เทียนขาว
นาง เพ็ญทิวา เพ็ญทิวา สารบุตร

โครงการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม 2552


โครงการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม

โครงการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม  ปีงบประมาณ 2552

ตำบลโคกเพชร  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

***************

 1. หลักการและเหตุผล

        สุขภาพดีไม่มีขาย  ถ้าอยากได้ต้องทำเอง  เชื่อแน่ว่าประโยคทองของการรณรงค์ส่งเสริมการออกกำลังกายประโยคนี้ย่อมไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยิน  เพียงแต่จะได้นำเอาไปปฏิบัติหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่แล้วแต่พฤติกรรมส่วนบุคคล การส่งเสริมสุขภาพหรือ  Health promotion  เป็นกระบวนการที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพที่มีความเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายมนุษย์  

        นโยบาย  6 อ. เพื่อสุขภาพที่ดี   แนวทาง 6 อ. ได้แก่ ออกกำลังกาย  อาหารปลอดภัย  อารมณ์แจ่มใส อนามัยสิ่งแวดล้อม  อโรคยา  และลด ละ เลิก อบายมุข  ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้
     1. ออกกำลังกาย   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสว่า " การออกกำลังกายนั้นทำน้อยเกินไปร่างกายและจิตใจก็จะเฉาและทำมากเกินไปร่างกายและจิตใจก็จะช้ำ" 
     2. อาหารปลอดภัย  การปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารที่มีคุณค่า  เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละวันให้ครบ 5 หมู่  รับประทานอาหารที่ปรุงสุก  สะอาด ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน และการบริโภคอาหารให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม เพียงพอกับความต้องการในแต่ละวัยเพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์  ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในหัวข้อโภชนาการต่อไป
     3. อารมณ์แจ่มใส  การปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจัดการกับอารมณ์  การผ่อนคลายความเครียด  การจัดการกับอารมณ์เป็นสิ่งที่ต้องมีความตั้งใจด้วยตัวเราเองว่าจะปรับการแสดงออกทางอารมณ์ของตนเองไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งอาศัยการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ 
     4. อนามัยสิ่งแวดล้อม  หมายถึง การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งด้ายกายภาพ  เศรษฐกิจ  สังคม ให้เหมาะสมต่อการดูแลสุขภาพ  การรักษาความสะอาดสถานที่ต่างๆ ลำน้ำ คู คลอง   การกำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกสุขลักษณะ  การหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช   การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เป็นพาหะนำโรค  การใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่าย เป็นต้น
     5. อโรคยา  หมายถึง การไม่มีโรค  การปฏิบัติตนเพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ทั้งโรคติดเชื้อและโรคไร้เชื้อ  สามารถทำได้จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค  เช่น  เชื้อโรคต่างๆ โดยได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อบางชนิด   หลีกเลี่ยงการสัมผัส  หรือหายใจ หรือการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน  การตรวจสุขภาพประจำปี  การมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม  การแสวงหาความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพใหม่ๆ เสมอ ทั้งนี้ในการรับข้อมูลข่าวสารจะต้องพิจารณาถึงความถูกต้องน่าเชื่อถือ  อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่เป็นเท็จเกินความเป็นจริง  การเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง  เป็นต้น

     6. อบายมุข  หมายถึง  หนทางที่นำไปสู่ความเสื่อมเสีย เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียทรัพย์  ตามหลักพระพุทธศาสนา  อบายมุข 6   ประกอบด้วย  การดื่มน้ำเมา  การเที่ยวการคืน  การดูการละเล่น  การเล่นการพนัน  การคบคนชั่วเป็นมิตรและการเกียจคร้านการทำงาน  การเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ  มากมายในการดำเนินชีวิต  สุขภาพไม่ดี ขาดความสุข  เช่น  การดื่มน้ำเมาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคโรคมะเร็งตับ  โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  การขาดการพักผ่อน ร่างกายอ่อนเพลีย  เกิดอุบัติเหตุ  เป็นต้น  รวมถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและปัญหาสังคมด้วย  

           องค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขตำบลโคกเพชรและสถานีอนามัยบ้านโคกเพชร  เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพของประชาชนในตำบลโคกเพชรทุกคน  เพื่อให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย คนสามวัยได้แก่  เด็ก  เยาวชน   และประชากรวัยทำงาน  ที่มีเวลาว่างในการออกกำลังกายน้อยและมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่เรียกว่า "ภัยเงียบ"   ในอัตราที่สูงขึ้น  จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม  ประจำปีงบประมาณ  2552  เพื่อส่งเสริมสุขภาพและกระตุ้นให้ประชาชนในตำบลโคกเพชร  หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว อย่างจริงจัง  ลดอัตราการป่วยที่เกิดจากภัยเงียบ  ได้อย่างถาวร  มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง   และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

  2. วัตถุประสงค์โครงการ

2.1   เพื่อสนับสนุนโครงการ ทู บี นัมเบอร์ วัน  เป็นหนึ่งได้โดยไม่พึ่งยาเสพติด ซึ่งมี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นองค์ประธานโครงการ

2.2   เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายในประชาชนทุกกลุ่มอายุ

2.3   เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการดูแลสุขภาพของตนเอง  ตามนโยบาย 6 อ. ได้แก่  ออกกำลังกาย

2.4   เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีการรวมพลังสร้างความสามัคคีในชุมชน 

2.5   เพื่อสร้างแกนนำสุขภาพในชุมชนที่มีความเข้มแข้งทุกกลุ่มวัย  มีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์แข็งแรง

2.6   เพื่อลดอัตราการเกิดโรคภัยเงียบที่มาจากวิถีชีวิต  ได้แก่ โรคเบาหวาน  ความดัน  โรคมะเร็ง  หัวใจ  หลอดเลือดสมอง  และโรคอ้วน

2.7  เพื่อลดระดับไขมันในร่างกายของกลุ่มประชาชนที่มีภาวะอ้วนและเสี่ยงโรคอ้วนในตำบลโคกเพชร

 3.  เป้าหมาย

                3.1  กลุ่มพ่อบ้านในตำบลโคกเพชร                  จำนวน              11              คน

                3.2  กลุ่มแม่บ้านในตำบลโคกเพชร                   จำนวน              11           หมู่บ้าน

                3.3  กลุ่มเยาวชนในตำบลโคกเพชร                   จำนวน              11             หมู่บ้าน

                3.4  นักเรียนในตำบลโคกเพชร                          จำนวน              6          โรงเรียน

    4.  กรอบแนวคิดในการดำเนินงาน  กลวิธีกิจกรรมและการประเมินผลโครงการ

 

1. ผู้รับผิดชอบงาน อบต.โคกเพชร ประสานงานกับสถานีอนามัยบ้านโคกเพชร  เขียนโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (31 มค.52)

2.  นำโครงการเสนอต่อผู้บริหารและเสนอต่อ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกเพชร  (20 กพ.52)

3.  โครงการผ่านการอนุมัติ

 

4. ประชุมสร้างความเข้าใจและแสวงหาความร่วมมือ (workshop)  แก่ผู้รับผิดชอบโครงการในระดับโรงเรียน  ระดับหมู่บ้าน/ประชาชน/เยาวชน ทุกหมู่บ้าน  เพื่อวางแนวทางการทำงานร่วมกันในระดับตำบล ( เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านโคกเพชร  แกนนำ อสม.               ครูอนามัยโรงเรียนทุกแห่ง )  (10 ก.พ.52) 

 

5. จัดส่งแผนงานโครงการ  กำหนดการแข่งขัน  หลักเกณฑ์การให้คะแนน  ให้ผู้รับผิดชอบงานในระดับโรงเรียน  ระดับชุมชน  และส่งใบตอบรับการเข้าร่วมการแข่งขัน ให้แก่หน่วยงานผู้จัด  ได้แก่สถานีอนามัยบ้านโคกเพชร  ( 20 ก.พ.52)

 

6. ทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน  ต้องดำเนินการเตรียมทีม/ฝึกซ้อม/คัดเลือกนักร้อง  ผู้เข้าร่วมทีม  จำนวน 12 คนต่อทีม  (ไม่จำเป็นต้องรวมนักร้อง)  ขึ้นอยู่กับกระบวนการที่แต่ละทีมจะนำเสนอ ตามแนวคิด  " ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย  ร้องเพลงลูกทุ่งไทย  แต่งกายแบบไทย  ไม่นุ่งสั้น  "  เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน  อย่างน้อย 1 หมู่บ้านต่อ 1 ประเภท ( ก.พ.52-มี.ค.52)  ดำเนินการแข่งขัน (13 มี.ค.52) ที่ หอประชุม อบต.โคกเพชร

 

7. ประเมินผลก่อนการเข้าร่วมโครงการ ประเมินหลังดำเนินโครงการ  (สร้างแบบประเมินเพื่อประเมินดัชนีความสุขผู้เข้าร่วมโครงการ)  จำนวน 2 ครั้ง  ก่อนดำเนินการ  และหลังดำเนินการ  เพื่อประมวลผล  สรุปโครงการและขยายผลเพื่อการเผยแพร่ 

8. สรุปโครงการ  เผยแพร่กระบวนการ  และถอดองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนที่มีการดำเนินการในรูปแบบที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกัน   ( 1 ธ.ค.52) 

  

  • 5. ระยะเวลาในการดำเนินงาน

5.1  ดำเนินการปีงบประมาณ 2552  ตุลาคม 2551 -  กันยายน 2552  (รวม  12 เดือน)

5.2  ดำเนินการแข่งขัน วันที่     13  มีนาคม 2552  ที่  หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโคกเพชร

      อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

  • 6. งบประมาณ
  • 6.1 ประชุมแสวงหาความร่วมมือผู้รับผิดชอบโครงการ workshop

 ค่าอาหารกลางวันผู้เข้าอบรม  จำนวน  150  คน                       เป็นเงิน   7,500    บาท

 ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มผู้เข้าอบรม  จำนวน  150  คน            เป็นเงิน   7,500    บาท

 ค่าวิทยากร  จำนวน 2 ท่านๆละ 3 ชม.ๆ 300 บาท                      เป็นเงิน   1,800    บาท

ค่าจ้างเหมาะเครื่องเสียงในการอบรม                                        จำนวน    2,000    บาท

                                                                       รวม          18,800                    บาท

6.2   ค่าเงินรางวัล

รางวัลชนะเลิศ                                                                    เป็นเงิน    2,000     บาท

รองชนะเลิศอันดับ 1                                                             เป็นเงิน   1,800     บาท

รองชนะเลิศอันดับ 2                                                              เป็นเงิน  1,500     บาท

รางวัลชมเชย ทีมละ            500 บาท X 5  ทีม                           เป็นเงิน  2,500     บาท

                                                                                                รวม                                        7,800                   บาท

6.3   ค่าจ้างเหมาเครื่องเสียง            

จำนวน  1 เครื่อง                                                                    เป็นเงิน    2,000   บาท

รวม                                        2,000                      บาท

6.4  ค่ากรรมการตัดสิน     

กรรมการจากภาคประชาชน  จำนวน  12  คนๆละ 400 บาท               เป็นเงิน    4,800    บาท

กรรมการจากภาคประชาชน  จำนวน  2 คนๆละ    600 บาท                เป็นเงิน   1,200    บาท

รวม                                        6,000                      บาท

6.5  ค่าเครื่องดื่มรณรงค์ส่งเสริมการออกกำลังกาย

ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มผู้ร่วมรณรงค์   จำนวน  540  คนๆละ 10 บาท  เป็นเงิน   5,400   บาท

รวม                                        5,400                      บาท

รวมทั้งสิ้น   40,000   บาท  (สี่หมื่นบาทถ้วน)

7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • 7.1  เป็นการพัฒนาทักษะในการดำเนินชีวิตของประชาชน  เสริมสร้างความสุขในครอบครัวและการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • 7.2  เป็นการเฝ้าระวังและป้องกันโรคซึมเศร้าและป้องกันการฆ่าตัวตาย
  • 7.3  เป็นการส่งเสริมความเป็นมิตรและให้โอกาส รวมถึงการลดอคติท่มีต่อผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน
  • 7.4  ประชาชนในตำบลโคกเพชรมีสุขภาพกายที่แข็งแรง ลดอัตราการป่วยด้วยโรคภัยเงียบ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง หลอดเลือดสมอง และโรคอ้วน
  • 7.5 ประชาชนมีความรู้ และใช้นโยบาย 6 อ.ในการดำเนินชีวิต
  • 7.6 เยาวชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพตนเองและเพื่อนๆ ให้ห่างไกลจากยาเสพติด เป็นที่หนึ่งได้โดยไม่พึ่งยาเสพติด ตามโครงการ ทู บี นัมเบอร์ วัน
  • 7.7 ลดอัตราไขมันเกินในประชาชนที่มีรอบเอวเกิน ได้แก่ กลุ่มสตรีที่มีรอบเอวเกิน 80 ซม. ต้องมีรอบเอวลดลง ประชาชนชายที่มีรอบเอวเกิน 90 ซม.ต้องมีรอบเอวลดลง
  • 7.8 ประชาชนมีความสุขมากขึ้น วัดจากการประเมินดัชนีความสุขของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ

 

  • 8. ผู้รับผิดชอบโครงการ

 

 

ลงชื่อ.......................................................ผู้เสนอโครงการ

                   (นางนิลยา  ชวดพงษ์)

ประธาน ชมรม อาสาสมัครสาธารณสุขตำบลโคกเพชร

 

ลงชื่อ ........................................................ผู้เขียนโครงการ

                      (นางเพ็ญทิวา  สารบุตร)

                 นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

 

 

                                                                                                                                                                                                                                                                               

 

 

ลงชื่อ ........................................................ผู้เห็นชอบโครงการ

                      (นางลมเย็น  ศรีผุย)

                 หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านโคกเพชร

 

 

 

 

 

                               

ลงชื่อ ........................................................ผู้เห็นชอบโครงการ

                      (นางสาวลัดดา  ดวงธนู)

                              นักพัฒนาชุมชน 3

 

 

 

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                               

ลงชื่อ ........................................................ผู้อนุมัติโครงการ

                      (นายสุรศักดิ์   สายแก้ว )

                นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกเพชร

 

                       มีการรณรงค์ให้มีการออกกำลังกายในชุมชนตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน  ประมาณ 3 เดือน (ธ.ค.51-มี.ค.52)  ประกอบด้วยการฝึกร้องเพลง  การเต้นรำ  ของกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษา  กลุ่มเยาวชน  กลุ่มประชาชนทั่วไป ทุกหมู่บ้าน  บรรยากาศของทุกพื้นที่จะมีความคึกคักสนุกสนาน  และรอยยิ้มไฟจะไม่ดับก่อน 4 ทุ่ม  สร้างความสามัคคีและผ่อนคลายความเครียดหลังการทำงานได้เป็นอย่างดี  ผู้สูงอายุนอกจากจะเป็นผู้ชมแล้วยังร่วมสนุกได้ด้วย   

               โคกเพชรแดนเซอร์ไซต์คอนเทสต์ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 50-52 ก่อนหน้านั้น เราดำเนินการเต้นแอโรบิกส์มาก่อนในปี 47-49 ทุกๆครั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบต.โคกเพชรมาโดยตลอด  รู้สึกซึ้งในน้ำใจมาเสมอ  แต่พวกเราก็ทำงานทุกครั้งอย่างเต็มที่  มาปี 2552 นี้  แนวคิดของเราคือ  "ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย  ร้องเพลงลูกทุ่งไทย  แต่งกายแบบไทย  ไม่นุ่งสั้น"  มีทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน 15 ทีม  แบ่งเป็น ประเภทนักเรียน 5 โรงเรียน  (รร.บ้านโคกเพชร  รร.บ้านเปียมตะลวก  รร.บ้านภูมิศาลา  รร.บ้านเสลาสุขเกษม  และ รร.บ้านโนนสำราญ ) ประเภทเยาวชน 3 ทีม (บ้านภูมิศาลา  บ้านตาปาง  และบ้านเสลา) ประเภทประชาชน 7 ทีม ( บ้านโคกเพชร  บ้านเปียมตะลวก บ้านภูมิศาลา บ้านระกา  บ้านเสลา บ้านโนนสำราญ  และบ้านตาองค์)

           ภาพหมู่ของนักเรียนและคณะครูโรงเรียนบ้านโคกเพชร มาแข่งขันในบทเพลง ดอกนีออนบานค่ำ ของนักร้องที่ชื่อตั๊กแตน ชลดา  ขับร้องโดย น้องเปิ้ล มีสมาชิกในทีม 10 คน รวมเป็น 11 คน ครูผู้ฝึกสอนได้แก่ครูขวัญฤดี ครูนิยมวัลย์  ครูไพรวัลย์  ขอขอบพระคุณมากๆนะคะ  โดยเฉพาะ ท่าน ผอ.ปิยวุฒิ  พรหมประดิษฐ์  ผู้บริหารที่มุ่งเน้น ด้านอาหารปลอดภัยขยายผลด้านเกษตรอินทรีย์  นำแตงกวาปลอดสารพิษมาขายในบริเวณงานด้วย ขอบคุณที่ทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้เป็นอย่างดี

         ทีมนี้เป็น  ทีม รร.บ้านเปียมตะลวก  มีท่านประธานสภา  คุณสุจินต์  แจ่มศรีและผู้ฝึกสอนดีเด่นครูอารดา  ประดับวงษ์  ร่วมถ่ายรูปด้วย  ส่วนท่าน ผอ.ไสว มาช้าไปไม่ได้ถ่ายรูปด้วย  แต่ท่านให้ความร่วมมือและสนับสนุน พวกเราเป็นอย่างดี  จะไม่ลืมพระคุณเลยค่ะ

         ตอนนี้ 17.14 น.แล้ว  ไม่ใช่เวร  คงต้องขอกลับบ้าน ภาพสุดท้ายปิดท้ายด้วยภาพแม่บ้าน  บ้านเปียมตะลวก  หมู่ที่ 2 ประกวดในเพลง  ชอบคนมีตังค์  นักร้อง  คุณกันยา  ใจมนต์ แดนเซอร์เป็นพี่ๆ อสม.บ้านเปียมนั่นแหละค่ะ  พี่ใส  พี่แตง พี่ชูศรี  ร้องของว่า  ปีหน้าประกวดแอโรบิกส์กันนะคะ  เพราะว่าอดีตเคยเป็นแชมป์แอโรบิกส์  เมื่อปี 2548  ส่วนปี 2549 แชมป์เป็นของบ้านระกา หมู่ที่ 5 เดี๋ยวค่อยมาดูภาพกัน  ว่างบประมาณ 40,000  ทำอะไรได้มากกว่าท่านคิดหรือเปล่า?

หมายเลขบันทึก: 250814เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอยืมดูเป็นตัวอย่าง หน่อยนะคะ  ดีมากเลย

ขอบคุณครับ โครงการดีจัง ขอเอามาทำบ้างครับ โอกาสหน้า นำโครงการดีๆมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท