สุขภาพช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคทางระบบ (60) การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ


 

วันนี้ คุณอ้าย (ผกามาศ กมลพรวิจิตร) จากสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย มาคุยให้ฟังเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ของกรมอนามัย ค่ะ

เรื่องแรกก่อนอื่นใด ก็เป็นเรื่องของข้อมูล ว่า เราจะทำงานส่งเสริมสุขภาพ เราควรจะรู้ข้อมูลอะไรบ้าง

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติบอกว่า ผู้สูงอายุของเรา สูงเป็นร้อยละ 10.7 และเป็นผู้สูงอายุถึง 7.2 ล้านคน ที่ อ.หมอพิชบอกไว้ว่า เป็นเหมือนแฮมเบอร์เกอร์ นั่นก็คือ กลุ่มวัยทำงานก็ต้องรับรู้และเลี้ยงดูกลุ่มสูงอายุ และกลุ่มวัยเด็ก ที่ต้องมีภาระพึ่งพา

 

ส่วนสีชมพู เป็นภาระพึ่งพาของวัยเด็ก ส่วนที่เหลืองจะเป็นผู้สูงอายุ ถามว่า กราฟนี้ เด็กจะมีการลดการพึ่งพาน้อยลง เพราะว่าประชากรเกิดน้อยลง จากการคุมกำเนิดที่ผ่านมา และผู้สูงอายุ จาก 10.7 ในปี 2537 จะเป็นร้อยละ 16 ในปี 2550

สำหรับโรคเรื้อรังที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการสำรวจข้อมูลทุกๆ 5 ปี ปี 2550 เป็นปีล่าสุด จะมีข้อมูล คือ โรคของผู้สูงอายุที่พบมากที่สุด เป็นโรคความดันโลหิตสูง ต่อมาเป็นเบาหวาน หัวใจ อัมพาต/อัมพฤกษ์ หลอดเลือดในสมอง และมะเร็ง และในกลุ่ม Young-old Middle-old และ Old-old จะต่างกันในการเป็นโรค ในเรื่องของโรคความดันโลหิตสูง เราจะเห็นว่า Middle-old (70-79 ปี) จะมีสถิติค่อนข้างสูง คือ 35.9 เบาหวานก็เช่นเดียวกัน ใน Middle-old ก็จะสูง และโรคหัวใจก็เช่นเดียวกัน เรื่องอัมพฤกษ์/อัมพาต กลุ่มที่เป็น Old-old (80-89 ปี) มีสถิติถึง 4.8 เพราะว่า ส่วนใหญ่แล้วที่นอนติดเตียง เหมือนที่ท่านรองฯ ได้พูดไว้ว่า มีผู้สูงอายุอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ติดสังคม (78%) กลุ่มที่สองติดบ้าน (20%) และกลุ่มที่สามติดเตียง (ประมาณ 2%) ส่วนโรคมะเร็งที่พบ จะประมาณเท่าๆ กัน

ร้อยละของผู้สูงอายุที่มีผู้ดูแล สำนักงานสถิติบอกว่า มีผู้ดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 62.7 จบระดับประถมศึกษา ซึ่งตรงนี้เป็นกลุ่มที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุ คือ องค์ความรู้ที่เขามีอยู่ จะดูแลผู้สูงอายุได้ดีที่ติดสังคม แต่ถ้าติดบ้าน ติดเตียง มันจะต้องมีภาวะที่เราจะต้องให้ Nursing care จะดูแลมากกว่า Personnal care ขึ้นไป เราจะต้องให้ความรู้อะไรเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ทางกรมฯ ก็เตรียมไว้สำหรับการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ของอาสาสมัคร และผู้ดูแลด้วย

เรื่องของฟันแท้ในผู้สูงอายุที่สำรวจแล้ว จะพบว่า ฟันที่มีน้อยกว่า 20 ซี่ เท่ากับ 48.6% ใส่ฟันปลอมมี 64% และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพอีกเรื่องหนึ่ง คือ การออกกำลังกาย ในทั้ง Young-old, Middle-old และ Old-old การออกกำลังกายก็จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่เป็นวัย Young-old 46.8% กลุ่มวัยกลาง 36% ส่วนตอนปลาย คือ 22.7% ออกกำลังกายได้น้อย เนื่องจากติดบ้าน ติดเตียง ช่วงนี้กองออกกำลังกาย เขาก็คิดนวัตกรรมการออกกำลังกายที่สามารถจะทำได้เองที่บ้าน เป็นการออกกำลังกาย 14 ท่า

ในเรื่องโภชนาการ กองโภชนาการสำรวจไว้ตั้งแต่ปี 2546 จะเน้นเรื่องของไขมัน คอเลสเตอรอล และการขาดวิตามิน จะเห็นว่า การขาดวิตามิน ชาย-หญิง กับไตรกลีเซอไรด์ เสมอๆ กัน ส่วนคอเลสเตอรอล กับ แอลดีแอล เพศหญิงค่อนข้างจะสูงกว่าที่มีไขมันสูง ไม่ว่าจะเป็น Old-old Middle-old หรือ Young-old ในกลุ่มนี้จะค่อนข้างสูงกว่า

ขนาดของภาระจากปัญหาสุขภาพ พบว่า ภาระสุขภาพทั้งหมดที่ผู้สูงอายุเป็น มี 3 เรื่อง คือ โรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และอุบัติเหตุ ถามว่า โรคที่ไม่ติดต่อเยอะมากเลย 75% ซึ่งตรงนี้ เราสามารถจะส่งเสริมสุขภาพ เพื่อที่จะทำให้ลดอุบัติการณ์ในการเกิดโรคลงได้ อีก 4% ก็เป็นอุบัติเหตุที่สามารถจะป้องกันได้ การลื่นหกล้มของผู้สูงอายุ แต่ 21% เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น 79% สามารถดูแล และส่งเสริมป้องกันได้

จำนวนโรคที่เกิดขึ้น ทั้งหมด 100% ดูว่า ผู้สูงอายุจะมีโรคกันคนละกี่โรค ไม่มีโรคเลย 27.5% นอกนั้นจะมีคนละ 1-5 โรค 1 โรคมีถึง 32.2 คือ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน หรืออย่างหนึ่งอย่างใด ก็ 1 โรค ถ้ามี 2 โรคขึ้นไป เบาหวาน-ความดัน 22.6% ถ้ามี 3 โรค อาจจะมีไขมันสูง ภาวะเป็นโรคมะเร็ง หรืออีก 1 มี 10.6% และก็จะมี 4 โรค 5 โรค

ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว อาจจะเกิดภาวะทุพพลภาพได้ต่างกันอย่างไรนั้น ถ้าเกิดไม่มีโรคเลย ภาวะทุพพลภาพไม่เกิดขึ้นแน่ๆ ถ้าเกิดมีอย่างน้อย 1 โรค เช่น ถ้าเป็นเบาหวาน หรือความดันสัก 1 อย่าง คุณย่าคุณยาย คุณปู่คุณย่าเราก็จะต้องมีภาวะทุพพลภาพ 18.3% ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ร้อยหนึ่ง 18 คน ที่ต้องเกิดภาวะทุพพลภาพ ถ้าคนหนึ่งมี 2 โรค ก็อาจเกิดภาวะทุพพลภาพ ถึง 26.2 สามโรคไปแล้ว 32.7 เกิดภาวะทุพพลภาพแน่ๆ 5 โรคขึ้นไป ก็ร้อยละ 61.8% ที่จะเกิดภาวะทุพพลภาพได้

สำนักนโยบายฯ ของกระทรวงสาธารณสุข หรือ สนย. สำรวจเมื่อปี 2547 ... 10 อันดับโรคของ DALYs คือ ภาวะบกพร่องทางสุขภาพในผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป โรคที่เป็นอันดับแรก ที่ทำให้สูญเสียความบกพร่องทางสุขภาพ จะเป็นอัมพาตเหมือนกันทั้งผู้หญิง และผู้ชาย แต่อันดับสอง ผู้ชายจะเป็นปอดอุดกั้นเรื้อรังเสียมากกว่า ผู้หญิงก็จะเป็นเบาหวาน และตามมาด้วยหัวใจขาดเลือด และโรคสมองเสื่อมก็ยังอยู่ในข้อ 6 และผู้ชายจะเป็นสมองเสื่อน้อยกว่าผู้หญิง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่าเพราะอะไร แต่ว่าดูแล้วผู้หญิงเราจะเป็นสมองเสื่อมเยอะกว่า ตรงนี้ก็คือ มี trend อย่างนี้ แล้วเราจะต้องทำอะไรเพื่อที่จะดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่แล้วที่อายุยืนๆ จะเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ด้วย

ถ้ามองออกนอกกรอบ เราอาจไม่ได้เน้นที่ผู้สูงอายุย่างเดียว จะเห็นว่า พระสงฆ์ที่อยุ่ที่วัด ส่วนใหญ่จะอายุมากกว่า 60 เป็นเจ้าอาวาส อายุเยอะ และลองไปดูสถิติที่โรงพยาบาลสงฆ์ ไม่ต่างกันเลย เบาหวาน ความดันมาเหมือนกัน จากการไปตรวจที่ รพ.สงฆ์ โรคในช่องปากก็มี ไม่ว่าจะเป็นเหงือกอักเสบ หรือโรคช่องปากและฟัน ก็พบสูงถึง 6-7% เหมือนกัน และตรงนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เรามองเห็นว่า ต้องเข้าไปในกลุ่มพระสงฆ์บ้าง

ในเรื่องสุขภาพ ถ้าเปรียบเทียบแล้ว ทางกายของพระพุทธศาสนาก็จะมี กาย จิต สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน ซึ่งเราก็อาจจะไปเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาก็ได้

วิธีการดูแลที่จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี เราก็คงจะมีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู

  • ในเรื่องของการส่งเสริม เราจะทำอย่างไร จะเป็นการกระทำ/ปฏิบัติตัวในการก่อให้เกิดสภาวะสุขภาพที่ดี สมบูรณ์ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขด้วย
  • สาธารณสุขมีเรื่องการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู 3 ขั้น คือ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ
    ... ขั้นปฐมภูมิ ในการส่งเสริมสุขภาพเราจะต้องลดปัจจัยเสี่ยง แต่ถ้าเกิดโรคแล้ว ก็ต้องไปแก้ไข และรักษา สุดท้ายก็คงต้องไปช่วยกันลดภาวะแทรกซ้อน ก็จะเป็ยการลดภาวะทุพพลภาพ ที่จะพยาบาลลดผู้สูงอายุกลุ่มที่สาม ที่ติดเตียงให้มาก ขึ้นมาอยู่กลุ่ม 2 เพิ่มขึ้น
    ... การส่งเสริมสุขภาพ เรายึดกฎบัตรกรุงเทพ คำย่อก็คือ PIRAB หรือ PBAIR
    ... ตัว P ได้แก่ Partner
    ... การลงทุน Invest เช่น กรมอนามัยปีนี้ invest เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ให้ศูนย์อนามัยที่ 5 กับ 11 ลงทุนให้เป็น Excellent center ทางด้านสุขภาพผู้สูงอายุ นำร่องในหลายๆ เรื่องของกรมอนามัย
    ... ส่วนด้านกฎหมาย ปีนี้กรมอนามัยผลักดันว่า เรื่องปัญหาของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ให้เกิดประกาศกระทรวงฯ เพื่อที่จะไปคุมผู้ที่จะมาดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุปลอดภัย
    ... เรื่องการสร้างกระแส ก็คือ เราคงต้องช่วยกัน ในเรื่องการสร้างศักยภาพด้วย
  • การเฝ้าระวัง ดูว่า เราจะเฝ้าระวังอะไรกันบ้าง เพื่อป้องกันการเกิดโรค และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน
    ... กิจวัตรประจำวันพื้นฐาน คือ ADL และกิจวัตรประจำวันต่อเนื่อง คือ IADL
    ... พฤติกรรมสุขภาพ กรมอนามัยจะทำเรื่อง โภชนาการ ช่องปาก ออกกำลังกาย เราจะรวบรวม และประเมิน เพื่อที่จะทำให้เป็นเรื่อง surveillance
    ... ปีนี้กำลังทำข้อมูล survey เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการทำ Surveillance และจะนำกิจกรรมเหล่านี้ ไปประเมินผู้สูงอายุ เริ่มจาก 12 ศูนย์อนามัย

Barthel Index of Activity of daily living (ADL) คือ กิจวัตรประจำวันที่จะดูแลผู้สูงอายุ ก็คือ

  • Transfer (ลุกนั่งจากที่นอน หรือจากเตียงไปเก้าอี้)
  • Mobility (การเคลื่อนที่ภายในห้องหรือในบ้าน)
  • Toilet use (การใช้ห้องสุขา)
  • Grooming (ล้างหน้า หวีผม แปรงฟัน โกนหนวด)
  • Bladder (การกลั้นปัสสาวะ)
  • Bowel (การกลั้นอุจจาระ)
  • Bathing (การอาบน้ำ)
  • Feeding (การรับประทานอาหาร)
  • Dressing (การสวมใส่เสื้อผ้า)
  • Stair (การขึ้นลงบันได 1 ขั้น)

และจะประเมินผู้สูงอายุว่า ท่านสามารถช่วยตัวเองได้ระดับไหน

ส่วน IADL : Barthel Index Instrumental of Activities of daily living เป็นการใช้เครื่องมือต่างๆ ด้วย ก็คือ

  • using telephone (การใช้โทรศัพท์เอง)
  • communication (การเดินทางเอง โดยไม่ต้องใช้ความช่วยเหลือ)
  • shopping for groceries (การเลือกซื้ออาหารเอง)
  • preparing meal (การปรุงอาหารเอง อาจจะอุ่นไมโครเวฟ หรืออุ่นกับข้าว)
  • light housework (การทำงานบ้านเบาๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้านง่ายๆ)
  • taking medication (การรับประทานยาด้วยตัวเอง)
  • managing money (การจัดการเรื่องการเงิน)

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ควรจะต้องแนะนำผู้สูงอายุ คือ การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งที่เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุอยู่แล้ว และท่านเองก็ควรจะได้รู้ว่าเป็นอะไรแต่เนิ่นๆ และการรู้แต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้โรคนั้นไม่เป็นมาก ก็จะได้รักษาได้

เสาหลักของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ในวัยสูงอายุ อาจารย์บรรลุ ศิริพานิช ท่านได้เคยบอกว่า ท่านอยู่กับสภาผู้สูงอายุมานาน และท่านได้เคยถามผู้สุงอายุว่า ผู้สูงอายุมีความฝันอะไรสัก 2-3 อย่าง ผู้สูงอายุบอก 2 เรื่อง คือ ประการที่ 1 ท่านอยากมีสุขภาพดี ประการที่ 2 คือ ท่านอยากมีลูกหลานดูแล และก็ไล่ไปก็อาจเป็นเรื่องเงิน หรืออะไร ซึ่งสิ่งที่สำคัญจริงๆ แล้ว คือ ผู้สูงอายุอยากมีสุขภาพดี อยากอยู่กับลูกหลาน ซึ่งตรงนี้เราก็จะต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้ท่านอยู่กับครอบครัวได้นานที่สุด มีลูกหลานดูแล มีสุขภาพที่ดี

เสาหลักในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็คือ

  • สุขภาพและความเป็นอิสระ คือ ช่วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
  • การมีหลักประกัน คือ
    ... การบริการสุขภาพ เช่น 60 ปี เข้า รพ. ไม่ต้องเสียค่ารักษา สปสช. ก็ดูแลตรงนี้อยู่ เป็นเรื่องของบริการสุขภาพ
    ... เรื่อง รายได้ ถ้าท่านยังพอแข็งแรงอยู่ จะมีรายได้เป็นอย่างไร เข้าชมรม มีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างไร
    ... มีครอบครัว มีผู้ดูแล
    ... ที่อยู่อาศัยเป็นอย่างไร สามารถที่จะปรับที่อยู่ของท่าน ให้ท่านสามารถดูแลตัวเองได้ อาจจะปรับพื้นที่อย่างไร มีที่เกาะเดิน หรืออะไร
    ... สภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีความปลอดภัย และสิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ เรื่อง ข้อมูลข่าวสาร ก็ควรจะได้รู้ข้อมูลข่าวสาร ไปถึงไหน การรับประทานอาหารเพียงพอ จำเป็นไหม
    ... ต้องให้ข้อมูลข่าวสารด้วย เพราะผู้สูงอายุชอบบอกว่า ท่านไม่ค่อยแข็งแรง อยากทานอาหารเสริม จะต้องคุยอย่างมีข้อมูลข่าวสารให้ท่านด้วย
  • และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมสุขภาพ และความคาดหวังของเรา บอกว่าสุดท้าย Community based จะต้องช่วยดูแลตรงนี้ เพราะว่า เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวผู้สูงอายุที่สุด เจ้าหน้าที่ PCU ซึ่งตอนนี้รัฐบาลกำลังทำ PCU ให้เป็นโรงพยาบาลตำบล หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล แล้วเราจะทำอย่างไรจะให้เจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัยได้อย่างทั่วถึง ก็อาจจะต้องมีอาสาสมัคร และอาสาสมัครตรงนี้ เราก็อาจจะต้องให้ความรู้เรื่องผู้สูงอายุไปด้วย

มีการสำรวจชุมชน และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ซึ่งตอนนี้ กรมอนามัย ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และ JICA ได้นำร่องไป 4 จังหวัด ในเรื่อง การคัดกรองความเสี่ยงของผู้สูงอายุนี้เหมือนกัน ถ้าข้อมูลตรงนี้เสร็จ เราก็จะนำข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน

เรื่องเจ้าหน้าที่ที่ PCU ก็อาจต้องมี Community network มีผู้ป่วย มีครอบครัว ซึ่งจะเข้าบริการถึงบ้านได้ ไม่ต้องให้ผู้สูงอายุเดินออกมา เพื่อที่จะมาขอบริการ

นโยบายการดูแลผู้สูงอายุ ก็คิดกันว่า ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุอยู่กับครอบครัวให้นานที่สุด ถ้าอยู่ไม่ได้ หรือต้องการผู้ดูแล รัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลด้วย ผู้สูงอายุจะมี 3 กลุ่ม

  1. กลุ่มติดสังคม คือ กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม/ชุมชนได้
  2. กลุ่มติดบ้าน คือ กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองได้ แต่มีโรคเรื้อรัง อาจจะต้องมีคนพาไปโรงพยาบาล
  3. กลุ่มติดเตียง คือ กลุ่มที่ป่วยและช่วยตัวเองไม่ได้ และพิการ /ทุพพลภาพ

การจัดบริการให้แก่ผู้สูงอายุ เราสามารถจะทำอะไรบ้างในแต่ละกลุ่ม

กลุ่มแรก เราเห็นว่า ท่านช่วยเหลือตัวเองได้ เราสนับสนุนให้ท่านเข้าชมรม และ

  • มีบริการส่งเสริมสุขภาพ โดยรัฐ/ท้องถิ่น/เอกชน/ธุรกิจ
  • มีกิจกรรมสันทนาการ & Day Center หลายๆ ที่ อปท. อบต. ก็สนับสนุนในเรื่องนี้
  • การคัดกรองโรคและปัจจัยเสี่ยง เพื่อที่ท่านจะได้ไม่เปลี่ยนจากกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่ม 2

กลุ่มสอง เราต้องการให้มีบริการอะไรบ้าง

  • ต้องการบริการทางสังคม อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Home Care) ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง อสม. ก็จะมีความสามารถหลายด้านอยู่แล้ว ถ้าเรา add ในเรื่องผู้สูงอายุเข้าไป ท่านก็สามารถจะเข้าไปช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชนได้ด้วย และ เฝ้าระวังทางสุขภาพ ได้แก่ Home Health Care ของ รพศ. รพช. / Home Visit ของ กระทรวง พม.

กลุ่มสาม ต้องการดูแลทางการแพทย์ และสิ่งที่สำคัญที่อยากให้เกิดคือ การบริการที่เป็น LONG TERM CARE หรือ แบบ Nursing Home / care ซึ่งตอนนี้ สปสช. ก็ไปร่วมกับ กทม. ลองทำเป็น Bed side care ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขนาควัชระ ที่ศิริราช และได้ประสานกับศิริราชดูว่า ถ้าผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงนานๆ เขาก็จะมาไว้ที่ศูนย์ และมีการสอนญาติ ผู้ดูแล ประมาณ 1-2 เดือน และให้กลับไปอยู่ที่บ้าน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาอยู่

การส่งเสริมสุขภาพ เราก็มีแนวความคิดที่จะดูแลผู้สูงอายุทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมา และได้มีการทำแผนที่ยุทธศาสตร์ โดยตอนแรกกรมอนามัยใช้ PMQA ร่วมกับ Balanced scorecard โดยที่ สุดท้าย เราอยากให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ ครั้งแรก เน้นด้าน service oriented approach 

ต่อมา อาจารย์อมร นนทสุต ท่านมาให้ข้อคิดกับกรมอนามัยว่า การทำงาน ต้องลงไปสู่พื้นที่ได้ สามารถเข้าไปสู่จังหวัด อำเภอ ตำบลได้ จึงมาปรับยุทธศาสตร์ ที่สะเมิง สุดท้ายก็ได้ SM หรือแผนที่ยุทธศาสตร์ version ใหม่ เป็น 4 ระดับ ก็คือ ระดับพื้นฐาน ระดับกระบวนการ ระดับภาคี และระดับประชาชน

จุดเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุต้องแก่ลายคราม นั่นคือ ตัวท่านต้องมีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี ประเด็นสูงสุดที่ควรจะเป็นก็คือ ผู้สูงอายุจะต้องตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเอง และ KRI หรือ Outcome ก็คือ ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ และในมิติต่างๆ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดเป็นผู้สูงอายุแก่ลายคราม

เกณฑ์สำหรับ ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ ก็คือ ผู้สูงอายุต้อง

  • มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม
  • มีฟันที่ใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ โดยมีฟัน 4 คู่สบ
  • มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ /หรือ รอบเอวอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ช่วยตนเองและผู้อื่นได้ตามอัตภาพ
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที

ผลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพผู้สุงอายุ ปี 2551 มีการดำเนินการในเรื่องของชมรมผู้สูงอายุ วัดส่งเสริมสุขภาพ และ Home health care

... ณ วันนี้ กองทันตฯ ก็ได้ทำเรื่อง ส่งเสริมสุขภาพช่องปากนำร่องไปในหลายจังหวัดแล้ว และในแผน 4 ปี ของกรมอนามัย กองทันตฯ ได้นำเสนอเรื่อง ยุทธศาสตร์ผู้สูงอายุ ว่า จะมีชมรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ในปี 2553-2554 จำนวน 400 ชมรม ... เราก็จะเห็นชมรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก 400 ชมรม ...

การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในภาพรวม จะมี

  • ชมรมผู้สูงอายุ ที่ตั้งเกณฑ์ว่า มีชมรมผู้สูงอายุจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ได้รับการตอบรับมาว่า เป็นตัวชี้วัดที่อ่อนมาก และไม่ท้าทาย เลยถูกตัดออกไปจากสำนักตรวจในปี 52 เพราะมากกว่าร้อยละ 90 แล้ว (99.3%)
  • เรื่องวัดส่งเสริมสุขภาพก็มีความสำคัญ วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งคิดว่า เรื่องของฟัน อาจจะลงในวัดก็ได้ เพราะพระสงฆ์ก็มีปัญหาของปากและฟัน และมีเหงือกอักเสบด้วย เป้าหมายวัดส่งเสริมสุขภาพ และเครือข่ายพระสงฆ์ ได้เป้าหมาย 1 อำเภอ 1 วัดส่งเสริมสุขภาพ และมีการตอบรับได้ 91% จากทั่วประเทศ ... พระสงฆ์ท่านมีศักยภาพ มีองค์ความรู้ และทันสมัย ... ท่านบอกว่า สิ่งที่ท่านอยากให้คืนสังคมบ้าง ก็คือ รู้สึกว่า มีเรื่องนี้เข้ามา ท่านจะได้คืนสังคม
  • เรื่องการดูแลผู้สุงอายุที่บ้าน ในปี 2548 เราเริ่มทำเรื่อง Home health ตั้งเป้าหมายว่า รพศ./รพช. จะต้องมีการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านร้อยละ 100 ของ รพศ. ครบแล้ว ส่วนของ รพช. ได้ประมาณ 93%

สิ่งที่อยากเห็นอีก ก็คือ รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุว่า ผู้สูงอายุ 3 กลุ่ม เราจะทำอะไรกับเขาได้บ้าง

  • กลุ่มที่พึ่งตัวเองได้ หรือติดสังคม
    ... ให้เขามีการพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องกิจกรรมออกกำลังกาย โภชนาการ หรือช่องปากก็ตาม
    ... ให้มีวัดส่งเสริมที่ยั่งยืน เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เพราะว่าวัดเป็นศูนย์กลาง มีศูนย์ดูแลกลางวัน เช่น หลายๆ ที่ที่ทำไว้ เพชรบุรี ที่บ้านลาดกำลังเริ่มทำศูนย์ดูแลให้กับชุมชนเหมือนกัน
  • กลุ่มที่สอง และสาม คล้ายๆ กัน คือ จะต้องมีเรื่อง service เข้ามา
    ... การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้ได้มาตรฐาน
    ... พัฒนาคน ที่ทำงานกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น PCU อาสาสมัคร หรือ รพช.
    ... ปีนี้ จะพัฒนาหลักสูตร ทั้งของผู้ปฏิบัติงาน และอาสาสมัคร เพื่อที่จะได้ใช้เป็นศูนย์กลางให้ใช้ได้
    ... ส่วนสิ่งที่ทำในปีที่แล้ว จะทำให้เกิดรูปแบบว่า มีรูปแบบอะไรบ้างในชุมชน ที่ไปดูแลผู้สูงอายุ เราได้รูปแบบว่า 2 อย่าง เป็นรูปแบบในสถานบริการ กับในชุมชน ในสถานบริการจะทำใน รพ. ในชุมชน มีวัด ท้องถิ่น ชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งตรงนี้ เราอาจ add งานช่องปากเข้าไปได้

ตัวอย่างที่ทำมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น เช่น

  • อบต.บางสีทอง / สอ. บางสีทอง
    ... ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน โดยฝึกอบรม อผส. ให้ดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทั้งตำบลบางสีทอง
  • วัดห้วยเกี๋ยง ที่เชียงใหม่
    ... ใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการดูแล และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
    ... มีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพในวัด ใช้วิธีการ Empowerment และการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • รพ.น้ำพอง
    ... ตรวจคัดกรองสุขภาพ ครอบคลุมทั้งตำบล
    ... พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน โดยอบรมผู้ปฏิบัติงาน HHC
    ... อบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ และ
    ... จัดตั้งกองทุนส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
  • อบจ. ตราด
    ... Day Care สำหรับผู้สูงอายุโดย อบจ.
    ... โครงการ/กิจกรรม   เพื่อผู้สูงอายุ
  • ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ของ ต.สมอพลือ จ.เพชรบุรี
    ... ผู้ว่าราชการจังหวัด และ อบต. สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคาร และงบประมาณดำเนินการ
    ... พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน และอาสาสมัคร โดยกระทรวงสาธารณสุข

ปัจจัยในการทำงานที่ทำให้เกิดความสำเร็จ นั้นก็คือ

  • การบูรณาการงานในระดับพื้นที่
  • การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเช่น จังหวัดนนทบุรี
  • ต้นทุนทางสังคมในการดำเนินงานผู้สูงอายุ ชุมชนเข้มแข้ง
  • ผู้บริหารให้ความสำคัญ
  • การได้รับการยอมรับจากชุมชน และการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย
  • การได้รับสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น อบจ. ตราด

กลยุทธ์ : ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

  • สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีการสำรวจสุขภาวะ และความต้องการของผู้สูงอายุก่อน เพื่อเป็นการนำร่อง เพราะแต่ละพื้นที่จะมีความต้องการ หรือปัญหาต่างกัน เพื่อให้ได้ปัญหา และความต้องการจริงๆ จากท้องถิ่น
  • ผลักดันให้เกิดเครือข่ายผู้สูงอายุระดับจังหวัด และสามารถช่วยกันได้
  • สร้างกระแสสังคมด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ในทุกๆ ที่ สร้างให้ผู้สูงอายุตระหนัก สังคมรู้คุณค่า และช่วยกันที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยด้วย
  • พัฒนามาตรฐานสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ
  • พัฒนาสมรรถนะผู้ดูแลผู้สูงอายุ

กิจกรรมต่างๆ ที่ทำ วัดก็ยังเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ มีวัดที่ได้รับเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ มี HAS ดีเด่น วัดจึงมีศักยภาพ ถ้าเราได้เอาความรู้เรื่องแผนสุขภาพเข้าไปได้ ก็จะส่งผลสำเร็จได้เหมือนกัน

รวมเรื่อง สุขภาพช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคทางระบบ

  

หมายเลขบันทึก: 248390เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2009 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท