ข้อคิดจากการทำบุญว่าง
๑. การทำบุญว่าง
ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ จริงอยู่ เราไม่มีโอกาสรู้ว่า
คนเมื่อตายแล้วไปไหน ไปเกิดใหม่หรือสูญสลาย
เราได้แต่เชื่อตามที่เขาว่า “ตายแล้วไปเกิดใหม่”
และเชื่อในสิ่งที่เราประสบในโลกยุคใหม่ “ตายแล้วสูญ ตายแล้วก็จบ
ไม่มีชาติหน้า” เพื่อความไม่ประมาท
ชาติหน้าจะมีหรือไม่มีก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย
แต่สิ่งที่เราทำในวันนี้ นอกจากเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญู
ยังเป็นการรักษาประเพณี ได้นึกถึงคุณงามความดีของผู้เป็นบรรพบุรุษ
และได้เสียสละแบ่งปันบางสิ่งบางอย่างให้กับผู้อื่นทั้งที่เป็นนักบวชและไม่ใช่นักบวช
อาจกล่าวได้ว่า วันนี้เป็นวันรวมญาติอีกวันหนึ่งก็ได้
ในเมื่อสังคมปัจจุบัน ความห่างไกลของเชื้อสายค่อยๆ ขยายออกไปเรื่อยๆ
วันนี้น่าจะเป็นอีกวันหนึ่งสำหรับการทำความรู้จักในเครือญาติโดยเอาอัฐิของบรรพบุรุษเป็นสิ่งประสาน
๒. เราไม่อาจจะรู้ได้ว่า
สิ่งที่เราทำลงไปในวันนี้จะถึงแก่ผู้ที่เราอุทิศให้หรือไม่
เนื่องจากกรรมใคร กรรมมัน
อย่างน้อยเรานี่เองได้ทำกรรมเพื่อตัวเราในวันนี้โดยไม่รู้ตัว
๓.
เราได้มีส่วนช่วยให้พระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้พิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงของสังขารด้วยบทบังสุกุล
ยกเว้นพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจก็ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมใครกรรมมัน
ถือว่า ต่างคนต่างทำหน้าที่ของกันและกันให้บริบูรณ์
๔. บทบังสุกุล มิใช่บทส่งวิญญาณให้ใครไปสู่สุคติ
หากแต่เป็นบทสำหรับพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ถาวรของสังขาร
อันได้แก่สิ่งที่รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งในที่นี้คือชีวิตของคน
ซึ่งมีการเกิดดับ-เกิดดับอยู่ตลอดเวลา
การเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเพื่อที่จะให้เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็นถือเป็นความไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของสังขาร
เพราะสังขารไม่เที่ยงแท้ถาวร เกิดและดับเป็นธรรมดา
ชาวบ้านก็สามารถนำข้อนี้มาพิจารณาได้
ถือเป็นการเจริญปัญญาที่ถูกที่ควรอีกต่างหาก
ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
นม.
22-04-2549 / 23.23 น.