แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

วาทะว่าด้วย “วิวาทะ” (๑)


 

 

เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ"

 

วาทะว่าด้วย "วิวาทะ" (๑)

                                                           

-๑- 

ธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ (ครูเละ) ;
(ดูงานเขียนทั้งหมดของครูเละที่นี่ค่ะ)

อ้างอิงบทความจาก ; โยคะสารัตถะ ฉ.; ก.พ.'๕๒

 

เห็นชื่อคอลัมน์ (ใหม่) บางท่านอาจตกใจเพราะชื่อคอลัมน์คล้ายชวนให้ทะเลาะ (วิวาท) กัน ผมจึงรับอาสาชี้แจงที่มาที่ ไปของคอลัมน์ ในฐานะที่เป็นคนเสนอให้มีคอลัมน์นี้

 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมกลับไปช่วยครูอายุรเวทบำบัดคนไข้ที่อินเดียดังที่เคยปฏิบัติเป็นประจำทุก ปี มีอยู่วันหนึ่งผม ปุจฉาวิสัชนาความรู้เรื่องอายุรเวทกับครูด้วยบรรยากาศที่อัดแน่นด้วยสาระ ทว่าอบอุ่นด้วยความกรุณา (ของครู)

 บรรยากาศที่ ว่าทำให้ผมนึกถึงช่วงขวบปีแรกๆ ที่เพื่อนสนิทของครูซึ่งเป็นหมออายุรเวท มักชักชวนกันมาเยี่ยมเยือน ครูและถก (เถียง) เรื่อง อายุรเวทกันอย่างละเอียดลุ่มลึกและรอบด้าน

 บางครั้งคราวการแลกเปลี่ยนก็ กรุ่นด้วยไอร้อนจากความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้แต่ละคนได้ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้เรื่องเดียวกันจากหลายๆ มุมมอง

 ตอนที่ผมปุจฉาวิสัชนากับครูเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผมต้องส่งต้นฉบับ "โยคะวิถี" ให้กับ "โยคะสารัตถะ" พอดี ผมจึงเกิดความคิดว่าน่าจะมีพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโยคะใน จดหมายข่าวโยคะสารัตถะจะดีไหม

 คิดเช่นนั้นแล้ว ผมจึงเขียนจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ปรึกษาครูกวีและณภัทรหรือน้องมัช คนขยันของชาวโยคะ วิชาการ ว่าจะดีไหมหากจะเปิดคอลัมน์ "โยคะวิวาทะ" ในจดหมายข่าวโยคะสารัตถะ เพื่อให้ผู้อ่านและผู้สนใจได้แลกเปลี่ยน แง่คิดมุมมอง บอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับโยคะ อีกทั้งเป็นคอลัมน์สำหรับปุจฉาวิสัชนาหรือถามตอบปัญหาเกี่ยวกับโยคะก็ ยังได้

 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อต้อนรับปีวัว ๒๕๕๒ นี้ด้วย

 นี่คือที่มาของคอลัมน์น้องใหม่ "โยคะวิวาทะ"

 คำว่า "วิวาทะ" อาจชวนให้นึกถึงคำว่า "ทะเลาะวิวาท" ซึ่งแน่นอนว่าไม่ชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่าง สมานฉันท์สักเท่าไร ผมจึงอยากทำความเข้าใจว่า วิวาทะในที่นี้เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่าวิซึ่งมาจากคำว่า "วิเศษ"1 แปลว่า เฉพาะหรือพิเศษ รวมกับคำว่า วาทะ แปลว่า คำพูด ถ้อยคำ หรือ (การแสดง) ความคิดเห็น

 วิวาทะจึงหมายถึงการ นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ

 นอกจากนี้คำว่า วิ ยังหมายความว่า แตกต่าง ได้ด้วย

 วิวาทะจึงมีนัยหมายถึง (การเสนอ) ความเห็นหรือคำพูด (จากมุมมอง) ที่แตกต่างกัน

 "โยคะวิวาทะ" ซึ่งเป็นคอลัมน์น้องใหม่นี้ จึงเป็นคอลัมน์ให้พวกเราชาวโยคะได้นำเสนอความคิดเห็นที่มีต่อประเด็น ต่างๆ เกี่ยวกับโยคะโดยเฉพาะ โดยที่ความคิดเห็นที่มาจากต่างมุมมองย่อมมีความแตกต่างกันเป็นธรรมดา ดังความหมายของ คำว่า วิ ซึ่งแปลว่าแตกต่างหลากหลาย

1 ออกเสียงว่า วิ -เศ - ษะ

Pic05-2

- ๒ -

แม้จะได้ข้อสรุปทั้งเรื่องการเปิดคอลัมน์ใหม่และชื่อคอลัมน์แล้ว ทว่าผมเองยังไม่มั่นใจเต็มร้อยว่า คำว่าวิวาทะเป็นคำ ที่มีความหมายกลางๆ คือแม้จะเป็นคำพูดหรือความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการเป็นปฏิปักษ์กัน

ดังที่ในคัมภีร์อายุรเวทเล่มหนึ่งยังพูดถึงการวิวาทะในหมู่ผู้เยียวยา หรือแพทย์ ว่าสามารถเป็นทั้งการ วิวาทะใน ด้านบวก คือมีส่วนช่วยในการบ่มเพาะพัฒนาความรู้ความชำนาญ (อย่างน้อยก็ในการโต้ตอบถกเถียงความรู้เรื่องการเยียวยา) และการวิวาทะในแง่ลบคือเป็นการวิวาทะเพื่อเอาชนะคะคานการถกเถียง

หรือว่าเอาเข้าจริงแล้วคำนี้มีความหมายในแง่ลบ อย่างในภาษาไทย คือมีนัยถึงความเป็นศัตรูหรือปรปักษ์ ดังที่เรามักใช้คำว่าทะเลาะวิวาท

ด้วยความไม่แน่ใจอย่างที่ว่า ผมจึงไถ่ถามจากครูหลายๆ คน ปรากฏว่าครูอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิทของผมด้วย เสนอให้ผมใช้คำว่า "สัมวาทะ" แทนวิวาทะ เพราะคำว่า สัม มีนัยหมายถึงความกลมกลืน

สัมวาทะจึงเป็นการถกเถียงในลักษณะที่นำไปสู่ความกลมกลืนมากกว่าวิวาทะ เนื่องจากคำว่า วิ ในภาษาสันสกฤต เมื่อเอามาประกอบกับคำใด มักมีนัยถึงสิ่งตรงกันข้าม ซึ่งมีความรู้สึกในเชิงลบอยู่เหมือนกัน

แต่เพื่อนก็ทิ้งท้ายว่า หากผมยืนยันจะใช้คำว่าวิวาทะอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรกเพราะคุ้นหูกับคนไทยมากกว่าก็ไม่ถือว่า เสียหายอะไร

ฟังคำอธิบายแบบมีหมายเหตุของมิตรสนิทแล้ว ทำให้ผมตัดสินใจใช้ชื่อคอลัมน์นี้ว่าโยคะวิวาทะอย่างที่คิดไว้

ซึ่งก็อย่างที่บอกกล่าวในย่อหน้าแรกๆ ว่าอยากจะให้เป็นพื้นที่สำหรับการบอกเล่า ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแง่คิด มุมมอง ไปจนถึงซักถามข้อสงสัยในการฝึกปฏิบัติหรือหลักทฤษฎี - ที่เกี่ยวกับเรื่องของโยคะโดยเฉพาะ

ทั้งนี้การนำเสนอแง่คิดมุมมองต่อ โยคะของชาวเรา อาจไม่จำเป็นต้องคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป เพราะ กระทั่งคำว่าโยคะเองก็ครอบคลุมขอบเขตกว้างมาก - อย่างน้อยก็ในความรับรู้ของผม อีกทั้งโดยธรรมชาติแล้ว ใช่หรือไม่ว่า แง่คิดมุมมองของเราแต่ละคน ล้วนถูกหล่อหลอมหรือได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

เพราะฉะนั้นถ้อยคำที่ตอบโต้หรือแสดงความเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึง ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา อันเป็น ความหมายอีกนัยหนึ่งของโยคะวิวาทะ - ถ้อยคำที่แสดงความเห็นต่อโยคะที่แตกต่างกัน

และความเห็นที่แตกต่างกันนี้ไม่แน่ว่าอาจทำให้เราเข้าใจในมิติต่างๆ ของโยคะได้รอบด้านขึ้น เมื่อเราค้นพบและ ตระหนักว่า แท้ที่จริงแล้วความคิดของเราที่มีต่อโยคะซึ่งต่างจากเพื่อนพ้องน้องพี่ที่นำ เสนอแง่คิดของเขานั้น มาจากมุมมอง เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น

ผมมีตัวอย่างเกี่ยวกับการเห็นจากมุมที่แตกต่างกัน ในวันที่ผมหารือน้องมัช เกี่ยวกับการวิวาทะเรื่องโยคะในโยคะ สารัตถะ

เราคุยกันโดยมีโต๊ะคอมพิวเตอร์คั่นกลาง ผมนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลำโพงตัวเล็กคู่หนึ่งวางอยู่บนโต๊ะ ด้านหน้าของลำโพงหันเข้าหาผม ส่วนมัชนั่งอยู่อีกฟากหนึ่งของโต๊ะ

ระหว่างที่แลกเปลี่ยนเรื่องความ คิดเห็นที่แตกต่างกัน บังเอิญผมกวาดตามองไปที่ลำโพง แล้วก็พลันเกิดความคิดว่า หากให้ผมและมัชบรรยายถึงรูปลักษณ์ของลำโพง เชื่อขนมกินได้เลยว่าลำโพงของเราสองคนจะมีหน้าตาไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ เพราะเราเห็นลำโพงจากมุมของเราซึ่งไม่ครอบคลุมลำโพงทั้งหมด

แต่หากเรานำถ้อยคำที่พรรณาเกี่ยวกับลำโพงของเราสองคนมาประกอบกัน เราก็จะได้รูปลักษณ์ของลำโพงจาก มุมมองทั้งสองด้าน

แง่คิดและมุมมองต่อโยคะที่แตกต่างกันก็อาจเป็นไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคืออาจทำให้เราเรียนรู้และค้นพบว่า เราจะเข้าใจในโยคะมากขึ้นเมื่อประสบการณ์และมุมมองที่ยังจำกัดอยู่ของเรา ได้รับการหนุนเสริมเติมเพิ่มจากเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่เห็นและเข้าใจโยคะจากอีกมุมหนึ่ง

หากเป็นเช่นที่ว่าได้ โยคะวิวาทะก็อาจนำเราไปสู่โยคะสัมวาทะซึ่งเป็นคำที่มิตรสนิทของผมเสนอก็เป็น ได้ คือเกิดเป็นวาทะที่กลมกลืนและเป็นองค์รวมอย่างแท้จริง2 

2 (คำว่า'สัม' มีความหมายว่ารวม ได้อีกด้วย)

Pic_water_07-2 

- ๓ -

เพราะฉะนั้นคอลัมน์นี้จะเป็นเสมือนเวทีสาธารณะให้ทุกคนมีส่วนร่วม ในฐานะของคนต้นคิดผมจึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่าน และผู้สนใจทุกท่านช่วยกันเขียนส่งมา ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในการฝึกอาสนะ การหายใจ หรือประสบการณ์ในมิติอื่นๆ ของโยคะ(ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละท่านตีความหรือเข้าใจโยคะอย่างไร) รวมทั้งแง่คิดมุมมอง

หรือหากมีข้อสงสัยใดๆ ที่เกี่ยวกับโยคะที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงโยคะ ก็เขียนไปถามไถ่ ได้ ซึ่งครูโยคะของสถาบันฯ หลายคน ตอบรับว่ายินดีแลกเปลี่ยนและตอบข้อสงสัยจากมุมมองและประสบการณ์ของตัวเอง

นัองมัชทักท้วงว่า เนื่องจากจดหมายข่าวโยคะสารัตถะฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ออกเพียงเดือนละหนึ่งฉบับ อาจทำให้ การวิวาทะไม่รวดเร็วและมีเนื้อที่ (กระดาษ) ไม่ยาวพอ ถ้าหากมีผู้ร่วมวิวาทะมาก เราจึงมีข้อสรุปร่วมกันว่า ผู้ที่สะดวกและ คุ้นชินกับการใช้อีเมล์หรือเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของทางสถาบันฯ เป็นประจำก็สามารถวิวาทะผ่านทางอีเมล์หรือเว็บไซต์ได้

จากนั้นท่านอื่นๆ อ่านแล้วคิดเหมือนหรือเห็นต่างอย่างไรก็เขียนตอบผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ หรือจะบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองก็ได้ ส่วนคนที่คุ้นกับการเขียนหรือพิมพ์ลงกระดาษก็สื่อสารผ่านจดหมายส่งทาง ไปรษณีย์ได้ครับ

และถ้าหากการวิวาทะผ่านทางอินเตอร์เน็ตเป็นไปอย่างคึกคัก กองบรรณาธิการจะเลือกวาทะหรือปุจฉาวิสัชนาที่น่าสนใจมาตีพิมพ์ในโยคะสารัตถะ เพื่อให้ผู้อ่านจดหมายข่าวได้ร่วมรับรู้ด้วย

แต่เนื่องจากคราวนี้เป็นการบอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับคอลัมน์น้องใหม่ จึงยังไม่มีเนื้อหาอะไรที่เป็นการวิวาทะ ผมจึงขอ อนุญาตเปิดประเด็นวิวาทะสักหัวข้อหนึ่ง

เรื่องของเรื่องก็คือราวหกปีก่อน กัลยาณมิตรรุ่นพี่ในแวดวงโยคะที่สนิทกันกึ่งเล่ากึ่งถามผมว่า มีครูโยคะท่านหนึ่ง บอกว่าสูรยนมัสการ (หรือท่าไหว้พระอาทิตย์) ไม่ใช่อาสนะ ผมคิดอย่างไรต่อประเด็นนี้

แม้จะผ่านไปแล้วหกปี แต่ดูเหมือนว่าประเด็นนี้ยังมีการถกเถียงพูดคุยกันเป็นครั้งคราวในสังคมคน ฝึกอาสนะบางส่วน ผมจึงอยากยกประเด็นที่ว่า (ชุด) ท่าไหว้พระอาทิตย์ถือว่าเป็นอาสนะหรือไม่มาให้พวกเราช่วยกันวิวาทะครับ

ใครมีความเห็นหรือประสบการณ์อย่างไร เขียนหรือพิมพ์ส่งไปได้ครับ จะเป็นจดหมาย (ส่งไปตามที่อยู่ในจดหมาย ข่าว) หรือจะพิมพ์ส่งผ่านทางอีเมล์หรือเว็บไซต์ของสถาบันฯ ก็ได้เช่นกัน

ด้วยความเคารพและปรารถนาดี
ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์

 


 

ภายใต้มูลนิธิหมอชาวบ้าน <p style="padding: 4px; margin: 4px;">2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

</p>

 

หมายเลขบันทึก: 252966เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2009 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท