องค์กรเคออร์ดิค ตอนที่ ๔๔ สังคมเคออร์ดิค


 

สกว. กับความเป็นองค์กรเคออร์ดิค (๔๔)
องค์กรเคออร์ดิค กับสังคม เคออร์ดิค
    

ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
www.kmi.or.th
http://gotoknow.org/blog/thaikm

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่ http://rescom.trf.or.th

 

          สังคมมีธรรมชาติ เคออร์ดิค    คือมีทั้งความไร้ระเบียบ (chaos) และความเป็นเป็นระเบียบ (order) อยู่ด้วยกัน     ปัญหาก็คือ เราพยายามสร้างความเจริญก้าวหน้าในสังคมด้วยการจัดระเบียบสังคม     พยายามทำให้สังคมอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกันมากเกินไป     ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสังคมมีธรรมชาติที่แตกต่างหลากหลาย     เรายังใช้พลังของความแตกต่างหลากหลายไม่ค่อยเป็น

         สังคมที่เน้นความเป็นระเบียบเชิงเดี่ยว มีกฎเกณฑ์กติกาเดี่ยว มีกลไกกำกับหรือควบคุมที่ชัดเจนตายตัว คือสังคมอำนาจ    เป็นสังคมที่ใช้อำนาจนำ  หรือที่เรียกว่า top-down     สังคมเช่นนี้ใช้ได้ผลในยุคบุพกาล    ในสภาพที่พัฒนาการด้านอารยธรรมของมนุษย์ยังไม่ซับซ้อนและซ่อนเงื่อนอย่างในปัจจุบัน    แต่ในยุคปัจจุบัน สังคมมีความซับซ้อน แตกต่างหลากหลาย เกินกว่าที่จะใช้ระบบอำนาจเด็ดขาดหรือรวมศูนย์อย่างได้ผล     ทุกสังคมจึงต้องพิจารณา ยึดหลักสร้างระบบต่างๆ ตามแนวทาง “ระบบ เคออร์ดิค” (Chaordic Systems)     หรืออาจเรียกว่า ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex Adaptive Systems) นั่นเอง

          สภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ระบบต่างๆ แสดงอาการของ “ความล้มเหลวเชิงระบบ” (Systems Failure)     เป็นสัญญาณของการก่อตัวไปสู่ภพภูมิใหม่ (New Order) ของสังคม    ที่จะต้องเป็นระบบที่สร้างขึ้น หรือพัฒนาขึ้น บนหลักการของ “ระบบ เคออร์ดิค”    

ระบบการเมืองแบบ เคออร์ดิค
          ระบบการเมืองไทยในอดีตถึงปัจจุบัน เป็นการเมืองของนักการเมืองหรือนักสมัครรับเลือกตั้ง    เพื่อไปออกกฎหมายปกครองบ้านเมือง     และส่วนหนึ่งไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารบ้านเมือง     สมมติฐานสำคัญคือคนเหล่านี้จะเข้าไปทำงานเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนพวกพ้อง     แต่ประสบการณ์สอนเราว่าสมมติฐานนี้มีทั้งส่วนที่จริงและส่วนที่ไม่จริง   
          ประสบการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ผ่านมา ๗๖ ปี สอนเราว่า     การเมืองส่วนของการเลือกตั้งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้ระบบการเมือง ที่ผู้ได้รับอำนาจรัฐทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง     ยังต้องมีระบบกำกับผู้ได้รับอำนาจรัฐ     และยังต้องมีการเมืองภาคประชาชนเข้าไปกำกับ
          การเมืองไม่ควรเป็นเรื่องของการคานอำนาจ (balance of power) เท่านั้น   ควรมีเรื่องของการเสริมอำนาจ (empowerment) ด้วย    ระบบเสริมอำนาจการเมืองมีมากมาย    อย่างหนึ่งคือระบบวิชาการ    ตัวอย่างจริงของการที่ฝ่ายวิชาการเข้าไปเสริมอำนาจการเมืองคือระบบบริการสุขภาพ ที่เราเรียกกันติดปากว่าระบบ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค    เกิดขึ้นจากผลงานวิจัยของ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข)    ที่พรรคพลังประชาชนนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้อย่างได้ผล    ทั้งผลทางการเมือง และผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบบริการสุขภาพที่ทั่วถึงประชาชนที่ยากจน
          จุดอ่อนของการเมืองเชิงอำนาจเดี่ยว (order) ก็คือ มันมีแนวโน้มจะดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยเป็นกลุ่มๆ     และคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้น หรือผลประโยชน์เฉพาะหน้า เป็นหลัก    การเมืองเชิงอำนาจซับซ้อน (chaordic) จะช่วยแก้ไขจุดอ่อนนี้
 
ระบบสุขภาพแบบ เคออร์ดิค
          ระบบสุขภาพเป็นระบบที่ผมเข้าใจดีที่สุด    และระบบสุขภาพของไทยได้รับยกย่องจากนานาประเทศมาก ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งในโลก     เราถูกถามอยู่เสมอว่าระบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร     และคำถามของผมเองก็คือ ที่ว่าระบบนี้เป็นระบบที่ดีนั้น เพราะเหตุใดจึงว่าดี   
          คำตอบของผมคือ เพราะมันเป็นระบบที่ซับซ้อน ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจเดี่ยว     ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของราชการ (กระทรวงสาธารณสุข) เพียงหน่วยเดียว     มีหน่วยงานนอกระบบราชการอีกจำนวนมาก เข้ามาทำหน้าที่ชักนำเอาภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลายในสังคม เข้ามาแสดงบทบาทในระบบ     เพื่อให้เป็นระบบแห่งสัมมาทิฐิ คือ สร้างนำซ่อม    เพื่อให้เกิด Good health at low cost    ไม่ให้ตามรอย Poor health at high cost อย่างระบบของสหรัฐอเมริกา
          นอกจากใช้ขบวนการประชาชน เข้ามาหนุนเสริมระบบสุขภาพแล้ว     ยังมีหน่วยงาน และกิจกรรมที่หลากหลาย เข้ามาใช้ขบวนการความรู้    สร้างความรู้จากการทำงานในระบบ    เพื่อพัฒนาส่วนย่อยของระบบ คือขบวนการ R2R (Routine to Research)    และมีการสร้างความรู้เชิงระบบ โดยหน่วยงานอีกกว่า ๑๐ แห่ง     เพื่อสร้างวิวัฒนาการเชิงระบบแบบที่เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรู้นำ     หรือการกำหนดนโยบายอย่างมีข้อมูลหลักฐาน (Evidence-Based Policy Making) นั่นเอง 

ระบบการศึกษาแบบ เคออร์ดิค
          ระบบการศึกษาเป็นอีกระบบหนึ่งที่ผมมีความเข้าใจระบบดีพอสมควร    แต่เป็นระบบที่ตรงกันข้ามกับระบบสุขภาพ    คือเป็นระบบที่เป็นตัวอย่างแห่งความล้มเหลว     เพราะในช่วง ๙ ปีของการปฏิรูประบบการศึกษา     ผลที่เกิดขึ้นคือผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของผู้จบการศึกษาเลวลง    คือคุณภาพต่ำลงนั่นเอง     ทั้งๆ ที่เราใส่ทรัพยากรเข้าไปมากขึ้น   
          สาเหตุแห่งความล้มเหลวในมุมมองของผม คือระบบการศึกษายังใช้วิธีคิดแบบอำนาจนิยม หรือ top-down มากเกินไป    ยังไม่ได้ใช้ chaordic management ต่อการจัดการระบบการศึกษา     คือผู้แสดงบทบาทต่อการจัดระบบยังจำกัดอยู่ที่ผู้ใหญ่ หรือผู้มีตำแหน่งสูงในกระทรวงศึกษาธิการมากเกินไป    ยังไม่มีกลไกให้ครูคนเล็กคนน้อยที่ทำงานดี เอาใจใส่ศิษย์     และโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีส่วนในการจัดระบบของตนเองได้     กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบการศึกษาเป็นระบบที่ฝ่ายจัดการระดับสูงเน้นการใช้อำนาจสั่งการมากเกินไป    ใช้การจัดการแบบ emppwerment แบบ selective empowerment น้อยเกินไป
          วิธีจัดการระบบการศึกษาแบบ เคออร์ดิค เป็นเรื่องที่เขียนแยกเป็นอีกตอนหนึ่งต่างหากได้    และจริงๆ แล้ว ได้แตะไว้บ้างแล้วในตอนที่ ๔๑ และ ๔๓     

ระบบเศรษฐกิจแบบ เคออร์ดิค
          ระบบเศรษฐกิจไทยมีลักษณะเป็นระบบเปิด    เปิดออกสู่ระบบโลกที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนสูงมาก    คือมีความเป็น เคออร์ดิค สูงนั่นเอง    ดังนั้น การจัดการระบบเศรษฐกิจไทย จึงต้องจัดการให้เป็นระบบ เคออร์ดิค    คือมีการเรียนรู้และปรับตัวได้เองในทุกระดับ

ระบบวัฒนธรรมแบบ เคออร์ดิค
          ระบบวัฒนธรรมคือระบบแบบแผนการดำรงชีวิตร่วมกันของคนในสังคม    ไม่มีทางที่จะให้เป็นวัฒนธรรมที่เหมือนกันทุกประการได้ทั่วประเทศ     เพราะมีวิวัฒนาการมาจากต่างภูมิสังคม ต่างสภาพแวดล้อม    สังคมไทยปัจจุบันมีจุดแข็งด้านการยอมรับและเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม    และส่งเสริมให้แต่ละกลุ่มเหล่ามีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน   
          แต่สังคมไทยยังอ่อนด้อยต่อการจัดการวิวัฒนาการของระบบวัฒนธรรมในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์     ยังไม่รู้จักการจัดการแบบต่อยอดจากจุดแข็ง หรือความสำเร็จ ที่มีอยู่ในบางกลุ่ม บางชุมชนหรือพื้นที่     คือเรายังจัดการระบบวัฒนธรรมสมัยใหม่แบบใช้อำนาจราชการมากเกินไป    โดยที่พลังของภาคราชการก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะเข้าไปหนุนเสริมความเข้มแข็งของพลังวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดีพอ    สังคมไทยทั้งระบบจึงขาดโอกาสใช้พลังความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเจริญแบบพัฒนาอย่างยั่งยืน    และเกิดการเปิดจุดอ่อนให้มีการรุกรานทางวัฒนธรรมเข้ามาผ่านกระแสโลกาภิวัตน์

ระบบการสื่อสารสารสนเทศแบบ เคออร์ดิค  
          ระบบการสื่อสารสารสนเทศ เป็น “ยาดำ” ที่แทรกอยู่ในทุกระบบของสังคม    และเป็นระบบเปิดออกสู่โลกโลกาภิวัตน์อย่างยากแก่การควบคุม    ข้อดีของระบบสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ก็คือ   เทคโนโลยีช่วยอำนวยให้มีการสื่อสารได้หลายทาง     ช่วยให้ระบบสังคมแบบ เคออร์ดิค ดำเนินไปได้โดยสะดวก    แต่ติดขัดอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสารอีเล็กทรอนิกส์ในสังคมไทยยังไม่ทั่วถึง    และทักษะในการสื่อสาร ความมั่นใจในการสื่อสารความคิด ความเข้าใจ และความต้องการ ของตน ก็ยังแตกต่างกันมาก ในต่างกลุ่มชน

          ที่จริง สามารถกล่าวถึงข้อจำกัดของระบบอื่นๆ ในสังคมได้อย่างมากมาย     ที่เกิดขึ้นจากการจัดระบบภายใต้แนวคิดที่ล้าหลัง     คือแนวคิดเชิงอำนาจเดี่ยว (order)     และสามารถแก้ได้ด้วยการเติมแนวคิดเชิง อำนาจที่หลากหลาย ไร้ระเบียบ (chaos) เข้าไปผสมผสานอย่างกลมกลืนและเสริมพลัง    แต่ด้วยความจำกัดของสติปัญญาของผู้เขียน    และข้อจำกัดของหน้ากระดาษ    จึงขอยุติข้อเสนอแนวคิดสังคม เคออร์ดิค ไว้เพียงเท่านี้    เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านผู้รู้ ผู้สนใจ ได้นำไปคิดต่อ และทดลองใช้แนวคิดทำนองนี้    เพื่อหาทางสร้างสรรค์สังคมไทยยุคใหม่ต่อไป  

 



         

หมายเลขบันทึก: 251252เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2009 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท