สัมผัสจิตวิญญาณผ่านการร่ายรำปัญจลีลา (๒)


ผมชอบวิธีสอนของลูซี่อันหนึ่ง คือ เธอไม่พูด(บรรยาย)มาก หรือบางครั้งก็ไม่พูดเลย เช่น เช้าวันอาทิตย์ พอเก้าโมงตรงตามที่นัดหมายกัน ลูซี่เปิดเพลงแล้วก็ร่ายรำกลางฟลอร์ พวกเราที่มาถึงแล้วเป็นส่วนใหญ่เข้าใจความหมายโดยไม่ต้องพูดกัน ทุกคนก็ออกไปเต้นด้วย ต่างคนต่างเต้นไปตามลีลาของตน เต้นกันไปพักใหญ่ถึงได้ยินเธอพูดว่า เรากำลัง warm up กัน

หลังจาก warm up แบบฟรีสไตล์แล้ว เธอก็ต่อด้วยการวอร์มแบบเมดเลย์ต่อเนื่อง ๕ จังหวะเลย จังหวะละประมาณ ๕ - ๑๐ นาที โดยเริ่มจากจังหวะไหลลื่น (Flow) แล้วต่อด้วยฉึกฉักหักมุม (Staccato) ไร้ระเบียบ (Chaos) พริ้วไหว (Lyrical) และจบลงด้วยการเต้นในลีลาสงบนิ่ง (Stillness) การเต้นในลีลาสงบนิ่งนี้ ลูซี่ใช้เป็นภาคจบของการเต้นทุกลีลาอยู่แล้ว

วิธีการสอนของลูซี่ทำให้ผมนึกถึงดิวอี้ (John Dewey) นักปรัชญา-จิตวิทยาการศึกษา เจ้าของทฤษฎีเรียนรู้โดยลงมือทำ (Learning by Doing) และทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning) ผมว่าอย่างที่ลูซี่ทำนี่แหละคือตัวอย่างของจริงเลย มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้เป็นคุณสมบัติประจำตัวอยู่แล้วทุกคน และการเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือจากการลงมือทำ การสร้างความหมายของสิ่งต่างๆ ขึ้นด้วยประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติ

ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่ผมทำงานอยู่ เราพูดกันมากเรื่องจะทำยังไงที่จะ "สอนน้อย เรียนมาก" เพราะเราเชื่อว่าหากเรายิ่งสอน(บรรยาย)มาก ผู้เรียนก็จะเรียน(ด้วยตนเอง)น้อยลง ก็จะได้แต่ความรู้เก่าๆ ของอาจารย์ ไม่เกิดการตั้งคำถามใหม่ๆ จากบริบทชีวิตของตน เพื่อแสวงหาคำตอบเอง เรียนเพื่อสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง และด้วยกลุ่ม ผมก็พบว่าเรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก อาจารย์ของเราบางคน พอได้ยินว่าให้ไปสอนแบบบรรยายน้อย กลับสอนไม่เป็นเอาเลยทีเดียว เพราะเคยเป็นแต่ผู้บรรยาย (lecturer) ไม่เคยเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ (Learning facilitator) หรือไปไกลกว่านั้น คือ เป็นผู้ร่วมเรียนรู้ (Learning Partner)

แม้ลูซี่จะไม่พูดเรื่องแนวคิดทฤษฎีในเชิงปรัชญา แต่เธอก็รอบรู้เรื่องปรัชญาดีทีเดียว หลังจากจบการอบรมวันสุดท้าย เธอมีสัมภาระเยอะจึงต้องการใครสักคนที่มีรถช่วยไปส่งเธอที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผมอาสาไปส่ง ระหว่างนั่งไปในรถก็คุยกันไปเรื่อยๆ ผมพูดถึงเรื่องการสื่อสารที่เราให้ความสำคัญกับคำ (word) ทั้งๆ ที่เรามีคำใช้กันจำกัดมาก ยิ่งคำที่ใช้สำหรับบอกความรู้สึกแล้วยิ่งมีน้อยกว่าคำสำหรับเรียกสิ่งของมาก ทำให้หลายครั้งเราไม่ได้ยิน "สาร" ที่คนอื่นต้องการสื่อกับเราจริงๆ เราไม่ได้ยินเสียงของกาย (ภาษาท่าทาง) ไม่ได้ยินน้ำเสียงที่ออกมากับคำพูด หรือไม่ก็แสร้งไม่ได้ยิน ยิ่งผมเองยิ่งถนัดในการใช้ความคิดเชิงเหตุผล ชอบใช้เหตุผลเอาชนะคนอื่น ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงจากใจของผู้อื่นซึ่งก็คือ "ความหมาย" จริงๆ ที่เขาต้องการสื่อ แล้วผมก็นึกถึงคำพูดนักปรัชญาคนหนึ่งขึ้นมา จึงยกคำพูดนั้นขึ้นมาว่า "หัวใจมีเหตุผลที่เหตุผลไม่เข้าใจ" เธอบอกได้ทันทีว่าเป็นคำพูดของนักปรัชญาฝรั่งเศสคนหนึ่ง ผมบอกว่าใช่ ถ้าจำไม่ผิดก็คือ Pascal 

มีครั้งหนึ่งเมื่อจบกิจกรรม ลูซี่ให้ทุกคนมานั่งล้อมเป็นวงกลม แล้วบอกว่า "ฉันไม่พูดทฤษฎีเบื้องหลังกิจกรรมฝึกร่ายรำแต่ละอย่างมาก แต่หากมีใครอยากถามอะไรก็ถามได้ อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าฝึกๆ กันไปแล้วที่คิดว่าจะถามก็อาจไม่ถามอีกก็ได้" แล้วก็จริงอย่างที่ว่า ในวันสุดท้ายก่อนจบ เธอถามว่ามี่อะไรจะถามไหม เกือบไม่มีคำถามใดเกี่ยวกับทฤษฎีเลย เพราะพวกเราสรุปได้เองจากการปฏิบัติ แต่ถึงแม้เธอจะบอกทฤษฎีให้ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี จนกว่าจะได้ลงมือปฏิบัติและ "สัมผัส" ด้วยตนเอง

แต่ก็ใช่ว่าเธอจะไม่พูดอะไรเสียเลยทีเดียว เพียงแต่จะพูดเพียงสั้นๆ และก็เข้าประเด็นจริงๆ บางครั้งก็บรรยายสั้นเพียง ๒-๓ นาที แล้วก็ลงมือทำเลย เช่น "อวัยวะที่เราใช้ในการเต้นรำ คือ หัว ไหล่ ศอก มือ กระดูกสันหลัง เอว สะโพก เข่า และเท่้า เราจะเริ่มโดยการวอร์มอัฟแต่ละส่วนก่อน เอ้า เริ่มเลย..." แล้วพวกเราก็เริ่มทำตาม

เช้าวันเสาร์ กว่าพวกเราจะเข้ามาในห้องครบใช้เวลาพอสมควร เธอก็ให้ check in (ทักทายถามไถ่ความรู้สึกกันก่อน) แต่ไม่ต้องพูดด้วยปากว่าเช้านี้เรารู้สึกอย่างไร ให้ใช้ท่าทางแสดงออกมา บางคนก็ทำท่าง่วงนอน บางคนก็ทำท่าปวดเมื่อย (จากการที่ในชีวิตไม่ค่อยได้ออกกำลังกายแล้วมาเต้นครั้งแรกหนักไปหน่อยเมื่อเย็นวันศุกร์) บางคนก็ทำท่ากระโดดขึ้นลงแสดงว่าฟิตมาก ส่วนผมทำท่ายกนิ้วหัวแม่โป้งสองข้างเลย เพื่อจะบอกว่า สุดยอดจริงๆ ครับ

ลูซี่ยังมีเทคนิคพาพวกเราเข้าสู่การเต้นรำทีละขั้น ไม่ให้คนที่เคอะเขินรู้สึกเคอะเขินมาก เช่นในการฝึกลีลาไหลลื่น (flow) เธอเริ่มโดยการให้พวกเราเดินไปเดินมาไปทั่วฟลอร์ก่อน เดินไปทางไหนก็ได้ เดินยังไงก็ได้ ขอให้เดินไปเรื่อยๆ ให้ทั่ว ทำให้ทุกคนผ่านกลางฟลอร์ได้อย่างไม่เคอะเขิน จากนั้นก็บอกให้เดินเร็วขึ้นอีก แล้วก็เร็วขึ้นอีก แล้วก็วิ่ง เอ้าทุกคนวิ่ง... สนุกมากเลย

ความสำคัญของลีลาไหลลื่นก็คือ การไม่ใช้หัว(ความคิด)สั่งเท้าว่าให้ไปทางไหน แต่ให้ใช้ใจ(ความรู้สึก)รับรู้เอาว่าเท้าจะไปทางไหน แล้วก็ตามเท้าไป แล้วแต่ว่าเท้าจะพาเราไปไหน งานนี้เล่นเอาผมต้องฝึกหนักเอาการ เนื่องจากเป็นคนประเภทถนัดใช้หัวมาตลอด การทำอะไรออกไปเลยสดๆ โดยไม่ต้องคิดนี่ยากเหมือนกัน แต่ระยะหลังตั้งแต่ไปเข้าคอร์ส "ออกจากกล่อง" (Creativity Workshop) ของคุณ Gill เมื่อปีที่แล้ว ก็ทำให้ทำอะไรจากที่ใจสั่งได้มากขึ้น

ที่ผมชอบอีกอย่างก็คือลูซี่บอกว่าเต้นยังไงก็ได้ เพียงแต่ให้แนวคิดก่อนว่าลีลาแบบไหนเรามักจะใช้อวัยส่วนไหนเป็นหลัก เช่น ฉีกฉักหักมุม (staccato) ซึ่งหนักแน่น เราจะรวมพลังที่ศูนย์ท้อง(บริเวณสะดือ) และเท้าก็จะต้องมั่นคง เราจะรับรู้ถึงการสัมผัสกับพื้นธรณีมาก เรียกว่า grounded ซึ่งจากประสบการณ์ของเธอพบว่า คนอัฟริกันจะใช้เท้า ท้อง และสะโพกเต้นเป็นหลัก ขณะที่การร่ายรำของคนเอเชียจะใช้ส่วนบนเช่นมือ ข้อศอก ไหล่ คอและหัวมาก ของเอเชียจึงดูเหมือนจะลอยๆ อยู่ข้างบน ขณะที่อัฟริกันจะติดดินมาก รวมทั้งมีเสียงเท้ากระทบพื้นเป็นจังหวะด้วย 

การเดินแบบฉึกฉักหักมุมนี้ยังต่างจากการเดินแบบไหลลื่น (ที่มีลักษณะของคลื่นหรือ wave) ตรงที่ฉึกฉักหักมุมให้เดินแล้วหยุด แล้วหมุนตัวเปลี่ยนทิศทาง จะไปทางข้างซ้าย ข้างขวา หรือจะถอยหน้าถอยหลังก็แล้วแต่คุณ ลูซี่ให้พวกเราฝึกเดินแบบฉึกฉักหักมุมกันอยู่พักใหญ่ เดินไปไหนก็ได้ ยังไงก็ได้ แต่ขอให้เดินแล้วหยุดแล้วเปลี่ยนทิศ (ต้องหยุดก่อนจึงเปลี่ยนทิศ ไม่ใช่เปลี่ยนโดยไม่หยุด ไม่งั้นจะกลายเป็นการไหลลื่น) เดิน-หยุด-เปลี่ยน ไปแบบนี้สักพัก ผมรู้สึกสนุกขึ้นมาเหมือนกัน และก็มาทราบภายหลังว่านี่คือพื้นฐานของ staccato นั่นเอง จากนั้นพอหัดเต้นก็ใส่สะโพก ใส่เอว ใส่เข่า หรือจะใส่ส่วนบนเช่นหัวไหล่ ข้อศอก มือ หรือหัวเข้าไป ยังไงก็ได้ เพราะนั่นคือการสร้างสรรค์ของแต่ละคน

สิ่งหนึ่งที่เธอขอความร่วมมือพวกเรา คือ ระหว่างเต้นโปรดอย่าคุยกัน ขอให้อยู่กับตัวเอง ผมสังเกตว่า ตัวเธอเองก็เต้นด้วยตลอด และเธอก็อยู่กับตัวเองตลอด ไม่คุยกับใคร บางครั้งที่พวกเราบางคนเผลอคุยกัน ก็จะเห็นเธอก็ยกนิ้วชี้แตะที่ปากเธอให้คนนั้นเห็น เป็นการส่งสัญญาณว่าอย่าคุยกัน 

นอกจากนั้น ตลอด ๓ วัน นอกจากการแนะนำแนวคิดสั้นๆ แล้ว เธอไม่เคยไปแนะนำใครเป็นรายบุคคลว่าต้องเต้นยังไง มีบางครั้งที่พวกเราต้องเต้นเป็นกลุ่มกลางวง หรือบางทีก็เดี่ยว จะได้ยินแต่เสียงเธอพูดว่า "good...good" กับทุกคนตลอด ไม่เคยมีใครเต้นท่าไหนแล้ว bad เลย ทำให้ผมรู้สึกว่า ทุกท่าที่เราเต้นออกมานั้นดีเสมอ มันดีตั้งแต่เมื่อคุณเริ่มเต้นแล้ว...สรุปคือเต้นยังไงก็ได้ไม่มีทางผิด เพราะทุกอย่างที่เราแสดงออกมานั้นคือการเชื่อมโยงกายกับจิตของเราโดยมีเสียงตนตรีเป็นสื่อกลาง

บางขณะก็รู้สึกเหมือนตัวเองหลุดลอยไปไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เหมือนเข้าภวังค์ ตอนพักเที่ยงผมยังพูดกับเพื่อนบางคนว่า บางครั้งรู้สึกว่ากำลังสะกดจิตตัวเอง

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผมเองครั้งใหญ่ จากที่เคยคิดมาตลอดว่าตัวเองเต้นไม่ได้ ไม่ได้เกิดมาเพื่อเต้น กลับกลายเป็นเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราเต้นได้ และเราก็เต้นได้ดีเสียด้วย โดยเฉพาะเมื่อการเต้นนั้นมันคือตัวเรา เต้นไปตามจังหวะและเสียงดนตรีที่ผ่านหู และเราเชื่อมโยงกับท่วงทำนองนั้นได้ เต้นตามที่เท้าจะพาเราไป เอว สะโพก ไหล่ ศอก มือ หรืออวัยวะไหนในร่างกายจะพาเราไป ไม่ต้องคิด "เต้นโดยไม่ต้องคิด" เต้นด้วยจิตวิญญาณ เต้นด้วยปัญญาของร่างกายเรา ให้ร่างกายของเราได้แสดง "ปัญญากาย" ออกมา

(ยังมีต่อ)

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๐ มี.ค.๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 247530เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ติดตามตอนต่อไป

  • ตามมาอ่าน และชื่นชมในความรวดเร็วปานกามนิตหนุ่มของอาจารย์ค่ะ
  • เห็นด้วยค่ะว่า Lucie เป็นกระบวนกรที่ดี ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ไม่พูดเยอะ เพราะเรื่องนี้เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง .... พูดไปก็เท่านั้น หากผู้เข้าร่วมไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ได้
  • การเต้นปัญจลีลานี้ เหมือนกับการปฏิบัติธรรม หรือ การภาวนา หากรู้แต่ทฤษฎี ก็ไม่มีประโยชน์อันใดแก่ตนเอง (อาจมีบ้างสำหรับการโอ่ อวด ความรู้ ที่จำๆ มา)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท