นิราศชุมพร : การละเล่นในวันสงกรานต์สมัยนี้ (วันที่ ๓ ในชุมพร)


ทำไปทำมาก็หนีการพนันขันต่อไปไม่ได้

จำได้ว่า เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ช่วงวันสงกรานต์ บรรดาพ่อ แม่ ลุง ป้า น้ำ อา ฯลฯ หลังจากเล่นน้ำสงกรานต์กันเรียบร้อยก็จะมีการละเล่นพื้นบ้านกัน ดูเหมือนการเล่น ล้อต๊อก จะติดตาผมมากที่สุด ล้อต๊อก ที่บ้านผม จะเป็นการนำเหรียญสลึงล้อลงจากที่เนินคือไม้ประมาณ ๕ นิ้วสู่ที่ต่ำ แล้วให้เหรียญนั้นไปประกบกับเหรียญอีกเหรียญหนึ่ง หากใครทำได้ก็จะได้เหรียญที่แต่ละคนล้อลงไปนั้น การละเล่นเช่นนี้ จะเป็นที่นิยมสำหรับเพศหญิง ส่วนเพศชายจะนิยมนำเหรียญบาท หรือไม่ก็เหรียญ ๕ บาทไปถอยให้เข้าแก่นที่ขีดเส้นยาวประมาณ ๓ เมตร กึ่งกลางของเส้นจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ใครสามารถโยน (ทอย) เหรียญเข้าแก่นได้ คนนั้นมีสิทธิ์อะไรบางอย่าง ซึ่งผมจำกติกาไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเป็นการทอยเส้น ก็คือเส้นที่ขีดยาวประมาณ ๓ เมตรนั้น เพียงแต่ไม่มีแก่น (สี่เหลี่ยมกึ่งกลาง) ใครสามารถโยนเหรียญได้ใกล้เส้นมากที่สุด หรือหากคาบ (เกี่ยว) เส้นกึ่งกลางเหรียญที่สุด คนนั้นมีสิทธิ์ที่จะโยนเหรียญให้กระทบเหรียญอื่น หากโยนกระทบได้ คนนั้นจะได้เหรียญของเพื่อน แต่ถ้าโยนแล้วไม่กระทบ ก็จะมาเริ่มถอยเส้นกันใหม่
                ส่วนปัจจุบันที่ผมเห็นในวันสงกรานต์ที่ผ่านมานี้ การละเล่นที่พบคือ ๑) บิงโก ๒) สมสิบ ๓) ดำมี่ (รำมี่) สำหรับกติกานั้น ผมคงอธิบายได้ไม่หมด จึงขออธิบายเฉพาะเท่าที่สังเกตและสัมภาษณ์มาเท่านั้น ดังนี้
                บิงโก มีอุปกรณ์คือ ๑) แผงตัวเลข ในแต่ละแผงจะมีแถวของตัวเลข ๕ X ๕ แถว เฉพาะแถวกลางจะมีสี่ช่อง ส่วนแถวข้างจะมีแถวละ ๕ ช่อง แต่ละช่องจะเป็นตัวเลข ๑ – ๗๕ แต่ละแถวของแผงจะมีตัวเลขที่แตกต่างกัน  ๒) ลูกบิงโก ซึ่งทำจากพลาสติก มีตัวเลขประทับอยู่ด้านบน ๓) กระป๋อง สำหรับใส่ลูกบิงโก ส่วนกติกานั้น เริ่มจากตั้งค่าของแผงเช่น แผงละ ๒ บาท หากใครเอาไป ๓ แผง ก็ต้องวางเงิน ๖ บาท ลงกองกลาง เมื่อแต่ละคนมีแผงที่ตัวเองพอใจแล้ว ผู้เรียก จะหยิบลูกบิงโกที่คนคละแล้วในกระป๋องออกมาทีละลูก แต่ละลูกที่เรียกเป็นเลขอะไร ให้ผู้เรียกอ่านเลขนั้นดังๆ ส่วนเจ้าของแผงก็จะวางเครื่องหมายซึ่งอาจเป็นก้อนหินเล็ก หรือกระดาษ หรือลูกปัด แล้วแต่จะหาได้ ลงบนแผงที่ตนมีเลขตรงกับเลขที่ผู้เรียกได้เรียกแล้ว หากแถวในแผงของใครเต็มก่อน ผู้นั้นจะขานว่า บิงโก เพื่อให้เพื่อนทราบว่า ตนจบเกมแล้ว และจะได้รับเงินกองกลางทั้งหมด จากนั้นจึงเริ่มเกมใหม่ สำหรับการเกมนั้นมีดังนี้ คือ สี่มุมนอก สี่มุมใน เฉียง (ผ่ากลาง) และแถวเรียง
                สมสิบ มีอุปกรณ์คือ ไพ่ฝรั่ง ๑ สำรับ มีลักษณะดอกที่ไม่เหมือนกัน ๔ ดอกคือ ดอกดำ (โพธิดำ) ดอกแดง (โพธิแดง) ดอกจิก และดอกหลาม (ข้าวหลามตัด) เรียงลำดับจาก ๑-๑๐ และ แหม่ม (ควีน-Q) แย็ก (แจ๊ค-J) และ เค (คิง-K) จะให้ดี ผู้เล่นต้อง ๓ คนขึ้นไป โดยนั่งเป็นวง มีการปูผ้านิ่มไว้ตรงกลางเพื่อรองไพ่ จากนั้น ผู้ได้รับฉันทานุมัติให้แจกไพ่ ก็จะสับ (สลับ) ไพ่ แจกทีละตัวรอบวง จนครบห้าตัว จากนั้นจึงหงายไว้กลาง ๑ ตัว เรียกว่า “โจ๊ก” และหงายอีกตัวหนึ่ง เรียกว่าตัวที่ ๖ สำหรับให้ผู้ชนะในดาน (เกม) ก่อนได้ผสม กติกาคือ ผสมไพ่สองตัวอย่างไรก็ได้ให้ได้สิบ เช่น ๒ คู่ ๘ เป็น ๑๐ ๗ คู่ ๓ เป็น ๑๐ เป็นต้น ส่วน J คู่ J K คู่ K และ Q คู่ Q หากต้องการจะเล่นดอก ไพ่บนมือต้องเป็นดอกใดดอกหนึ่งทั้งหมด หรือหากจะเล่นอั้ง ไพ่บนมือต้องมีเฉพาะ J K Q เท่านั้น ส่วนรายละเอียดหยุมหยิม เช่น โจ๊กจะได้รับเงินจากรอบวง หรือ ใครมี K ดำ (โพธิดำ) จะได้รับเงินรอบวง อันนี้แล้วแต่กติกาของแต่ท้องถิ่น
                ดำมี่ มีอุปกรณ์คือ ไพ่ฝรั่ง ๑ สำรับ ลักษณะไพ่เหมือนกับสมสิบ ส่วนวิธีการเล่นนั้น ผมขออนุญาตไปศึกษาให้ชัดเจนก่อนนะคุณกรัชกาย
                นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านนำมาเล่นกันในเทศกาลสงกรานต์ หลังจากมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุแล้ว ทำไปทำมาก็คือการพนันขันต่อนั่นเอง เพียงแต่การพนันนี้มิได้เล่นเอาเป็นเอาตาย เงินพนันก็เป็นเงินเล็กน้อยคราวละบาท สองบาท สามบาท แล้วแต่จะตกลงกัน และแล้วการพนันก็มีแพ้และชนะ ผู้แพ้หากไม่คิดอะไรมาก เล่นสนุกๆ ก็ไม่เป็นปัญหา แต่หากต้องการชนะเพียงแต่กลับมาแพ้ อันนี้คงมีปัญหา บางคนเงินที่ได้มาจากการละเล่นก็ไม่เอาไปไหน ยกให้ลูกเด็กเล็กแดงไปกินขนมกัน ส่วนคนที่เล่นไม่เป็นก็ยืนดู นั่งชม คอยเชียร์อยู่บ้างๆ ตามอัธยาศัย
                ผมเห็นข้อดีอย่างหนึ่งของการพนันดำมี่ คือการคำนวณคู่ต่อสู้ การคาดคะเน วิเคราะห์ไพ่ และการนับคะแนนในไพ่แต่ละตัว คนไทยน่าจะเก่งคณิตศาสตร์มานานแล้วกระมัง กับไพ่ตอง และไพ่คุ่ยที่คุณลุงคุณยายชอบเล่นกัน “เรื่องทุกเรื่อง ทำให้เป็นย่อมเป็นประโยชน์เสมอ”

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาและปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 24762เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2006 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท