ฮงผิง ยิว :อดีตคนต่างด้าวไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทย


สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของ  นางสาวฮงผิง ยิว

--------------------------------------------------------------------------------------------

  • นางสาวฮงผิง  ยิว เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๔ 
  • ปัจจุบัน อายุ ๑๖ ปี ๑๑ เดือน

------------------------------------------

 สถานที่เกิดของนางสาวฮงผิง ยิว

------------------------------------------

  • เกิดที่สถานพยาบาลนันอาและโพลีคลินิก เลขที่ ๓๒๓ ถ.ประชาธิปก แขวงสมเด็จฯ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

เอกสารที่รัฐไทยออกให้เพื่อรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของนางสาวฮงผิง ยิว

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

  • สูติบัตร (ท.ร.๓ ตอน ๑ เลขที่ ๐๓๘๕๑๒๑๙๕๖๒๓ )  ออกโดย ออกโดยสำนักทะเบียนเขตคลองสาน เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๔
  • ทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ โดยมีเลขรหัสประจำบ้าน ๑๐๒๑-๐๒๔๖xx-x และเลขประจำตัวประชาชน คือ ๗-๑๐๑๘-๐๐๐๑๑-xx-x

---------------------------------------

ภูมิลำเนาของนางสาวฮงผิง ยิว

---------------------------------------

  • เลขที่ ๓๘/๑๗๗ ซอยสุขสวัสดิ์ ๒ ถ.สุขสวัสดิ์ แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพ

--------------------------------------------------------------------------------------

 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดาและมารดาผู้ให้กำเนิด ของนางสาวฮงผิง ยิว

--------------------------------------------------------------------------------------

  • บิดา         ชื่อนายยัตฮง ยิว                สัญชาติ  จีน    (ปรากฎตามสูติบัตร (ท.ร.๓ ตอน ๑) )
  • มารดา    ชื่อนางลี่ผิง จัง                       สัญชาติ  จีน    (ปรากฎตามสูติบัตร (ท.ร.๓ ตอน ๑) )

---------------------------------------------------------------------

 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดาบุญธรรม ของนางสาวฮงผิง ยิว

---------------------------------------------------------------------

  • บิดาบุญธรรมมีชื่อปรากฎตามเอกสารราชการ คือ นายธนพนธ์ ชวแสงกุล  หรือชื่อเดิมคือ นาย กัวชุน ชัง
  • นายธนพนธ์เป็นบุตรของ นายโปเซาให่ กับนางเซียอี้เม่
  • เกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๘ ณ เมืองซิน จู๋ ประเทศไต้หวัน
  • ได้เดินทางจากประเทศไต้หวันเข้ามาในประเทศไทย เมื่อพ.ศ.๒๕๑๓ โดยเข้ามาอาศัยอยู่ที่เขตคลองเตย
  • จากนั้นนายธนพนธ์ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยได้รับอนุญาตให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่.......... โดยสำนักงานเขต.......... และมีเลขประจำตัวประชาชน คือ ...............................................
  • และได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย ปรากฎตามใบแทนหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่  ๑๖๒ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  • หลังจากได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้วนายธนพนธ์ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนใหม่ เป็น ๘-๑๐๓๕-๐๐๐๐๐-xx-x  และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทร.๑๔ มีเลขรหัสประจำบ้าน   ๑๐๒๑-๐๒๔๖xx-x
  • ปรากฎหลักฐานความเป็นบิดามารดาบุญธรรมตามคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง  คดีหมายเลขแดงที่ ๗๓/๒๕๔๓ และคดีหมายเลขแดงที่ ๓๒๖/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๓  อนุญาตให้นายธนพนธ์รับเด็กหญิงฮงผิงเป็นบุตรบุญธรรมได้ แทนบุพการีซึ่งหาตัวไม่พบ และปรากฎตามทะเบียนรับบุตรบุญธรรม  ของเด็กหญิงฮงผิง  ยิว  ออกให้เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ โดยสำนักทะเบียนเขตจอมทอง กรุงเทพ
  • ปัจจุบันนายธนพนธ์ ประกอบธุรกิจส่วนตัว

------------------------------------------------------------------------

 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมารดาบุญธรรม ของนางสาวฮงผิง ยิว

------------------------------------------------------------------------

  • มารดาบุญธรรมมีชื่อปรากฎตามเอกสารราชการ คือ นางสาธิมา หรือสุภนิดา ชวแสงกุล หรือชื่อเดิมคือ นางจัว เว่ย ซิ่ว เหยียน
  • เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ณ ประเทศไต้หวัน
  • ได้เดินทางจากประเทศไต้หวันเข้ามาในประเทศไทย เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๖ โดยเข้ามาอาศัยอยู่ที่เขตคลองเตย
  • จากนั้นนางสาธิมา ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยได้รับอนุญาตให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่.......... โดยสำนักงานเขต.......... และมีเลขประจำตัวประชาชน คือ ...............................................
  • และได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย ปรากฎตามใบแทนหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๑๔๐ง ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๐
  • หลังจากได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้วนางสุภนิดาได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนใหม่ เป็น ๘………………………..  และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทร.๑๔ มีเลขรหัสประจำบ้าน ๑๐๒๑-๐๒๔๖xx-x
  • ปรากฎหลักฐานความเป็นบิดามารดาบุญธรรมตามคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบคัรวกลาง  คดีหมายเลขแดงที่ ๗๓/๒๕๔๓ และคดีหมายเลขแดงที่ ๓๒๖/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๓  อนุญาตให้นายธนพนธ์รับเด็กหญิงฮงผิงเป็นบุตรบุญธรรมได้ แทนบุพการีซึ่งหาตัวไม่พบ และปรากฎตามทะเบียนรับบุตรบุญธรรม  ของเด็กหญิงฮงผิง  ยิว  ออกให้เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ โดยสำนักทะเบียนเขตจอมทอง กรุงเทพ

·         ปัจจุบันนางสาธิมา ประกอบอาชีพแม่บ้าน

----------------------------------------

การศึกษาของนางสาวฮงผิง ยิว

----------------------------------------

  • ศึกษาชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ ๔ ณ โรงเรียนสมรรถภาพวิทยา
  • จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖  จากโรงเรียนสารสาสน์สุขสวัสดิ์
  • จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  จากโรงเรียนโกศลภัทรวิทย์ หรือโรงเรียนภัทรภักดี
  • ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นมัธยมปลาย ณ โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม

-----------------------------------------------------------------

สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของนางสาวฮงผิง ยิว

-----------------------------------------------------------------

  • เมื่อเกิด ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๔ นางสาวฮงผิง ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักบุคคล(สายโลหิต) เนื่องจากบิดามารดาเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และ ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตามมาตรา ๗ (๓) แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เพราะตกอยู่ภายใต้ข้อ ๒ แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕   เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  และได้รับสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย
  • นอกจากนั้น ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ นางสาวฮงผิง ยังตกอยู่ภายใต้มาตรา  ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ อันทำให้ นางสาวฮงผิง ถูกถือเป็น ผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วนางสาวฮงผิงเกิดในประเทศไทย  
  • แต่นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นมา นางสาวฮงผิง ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เนื่องจากนางสาวฮงผิง เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๓ กล่าวคือ (๑) เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗  (๒) มีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย และ (๓) มีความประพฤติดี 

 

-----------------------------------------------------------------

เหตุใดนางสาวฮงผิง ยิว  จึงกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ?

-----------------------------------------------------------------

  • จากข้อเท็จจริง จะเห็นว่า นางสาวฮงผิง อาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับ ๓ ประเทศ คือ ประเทศจีน ประเทศไต้หวัน และประเทศไทย
  • ประเทศจีน ย่อมมีความสัมพันธ์กับบิดามารดา ของนางสาวฮงผิง เนื่องจากบุคคลดังกล่าวถูกเชื่อว่ามีสัญชาติจีนตามหลักฐานการรับแจ้งเกิดของนางสาวฮงผิง แต่ในปัจจุบัน ประเทศจีนก็ขาดความสัมพันธ์กับ นางสาวฮงผิง จนไม่อาจพิสูจน์ตนได้ว่า ตนสืบเชื้อสายมาจากคนสัญชาติจีนจากรัฐจีน ดังนั้นนางสาวฮงผิง จึงไม่อาจได้รับการรับรองจากประเทศจีนในฐานะคนสัญชาติจีน
  • ประเทศไต้หวัน ย่อมมีความสัมพันธ์กับบิดามารดาบุญธรรม ของนางสาวฮงผิง เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีสัญชาติไต้หวันตามหลักฐานการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และตามหลักฐานการขอแปลงสัญชาติ อย่างไรก็ดีแม้นางสาวฮงผิงจะขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของบิดาบุญธรรมประเทศไต้หวัน แต่การขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไต้หวันและการร้องขอสัญชาติไต้หวันก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต เนื่องจากนางสาวฮงผิง อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยมาโดยตลอด
  • ประเทศไทย ย่อมมีความสัมพันธ์กับนางสาวฮงผิง อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากนางสาวฮงผิงเกิด เติบโต และเรียนหนังสือในประเทศไทยมาโดยตลอด นับเป็นระยะเวลากว่า ๑๖ ปี และเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวคนสัญชาติไทย นอกจากนี้ การที่รัฐไทยบันทึกชื่อของนางสาวฮงผิง ในทะเบียนบ้าน ทร.๑๓ ในสถานะ คนต่างด้าว ย่อมมีผลขจัดความไร้รัฐให้แก่นางสาวฮงผิง ดังนั้น นางสาวฮงผิงจึงมีรัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล
  • อย่างไรก็ดี ปรากฏว่านางสาวฮงผิง ยังไม่อาจได้สัญชาติไทย ก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ แม้เกิดในประเทศไทย ดังนั้น นางสาวฮงผิง ยิว จึงตกเป็น อดีตคนไร้สัญชาติ โดยข้อกฎหมาย เพราะไม่มีรัฐใดเลยบนโลกยอมรับนางสาวฮงผิง ยิว ในสถานะ คนชาติ

-----------------------------------------------------------------

 แนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาให้แก่นางสาวฮงผิง ยิว

-----------------------------------------------------------------

·         เนื่องจากนางสาวฮงผิง ยิว ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ อันเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้เป็นต้นมา นางสาวฮงผิง ยิว จึงไม่มีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติอีกต่อไป

·         และโดยมาตรา ๒๓ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑   นางสาวฮงผิง ยิว ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรนับแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ กล่าวคือ ๙๐ วันนับแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ในราชกิจจานุเบกษา

·         และโดยมาตรา ๒๓ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ นี้ นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่รับคำขอจึงต้องทำหน้าที่เพิ่มชื่อนางสาวฮงผิง ยิว ในสถานะ คนสัญชาติไทย ในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔)

·         ทั้งนี้ วิธีการที่นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่รับคำขอจะต้องปฏิบัติในการลงรายการสัญชาติไทยให้แก่นางสาวฮงผิง ยิว ย่อมจะต้องเป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ ๐๓๐๙.๑/ว๑๕๘๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑  และหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ ๐๓๐๙.๑/ว๙๔๘๙ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑เรื่องการขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ จะเห็นว่า โดยตารางแนบท้ายหนังสือสั่งการที่ ๐๓๐๙.๑/ว๑๕๘๗ นางสาวฮงผิง ยิว ย่อมมีสถานะเป็น บุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ กลุ่มที่ ๒  อันทำให้มีสถานะเป็นบุคคลเป้าหมายของมาตรา ๒๓  แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑  

·         และในแง่คุณสมบัติของความเป็นคนที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย จะเห็นว่า นางสาวฮงผิง ยิว คือ กรณีศึกษาต้นแบบของความเป็น คนไร้รากเหง้า ที่ใช้อธิบายในสังคมไทย[i] และเป็นกรณีศึกษาต้นแบบ ของแนวคิดการให้สิทธิอาศัยและสัญชาติไทย แก่เด็กไร้รากเหง้าที่อยู่ในอุปการะของครอบครัวคนสัญชาติไทย[ii] ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (ตามมติครม.เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พศ.๒๕๔๘) และ มาตรา ๑๒/๑ ของพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ภายใต้ผลการศึกษาของโครงการวิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศ ไทย  : แนวคิดและมาตรการในการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และโครงการเวทีรับฟังข้อเสนอแนะของภาคประชาชนและภาควิชาการในการจัดการปัญหาความไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  (๑๐ กันยายน   ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐)  โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ[iii]

หมายเลขบันทึก: 251031เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2009 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท