ทศชาติ - จันทกุมาร


ทศชาติ, จันทกุมาร


ภาพ: ธรรมสวัสดี

ที่ยกเอาชาดกตอนนี้มาก่อนตอนอื่นก็เพราะผมเห็นว่าชาดกตอนนี้ (มีอีกตอนที่ใกล้เคียงกันมากและจะเขียนถึงในอันดับถัดไปคือ ภูริทัต) สั้นเหลือเกินและแทบจะไม่มีใครสนใจหรือประทับใจในเนื้อหาของชาดกตอนนี้เลย ทั้งๆที่เป็นภาพสะท้อนสำคัญของศรัทธาสองข้อที่ผมกล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ และเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งของการดับลงสิ้นแห่งทุกข์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ความสงบสุขของคนที่ทำได้ตามแบบอย่างของชาดก รวมทั้งความสุขของสังคมมนุษย์โดยรวม

สำหรับผม ผมประทับใจในชาดก จันทกุมารและภูริทัตไม่น้อยไปกว่าตอนอื่นๆครับ

จันทกุมารเป็นพระนิยตโพธิสัตว์ที่เกิดในภูมิมนุษย์วรรณะกษัตริย์ เป็นราชโอรสมีฐานันดรศักดิ์ถึงอุปราชแห่งปุปผวดี โดยเมืองนี้มีพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นปุโรหิตชื่อว่ากัณฑหาละมีอำนาจ ตัดสินคดีความ แต่กัณฑหาละเป็นตุลาการที่กินสินบน เมื่อได้รับสินบนจากฝ่ายไหนก็จะตัดสินให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายนั้น
จนมาคดีหนึ่งมีผู้อุทธรณ์กับอุปราชจันทกุมารว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จันทกุมารก็เลยชำระคดีให้ใหม่จนเป็นที่สรรเสริญของมหาชน พระราชาจึงได้ถอดกัณฑหาละเสียจากอำนาจตุลาการและมอบอำนาจนี้ให้แก่จันทกุมาร แต่เข้าใจว่ากัณฑหาละคงยังมีตำแหน่งแห่งหนอำนาจหน้าที่อื่นในราชสำนักอยู่นะครับ น่าจะเป็นถึงราชครูด้วย ก็เลยยังมีโอกาสใกล้ชิดพระราชาแม้จะไม่มีทำหน้าที่ตุลาการแล้ว
เรื่องถอดถอนอำนาจนี้ทำให้กัณฑหาละเสียประโยชน์อย่างมาก จึงโกรธแค้นจันทกุมารและหาทางกำจัดเสีย

วันหนึ่งก็สบโอกาสเมื่อพระราชาฝันว่าได้เห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เสพกามสุขอันประณีตชนิดที่กามไดๆในภูมิของมนุษย์ไม่สามารถเทียบได้
อันนี้ต้องขออธิบายคำว่า กาม สักนิดนะครับ ความหมายเดิมๆของคำนี้หมายถึงความพึงพอใจในสัมผัสทางกาย ทั้งการได้เห็นภาพสวยงาม ฟังเสียงเพราะๆ ชิมอาหารรสเลิศ ได้กลิ่นหอม ได้สัมผัสทางผิวที่น่าพอใจ โดยเรามักจะคุ้นกับคำว่ากามในความหมายสุดท้าย และตีกรอบแคบลงมาเพียงสัมผัสทางเพศด้วยครับ แต่จริงๆแล้วคำว่ากามมีความหมายกว้างครอบคลุมถึงสัมผัสทั้งหมดไม่ว่าจะรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นสุขคติภูมิชั้นที่เรียกว่า กามาวจร คือเป็นที่อาศัยของผู้ที่มีความสุขในกาม พวกนี้เป็นเทวดาเสพความพึงพอใจในกามล้วนๆครับ เช่นมีรูปร่างงดงามชนิดที่มนุษย์ไม่ต้องไปเทียบ ลิ้มรสอาหารชั้นเลิศยิ่งกว่ามนุษย์ สำหรับเทวดาแล้วล่ะก็ มนุษย์หยาบมากและเหม็นมากครับ อาหารที่เราๆกินกันอยู่นี่ พวกเขามองคล้ายๆกับที่เรามองอาหารสัตว์ คือถึงเราจะว่าอาหารของเราอร่อยน่ากินแค่ไหน เทวดาก็ยังเมิน
เรียกว่าสำหรับเทวดาแล้ว มนุษย์ทุกข์ทรมานไม่น่าพึงใจจนเทวดาส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเพราะภูมิของตนเองเสพแต่กามสุขล้วนๆครับ
และแน่นอนว่าถ้ามนุษย์คนไหนได้ไปสัมผัสกับกามสุขของเทวดา ก็จะต้องโหยหาอยากเสพสุขนั้นอีก
สำหรับเราๆที่คุ้นเคยกับกามสุขก็อาจจะเข้าใจว่าภูมิเทวดานี่สุขยอดของความสุขแล้วนะครับ แต่จริงๆแล้วมนุษย์สามารถเสพสุขที่ประณีตกว่ากามอีกครับ เพียงแต่สมัยนี้ไม่ค่อยมีกันแล้ว นั่นคือสุขในฌานสมาบัติ ซึ่งถือกันว่าเป็นปัญญาอันยิ่งอีกด้วย สุขในฌานสมาบัตินี่เป็นความสุขที่เสมอด้วยพรหมซึ่งเป็นสัตว์ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่าเทวโลกอย่างกามาวจรอีก

เราจึงมักได้ยินว่าฤๅษีชีไพรไม่ค่อยจะใส่ใจกับร่างกายนัก ก็เพราะได้เสพสุขที่ยิ่งกว่ากามอยู่ไงครับ
แต่สำหรับคติพุทธ แม้สุขในฌานสมาบัติก็ยังมีทุกข์ในฐานะของตน มีความเสื่อมมีความแตกดับวนเวียนในวัฏฏสงสาร ยังเสี่ยงที่จะถูกกรรมวิบากและความหลงผิดลากลงนรกได้ไม่ต่างจากภูมิอื่นครับ

นอกเรืองไปไกล กลับมาที่จันทกุมารต่อ พระราชาพอตื่นจากฝันก็ทรงพระสติแตกตามประสาปุถุชนที่เกิดไปเจอเอาสวรรค์เข้า ก็เลยวุ่นวายถามหาราชครูซึ่งก็คือกัณฑหาละนั่นเอง ว่าทำอย่างไรดีเราถึงจะได้ไปเสวยสุขอย่างนั้นอีก
ทีนี้ก็ได้จังหวะของกัณฑหาละเขาแล้วครับที่จะกำจัดจันทกุมารออกไปให้พ้นทาง ก็เลยทูลพระราชาว่าการจะได้ไปสู่สุคติอย่างนั้น ก็จะต้อง "ให้ทานอันล่วงล้ำทาน ฆ่าบุคคลอันไม่ควรฆ่า" พระราชาก็ถามว่า บุคคลแบบไหนล่ะที่ไม่ควรฆ่า เราจะได้ขวนขวายไปหามาทำยัญพิธี กัณฑหาละก็ทูลว่า ประกอบด้วย ราชบุตร พระมเหสี ชาวนิคม โคอสุภราช ม้าอาชาไนย อย่างละสี่
ครับ พระราชาอยากไปสวรรค์ แต่ราชครูชี้ทางลงนรกหน้าตาเฉย เพราะอยากได้ผลประโยชน์คืนอันเป็นผลประโยชน์ที่หยาบเมื่อเทียบกับทิพย์สมบัติ แล้วยังเสี่ยงกับนรกอีก

ว่าแล้วพระราชาก็จัดการให้ราชบุรุษไปอุ้มราชบุตร มเหสี คหบดี ช้าง ม้า อย่างละสี่ ซึ่งก็รวมจันทกุมารด้วย เตรียมจะบูชายัญ แม้ว่าพระราชบิดาพระราชมารดา ประชาชนจะทูลห้าม จะเตือนว่านี่เป็นทางไปนรกไม่ใช่สวรรค์ แต่พระราชาก็ไม่ฟัง เชื่ออาจารย์อย่างเดียว
ครับ เจอทั้งความไม่รู้และความโลภเข้าให้ พอเจอคำตอบที่ตนเองตั้งใจจะเชื่ออยู่แล้ว แบบนี้มันห้ามยาก อาการแบบนี้ก็เป็นอาการประจำของมนุษย์แม้จนวันนี้นะครับ โลภและไม่รู้ พอได้คำแนะนำแบบที่ตนเองพร้อมจะเชื่อก็ไม่สนใจข้อเท็จจริงแล้วครับ เปลี่ยนภพไปเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ โดนหลอกมานักต่อนักให้ได้สลดใจกัน คนพวกนี้เดินสู่หายนะด้วยหน้าชื่นนะครับ พอจะต้องรับผลที่ตนเองกระทำก็ฟูมฟายว่าทำไปด้วยความไม่รู้ มีมาดที่ต่างกับตอนกระทำอย่างหน้ามือกับหลังมือ
จะบอกว่าไม่รู้แล้วไม่ต้องรับผลนี่ ยากครับ แม้แต่กฏหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก็ยังระบุว่า จะอ้างว่าไม่รู้กฏหมายแล้วไม่รับโทษนั้นไม่ได้ แล้วนี่คือธรรมชาติที่มนุษย์เพียงต้องอิงอาศัยไม่ได้เป็นผู้สร้างเอง ยิ่งไม่ต้องมาผ่อนผันกัน ตอนนี้พระราชาก็กำลังอยู่ในอาการเดินลงนรกด้วยความอาจหาญและชื่นบาน

จันทกุมารพิจารณาแล้วก็ทราบว่า ที่กัณฑหาละแนะนำพระราชาอย่างนี้ ก็เพราะต้องการกำจัดท่านเพียงคนเดียว แต่เพื่อให้เนียนก็เลยต้องให้คนอื่นมาเดือดร้อนด้วย สรุปได้ดังนั้นจันทกุมารก็เลยทูลอ้อนวอนขอชีวิต
พระราชาได้ฟังคำอ้อนวอนก็ใจอ่อนร้องห่มร้องไห้ตามพระราชโอรส โธ่ใครจะฆ่าลูกตัวเองได้ลง ว่าแล้วก็เปลี่ยนใจไม่ต้องบูชามันแล้วยัญเยิน เลิกพิธีๆ แล้วก็สั่งให้ราชบุรุษปล่อยทุกคนและทุกตัวไป

ทางฝ่ายกัณฑหาละพราหมณ์กำลังเตรียมโรงพิธีก็มีชาวบ้านได้ข่าวพระราชาปล่อยตัวทุกคนแล้วก็ออกมาเยาะเย้ยกัณฑหาละว่าท่าทางจะต้องเชือดลูกเมียตัวเองแทนเสียแล้วกระมัง กัณฑหาละได้ยินอย่างนั้นก็เต้นสิครับ จัดแจงรีบเข้าเฝ้าพระราชาแล้วทูลว่า คนจะทำยัญพิธีเช่นนี้ได้จะต้องมีจิตใจศรัทธาเข้มแข็ง ถ้าท่านมีจิตใจโลเลเช่นนี้แล้วจะทำยัญพิธีเพื่อถึงแก่เทวโลกได้อย่างไรเล่า
พระราชาเจอปลุกใจเข้าแบบนั้นก็เกิดอาการอึกเหิมขึ้นมาอีก สั่งให้ราชบุรุษจับเอาลูกเมียช้างม้ามาใหม่ พอจับมาก็ถูกอ้อนวอนจนใจอ่อนปล่อยไป พอปล่อยไปกัณฑหาละก็ยุยงให้จับมาบูชายัญให้ได้ อย่างนี้หลายครั้ง แต่ละครั้งจันทกุมารก็จะพยายามบอกถึงบาปบุญคุณโทษพร้อมกับอ้อนวอนขอชีวิตกันจนน้ำตาท่วมวัง เสร็จแล้วพระราชาก็จะใจอ่อนกลับไปให้กัณฑหาละสวดกลับมาจับตัวลูกเมียกันใหม่
หลายๆรอบเข้ากัณฑหาละเห็นท่าจะเสียเวลา ด้วยฉันทะจะฆ่าจันทกุมารเสียให้ได้กัณฑหาละเลยทูลพระราชาว่าคราวนี้อย่าได้จับตัวไปกักไว้ที่วังเลย จับมากักเสียที่หลุมยัญเลยจะได้ลดขั้นตอนให้สั้นลง เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่ต้องมีเวลามาร่ำไรกันอีก
เมื่อถึงขั้นนี้ จันทกุมารก็ได้เพียงร้องไห้คร่ำครวญขอชีวิต ขอให้เมตตาสงสารไว้ชีวิต อย่าได้ให้แม่กับลูกต้องพรัดพรากกันเลย อย่าให้ผัวเมียต้องแยกจากกันเลย แต่แม้จันทกุมารและพระราชมารดาอันเป็นย่าของจันทกุมารจะทูลขอเพียงไดพระราชาก็ไม่ได้ใส่ใจ จะบูชายัญเสียให้ได้ แล้วยังกล่าวกับลูกสะไภ้ที่กำลังจะต้องเสียสามีไปว่า เราก็รักลูกรักเมียของเราเช่นกัน แต่เราปรารถนาในเทวโลกยิ่งนัก จงอย่าได้ขัดเราเลย
เรื่องศรัทธานี่สำคัญนะครับ แต่หากมีเพียงศรัทธาแต่ไม่มีปัญญาคอยคุม ก็จะพาไปบำเพ็ญเพียรผิดลู่ผิดทางไปง่ายๆ ถ้ามีเพียงปัญญาโดยไม่มีศรัทธาก็จะต้องวนเวียนหาทางของตนอีกช้านานหลายภพชาติกว่าจะแจ้งถึงความจริงและบำเพ็ญเพียรไปตามนั้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนธรรมะเรื่อง พละ 5 ซึ่งเป็นธรรมอันทำให้เกิดพลังในความเพียรสืบไป ซึ่งประกอบด้วยสองด้านที่คานกันคือ ศรัทธา กับ ปัญญา เพื่อให้มีแนวทางที่ถูกที่ควร จากนั้นจึงมี วิริยะ สติ สมาธิ เพื่อเพียรไปในทางนั้น
กว่าจะมาถึงตอนนี้ ในชาดกมีใจความพรรณามากมายถึงความเศร้าโศกอาลัยของผู้ที่กำลังสูญเสียครับ

นึกไม่ออกเหมือนกันว่าเรื่องนี้จะจบลงยังไงโดยจันทกุมารปลอดภัย แต่เรื่องก็มาจบลงในแบบเทพนิยายสักหน่อยครับ คือพระอินทร์ก็ลงมาปรากฏแก่พระราชาพร้อมด้วยค้อนเหล็กในมือ และกล่าวแก่พระราชาว่า
พระราชากาลี จงรู้ไว้ว่าอย่าให้เราตีเศียรของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้ ท่านอย่าได้ฆ่าบุตรองค์ใหญ่ ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดั่งราชสีห์
พระราชากาลี ท่านเคยเห็นที่ไหน คนผู้ปรารถนาสวรรค์ ฆ่าบุตร ภรรยา เศรษฐีและคหบดี ผู้ไม่คิดประทุษร้าย
พระราชาเมื่อเห็นดังนั้นก็เกรงกลัวเป็นอันมาก
ฝ่านกัณฑหาละก็เกรงกลัวไม่น้อยกว่ากัน สั่งให้ปลดปล่อยพันธนาการจากเครื่องยัญเหล่านั้นจนหมดสิ้น

ผู้คนเมื่อทราบเรื่องดังนั้นต่างก็หยิบฉวยก้อนหินทุ่มใส่กัณฑหาละพราหมณ์จนถึงแก่ชีวิต และหันมาจะจัดการกับพระราชาเสียด้วย จันทกุมารได้เข้ามาสวมกอดพระราชาแล้วขอชีวิตพระราชาต่อชาวเมือง
ชาวเมืองเมื่อเห็นจันทกุมารขอชีวิตพระราชบิดาไว้นั้นก็ยินยอมแต่เพียงจะไว้ชีวิต แต่เศวตฉัตรและราชสมบัตินั้นให้ถอดเสีย แล้วไล่ให้ไปเป็นคนจัณฑาล คือไม่มีวรรณะไดๆ และให้ไปอยู่เสียนอกเมือง แล้วยกให้จันทกุมารเป็นกษัตริย์สืบไป ฝ่ายจันทกุมารเมื่อพระราชบิดาถูกไล่ออกนอกเมืองเป็นคนจัณฑาลก็ยังแวะเวียนไปเยี่ยมแม้ไม่สามารถจะถวายบังคมได้เพราะเกรงใจชาวบ้านแต่ก็ตรัสด้วยความเคารพเช่นเดิม มีอะไรที่ต้องประสงค์ก็จัดมาถวายไม่ให้ขาด ปฏิบัติต่อพระราชบิดาเช่นนี้จนสิ้นอายุขัย

มาถึงตรงนี้ผมก็นึกขึ้นมาได้ครับว่า ชาดกตอนนี้แสนจะน่าเบื่อหน่าย ไม่เห็นมีอะไรให้ประทับใจ คนเป็นพระโพธิสัตว์ดูกระจอกเหลือเกิน เจ้าน้ำตาขี้แยก็เท่านั้น แถมตอนท้ายแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ให้พระอินทร์ลงมาช่วยเสียฉิบ ถ้าเป็นบทประพันธ์ก็แสนจะเชยเหมาะสำหรับเล่าให้เด็กเล็กๆฟังเสียมากกว่า ชาดกตอนนี้ก็เลยไม่มีอะไรน่าสนใจหรือน่าประทับใจสำหรับคนปัจจุบันครับ
ที่ผมเขียนเฉพาะเจาะจงลงไปว่าสำหรับคนปัจจุบันเพราะผมเข้าใจว่า ที่ครูบาอาจารย์ท่านชำระถ่ายทอดชาดกนี้มาในพระไตรปิฎกท่านก็ไม่ได้กล่าวถึงบางประเด็นไว้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของคนในสังคมอินเดียสมัยนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ดินแดนที่รับศาสนาพุทธเปลี่ยนไป คติในสังคมเปลี่ยนไป ทำให้ประเด็นที่เป็นเรื่องปกติจนไม่ได้บันทึกถ่ายทอดไว้จึงเลือนไป น้ำหนักของชาดกบทนี้จึงเบาจนแทบไม่มีใครใส่ใจ
ประเด็นที่ว่าก็คือ ขันติ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของชาดกนี้ด้วยครับ โดยเป็นขันติในระดับที่จะไม่ยอมทำร้ายผู้อื่นแม้ตนเองจะต้องอยู่ในอันตรายถึงชีวิตก็ตาม สิ่งนี้เป็นผลมาจากศรัทธาในกรรมและวิบาก (ผลแห่งกรรม) ว่าไม่ได้สูญหายไปไหน การถูกทำร้ายในครั้งนี้ก็เพราะเราเคยทำร้ายเขามากอ่น การโต้ตอบด้วยการทำร้ายจึงเป็นเพียงการจองเวรสืบกรรมต่อไปไม่สิ้นสุด ขันติธรรมอันเกิดจากสติและปัญญานี้จะนำพาให้ผู้บำเพ็ญเพียรให้ละจากการสืบกรรม ตัดตอนลงและประกาศให้เป็นอโหสิกรรม เป็นอิสระต่อกันสืบไป

จันทกุมารนั้นเป็นถึงอุปราช มีอำนาจในอาณาจักรเป็นรองเพียงพระราชาเท่านั้น หากจันทกุมารจะใช้อำนาจนั้นเพื่อกำจัดกัญฑหาละเสียให้พ้นทางก็ย่อมทำได้โดยง่าย อย่าว่าแต่เพียงรักษาชีวิตไว้เท่านั้นเลยครับ แต่จันทกุมารก็ไม่เลือกทางนั้น แต่เลือกทางที่จะชดใช้วิบากกรรมที่เคยมีต่อกันให้หมดไป
แต่ด้วยความเป็นนิยตโพธิสัตว์ที่จะมีบารมีเต็มภูมิได้ตรัสรู้เป้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติอันใกล้ ไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ไดจะทำอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ ชาดกตอนนี้จึงมีเหตุให้พระอินทร์ลงมาห้ามปราม และพระอินทร์ก็เป็นเทวดาที่ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์อันเป้นชั้นที่พระราชาฝันถึง เมื่อกษัตริย์แห่งภูมิอันสูงนี้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง มีหรือที่กษัตริย์เล็กๆจะไม่เกรงกลัวและยอมรับในคำสั่งคำห้ามปราม
ในสมัยที่ยังไม่เป็นถึงนิยตโพธิสัตว์นั้นก็คงมีหลายครั้งที่พระโพธิสัตว์ ชดใช้กรรมนี้หนักจนถึงชีวิต เราจะเห็นได้จากครูบาอาจารย์ผู้สืบทอดศรัทธาและปัญญาจากพระพุทธเจ้าท่านได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างถึงความไม่เกรงกลัวต่อความตาย หากจะต้องถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตก็จะยอมให้ทำร้ายด้วยจิตใจที่มั่นคงและสงบนิ่ง เพื่อให้กรรมวิบากนั้นขาดลง กลายเป็นอโหสิกรรมที่ไม่มีใครจะต้องสืบกรรมนั้นอีก
หากสังเกตใจความในชาดกทั้งสิบ เราก็จะเห็นสิ่งที่ร่วมกันสิ่งหนึ่งก็คือ พระนิยตโพธิสัตว์ทั้งสิบอัตภาพนั้นไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะทำร้ายใครแม้จะถูกคุกคามเอาชีวิต ยิ่งเมื่อพระนิยตโพธิสัตว์มีบารมีเต็มภูมิตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็เล็งเห็นกรรมของผู้จะมาทำร้าย นอกจากเห็นว่าการทำร้ายนั้นมีที่มาจากกรรมที่มีต่อกัน ท่านก็ยังกำหนดให้ครุกรรมที่เจ้ากรรมนายเวร (เช่นพระเทวทัต) นั้นผ่อนผันลง ไม่ให้ต้องสร้างกรรมหนักกับท่านให้ไปชดใช้กรรมในนรกให้น้อยที่สุดด้วย
ผมจึงเห็นว่าชาดกตอนนี้น่าประทับใจและสำคัญมากและเขียนถึงเพื่อเป็นหลักฐานถึงปฏิปทาของครูบาอาจารย์ไว้ และเป็นคติแก่เพื่อนๆและตัวผมเองที่มีจริตนิสัยใกล้เคียงกัน

ในวันที่สังคมเรากำลังเชื่อว่าการฆ่า การทำร้ายกันอาจมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล ผมขอยกเอาชาดกนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงว่าไม่มีใครที่ควรถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายแม้แต่คนเดียวครับ
และไม่มีใครที่อยู่ในฐานะของคนโง่หรือเสียเปรียบ เพราะกรรมได้ขาดลงไปแล้ว ผู้ปฏิบัติได้เป็นอิสระต่อกรรมนั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่สงบ ไม่ต้องทุรนทุรายต่อไปด้วยกรรมนั้นอีกครับ

ตอนแรกว่าจะเขียนบทนี้รวมกันไปกับชาดกตอน ภูริทัต ด้วย แต่เมื่อเขียนไปก็มีรายละเอียดมากมายกว่าที่คาดไว้ จึงขอแยกภูริทัตไปเป็นอีกตอนหนึ่งนะครับ แม้จะมีเนื้อหาใกล้เคียงกันมากก็ตาม
หากบทความนี้จะก่อให้เกิดกุศลจิตแก่ผู้อ่าน จะเกิดประโยชน์สืบไป ขอให้กุศลอันเกิดจากการอธิบายธรรมข้อนี้จงบังเกิด จงสำเร็จแด่ทุกท่านๆด้วยครับ
แต่หากบทความนี้มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ก็ขอน้อมรับไว้ว่าเป็นไปด้วยความเขลาของผมเองแต่เพียงผู้เดียวครับ

หมายเลขบันทึก: 251725เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2009 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท