เมื่อผมต้องเป็นคนไข้ (6.การทดสอบ...ครุ่นคิด...และทบทวน)


ว่าด้วย คะแนนความเจ็บปว

ประโยคคำถาม วันละสองสามครั้ง ที่ผมคุ้นเคย "อาจารย์ปวดประมาณเบอร์ไหนคะ" มันทำให้ผมรู้สึกย้ำคิดย้ำทำกับการหาคำตอบพอดู ในวันแรกๆ ที่นอนโรงพยาบาล

        อันที่จริงช่วงปกติที่ไปพบปะน้องๆตามโรงพยาบาล ก็จะค่อนข้างคุ้นหูกับ Pain Score หรือ Pain Scale ที่มักจะถูกนำเสนออยู่เสมอๆ

เวลาต้องมาตอบตอนป่วยจริง ผมกลับพบว่ามันตอบให้ได้อย่างสิ่งที่เป็นอยู่ ยากไม่ใช่น้อยครับ

        วันแรกๆ มันเจ็บปวดหลายที่ครับ  อีกทั้งคุณภาพความเจ็บมันไม่เหมือนกันจริง  ตรงที่กระดูกหักก็เจ็บแบบปวดร้าวๆ    ตรงเ้ท้าที่ถูกelasticพันทับสำลีทั้งม้วนเพื่อกดให้เท้ายุบบวมก็ยิ่งเจ็บแต่แบบตื้อๆชาๆ  ตรงแผ่นหลังและก้นกบที่กดบนที่นอนเป็นวันๆก็เจ็บแบบเมื่อยๆเรื่อยๆชาๆ   ส่วนตรงที่คาเข็มไว้ฉีดยาเจ็บเหมือนกัน แต่จะเจ็บแบบมีอะไรมาคาๆ แล้วเปลี่ยนเป็นเจ็บร้อนแล่นปรู้ดปร้าดแสบแปลบๆเวลาโดนยาฉีด (คิดว่าเป็นยาฆ่าเชื้อประเภท cef3 กระมังครับ)

       คิดแบบติดตลกนิดๆว่า ตอบให้คะแนนเท่าไรดี จะเอาเป็นค่าเฉลี่ยทุกความเจ็บปวดที่มีมันก็อย่างหนึ่ง เอาที่คะแนนสูงมากๆที่สุดก็คงได้ยาฉีดยากินแก้ปวดมาบรรเทาอีก   บางทีเกรงใจน้องๆเวรบ่ายดึกที่ต้องเดินไปเดินมางั้นก็ปวดสักเบอร์สองเบอร์สามก็แล้วกัน  ที่เล่านี่ไม่ใช่ไม่ชอบกระบวนการดีๆแบบนี้ หรือบ่นเพราะรำคาญนะครับ  แต่เกิดความคิดแวบหนึ่งยามว่างๆว่า  

       ของที่ดูเหมือนง่ายมันก็ชักจะไม่ง่ายนักสำหรับคนตอบเพราะมันคงปะปนกันระหว่างความเจ็บปวด อารมณ์ ความกังวล ความรู้สึกและความกลัว ในขณะที่ก็คงยากสำหรับคนแปลผลด้วย(ถ้าคิดจะแปลจริงๆ)  คงเป็นการปะปนกันของการปฏิบัติงานที่มุ่งถามเพื่อให้ได้คำตอบไปจับคู่กับสิ่งที่ควรให้กับคนไข้ตามกระบวนการหน้าที่  กับความต้องการรับรู้สถานการณ์ที่แท้จริงของคนป่วยเพื่อหาช่องทางเสริมพลังอำนาจหรือเป็นกำลังใจ

อ่านแล้วอย่า ซีเรียสนะครับ  ผมยืนยันว่า คนป่วยทุกคนน่าจะรู้สึกดีต่อการมีคนมาใส่ใจถามไถ่สารทุกข์สุขดิบอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผมเองก็มีความรู้สึกเช่นกัน เพียงแต่ผมคิดของผมเล่นๆในฐานะที่ทำงานในกระบวนพัฒนาคุณภาพ ที่มี

กระบวนการอะไรต่อมิอะไรตั้งเยอะแยะในชีวิตการงานของเรา ที่เริ่มต้นมีเป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวังอย่างหนึ่ง  เมื่อเริ่มทำเริ่มสร้างกระบวนการ  แล้วปฏิบัติสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็เป็นงานประจำ ที่ประจำมากๆ จนเกิดความเข้าใจในเป้าหมายและผลลัพธ์ที่หลากหลาย สุดแต่จะตีความหมาย  

         คงถึงเวลาที่ผมคงต้องหาเวลามาทบทวนเรื่องง่ายๆ เรื่องที่ผมคิดและทำ  ว่า ทำอะไร ทำทำไม ทำอย่างไร  ทำเพราะอะไร ฯลฯ ให้บ่อยขึ้นอีกสักหน่อยแล้วล่ะครับ

 

ทดลองสารพัดวิชา การลดความเจ็บปวด โดยไม่พึ่งยา

       ปกติผมจะได้มีโอกาสได้เห็นได้ฟังได้อ่าน  ผลงานที่สะท้อนการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ จากพี่ๆ้น้องๆพยาบาลของรพ.ต่างๆ

ผมได้เห็นความพยายามที่จะลดทอนความทุกข์ทรมาน ความเครียด ความเจ็บปวดของผู้ป่วย ด้วยแนวทางวิธีการที่หลากหลายมากมายทั้งที่มีและไม่มีในตำรา ไม่ว่า จะเป็นการรับฟังพูดคุย การทำสมาธิ การใช้ความเชื่อทางศาสนา  การเพ่งจุดเจ็บปวด การทำสมาธิพุทโำธ ยุบหนอพองหนอ  การกำหนดลมหายใจ การหันเหความสนใจไปในตำแหน่ง/ประเด็นอื่นๆ  การใช้ถุงน้ำอุ่น เจลร้อน ห่อถุงถั่วเขียวอุ่นด้วยไมโครเวฟ  การลูบสัมผัสอย่างแผ่วเบา  นวดประคบด้วยสมุนไพร ฯลฯ

       สามวันแรกผมเก็บเอามาลองเอง หลากหลายวิธีที่รู้มา  มันได้ผลทั้งนั้นแหละครับไม่มากก็น้อย  มันเตือนให้ผมต้องสำนึกและต้องสารภาพผิดเลยว่า  ที่ผ่านมาตอนอ่านเรื่องเล่าประเภทนี้ ผมจะอ่านผ่านๆแล้วรู้สึกเหมือนกับว่า อีกแล้ว อีกแล้ว วิธีมีมากจากหลากหลายแนวทาง  อันนี้วิทยาศาสตร์ อันนี้ความเชื่อ อันนั้นมาจากหน้าที่ อันโน้นทำตามกันมา   

       ผมมาตระหนักว่า  ความพยายามเหล่านี้มันคงมีจุดเริ่มต้นที่ละเอียดอ่อนจากคนหรือกลุ่มคน ที่ในจิตใจคงสัมผัสรับรู้เรื่องและสถานการณ์จริงจากความทุกข์ของคนที่พวกเขากำลังดูแลอยู่ หรือจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือที่เกิดขึ้นจริงในครอบครัวของพวกเขาเอง  

       คำว่า "หน้าที่" คำเดียวโดดๆ ไม่น่าจะเพียงพอก่อกำเนิดนวัตกรรมเล็กๆที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ได้  

       "จิตใจที่เอื้ออาทร"  "ความรักในเพื่อนมนุษย์" และอะไรต่อมิอะไรที่ดีงาม ที่มีอยู่ในตัวพวกเขา คงช่วยเป็นพลังผลักดันให้แต่ละวันในการทำงาน ผ่านไปอย่างรับรู้และใส่ใจความทุกข์ลำบากของผู้คนที่กำลังดูแล จนอยากที่จะมุ่งค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อการบริการที่ดี

       ต้องขอบคุณคนทั้งหลายที่ค้นคิดหรือประยุกต์สิ่งเหล่านี้มาให้กับผู้คนที่เจ็บป่วย อย่างน้อยผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากหลายๆเรื่องที่คาดไม่ถึงเหล่านี้ครับ  ขอบคุณ ขอบคุณจริงๆครับ

 

หมายเลขบันทึก: 252776เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2009 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

หายปวดหรือยังคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท