ของเล่นมีชีวิต กลุ่มคนเฒ่าคนแก่


แมกาซีนแปลก ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2552

ของเล่นมีชีวิต กลุ่มคนเฒ่าคนแก่

อมรเทพ กำหมุน ใบพัด กบกายสิทธิ์ งูย่น กัมปี้ โก๋งเก๋ง นกหวีด ฯลฯ ชื่อที่ฟังไม่คุ้นหูคนรุ่นใหม่เหล่านี้ แท้จริงคือชื่อของของเล่นพื้นบ้านจากธรรมชาติที่เล่นกันมาตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่า ก่อนที่จะมีการผลิตของเล่นพลาสติกออกมาขายให้เราเล่นกันอย่างทุกวันนี้ หลายคนไม่รู้ว่าแท้จริงของเล่นนั้นเราสามารถสร้างสรรค์ขึ้นเองได้โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติรอบๆตัว แต่วันนี้ของเล่นเหล่านั้นจะไม่สูญหายไปจากสังคมไทย เพราะยังมีกลุ่มคนที่อนุรักษ์ของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ไว้ ด้วยการผลิตออกจำหน่ายและสาธิตเผยแพร่กรรมวิธีการทำเพื่อให้ของเล่นเหล่านี้คงอยู่ต่อไป คนกลุ่มนี้ใช้ชื่อว่า “กลุ่มคนเฒ่าคนแก่” บ้านป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ของเล่นเหล่านี้ไม่เพียงแค่ชื่อไม่คุ้นหู แต่รูปร่างหน้าตาของของแต่ละชิ้นก็แปลกไม่แพ้กัน แต่ละชิ้นล้วนล่อตาล่อใจชวนให้อยากเล่น อยากสนุกแบบเด็กๆ ของเล่นเหล่านี้ล้วนแต่ทำมาจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นอย่าง ไม้ไผ่ ตอก สะบ้า ใบไม้ เม็ดมะกล่ำ ฯลฯ แต่ละชิ้นก็มีวิธีการเล่นที่แตกต่างกันไปและอาจมีชื่อเรียกต่างกันไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น

อย่างชิ้นแรก      อมรเทพ ตั้งชื่อตามนักยิมนาสติกชื่อดังของเมืองไทย ด้วยรูปร่างลักษณะของอมรเทพนั้นเป็นไม้ไผ่ที่ดัดให้เป็นวงโค้งรูปครึ่งวงกลม ปลายทั้งสองข้างมีเชือกขึงตึก และตรงกลางของเชือกมีไม้ไผ่ที่ทำรูปร่างลักษณะคล้ายคนเกาะเชือกอยู่ เวลาเล่นเมื่อบีบ เจ้าตัวคนเกาะเชือกก็จะหมุนตัวไปมาโชว์ลีลาการโหนบาร์อย่างเต็มที่

กำหมุน ใบพัดธรรมดาที่มาใส่ในกระบอกไม้ไผ่เล็กๆเจาะรูที่โคนกระบอก แล้วผูกเชือกเข้ากับไม้ที่เสียบใบพัด เมื่อดึงเข้าดึงออก ใบพัดก็หมุนติ้ว พร้อมเสียง กร๋อ.. กร๋อ... และถ้าเติมแต่งสีสันลงในใบพัดเวลาหมุนจะดูสวยงาม

งูย่น ถักสานจากไม้ไผ่สานไขว้ไปไขว้มา วิถีเล่นก็เอานิ้วเสียบเข้าไปในปากงู แล้วให้เพื่อนดึงหางงู งูจะดูดนิ้วของเราเอาไว้แน่นดึงเท่าไรก็ไม่ออก แต่มีเทคนิควิธีง่ายๆคือต้องดันหางไปพร้อมๆกับจับปากงู นิ้วที่ถูกงูกัดจึงจะคลายออกมาได้

โก๋งเก๋ง ไม้ไผ่ท่อนยาวสองท่อน มีที่วางเท้า ให้เด็กขึ้นไปเหยียบ เดินตัวสูงโย่ง เลี้ยงตัวไปมา
ถึ่ดถึม ทำจากกระบอกไม้ไผ่ กระบอกโตกว่า กระบอกข้าวหลาม เอามาเจาะรู ๑ รู แล้วกรีด

เปลือก ให้เป็นเส้น สองเส้น เอาไม้ สอดเข้าไป หัวท้าย มีไม้บางๆ อีกแผ่นปิดรู แล้วพอเวลาที่เราเอามือ ดีดเจ้าไม้แผ่นนี้เสียงจากข้างในกระบอกไม้ไผ่มันก็จะดังถึม...ถึม....
          บอกโย่ง อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า กระบอกโยน ตามคำที่ พ่ออุ๊ย คนหนึ่ง สันนิษฐาน บอกโย่ง

ทำจากไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ๗ ลำ ประกอบติดกันด้วย ยางไม้ ต่อหางยาวด้วย ทางมะพร้าว เวลาเล่น ก็เหวี่ยงให้ลอนสูง ขึ้นไปบนฟ้า จะมีเสียง วี้ด...หวู...

นอกจากนี้ก็ยังมีของเล่นทั้งชิ้นเล็กอย่าง อีดีด ลูกข่างโว้ ลูกข่างสะบ้า พญาลืมแลง พญาลืมงาย เต่ากระต่ายวิ่ง จานบิน โหวด ครกมอง ควายกินหญ้า คนตำข้าว ปืนสารพัดแบบ คันหมุน ถ้าของเล่นชิ้นใหญ่หน่อยก็จะเป็นพวก สล่าไม้ (ช่างไม้)  หรือสัตว์ล้อ ที่จะเป็นสัตว์แกะสลักจากไม้ แล้วใส่วงล้อให้เด็กๆ เข็นเล่นได้ เป็นต้น ของเล่นที่มีกว่า 100 แบบ ถูกถยอยบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นจากฝีมือของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยวัย 60-97 ปีที่อยู่ในชุมชน เพื่อส่งต่อความสุขให้กับเด็กทั่วประเทศ โดยข้อได้เปรียบที่ทำให้ของของเล่นโบราณเหล่านี้เข้ามาตีตลาดของเล่นพลาสติกได้มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่เมื่อเทียบกับของเล่นพลาสติกยุคใหม่แล้วนั้นราคาถูกแสนถูก และเมื่อเด็กเล่นแล้วยังทำให้เด็กได้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น อีกทั้งยังได้ฝึกคิดต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติใกล้ตัว และที่สำคัญเมื่อของเล่นพังหรือมีชิ้นส่วนใดแตกหักก็สามารถซ่อมแซมใหม่ได้ง่ายๆไม่ต้องลงทุนซื้อใหม่ และทางกลุ่มยังมีการผลิตของเล่นเป็นของชำร่วย ของที่ระลึก หุ้มด้วยบรรจุภัณฑ์สวยงามและใส่ข้อมูลที่เป็นความรู้เกี่ยวกับของเล่นพื้นบ้านของไทยด้วย ซึ่งมีคนต่างชาติสนใจสั่งออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมากและยังไม่รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสัมผัส เยี่ยมชมกลุ่มคนเฒ่าคนแก่กันถึงหมู่บ้าน โดยเสน่ห์ของที่นี่คือการที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสบรรยากาศที่แสนอบอุ่น ระหว่างกลุ่มคนสูงอายุกับเด็กตัวเล็กๆ ไปจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ที่ช่วยกันทำของเล่นพื้นบ้านกันอย่างตั้งใจ เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นแบบที่ไม่เคยพบเจอจากที่ไหนมาก่อน และผู้ที่สนใจอยากลองทำก็สามารถนั่งทำร่วมกับชาวบ้านที่นี่ได้เลย ทางกลุ่มรับสอนให้ฟรีๆ

 ความสำเร็จของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในวันนี้เกิดมาจากจุดเริ่มต้นความคิดเล็กๆของคนหนุ่มวัย 27 ปี คือคุณวีระพงษ์ กังวานนวกุล ที่อยากให้คนเฒ่าคนแก่มีอะไรทำในช่วงบั้นปลายที่เรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงไปทุกวัน ให้ไม่ต้องอยู่อย่างหงอยเหงา ว่างเปล่า และโดดเดี่ยวเดียวดายอีกต่อไป ซึ่งปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 10  ปีแล้ว ที่กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ได้ผลิตของเล่นไทยๆ น่ารักๆ ออกสู่ท้องตลาด จากจุดเริ่มต้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ที่แรกเริ่มมีเพียงกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในบ้านป่าแดดราว 6-10 คน มารวมตัวกันก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ใช้พื้นที่สาธารณะในการดำเนินงาน ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดป่าแดด ด้วยความสุขใจ จากการพูดคุยเรื่องราวในอดีตของแต่ละคน และค้นพบว่าความสุขสนุกสนานจากการเล่นของเล่นในวัยเยาว์ มีเรื่องราวที่งดงาม และความประทับใจมากมาย จึงเป็นที่มาของการเริ่มดึงความสุขจากใจคนเฒ่าคนแก่ออกมาเล่าขานผ่านของเล่นเด็กอันเปี่ยมด้วยคุณค่า ปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกรวมกันกว่า 80 คน ช่วยกันผลิตของเล่นออกมาจำหน่ายทั่วประเทศและยังเป็นที่สนอกสนใจของเด็กๆในหมู่บ้านเอง ซึ่งคนแก่ที่บ้านป่าแดดนี้เองก็ดูจะมีความสุขกว่าที่ไหนๆเพราะว่ามีลูกหลานมาคอยอยู่ใกล้ชิด ทุกครั้งที่คุณปู่คุณย่าทำของเล่น ลูกหลานก็จะมาขลุกอยู่กับการเฝ้าดูของเล่นหน้าตาแปลกๆที่จะสำเร็จออกมาแต่ละชิ้น และแน่นอนเด็กๆได้ฝึกทำด้วย ทำให้บ้านป่าแดดเป็นชุมชนที่เด็กๆไม่ติดดูทีวี ไม่ติดเล่นเกม เหมือนกับเด็กในเมืองที่เราเคยเห็นกัน แต่เด็กๆบ้านป่าแดดจะติดก็แต่ของเล่นซึ่งเป็นผลงานสร้างจากแรงกายแรงใจของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย
               ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2542 ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นอย่างแท้จริงของพิพิธภัณฑ์เล่นได้ เนื่องจากได้รับเงินพระราชทานเป็นขวัญถุงจากสมเด็จพระราชินีฯ และบรรจบกับองค์การสหประชาชาติที่ประกาศให้ปีนี้เป็นปีผู้สูงอายุสากล ทำให้การผลิตของเล่นออกสู่สายตาของสังคมมีมากขึ้น จนเกิดเป็นกระแสในขณะนั้น และในปีถัดมาทาง "มูลนิธิอโชก้า" ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม ต่อยอดความฝันโดยการมอบรางวัลผู้ประกอบการทางสังคมและสนับสนุนการทำงานจนพัฒนาสู่การสร้างความยั่งยืนในระยะยาว บ้านป่าแดดจึงกลายเป็นศูนย์การศึกษาพัฒนาตลาดทางเลือกชุมชนที่บริหารโดยคนในชุมชนและรวมตัวกันในรูปแบบของสมาชิก ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน เรียนรู้ถูกผิดกันไป จนสามารถบริหารจัดการองค์กรและพึ่งพาตนเองได้ในปัจจุบัน ทำให้คนเฒ่าคนแก่ มีรายได้เฉลี่ยต่อคนเดือนละ 500 - 3,000 บาท ซึ่งจะได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับความขยันของผู้เฒ่าผู้แก่แต่ละคน

บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้ววัตถุดิบจากธรรมชาติที่นำมาผลิตนั้นเอามาจากไหน คุณวรพงษ์เล่าว่าเดิมใช้วิธีเก็บไม้จากหัวไร่ปลายนามาทำ ต่อมาถึงเวลาที่ต้องขยับขยาย จึงได้มีการปลูกป่าทดแทน เป็นการเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ อย่างไม้ปัจจุบันที่นำมาทำส่วนหนึ่งก็มาจากการขอบริจาคจากชาวบ้านที่เขาสร้างบ้าน ซึ่งก็จะมีเศษไม้ที่เหลือๆ อันที่เหลือๆ นี่แหละเอามาทำของเล่นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ทั้งปี ก็ถือว่าไม่ได้มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร

10 ปีบนเส้นทางสายวัฒนธรรมล้านนา ถามว่าสิ่งใดคือความภาคภูมิใจที่สุด คุณวรพงษ์เล่าที่มาก่อนจะโยงถึงคำตอบที่น่าคิดว่า มันจะมีของเล่นอยู่ชนิดหนึ่งนะ เรียกว่า บอกโย่ง หรือ บอกโยน อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า กระบอกโยน ซึ่งของเล่นชนิดนี้จะต้องเล่นหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพราะจะมีพื้นที่โล่ง วิธีการเล่น คือ ต้องโยนขึ้นไปบนอากาศ  พอโยนขึ้นไปมันจะเสียงหวูด เป็นเสียงไม้แหวกกับอากาศ โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการทำบอกโยน ก็คือ ไม้ไผ่ ก้านมะพร้าว ฯลฯ แต่ว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ธรรมชาติก็เปลี่ยนตาม ชุมชนมีความหลากหลายเข้ามามากขึ้น บอกโยนที่เด็กๆ เคยเล่นก็เริ่มหายไป เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบให้ผลิต จะเหลือก็แค่เพียงเรื่องเล่า หรือภาพถ่าย ตรงนี้มันทำให้เราได้คิดว่า เมื่อไม่มีป่า ก็ไม่มีของเล่น ซึ่งพอเราผลักดันกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ขึ้นมา มันก็เหมือนเป็นการกระตุ้นจิตสำนึก มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ซับซ้อนอะไรมาก แต่มันก็ทำให้คนฉุกคิดขึ้นมาได้ ความรู้สึกอยากอนุรักษ์มันก็ตามมา จากนั้นก็จะเกิดกิจกรรมดีๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งการปลูกป่า ทำฝายชะลอน้ำ ฯลฯ ฉะนั้นถ้าถามว่าสิ่งใดคือความภาคภูมิใจของผม ก็คงอยู่ที่การได้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นจิตสำนึกของคนไทย ให้ร่วมกันหันมามองภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ร่วมกันอนุรักษ์ความดีงามในท้องถิ่น ตลอดจนการอนุรักษ์ธรรมชาติ

 

“ใบลาน สานกังหัน เมื่อเด็กนั้น แม่ทำให้ ตราตรึง อยู่ภายใน เห็นทีไร ให้คำนึง

ลมอ่อน แดดอุ่นอุ่น กังหันหมุน ให้คิดถึง ความเก่า เฝ้ารำพึง จึงเรียงร้อย ถ้อยคำครวญ”ยกมาจากบทกลอนของคุณสรวงธร นาวาผล จากหนังสือ “เรื่องเล่น...ในวัยเยาว์” สำนักพิมพ์ครอบครัว

(เสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้สัมผัสบรรยากาศเช่นดังคำกลอนนี้ น่าอิจฉาเด็กๆบ้านป่าแดดเสียจริง)

 

ผู้ใดสนใจติดต่อได้ที่ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ตั้งอยู่ที่ 268 หมู่ 3 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 57180 เปิดทุกวัน 09.00 - 16.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-5370-8070, 0-5370-8500

หมายเลขบันทึก: 248630เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2009 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ครูอ้อย เคยเล่น  โถกเถก หรือ โก๋งเก๋งค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

น่าสนใจค่ะ โดยเฉพาะของเล่นเด็กปัจจุบันนี้มีสารตะกั่วที่เป็นอันตรายต่อเด็ก ควรหันมาส่งเสริมของเล่นที่เกิดจากภูมิปัญญา ของผู้อาวุโส เป็นการสืบสานความรู้ฝังลึกให้ยังคงคู่สังคมไทยต่อไปค่ะ

น่าจะมีรูปให้ดูด้วยนะคะ จะดีมากเลยค่ะ

สวัสดีครับ

จะรบกวนของความกรุณาส่งเมล์ไฟล์นี้ให้ผมได้มั้ยครับ

จะลงในเว็บกำหมุนครับ

เบิ้ม-วีระพงษ์

ถึงคุณเบิ้ม

ขอบคุณค่ะที่สนใจ

รบกวนขอเมล์คุณด้วยน่ะค่ะ จะได้ส่งไปให้

กิตติยา

อยากได้ขั้นตอนวิธีการทำ กรุณาส่งเมล์มาให้ได้ไหมครับ ขอขอบคุณล่วงหน้านะครับ

ไม่ทราบเมล์ครูโจค่ะ

รบกวนสอบถามข้อมูลได้ที่

พิพิธภัณฑ์เล่นได้ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ตั้งอยู่ที่ 268 หมู่ 3 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 57180 เปิดทุกวัน 09.00 - 16.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-5370-8070, 0-5370-8500

วีระพงษ์ กังวานนวกุล

เบิ้ม [email protected]

08-1764-5959

ขอบคุณมากๆนะครับ(ขออภัยที่ผมส่งให้ช้าเพราะไม่ค่อยใช้คอมฯครับ)

แหะ แหะ มาเจอเบิ้มในนี้...

โลกกลมจริง ๆ

ดีดีๆๆๆ

แวะมาทักทายจ๊ะ

หารัยหมั้มๆๆหรือยังค่ะ

*-*

ดูแลสุขภาพด๊วค่ะ

เปห่วง

*-*

บายค่ะ

อยากได้ขั้นตอนวิธีการทำ กรุณาส่งเมล์มาให้ได้ไหมคะ ขอขอบคุณล่วงหน้านะคะ โดยเฉพาะงูกินนิ้ว

อยากได้วิธีทำอมรเทพคะ

ส่งมาด่วนๆเลยนะคะ

งานต้องส่งสิ้นเดือนนี้คะ

ขอขอบคุณล่วงหน้านะคะ

หนังสือ หาซื้อที่ไหนได้บ้างค่ะ อยากได้มากๆๆๆค่ะ พอดีทำ thesis เกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ ขอบคุณล่วงหน้านะค่ะ

รบกวนติดต่อ เบิ้ม [email protected]

08-1764-5959 หรือที่ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ตั้งอยู่ที่ 268 หมู่ 3 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 57180 เปิดทุกวัน 09.00 - 16.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-5370-8070, 0-5370-8500

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท