เรื่องดีที่ มวล : นักศึกษานำเสนอสิ่งดีๆ ในซอย


นักศึกษาค้นหาสิ่งดีๆ ในแต่ละซอยได้ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

เรื่องเดิม

เดือนมีนาคม ๒๕๕๒ กลายเป็นเดือนที่ดิฉันมีภารกิจยุ่งจนถึงยุ่งที่สุด เว้นวันหยุดสุดสัปดาห์แรกของเดือนที่ป่วยเป็นหวัดต้องนอนพักแล้ว หลังจากนั้นไม่มีวันหยุดอีกเลย ทำให้ว่างเว้นการเขียนบันทึกไปหลายๆ วัน

ขอย้อนกลับไปบันทึกเรื่องราวในวันที่นักศึกษาวิทยาการสุขภาพ ๔ สำนักวิชาจำนวน ๑๔ กลุ่ม นำเสนอ “ของดีในซอย” เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม เวลา ๑๖.๓๐-๑๙.๓๐ น. ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี เย็นวันนั้น นักศึกษาทยอยเดินทางมาที่ห้องประชุมตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น. นักศึกษาหญิงรายหนึ่งมาบอกกับดิฉันว่าเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เขาไม่ได้ลงชุมชนเพราะติดสอบเอเน็ต จะต้องลงชุมชนเป็นการซ่อมแซมไหม แสดงถึงความรับผิดชอบทั้งๆ ที่กิจกรรมการลงชุมชนที่จัดขึ้นนั้นไม่มีคะแนนอะไร

เราจัดรถไปรับชาวบ้านในชุมชนที่นักศึกษาเลือกว่าเป็น “บุคคลที่ประทับใจ” ประจำซอย เพื่อให้มารับมอบของที่ระลึก คุณยาย คุณลุง คุณป้า คุณพี่...(เรียกตามนักศึกษา) มาถึงก่อนเวลา ๑๖.๓๐ น. ทุกท่านหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส แต่งกายสวยงาม

นักศึกษาทุกกลุ่มบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ในซอยได้อย่างดีเยี่ยม พิธีกรในงาน ๒ คน เป็นนักศึกษาชายหญิง อาสาสมัครที่ส่วนกิจการนักศึกษาช่วยหามาให้ ดำเนินการนำเสนอโดยใช้วิธีจับฉลากเลขที่ซอยขึ้นมา แต่ละกลุ่มมีรูปแบบการนำเสนอของตนเอง หลายกลุ่มนำเสนอด้วย VDO สร้างไตเติ้ลคล้ายภาพยนตร์ ในสาระที่ดิฉันบันทึกนี้อาจเขียนชื่อของชาวบ้านเพี้ยนไปบ้าง เขียนไปตามที่ได้ยิน

ซอย ๔  มีศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร มีอุปกรณ์เครื่องใช้ที่แสดงภูมิปัญญาชาวบ้าน คุณตาท่านหนึ่งมีอายุ ๗๓ ปีแล้วแต่ยังปั่นจักรยานทุกวันและยังกรีดยางเป็นประจำ มีบุคคลตัวอย่างคือลุงฤทธิ์ ที่ใช้ชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีครอบครัวตัวอย่างของหญิงหม้ายอายุ ๖๘ ปี เคยเป็น อสม.

ซอย ๑๐  มีการปลูกพืชผักสวนครัว มีภาพผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เลี้ยงหมู มีห้องน้ำ “super save”  สิ่งประดิษฐ์ของยาย (ที่ตำหมาก) รอยยิ้มของชาวบ้าน ป้าชงชาเย็นต้อนรับนักศึกษา ๒ ขัน (ไม่ใช่แก้ว) บุคคลที่นักศึกษาประทับใจคือ "คุณยายพร้อม" ตอนที่นักศึกษาไปเยี่ยม คุณยายเพิ่งกลับจากทำบุญ เอาข้าวต้มมัดมาด้วย เมื่อมาถึงบ้านก็เข้าไปค้นหาของในห้องนอนอยู่พักใหญ่ ที่แท้ก็ไปเอาถ้วยชามสวยๆ มาใส่ข้าวต้มมัดให้นักศึกษากิน คุณยายเป็นหมอนวดชาวบ้าน โดยไม่รับค่าจ้าง แต่รับค่าคาถา ๑๐ บาท

ซอย ๒  ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีค่ายมวยที่ไม่เพียงเป็นสถานที่ฝึกซ้อมการชกมวยเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่พบปะของวัยรุ่นภายในซอยและต่างซอย ชาวบ้านในซอยนี้มีอาชีพหลักคือการทำยาง บุคคลที่ประทับใจคือ “ยายทับ” เพราะให้การต้อนรับดี รู้จักดูแลสุขภาพตนเอง ยายร้องเพลงให้ฟังด้วย

ซอย ๘  นักศึกษากลุ่มนี้ขึ้นเวทีนำเสนอด้วยการแต่งกายเรียบร้อย ฝ่ายชายผูกเนคไทของมหาวิทยาลัยด้วย เริ่ม VDO ด้วยเพลงเร้าใจ มีเสียงแมลงเป็นแบคกราวน์ ประชาชนในซอยมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ มี อสม.ให้คำปรึกษา มีการเต้นแอโรบิคที่สถานีอนามัย แต่ปัจจุบันคนมาร่วมลดลง มีการปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพร ตรวจสุขภาพประจำปี ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกข้าวกินเอง เลี้ยงสัตว์ นักศึกษาประทับใจ "พี่เพลินตา" กลุ่มนี้แต่งเพลงร้องกันเองด้วยโดยดัดแปลงมาจากเพลงสวยในซอย....ซอยที่สุด

ซอย ๐  เป็นเรื่องราวความพอเพียงของตาชิม เริ่ม intro…ด้วยพระราชดำรัสของในหลวง เล่าประวัติของตาชิม อายุ ๗๐ ปีแล้วยังแข็งแรง รอบๆ บ้านมีของที่ใช้ได้กินได้ เช่น ใบกะพ้อ ใบพาไหม ผักชีล้อม ขิง กะเพรา ว่านตะขาบ หมาก สลอด ยาง มะพร้าว กล้วย.....สาธิตการตากพริกแห้ง สิ่งที่นักศึกษาได้โดยไม่คาดคิดมาก่อนจากกิจกรรมนี้คือความรู้สึกเป็นเพื่อน ได้เพื่อนต่างสำนักวิชา ประทับใจความมีน้ำใจของชาวบ้านในชุมชน

ซอย ๑๓  นักศึกษาใช้ VDO เล่าเรื่องบุคคลที่น่าประทับใจ ๒ คน ผู้ที่ได้รับเลือกให้มารับของที่ระลึกคือ "ป้าอารมณ์"

ซอย ๑  นักศึกษาประทับใจ "พี่ธานิล" ที่เป็นโปลิโอแต่ไม่ยอมแพ้ ป่วยเมื่อตอนอายุ ๙ ปี หมอบอกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ถึงอายุ ๑๒ ปี แต่ตอนนี้มีอายุ ๒๗ ปีแล้ว มีความสามารถพิเศษหลายอย่าง ประทับใจการต้อนรับและน้ำใจของชาวบ้าน

ซอย ๙  กลุ่มนี้ตั้งชื่อตนเองว่ากลุ่มเทียนใจ ตามเหตุการณ์ที่พี่ใจให้ต้นเทียนแก่นักศึกษา เล่าเรื่องครอบครัวของพี่ใจว่ามีสภาพทั่วไปอย่างไร มีอาชีพรับจ้างและทำสวน ใช้ชีวิตกันอย่างไร พี่ใจสอนนักศึกษาให้ดูว่าต้นเทียนแต่ละต้นจะออกดอกสีอะไร นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของคุณลุงที่สร้างบ้านด้วยตนเองแบบไม่รีบร้อน ประทับใจ "ยายเจียร" ที่หุงข้าวรอและชวนคุยสนุกสนาน

ซอย ๖  ฉายภาพให้เห็นบุคคลในซอยที่มีแววตาเป็นมิตร นำเสนอเรื่องราวของ “ดอกไม้ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ” มีตัวแทนนักศึกษาแพทย์ สหเวชฯ เภสัชฯ พยาบาลมาเล่าความรู้สึกประทับใจในซอย เช่น มีคุณยายที่เวลาวัวของแกป่วยคุณยายจะป่วยไปด้วย ตบท้ายด้วยคำกลอน ก่อนจบมีการปิดม่านบนเวทีก่อนจะเปิดม่านมาพบกับการจัดแถวร้องเพลงประสานเสียง เพลง “ดอกไม้” ประทับใจผู้ชมไปตามๆ กัน บุคคลที่นักศึกษาประทับใจคือ "ยายคล่อง"

ซอย ๓  Show ภาพเด็กๆ และบรรยากาศแบบใสๆ บุคคลที่นักศึกษาประทับใจคือ "ป้าเป็ด"

ซอย ๕  เสนอด้วยแผนที่เดินดิน ภาพชาวบ้าน ทีเด็ดคือเชิญ "ป้าทัด" อายุ ๗๖ ปีขึ้นเวทีแสดงการรำไม้พลองและร้องเพลงกล่อมเด็ก (ป้าเคยได้รับรางวัล) และมีภาพจักรยานออกกำลังกายที่ชาวบ้านปรับใช้เอง เมื่อลงจากเวที ป้าทัดบอกว่าให้รำไม้พลองก่อนเลยไม่ค่อยมีแรงร้องเพลง

ซอย ๑๑  เป็นเรื่องราวของ "ลุงเล็ก" ที่นักศึกษาประทับใจการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ลุงเล็กพาชมรอบๆ บ้าน อธิบายการปลูกพืชผัก ทำให้ได้ความรู้ว่ามังคุดไม่ชอบแดดมาก......สอนให้ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ใช้เท่าที่มี ใช้จ่ายอย่างพอเพียง.....มีภาพบ้านพี่เขียวที่นักศึกษาไปช่วยพี่เขาทำข้าวหลาม...นักศึกษาปิดท้ายด้วยคำพูดที่ว่า “ทุกๆ ประสบการณ์ ใครมาบอกเล่าให้ฟัง ก็ไม่เหมือนไปสัมผัสด้วยตนเอง...”

ซอย ๗  ของดีมีเรื่องศาสนสถาน นักศึกษาสัมภาษณ์พระภิกษุ สุขภาพทางใจที่ดีที่สุดควรหันหน้าเข้าหาวัด ชาวบ้านในซอยนี้ทำมาหากินอย่างขยันขันแข็ง เลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริม เลี้ยงหมู ชาวบ้านมีน้ำใจไมตรีอย่างดี มีภาพชาวบ้นไปสอยส้มโอมาปอกให้นักศึกษากิน ประทับใจ "ตาสว่าง" ซึ่งเป็นผู้นำการรำกระบอง และบอกเล่าว่าเลี้ยงผึ้งแล้วทำอะไรได้บ้าง จบการนำเสนอด้วยบทกลอน ๑ บท

ซอย ๑๒  “กลุ่มดินลูกแรก” เริ่มการนำเสนอด้วยบทกลอน เล่าความรู้สึกการลงชุมชนตั้งแต่ครั้งแรกที่ชาวบ้านยังไม่รู้จักนักศึกษาจนถึงการลงชุมชนในครั้งนี้ ประทับใจ "ลุงติ้ว" ซึ่งอายุ ๗๑ ปี เป็นเบาหวาน-ความดันสูง เป็นแกนนำการรำไม้พลอง

จบการนำเสนอโดยกลุ่มที่ได้รับรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยมคือกลุ่มซอย ๗, ๘ และ ๑๑

ได้ชมวิธีการที่แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานแล้ว พบว่านักศึกษาปี ๑ ของเรามีดีหลายเรื่องทีเดียว เช่น
- มีความสามารถด้านการใช้คอมพิวเตอร์ มีลูกเล่น อาจารย์ที่สอนนักศึกษาด้วย PowerPoint แห้งๆ ต้องระวังแล้วว่าจะทำให้นักศึกษาเบื่อ
- มีการแต่งกายที่เรียบร้อยและดูดี
- มีฝีมือในการถ่ายภาพ หลายกลุ่ม (คงทุกกลุ่ม) ได้กลับเข้าไปเก็บภาพในชุมชนใหม่ให้เข้ากับเรื่องราวที่จะนำเสนอ แม้จะเป็นคนละวันกับวันที่จัดกิจกรรม แต่นักศึกษาทุกคนก็ยังแขวนป้ายชื่อที่เราแจกให้
- นักศึกษาค้นหาสิ่งดีๆ ในแต่ละซอยได้ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ห้องน้ำ super save แววตาที่มีความสุขของเด็กๆ ฯลฯ น่าจะเป็นการสอนนักศึกษาวิทยาการสุขภาพอีกมุมหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องให้นักศึกษาหาแต่ปัญหาเสมอไป

ชาวบ้านที่มาร่วมงานได้อยู่ฟังการนำเสนอของนักศึกษาจนจบ เลยเวลาที่กะไว้แต่แรก บางท่านลูกหลานรอรับที่ปากซอยเข้าบ้านตั้งแต่หัวค่ำ ไม่เห็นกลับไปสักที จนต้องเข้ามารับถึงในมหาวิทยาลัย ชาวบ้านทุกคนบอกว่าการจัดกิจกรรมแบบนี้ดีนะอาจารย์ อยากให้จัดอีก

ช่วงเช้าวันที่ ๙ มีนาคม ดิฉันเข้าไปใชนชุมชนอีกครั้ง นำของที่ระลึกไปมอบให้แก่บุคคลที่นักศึกษาประทับใจและผู้นำชุมชนที่ไม่สามารถไปรับได้ด้วยตนเอง ยังได้รับการต้อนรับขับสู้จากชาวบ้านอย่างดี

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 252039เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2009 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้ามาดูสาระครับ ขอให้มีความสุขนะครับ

เป็นวิธีการนำมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนที่น่าทึ่งมากค่ะ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท