ผู้กล้า "มะเฮตีไท้ซาน"


หากกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองสูงสุดเกิดพลาดพลั้ง พ่ายแพ้ มิใช่เพียง “มะเฮตีไท้ซาน” เท่านั้นที่จะพ่าย หากหมายถึงการพ่ายแพ้ของเด็ก ๆ ที่เกิดจากแม่พ่อหลบหนีเข้าเมือง ลอดรัฐเข้ามาอาศัยในแผ่นดินไทยทุกคนด้วย

18 ตุลาคม 2551

 

ผมคิดกลับไปกลับมาหลายตลบว่าจะอธิบายเหล่าแม่ชาวพม่าในสวนมะพร้าวอย่างไรดี คนต่างชาติจะงุนงงไหม ว่ากฎหมายประเทศไทยอนุญาตให้แจ้งเกิดลูกที่เกิดในแผ่นดินไทยได้ทุกคน แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ-ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายกลับบอกว่าทำไม่ได้ ตกลงแล้วกฎหมายของประเทศไทยนั้นปฏิบัติได้หรือไม่ ?

 

ผมคิดไม่ออก เลยต้องบอกตรง ๆ ยาว ๆ ไปว่า ทางเทศบาลเมืองระนอง ไม่ออกสูติบัตรให้ แต่ผมว่าต้องทำให้ พวกคุณจะต่อสู้ต่อไปมั้ย หากสู้ ผมจะร่วมสู้ด้วย และคุณอาจจะต้องไปไกลถึงนครศรีธรรมราช หากไม่สู้ก็จบแค่นี้ ขอแค่คนเดียวที่จะสู้เพื่อลูกของตน หากทำได้คนหนึ่ง คนอื่น ๆ ก็จะทำได้เช่นกัน

 

ผมให้พี่ข่ายแปลรวดเดียวจบ แต่ละคนได้แต่มองตาปริบ ๆ นั่งนิ่งเงียบราวกับฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอันถึงที่สุดแล้ว ต้องจำนนต่อโชคชะตา มิอาจฝืน

 

สายลมพัดเอื่อย ๆ ใบมะพร้าวสบัดใบผับ ๆ ทันใดนั้นก็มีเสียงแทรกขึ้นมาจากแม่ซึ่งเยาว์วัยที่สุดในนั้น

                        ตุ๊กตุ๊กเอง เธอเอ่ยขึ้น

                        ชื่ออะไรนะ ผมถามย้ำ

                        ตุ๊กตุ๊ก

           ผมกวาดสายตามอง ไล่ชื่อแม่ในท.ร.1/1 แต่ละใบ ในหนังสือรับรองการเกิดทั้งหมดนี้ไม่มีชื่อตุ๊กตุ๊ก ผมสรุป

                        มีนี่ไง เธอชี้ไปที่หนังสือรับรองการเกิดของลูก

                        ผมอ่านเบา ๆ ตินีลามิ

                        ใช่ ! ชื่อตุ๊กตุ๊ก” เธอยิ้ม

                        “แล้วลูกชื่ออะไรละ”

                        “มะเฮตีไท้ซาน”

                            “ตกลง ผมจะให้คิดก่อนแล้วผมจะกลับมาอีกครั้งว่าเราจะทำอย่างไรดี”

ความจริงแล้วนอกจากตุ๊กตุ๊กต้องคิดและตัดสินใจ ผมเองก็ต้องคิดและใคร่ครวญด้วยว่าจะทำอย่างไร เมื่อกฎหมายบอกว่า “ได้” แต่คนใช้กฎหมายบอกว่า “ไม่ได้” สำหรับผมแล้ว ผมฟันธงในใจเลยว่ากฎหมายต้องใช้ได้

ขั้นตอนต่อสู้ที่ผมคิดเอาไว้ก็คือ ผมต้องหาคนสู้ คนซึ่งกล้าหาญ และยอมรับต่อความพ่ายแพ้ได้ เหตุว่าผมไม่ได้อยู่ในฐานะผู้เสียหาย หรืออาจจะเสียหาย แล้วผมก็หาได้ ผู้นั้นคือ “มะเฮตีไท้ซาน” แต่เนื่องจากผู้เสียหายในกรณีเป็นแม่พ่อซึ่งไม่มีบัตรอนุญาตให้ทำงาน และให้อยู่อาศัย หากผมนำเธอไปด้วยกัน ผมอาจโดนข้อหา “นำพาบุคคลต่างด้าว...” ผมจึงใช้วิธีมอบอำนาจตามหลักทั่วไป และตามที่พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร

พ.ศ.2534 เปิดให้

ลำดับต่อมาคือพยานหลักฐาน ลำพังวาจาที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธมิอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการต่อสู้ทั้งปวงได้ ผมต้องหาหลักฐานมาประกอบนั้นคือ การปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างน้อยผมต้องเตรียม “คำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร แบบท.ร.31” ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เขียนหรือพิมพ์ ให้เจ้าหน้าที่ประทับตรารับหนังสือฉบับนี้ไว้ล่วงหน้า หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะพิมพ์คำร้องจากคอมพิวเตอร์

สิ่งที่ยากที่สุดในกรณีนี้ก็คือ จะเขียนอุทธรณ์คำสั่งปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้อกฎหมายข้อเท็จจริงอย่างไร ให้หนักแน่นดีที่สุด กระทั่งเจ้าหน้าที่อ่านแล้วก็มิอาจหาช่องทางปฏิเสธในการอุทธรณ์นั้นได้ ด้วยเหตุว่าการเขียนอุทธรณ์ผิดพลาดแล้ว มิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับมาดีดุจเดิมได้ และมันเสมือนการตั้งแนวทางต่อสู้ในกระบวนการทางศาลต่อไปว่าจะต่อสู้อย่างไร

หากกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองสูงสุดเกิดพลาดพลั้ง พ่ายแพ้ มิใช่เพียง “มะเฮตีไท้ซาน” เท่านั้นที่จะพ่าย หากหมายถึงการพ่ายแพ้ของเด็ก ๆ ที่เกิดจากแม่พ่อหลบหนีเข้าเมือง ลอดรัฐเข้ามาอาศัยในแผ่นดินไทยทุกคนด้วย

หมายเลขบันทึก: 248032เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2009 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท