องค์กร เคออร์ดิค ตอนที่ ๔๓ ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร


 

สกว. กับความเป็นองค์กรเคออร์ดิค (๔๓)
องค์กรเคออร์ดิค กับผู้บริหารสูงสุดขององค์กร   

ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
www.kmi.or.th
http://gotoknow.org/blog/thaikm

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่ http://rescom.trf.or.th


          ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเคออร์ดิคต้องใช้หลักการและวิธีการบริหารงานที่แตกต่างจากที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน    กล่าวคือ ต้องใช้วิธีการควบคุมและสั่งการให้น้อยที่สุด    เปิดโอกาส หรือส่งเสริมให้มีการริเริ่มสร้างสรรค์กิจการงานได้ในทุกระดับของผู้ปฏิบัติงาน    ซึ่งหมายความว่าผู้ปฏิบัติงานทุกระดับถือว่าเป็น “ผู้ร่วมปฏิบัติงาน” (Participants)    ซึ่งจะต้องเข้าใจ ๖ องค์ประกอบ ของ การจัดการแบบ เคออร์ดิค  คือ  Purpose, Principles, Participants, Organizational Concept, Constitution และ Practices    และผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ก็ต้องมีความเข้าใจหลักการ และมีทักษะในการใช้ ๖ องค์ประกอบของ การจัดการแบบ เคออร์ดิค  ให้ “เกิดพลังเคออร์ดิค”    ที่ไม่มีอยู่ในองค์กรที่เน้นระเบียบ 

          ผู้บริหารองค์กรเคออร์ดิค ทำหน้าที่บริหารองค์กร ตาม ๖ องค์ประกอบข้างบน    กล่าวคือ

จัดการปณิธานความมุ่งมั่น
          ปณิธานความมุ่งมั่น (Purpose) ขององค์กรเคออร์ดิค เป็นสิ่งที่ ผู้ร่วมปฏิบัติงาน ทุกคน ร่วมกันกำหนด ที่เรียกว่า มีปณิธานความมุ่งมั่นร่วมกัน (Common Purpose)     การมีความมุ่งมั่นร่วมกัน และทุกคน เป็นเจ้าของความมุ่งมั่นนั้น จะทำให้เกิดพลังร่วม    เกิดการปฏิบัติงานอย่างมีพลังเสริมซึ่งกันและกัน (synergy)
          หน้าที่ของผู้บริหารสูงสุด คือ “ส่งเสริมให้มีการจัดการปณิธานความมุ่งมั่นในชีวิตการทำงานประจำวันของผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคน โดยผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคน”    มีการนำเอาขั้นตอนการทำงาน ประสบการณ์การทำงาน ผลสำเร็จของการทำงาน และข้อท้าทายของงาน เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน    โดยโจทย์ หรือคำถาม ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหนึ่งคือ สิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าต่อการบรรลุเป้าหมายตามปณิธานความมุ่งมั่นร่วมกันอย่างไร     เท่ากับ มีการจัดการปณิธานความมุ่งมั่นโดยทุกคน และในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน     สภาพเช่นนี้จะบ่มเพาะนิสัยและทักษะด้านการเรียนรู้เป็นทีม (Team Learning)     และสร้างความรู้และทักษะด้านต่างๆ ที่เรียกว่าเกิด Personal Mastery ขึ้นในผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคนขององค์กร     รวมทั้งช่วยให้ผู้ร่วมปฏิบัติงานรู้จักตนเอง และรู้จักเพื่อนร่วมงานดีขึ้น ในระดับของความเข้าใจ Mental Models ที่แตกต่างหลากหลาย 
          การจัดการปณิธานความมุ่งมั่นโดยสมาชิกผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคน จะทำให้ทุกคนมีการคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking) เกิดขึ้นและพัฒนายิ่งขึ้นโดยอัตโนมัติ     คือทุกคนจะไม่เพียงเข้าใจงานในส่วนของตนเอง  แต่จะเข้าใจงานในภาพรวมขององค์กร    และเข้าใจงานของเพื่อนร่วมงาน ร่วมองค์กร ด้วย
          การจัดการปณิธานความมุ่งมั่นโดยสมาชิกผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคน จะทำให้สมาชิกผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนเป็นเจ้าของทั้งงานในส่วนที่ตนปฏิบัติ และงานในภาพรวมของทั้งองค์กร     ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

จัดการหลักการสำคัญในการปฏิบัติงาน (Core Principles)
          หลักการหรือหลักชี้นำ (Guiding Principle) ของ องค์กรเคออร์ดิค  คือการดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการ     ใช้ SST – Success Story Technique (ดูหนังสือ “ผู้บริหาร องค์กรอัจฉริยะ ฉบับนักปฏิบัติ” โดยวิจารณ์ พานิช)     ใช้มาตรวัดความสำเร็จตาม “ความสามารถหลัก” (Core Competence) ที่ผู้ร่วมปฏิบัติงานช่วยกันกำหนดเองตามแนว “ตารางแห่งอิสรภาพ” ในหนังสือ “การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ” โดยวิจารณ์ พานิช หน้า ๑๔๘-๑๕๕    โดยผู้ร่วมปฏิบัติงานที่มีผลงานน่าชื่นชมใน core competence เพียงตัวเดียวก็เข้า เกณฑ์ได้รับเชิญมาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้     แต่ถ้ามีผลงานที่ตีความได้ว่าเก่งในหลาย competency ก็ยิ่งดี    เน้นการหา “ผู้มีทักษะพิเศษ” ในการลงมือปฏิบัติงาน เพื่อนำมาขับเคลื่อนการเรียนรู้วิธีการทำงาน     หมุนเป็นวงจรหรือวัฏฏจักรที่ไม่มีสิ้นสุด 
          ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเคออร์ดิคใช้ SST เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามปณิธานความมุ่งมั่นที่ได้ร่วมกันกำหนด 

จัดการผู้ร่วมปฏิบัติงาน (Participants)
          ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรองค์กรเคออร์ดิค จัดการส่งเสริมให้ผู้ร่วมปฏิบัติงานได้ร่วมเป็นเจ้าของ ปณิธานความมุ่งมั่นร่วม (Shared Purpose) ขององค์กร     ได้เป็นผู้ร่วมกำหนดหลักชี้นำการปฏิบัติงาน (Core Principles) ขององค์กร    และได้ใช้ความรู้ความสามารถพิเศษของแต่ละคนในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น    ให้ผู้ร่วมปฏิบัติงานทั้งเชื่อมั่นตนเอง และเคารพความสามารถของผู้อื่น ในการริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อบรรลุเป้าหมายปณิธานตามความมุ่งมั่นที่กำหนด   
          จะเห็นว่า “พนักงาน” (personnel) ขององค์กรโดยทั่วไป     กลายเป็น “ผู้ร่วมปฏิบัติงาน” (participant) ในองค์กรเคออร์ดิค    ให้ความหมายในด้านการให้ความเคารพ ความยกย่อง ความเท่าเทียม    ให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถ และความสร้างสรรค์ ในการปฏิบัติหน้าที่ในองค์กร     ผู้บริหารสูงสุด กลายเป็นผู้ร่วมปฏิบัติงานคนหนึ่ง     ไม่ใช่ “ผู้บังคับบัญชา” อย่างในองค์กรทั่วไป
          ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเคออร์ดิค จัดการให้ความแตกต่างหลากหลายของผู้ร่วมปฏิบัติงาน เป็นพลัง หรือความเข้มแข็ง     ไม่ใช่เป็นความอ่อนแอ
          ในองค์กรเคออร์ดิค ที่มีผู้บริหารที่มีความสามารถ “ผู้ร่วมปฏิบัติงาน” (Participants) อาจรวมไปถึงผู้ไม่ได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากองค์กร    เพราะองค์กรจะมีความสามารถในการดูดซับเอาความรู้จากภายนอก จากบุคคลภายนอกองค์กร เข้ามาขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามปณิธานความมุ่งมั่นขององค์กร    

จัดการวิธีจัดรูปแบบองค์กร (Organization Concept)
          องค์กรเคออร์ดิค จัดรูปแบบองค์กรแบบที่มีทั้ง “มีรูปแบบ” และ “ไร้รูปแบบ” อยู่ด้วยกัน     คือใช้ทั้งพลังของ chaos  และพลังของ order    หรืออาจกล่าวว่า มีทั้งการจัดรูปแบบองค์กรแบบโครงสร้างปิระมิด (ควบคุมสั่งการ หรือ top-down)     และจัดองค์กรแบบโครงสร้างเครือข่าย (เน้นความสันพันธ์แนวราบ หรือ bottom-up)     อยู่ด้วยกันเป็นเนื้อเดียวกัน
          ผู้ร่วมปฏิบัติงานแต่ละคนสังกัดอยู่ทั้งในโครงสร้างอย่างเป็นทางการ (หน่วยงาน) และสังกัดอยู่ในเครือข่ายความร่วมมือ (network) ในเวลาเดียวกัน    การที่ผู้ร่วมปฏิบัติงานแต่ละคนสังกัดอยู่ในทั้ง ๒ โครงสร้างในเวลาเดียวกันนี้ ทำให้เกิดพลังเสริมแรง (synergy) อย่างมหาศาล
          ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรองค์กรเคออร์ดิค ทำหน้าที่ส่งเสริมความเข้มแข็งหรือพลังขององค์กรทวิลักษณ์นี้โดยใช้เครื่องมือ SST

จัดการกฎเกณฑ์กติกา (Constitution)
          ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรองค์กรเคออร์ดิค ทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีการร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์กติกาขององค์กร     เพื่อให้กติกานั้นเป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายตามปณิธานความมุ่งมั่นที่ได้กำหนดร่วมกัน    กติกานั้นๆ เปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป     ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องยึดมั่นถือมั่นอย่างถาวร
          เครื่องมือ SST จะช่วยบอกสมาชิกผู้ร่วมปฏิบัติงาน ว่ากฎเกณฑ์กติกาส่วนใดที่ควรต้องยึดเหนี่ยวไว้เป็นกติกาเพื่อการดำรงอยู่ร่วมกัน    และเพื่อการทำหน้าที่ขององค์กรตามปณิธานความมุ่งมั่นที่ร่วมกันกำหนดไว้    ส่วนใดที่ควรมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

จัดการการปฏิบัติงาน หรือการทำธุรกรรม (Practices)
          ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรองค์กรเคออร์ดิค ทำหน้าที่ส่งเสริมการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายตามปณิธานความมุ่งมั่นที่ร่วมกันกำหนด    โดยที่การปฏิบัติงานของทีมงานภายในองค์กร มีการเสริมแรง (synergy) กัน    และมีการร่วมมือกันข้ามสายงานหรือข้ามทีม    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และการพัฒนางานที่ไม่สามารถพัฒนาโดยทีมงานเดียว หรือสายงานเดียว โดดๆ ได้
          การปฏิบัติงานตามปณิธานความมุ่งมั่นขององค์กร    มีคู่แข่ง มีพันธมิตร และมีทั้งสภาพราบรื่นและสภาพลุ่มๆ ดอนๆ  หรือบางครั้งต้องเผชิญมรสุม หรือวิกฤติ รุนแรง     ถือเป็นธรรมชาติ หรือเป็นปรกติธรรมดา      ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเคออร์ดิค จะจัดการส่งเสริมให้สมาชิกผู้ร่วมปฏิบัติงานได้ฝึกฝนเรียนรู้การเผชิญความยากลำบากอยู่ในกระบวนการทำงานในชีวิตประจำวัน    ซึ่งในภาษาด้านการจัดการเรียกว่า Risk Management  
          องค์กรเคออร์ดิค มีการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) อยู่ในเบื้องลึก หรือในความเชื่อขององค์กร    ดังชื่อ Chaordic = Chaos + Order

ผู้บริหารสูงสุดนักเติมเชื้อเพลิงแห่งการริเริมสร้างสรรค์
          องค์กรเคออร์ดิค เป็นองค์กรแห่งการริเริ่มสร้างสรรค์     ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรองค์กรเคออร์ดิค จึงต้องมีทักษะในการเติมเชื้อเพลิงแห่งการริเริ่มสร้างสรรค์     ในผู้ร่วมปฏิบัติงานระดับหน้างาน การนำเอาความสำเร็จเล็กๆ มาตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยเทคนิคจัดการความรู้ เป็นการเติมเชื้อเพลิงแห่งการสร้างสรรค์ที่ดี    โดยเน้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ปฏิบัติ
          แต่ยังต้องมีการเติมเชื้อเพลิงแห่งการริเริ่มสร้างสรรค์    ที่ผู้บริหารแสดงบทบาทสำคัญ    เน้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้เชิงทฤษฎี    โดยผู้บริหารนำเอาความรู้เชิงทฤษฎีเข้าไปร่วมตีความความสำเร็จเล็กๆ (หรือใหญ่) ที่เกิดขึ้น    โดยใช้เครื่องมือ AI – Appreciative Inquiry ร่วมด้วย    รายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ “ผู้บริหาร องค์กรเรียนรู้ ฉบับนักปฏิบัติ”  โดย วิจารณ์ พานิช, ๒๕๕๐  บทที่ ๑๐  หน้า ๑๘๙ – ๑๙๕    เคล็ดลับที่สำคัญคือ ผู้บริหารต้องเอาความรู้เชิงทฤษฎีเข้าไปในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่ครอบงำความรู้ปฏิบัติ    แต่เน้นเข้าไปเสริมหรือขยายความความรู้ปฏิบัติ     ให้ความรู้ปฏิบัติลึกซึ้งขึ้น และเชื่อมโยงแตกฉานยิ่งขึ้น

 

 

หลักสำคัญที่สุดของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรองค์กรเคออร์ดิค คือ “การนำจากข้างหลัง”


 



                   
         

หมายเลขบันทึก: 251012เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2009 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท