หมอบ้านนอกไปนอก(83): โค้งสุดท้าย


วิทยานิพนธ์ที่ทำจึงเป็นการพยายามหาคำตอบให้กับปัญหาที่ได้รับทราบมากว่า 10 ปีที่ตาก จังหวัดที่ใครไม่ได้มาคลุกคลีใกล้ชิดก็มักไม่เข้าใจบริบท การแก้ปัญหาขาดกำลังคนด้านสุขภาพในพื้นที่ชายแดนจึงต้องคัดคนถิ่น เรียนในท้องที่และทำงานบ้านเกิด (Rural recruitment, Rural training, Hometown working)

เยอรมนีเป็นประเทศกว้างใหญ่มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ ภูมิประเทศ ประเพณีและวัฒนธรรมจึงสามารถสร้างความยิ่งใหญ่ได้ หากไม่ถลำลึกไปกับการบ้าคลั่งสงครามคงจะยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีต่างๆไปมากกว่านี้ รถไฟเยอรมันมีการออกแบบและการดูแลสภาพไว้อย่างดีมาก ชวนให้ใช้บริการเมื่อเทียบกับรถไฟของเบลเยียมแล้วดูดีกว่ามาก สองวันที่ผ่านมาไปเที่ยวได้ 4 รัฐก็นับว่าคุ้มค่ามาก แม้จะยังไม่ได้ดื่มด่ำกับศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ต่างๆมากนักก็ตาม

เริ่มต้นสัปดาห์ที่ 42 การสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของนักศึกษารุ่นผมก็มาถึง ตั้งแต่ 23-25 มิถุนายน 2551 ผมอาสาสมัครสอบเป็นคนแรกกับบูโคล่าที่สอบเป็นคนแรกของอีกห้องหนึ่ง วัตถุประสงค์ของหลักสูตรในการให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์นั้นก็เพื่อให้นักศึกษาได้วิเคราะห์เจาะลึกปัญหาสาธารณสุข กำหนดกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาและเสนอวิธีการนำกลยุทธ์ลงสู่การปฏิบัติในบริบทประเทศของตนเองโดยให้นักศึกษารู้จักเลือก อ่าน อย่างลุ่มลึกในวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและให้นักศึกษาสามารถเขียนบทความที่มีความเป็นวิชาการเพื่อสื่อสารสิ่งที่ได้สังเคราะห์ขึ้นอย่างมีประสิทธิผล

นอกจากบทความแล้ว นักศึกษาต้องสอบป้องกันวิทยานิพนธ์แบบปากเปล่าเพื่อฝึกให้สังเคราะห์และนำเสนองานวิทยานิพนธ์ได้อย่างชัดเจน สามารถถกเถียง (Argument) ด้วยคำตอบที่เชื่อมโยงกับวิทยานิพนธ์ต่อข้อคำถามที่ของคณะลูกขุน (กรรมการสอบหรือExamining Board) สามารถอภิปรายในประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และจัดระบบบริการและระบบที่นอกเหนือไปจากวิทยานิพนธ์โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์จากงานวิทยานิพนธ์มาช่วย

ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทางคณะจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการสอบที่มาจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมด มีเพียงผู้อำนวยการหลักสูตรและผู้รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรในปีต่อไปเท่านั้นที่ร่วมเป็นกรรมการสอบ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะไม่มีส่วนร่วมในการสอบนักศึกษาและคณะกรรมการสอบจะไม่ทราบว่าอาจารย์ท่านใดเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาคนๆนั้น ทำให้ไม่ต้องมาเกรงใจกัน สามารถจะให้ผ่านหรือไม่ผ่านได้เต็มที่ การที่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่มีส่วนร่วมในการสอบทำให้อาจารย์ที่ปรึกษาไม่สามารถช่วยเหลือนักศึกษาของตนเองได้เลยในขณะทำการสอบ จะแตกต่างจากการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเมืองไทยที่มีอาจารย์สอบอยู่ประมาณ 3-5 คน ในจำนวนนี้มักจะมีอาจารย์ภายนอกที่ไม่ใช่ที่ปรึกษาอยู่แค่ 1-2 คนเท่านั้น โดยให้อาจารย์ภายนอกทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสอบ ส่วนระดับปริญญาเอก ผมไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรเพราะยังไม่เคยเรียนหรือสัมผัส

คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์รุ่นผมนี้มี 10 คน มี ดร. มาโตโมร่า ผู้อำนวยการสถาบันคีมูร่า แทนซาเนีย เป็นประธาน (Dr M.K.S. MATOMORA (Chairperson) MD, MPH, Ex participant, Ex tutor, Presently : Director KIUMA, Tunduru,Tanzania ) ดร. เดดโซ จากกาน่า (Dr McD. DEDZO (Vice-Chairperson), MD, MPH, Ex participant, Ex tutor, Presently: Acting Director, Volta Region Health Directorate, Ghana Health Service, Ho Volta Region, Ghana) เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการอีก 8 ท่าคือ ดร. บอสซินส์ จากสถาบันผู้ให้ทุนการศึกษาเบลเยียม (Dr P. BOSSYNS MD, MPH, PhD, Ex participant, Presently: Health advisor at BTC (Belgian Technical Cooperation) Brussels, Belgium) ศาตราจารย์แมกซ์ จากโรงเรียนสาธารณสุขศาสตร์ บรัสเซลล์ (Prof Dr. J. MACQ, MD,  MPH, PhD, Ex participant, Ex tutor, Presently: Assistant – ULB (Free University of Brussels), ESP (Public Health School), Health Policy and Health Systems Unit, Brussels, Belgium) ศาสตราจารย์พอลล็อค จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ที่ผมเคยไปศึกษาดูงานที่สก็อตแลนด์ (Prof Dr. A. POLLOCK, MD, MPH, PhD, Presently: Director of the Centre for International Public Health Policy, University of Edinburgh, Scotland) พี่ยงยุทธ์ พงศ์สุภาพ จาก สปสช. ที่เพิ่งจบปริญญาเอกที่เบลเยียม (Dr Y. PONGSUPAP, MD, MPH, PhD, Ex participant, Presently: National Project Director, Health Care Reform Project, National Health Security Office, Thailand )

ดร. แวน เดน เบิร์ก จากอัมสเตอร์ดัมส์ (Dr Y. VAN DEN BERGH, MD, MPH, Ex participant, Presently: Course Management of the ICHD, Royal Tropical Institute – Amsterdam - The Netherlands) ศาตราจารย์ลากา จากเบลเยียม (Prof Dr. M. LAGA, MD, PhD, Presently: Head of the STD/HIV Research & Interventions Unit, ITM, Antwerpen – Belgium)  อาจารย์อังเกอร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรที่ผมเรียนอยู่ (Dr  J-P UNGER} MD, MPH, PhD, Presently :  Acting Director MPH-HSMP, Department of Public Health, ITM, Antwerp, Belgium) และอาจารย์กีย์ คีเกล ผู้รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรในรุ่นต่อไป (Dr G. KEGELS, MD, PhD, Presently: Director MPH-HSMP, Department of Public Health, ITM, Antwerp, Belgium)

กรรมการทั้ง 10 ท่านนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆละ 5 ท่าน เพื่อให้นักศึกษาเข้าสอบได้สองห้อง แต่การพิจารณาตัดสินนักศึกษาทุกคนจะใช้องค์คณะทั้ง 10 คนร่วมกันพิจารณา คะแนนในส่วนการเขียนวิทยานิพนธ์ (Written document) นี้คิดเป็น ร้อยละ 20 ของคะแนนทั้งหมดของหลักสูตร จะมีคณะกรรมการสองท่านอ่านเอกสารนี้ของนักศึกษาแต่ละคน โดยจะเป็นผู้ให้คะแนนแบบความลับของแต่ละคนใส่ซองส่งให้ประธานคณะกรรมการ ส่วนกรรมการที่เหลืออีก 3 คนจะอ่านเฉพาะบทสรุป (Summary) ในส่วนการสอบปากเปล่าก็คิดเป็น 20 % ของคะแนนทั้งหมดของหลักสูตรเช่นกัน นักศึกษาทุกคนจะมีเวลานำเสนอวิทยานิพนธ์แค่ 10 นาที ให้กรรมการทั้ง 5 คนเข้าใจ และมีเวลาซักถามตอบคำถามอีก 45 นาที

ขั้นตอนการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Oral exam) ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน เป็นพิธีรีตอง โดยการจัดห้องสอบเป็น 2 ห้อง กรรมการห้องละ 5 คน มี 1 คนได้รับมอบหมายให้เป็นประธาน กรรมการที่อ่านเอกสารฉบับสมบูรณ์ส่งซองคะแนนให้ประธาน ผู้อำนวยการหลักสูตรเชิญนักศึกษาเข้าห้องสอบ ประธานห้องสอบเชิญนักศึกษาให้นำเสนอภายใน 10 นาที และบอกให้หยุดการนำเสนอเมื่อเวลาครบ 10 นาทีแล้ว หลังจากนั้นเชิญคณะกรรมการทุกท่านสอบถามและเปิดโอกาสให้นักศึกษาตอบชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจจนครบ 45 นาทีก็ยุติและเชิญนักศึกษาออกนอกห้องสอบ กรรมการทั้ง 5 ท่านส่งใบคะแนนของแต่ละคนให้ประธาน ประธานอ่านคะแนนที่กรรมการแต่ละท่านให้ดังๆและคำนวณค่าเฉลี่ยเลขคณิตด้วยทศนิยม 1 ตำแหน่ง หากมีความแปรผันหรือแตกต่างกันมาก กรรมการจะอภิปรายกันจนหาความเห็นร่วมได้จึงจะยุติ ประธานเปิดซองคะแนนเอกสารฉบับสมบูรณ์ของกรรมการทั้ง 2 คนแล้วมาคำนวณค่าเฉลี่ย หากแปรผันกันมากหรือแตกต่างกันมาก จะมีการอภิปรายจนได้ความเห็นสรุปร่วม แต่หากไม่ได้ความเห็นร่วมก็จะต้องมีคนอ่านคนที่สามเพิ่มขึ้นมาจนได้ข้อสรุป

การที่จะผ่านได้รับปริญญา (Conditions to obtain the award of the Diploma (MPH Degree)) นักศึกษาต้องได้คะแนนสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ทั้งสองส่วนไม่น้อยกว่า 50% และคะแนนการเรียนการสอบในแต่ละหน่วย (course component) ไม่น้อยกว่า 50 % หากคะแนนสอบแต่ละหน่วยไม่ถึง 50 % แต่ได้ตั้งแต่ 40 % ขึ้นไป 1 หน่วย มีโอกาสได้รับปริญญาจากการที่คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ผู้อำนวยการสถาบัน (ITM Director) และผู้อำนวยการหลักสูตร (J-P. Unger, G. Kegels, P. Van Der Stuyft) จะพิจารณาร่วมกัน (deliberation) เพื่อตัดสินใจสุดท้าย หากนักศึกษาคนใดไม่ได้รับปริญญา จะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วมหลักสูตรแทน โดยจะจัดพิธีมอบปริญญาบัตรในวันที่ 26 มิถุนายน 2551ที่ห้องประชุมใหญ่ของสถาบัน (Aula PG Jassens) และจะมีการดื่มฉลองเล็กๆที่สถาบันและเลี้ยงอาหารค่ำแสดงความยินดีที่ร้านอาหารในสวนสัตว์แอนท์เวิป (Restaurant at the Antwerp Zoo: Drink, Dinner, Dance)

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2551 ผมตื่นประมาณ 7 โมงเช้า อากาศไม่หนาวแล้ว ไม่ต้องเปิดฮีตเตอร์นอน ต้องเปิดหน้าต่างให้ลมพัดเย็น ไม่มีพัดลมใช้ ตื่นมาแล้วก็มานั่งทบทวนเตรียมตัวนำเสนอให้ได้ภายใน 10 นาที ผมทำสไลด์นำเสนอเสร็จนานแล้ว ส่งให้อาจารย์บรูโน ที่ปรึกษาช่วยให้ข้อเสนอแนะ ฝึกนำเสนอกับเพื่อนๆมาสองครั้งแล้ว ก็มั่นใจพอสมควร แต่ก็อดเกร็งไม่ได้ เพราะแม้จะไม่ได้หวังมาเอาปริญญาแต่ก็ไม่อยากกลับบ้านโดยได้แค่ประกาศนียบัตรการเข้าเรียนเท่านั้น การนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษสั้นๆจากเนื้อหายาวๆกว่า 30 หน้ากระดาษในสภาพที่เราไม่เชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษให้คณะกรรมการที่มาจากหลายประเทศคนละบริบทกับเราฟังสั้นๆให้ได้ใจความ เข้าใจตามที่เราอยากสื่อนั้นเป็นเรื่องยากมากพอสมควรสำหรับผม ผมใช้วิธีตั้งเวลาไว้ที่สไลด์ที่นำเสนอเลย ขณะพูดไปเราจะเห็นได้เลยว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่แล้ว จะได้เร่งหรือลดความเร็วในการนำเสนอให้เหมาะสมได้ และจำลำดับที่ของสไลด์ที่นำเสนอได้ รู้ว่าสไลด์ไหนควรพูดมากหรือพูดน้อยแค่ไหน

8:30 น. ผมไปถึงสถาบัน นั่งรออยู่ที่หน้าห้องสอบ แม้จะเป็นห้องที่เคยนั่งเรียนมาหลายเดือน แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ ผมนำไฟล์นำเสนอไปลงไว้ที่คอมพิวเตอร์ในห้อง ลองเปิดดูว่าไม่มีปัญหา ตัวหนังสือต่างๆไม่ผิดเพี้ยนหรือตกกรอบ จนถึงเวลาเกือบ 9 โมงเช้า คณะกรรมการก็มากันครบ ห้องแรกที่ผมสอบมี ดร. มาโตโมร่า เป็นประธาน กรรมการอีก 4 ท่านคือ พี่ยงยุทธ์ ดร. บอสซินส์  ศ.แมกซ์ และอาจารย์อังเกอร์ ก็อุ่นใจนิดๆที่มีพี่ยงยุทธ์ร่วมเป็นกรรมการด้วย ส่วนอาจารย์อังเกอร์ที่เป็นผู้ที่ช่วยเหลือหาที่ฝึกงานให้ภรรยาผมก็พอคุ้นๆกันอยู่ แต่เป็นที่ทราบกิตติศัพท์ว่าอาจารย์จะให้คะแนนอย่างโหดมาก  แต่อย่างไรก็ตามบรรยากาศในห้องสอบกรรมการทุกท่านพยายามสร้างบรรยากาศแบบเป็นกันเอง เพื่อไม่ให้นักศึกษาเกร็ง พี่ยงยุทธ์กับอาจารย์แมกซ์เป็นคนอ่านวิทยานิพนธ์ของผม

ผมเริ่มต้นนำเสนอได้อย่างไม่ติดขัดและเสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนด ในช่วงตอบคำถามนั้นก็พอจับใจความได้ว่า อาจารย์บางท่านยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมนำเสนอนัก และในส่วนของกลยุทธ์ วิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์และการแก้ไขปัญหาในงานวิทยานิพนธ์นั้น กรรมการก็มองว่าไม่ค่อยชัดเจนนัก ในขณะที่ผมก็คิดว่าผมนำเสนอได้ชัดเจนและตอบได้ชัดเจนพอควร ก็คงเป็นธรรมดาที่ตัวเราอาจมองและคิดเข้าข้างตัวเองได้ อีกประการหนึ่งคือกรรมการแต่ละคนมาจากคนละบริบทกัน จึงต่างมีภูมิหลังของตัวเองในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาได้

งานวิทยานิพนธ์ของผม ทำเรื่องความไม่สมดุลของกำลังคนด้านสุขภาพในจังหวัดตาก เนื่องจากมีปัญหาจังหวัดถูปแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งตามธรรมชาติด้วยทิวเขาถนนธงชัย ฝั่งตะวันตกติดกับชายแดน 560 กิโลเมตร มีความทุรกันดาร ห่างไกล ความแตกต่างด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ภาษาและชาติพันธุ์มนขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นคนจากอำเภอในฝั่งตะวันออกที่อยู่เขตเมือง ไม่ติดชายแดน เดินทางไม่ยากลำบากนัก ในแต่ละปีจึงมีคนขอย้ายจากฝั่งตะวันตกมาสู่ฝั่งตะวันออกจำนวนมาก  มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในด้านจำนวนบุคลากรของสองฝั่ง ผมได้จัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยแบบสัมภาษณ์เชิงคุณภาพ แล้วนำมาวิเคราะห์ปัญหาการโยกย้ายส่วนใหญ่มาจากการกลับภูมิลำเนาและติดตามครอบครัว เรื่องของผลประโยชน์ ค่าตอบแทนมีอิทธิพลในการดึงคนอยู่ไม่มากนัก

จากการวิเคราะห์สภาพปัญหา การทบทวนวรรณกรรมต่างๆ ผมได้เสนอทางแก้ไขปัญหาใน 2 ยุทธศาสตร์คือยุทธศาสตร์ด้านนโยบายกำลังคน (3R Health policy strategy) ที่ต้องมีการจัดระบบการสรรหา การกระจายและการคงให้อยู่ (Recruitment, Redistribution, Retention) ทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ และยุทธศาสตร์การบริหารกำลังคนด้านสุขภาพ (5R HRM strategy) ที่ต้องมีการการคัดเลือกคน การจัดวางตำแหน่งใหม่ การฝึกอบรมใหม่ การธำรงรักษาและการใช้ประโยชน์จากกำลังคนด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม (Recruitment, Reposting, Retraining, Retention, Reuse) จากสาเหตุปัญหาหลักในเรื่องภูมิลำเนาในการสรรหาคนมาทำงานด้านสุขภาพในฝั่งตะวันตกของตากจึงต้องคัดคนถิ่น เรียนในท้องถิ่นและทำงานในท้องถิ่น (Rural recruitment, Rural training & Hometown working) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพของผมเมื่อกลับมาทำงานที่ตากอีกครั้ง

ในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าผมน่าจะผ่านการสอบครั้งนี้ไปได้ พอออกจากห้องสอบปุ๊บก็รีบกลับไปบ้านพัก และพาภรรยาและลูกๆขึ้นรถรางไปที่สถานีรถไฟกลางเพื่อไปเที่ยวสวิสต่อและจะกลับมาอีกทีในวันรับปริญญาวันที่ 26 มิถุนายนเลย ทำใจให้สบายแล้วไปเที่ยวดีกว่า

 

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

บ้านพักโรงพยาบาลบ้านตาก อ.บ้านตาก จ.ตาก

เขียนจากบันทึกลายมือประจำวันของวันที่ 23 มิถุนายน 2551

17 มีนาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 249171เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2009 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ คุณพิเชษฐ์

ดีใจด้วยที่คุณผ่านช่วงเวลา...
ที่เรียกได้ว่ากดดันบีบคั้นสุดๆ
นึกย้อนไปในช่วงเดียวกัน
ช่างเป็นความทรมานที่สุดบรรยาย

ไม่นานแป๋มต้องผจญกับมันอีกแล้ว
สุขใจในวันทำงานนะคะ...

สวัสดีครับครูแป๋ม

ก็ขอส่งกำลังใจให้ครูแป๋ว กับเหตุการณ์ในอีกไม่นานที่ต้องผจญด้วยครับ ขอให้มีความสุขทุกวันเช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท