตัวอย่างเพิ่มเติม
1.3  วิเคราะห์ยุทธวิธีในการคิด
     -  ผู้เรียนอธิบายวิธีการคิดของตน
     -  ผู้เรียนอภิปรายถึงความสำคัญของสมมติฐาน และลักษณะเฉพาะ
     -  ผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับตัวอย่างและสมมติฐานที่ตั้งขึ้น
2.  การคิดเชิงอุปมาน (Inductive Thinking) ผู้คิดคือ Hilda Taba มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากระบวนการคิดของสมองเพื่อให้มีเหตุผลยิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
2.1  การสร้างความคิดรวบยอด
    -  ผู้เรียนจำแนก บ่งชี้ จัดลำดับข้อมูล
    -  ผู้เรียนจัดกลุ่มข้อมูล
    -  ผู้เรียนตั้งชื่อและจัดประเภท
2.2  การตีความหมายของข้อมูล
    -  ผู้เรียนบ่งชี้ลักษณะสำคัญ
    -  ผู้เรียนค้นคว้าหาความสัมพันธ์
    -  ผู้เรียนสร้างคำตอบหรือแสดงนัยสำคัญ
2.3  นำหลักสำคัญไปใช้
    -  ผู้เรียนคาดคะเนผลที่เกิดขึ้น
    -  ผู้เรียนอธิบายลักษณะที่พบใหม่แล้วตั้งสมมติฐาน
    -  อธิบายสนับสนุนผลการคาดคะเนและการตั้งสมมติฐาน
    -  ยืนยันผลการคาดคะเน
3.  การฝึกการคิดค้นหาคำตอบ (Inquiry Training) ผู้คิดคือ Richard Suchman มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากระบวนการในการคิดค้นด้วยตนเองโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  โดยมีขั้นตอนของการสอน คือ
3.1  การเผชิญปัญหา
     -  ผู้สอนอธิบายขั้นตอนในการพิจารณา
     -  ผู้สอนเสนอเหตุการณ์ที่ชวนสงสัย
3.2  รวบรวมและเสนอข้อมูล
     -  ผู้เรียนอธิบายถึงสภาพของข้อมูลที่ได้มา
     -  ผู้เรียนอธิบายสภาพปัญหา
3.3  รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมและทดลอง
    -  ผู้เรียนแยกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง
    -  ผู้เรียนตั้งสมมติฐาน
    -  ผู้เรียนทดลองหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล
3.4  เรียบเรียงข้อความและกำหนดแนวอธิบายผล
    -  ผู้เรียนอธิบายผลที่เกิดขึ้น
3.5  วิเคราะห์กระบวนการในการคิดค้น
    -  ผู้เรียนวิเคราะห์ยุทธวิธีในการคิดค้นและสร้างยุทธวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4.  การพัฒนาความรู้ (The Developing Intellect) ผู้คิดคือ Jean Piaget มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความรู้ความคิดของผู้เรียนให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่โดยให้เป็นไปตามพัฒนาการของผู้เรียนตามวัย โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
4.1  การเผชิญปัญหา
    -  ผู้สอนยกสถานการณ์ที่ชวนสงสัยให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด  โดยสถานการณ์นั้นต้องเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
4.2  การคิดค้นหาคำตอบ
    -  ผู้สอนให้ผู้เรียนตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ผู้สอนยกมาเพื่อร่วมกันตัดสินใจว่าจะเลือกอะไร อย่างไร
    -  ผู้สอนคอยยั่วยุด้วยคำถามให้ผู้เรียนได้คิดจนหาคำตอบได้
4.3  การถ่ายโยง
    -  ผู้เรียนโยงความคิด  และตัดสินใจมาใช้กับสถานการณ์ที่คล้ายกัน  เพื่อจะได้รู้ว่าผู้เรียนยังคงไว้ในเหตุผลเดิมหรือไม่ โดยผู้สอนใช้วิธีการซักค้านหรือเสนอข้อขัดแย้งเพื่อให้คำตอบที่เกิดจากการตัดสินใจอย่างรอบคอบ
5.  การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry) ผู้คิดคือ Joseph Schwab มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้จากการคิดค้น การตรวจสอบเพื่อให้เกิดความคิด     รวบยอดหรือเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาและสามารถออกแบบการแก้ปัญหา  โดยมีขั้นตอนของ      การสอน ดังนี้
5.1  ผู้สอนยั่วยุด้วยคำถามให้ผู้เรียนคิดค้นหาวิธีการในการศึกษา
5.2  ผู้เรียนจัดระบบระเบียบของปัญหาเพื่อให้ง่ายต่อการตีความ
5.3  ผู้เรียนจำแนกปัญหาเพื่อให้รู้ความยากง่ายและอุปสรรคในการคิดค้น
5.4  นักเรียนแสดงการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทดลองจัดข้อมูลใหม่  เป็นต้น
6.  การคิดค้นทางสังคมศาสตร์ (Social Science Inquiry) ผู้คิดคือ Baron Massialas และ Benjamin Cox มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนานักเรียน ให้รู้จักคิด วิเคราะห์ และหาทางแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีระบบตามวิธีการสืบเสาะหาความรู้ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีบทบาทในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
6.1  เสนอปัญหา
     -  ผู้สอนนำเสนอปัญหาทางสังคมให้ผู้เรียนคิด
6.2  ตั้งสมมติฐาน
     -  ผู้เรียนคิดพิจารณาและช่วยกันตั้งสมมติฐานเป็นแนวทางในการ      สืบเสาะหาความรู้
6.3  ทำความกระจ่าง
     -  ผู้สอนช่วยชี้แนะให้นักเรียนทำความกระจ่างเกี่ยวกับคำ ข้อความในสมมติฐานให้มีความหมายที่เข้าใจตรงกัน
6.4  พิจารณาสมมติฐาน
     -  ผู้เรียนร่วมกันพิจารณาความหมายของสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่ามีความ  ชัดเจนเพียงพอหรือไม่ 
6.5  รวบรวมข้อมูล
     -  ผู้เรียนรวบรวมข้อมูล หลักฐานเพื่อพิสูจน์สนับสนุนสมมติฐาน
6.6  สรุปนัยทั่วไป
     -  ผู้เรียนพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูล แล้วสรุปนัยทั่วไปจากข้อมูลดังกล่าวเพื่อเสนอหนทางแก้ปัญหา
7.  การคิดค้นทางชีววิทยา (Biological Science Inquiry model) ผู้คิดคือ Joseph Schwab มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ในสาขาวิชาชีววิทยารวมทั้งมีทักษะและความสามารถในการแสวงหาความรู้ ค้นคว้าหาคำตอบได้อย่างมีระบบตามระเบียบวิธีวิจัยทางชีววิทยา โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
7.1  นำเสนอขอบข่ายปัญหาและกระบวนการในการแก้ปัญหา
    -  ผู้สอนนำเสนอขอบข่ายเนื้อหาที่เป็นปัญหาและกระบวนการแก้ปัญหา
7.2 จัดโครงสร้างของปัญหา
    -  ผู้เรียนจัดโครงสร้างของปัญหาให้ชัดเจนเพื่อให้มองเห็นอุปสรรค ใด ๆ ที่จะมีขึ้นในระหว่างการแก้ปัญหา
7.3  ระบุอุปสรรคในการแก้ปัญหา
    - ผู้เรียนพิจารณาและคาดการณ์หรือระบุสิ่งที่คาดว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ เช่น การตีความข้อมูล การควบคุมการทดลอง การสรุปอ้างอิง
7.4  หาวิธีขจัดอุปสรรค
    -  ผู้เรียนพิจารณาหาวิธีการขจัดอุปสรรค เช่นจัดข้อมูลใหม่  ออกแบบทดลองใหม่ ควบคุมตัวแปรในการทดลอง ฯลฯ
8.  การใช้กลุ่มสืบเสาะหาความรู้ (Group Investigation Model) ผู้คิดคือ Herbert Thelen มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านเนื้อหาความรู้และด้านกระบวนการทางสังคม โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้เป็นหลักสำคัญในการสอน รวมทั้งกระบวนการประชาธิปไตยและพลังกลุ่มเพื่อให้ได้เรียนรู้และทำงานร่วมกัน โดยมีขั้นตอนการสอน ดังนี้
8.1  นักเรียนเผชิญกับสถานการณ์ปัญหา
    -  ผู้สอนนำเสนอปัญหาหรืออาจใช้ปัญหาซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ได้
8.2  ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นต่อปัญหานั้นและสำรวจความคิดเห็น ความรู้สึกของแต่ละคนที่มีต่อปัญหานั้น
8.3  ผู้เรียนร่วมกันวางแผนการทำงานเพื่อแก้หรือปัญหา หาคำตอบ เช่นศึกษา ตัวปัญหา หาข้อมูล กำหนดบทบาทความรับผิดชอบของแต่ละคน
8.4  ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มตามที่กำหนดไว้
8.5  ผู้เรียนวิเคราะห์ความก้าวหน้าของการทำงานและกระบวนการทำงาน
8.6  ถ้ามีปัญหาใหม่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานแก้ปัญหานั้นโดยเริ่มทบทวน ขั้นตอนใหม่

คุณลักษณะที่ประเมิน
1. การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิด
2. วิธีการเร้าให้ผู้เรียนคิดโดย
   2.1 การจัดกิจกรรม
   2.2 ใช้คำถาม
   2.3 การสร้างสถานการณ์
   2.4 การใช้อุปกรณ์
   2.5 หรืออื่น ๆ
3. การช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดได้หลาย ๆ แบบ เช่น คิดแบบโยงความสัมพันธ์ คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 253805เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2009 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาชม

น่าสนใจดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท