BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อนัตตลักขณสูตร ๑


อนัตตลักขณสูตร ๑

พรุ่งนี้วันพระ... ซึ่งในวันพระที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนได้เริ่มต้นนำอนัตตลักขณสูตรมาแสดง สาเหตุก็คือผู้เขียนไปสวดอนัตตลักขณสูตรในงานทำบุญครบรอบ ๗ วันแห่งการมรณภาพของอดีตเจ้าอาวาสวัดโคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง จึงได้ความคิดว่าเทศน์เรื่องนี้ดีกว่า เพราะกำลังหาเรื่องจะเทศน์วันพระอยู่พอดี...

ตั้งแต่ผู้เขียนรับภาระแสดงธรรมวันพระมาก็ได้ว่าไป ๓ ชุดแล้ว คือ ศีลห้า ปายาสิราัชัญญสูตร และกรรม ๑๒ ... ก็คิดอยู่ว่าจะหาพระสูตรที่ไม่ซับซ้อนเกินไปมาแสดงต่อ แต่ก็ยังไม่ถูกใจ เมื่อไปสวดอนัตตลักขณสูตรจึงได้ความคิดว่านำพระสูตรนี้มาดีกว่า...

เบื้องต้นของธรรมเทศนา ผู้เขียนก็ได้เล่าให้ญาติโยมฟังว่า งานทำบุญเพื่อผู้ตายระดับใหญ่ๆ นั้น จะมีธรรมเนียมนิยมในการทำบุญครบรอบวันตายอยู่ว่า...

  • ๗ วัน สวดอนัตตลักขณสูตร
  • ๕๐ วัน สวดอาทิตตปริยายสูตร
  • ๑๐๐ วัน สวดธรรมนิยามสูตร

ส่วนพิธีชาวบ้านทั่วไปที่ไม่เคร่งครัดธรรมเนียมนี้ ก็อาจเพียงแค่สวดมาติกาบังสุกุลก็เป็นอันว่าใช้ได้เหมือนกัน ซึ่งผู้เขียนก็ตั้งใจว่าจะเทศน์ให้ครบทั้งสามพระสูตรนี้ ซึ่งกว่าจะจบก็คงหลายวันพระอยู่เหมือนกัน...

 

ต่อจากนั้นก็ยกพระบาลีในอนัตตฯ มาแปลให้ญาติโยมฟังเป็นตอนๆ เริ่มตั้งแต่ เอวมฺเม สุตํ... เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขงเมืองพาราณสี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาว่า...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ถ้ารูปนี้พึงเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และเราพึงได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ ขอรูปของเราอย่าได้เป็นแล้วอย่างนี้ ดังนี้ ฯ  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะรูปเป็นอนัตตา ดังนั้น รูปย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ และเราย่อมไม่ได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ ขอรูปของเราอย่าได้เป็นแล้วอย่างนี้ ดังนี้ ฯ

ผู้เขียนพักเนื้อความท่อนแรกไว้เพียงแค่นี้แล้วก็ขยายความย่อๆ ทำนองว่า รูปก็คือร่างกายนั้นเอง ร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเรียกกันว่า มหาภูตรูปคือรูปใหญ่ ส่วนลักษณอาการของรูปที่อาศัยรูปใหญ่เช่น ตา หู จมูก ลิ้นกาย การเคลื่อนไหว เดิน ยืน นั่ง นอน เป็นต้น เรียกว่า รูปอาศัยหรืออุปาทายรูป... ทั้งร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ และลักษณะอาการของร่างกายนี้แหละ จัดว่าเป็น อนัตตา

มีคำหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ อาพาธ ศัพท์นี้แปลว่า เบียดเบียนทั่ว เบียดเบียนโดยรอบด้าน ในที่นี้หมายถึง ร่างกายของเรานี้ถูกเบียดเบียนจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น นั่งนานเกินไปก็ไม่ได้ หรือเดินยืนนั่งนอนนานเกินไปก็ไม่ได้ เราต้องคอยเฝ้าระวังและบำรุงบำเรอร่างกายนี้อยู่เสมอ... นั่นก็คือ ร่างกายตลอดถึงลักษณะอาการของร่างกาย ไม่ได้ดังใจของเรา เราต้องการให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ก็ไม่ได้ ซึ่งศัพท์ธรรมะ เรียกกันว่า อนัตตา

คำว่า อนัตตา โบราณาจารย์ได้ขยายความไว้ ๕ นัย กล่าวคือ

  • แย้งต่ออัตตา
  • ไม่มีเจ้าของ
  • ฝืนความปรารถนา
  • ไม่สามารถบังคับได้
  • เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่มาเกื้อหนุ่นหรือบั่นทอน

นั่นก็คือ ร่างกายนี้มิใช่อัตตา มิใช่ของของเรา ฝืนความปรารถนา ไม่อาจบังคับได้ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่เสมอ เราต้องบริหารร่างกายนี้ โดยต้องกำจัดเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ เช่น หิวก็ต้องกิน ป่วยก็ต้องบำบัด และต้องนำเข้าซึ่งเหตุปัจจัยแห่งความสุข เช่น การอาบน้ำชำระร่างกายให้สดชื่น และการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเดินยืนนั่งนอน เป็นต้น

ธรรมเทศนาวันพระที่แล้วก็พักไว้เพียงแค่นี้... ส่วนพรุ่งนี้ จะแสดงธรรมต่อจากนี้ แล้วค่อยนำมาเล่าในบล็อกอีกครั้งเป็นตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #อนัตตลักขณสูตร
หมายเลขบันทึก: 250620เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2009 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 00:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท