การพัฒนาอาจารย์สู่งานวิชาการทางการอุดมศึกษา


การพัฒนาอาจารย์

การพัฒนาอาจารย์สู่งานวิชาการทางการอุดมศึกษา

 

บทนำ

การพัฒนางานวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับอาจารย์เป็นปัจจัยสำคัญ  ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้อาจารย์มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  และควรมีฝ่ายสนับสนุนทางด้านการพัฒนาอาจารย์ที่ชัดเจนเพื่อให้อาจารย์ปฏิบัติงานได้อย่างเป็นขั้นตอนและบรรลุภารกิจของอาจารย์ได้  นอกจากนี้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาก็ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาอาจารย์ด้วย  มีการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับอาจารย์  หากเป็นได้เช่นนี้  งานทางด้านวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาก็จะบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จได้

งานวิชาการเป็นงานที่มีความสำคัญ ดังที่  ปรียากร  วงศ์อนุตรโรจน์  (2544)  ได้กล่าวถึงงานวิชาการสรุปได้ว่า งานวิชาการเป็นงานหลักของสถานศึกษา การที่สถานศึกษาจะมีมาตรฐานและคุณภาพมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับผลงานทางด้านวิชาการ 

สำหรับในสถาบันอุดมศึกษานั้น  งานวิชาการมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของอาจารย์  ดังที่ Boyer (1990)  ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของพันธกิจของอุดมศึกษาสากลและภารกิจหลักของอาจารย์ว่ามีความสอดคล้องกัน  เนื่องจากพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาได้แก่ การสอน  การวิจัย  และการบริการชุมชน  สำหรับภารกิจของอาจารย์ซึ่งได้แก่  ภารกิจด้านการถ่ายทอดความรู้ ที่มีความเกี่ยวข้องกับพันธกิจด้านการสอน  ภารกิจด้านการสร้างองค์ความรู้ มีความเกี่ยวข้องกับพันธกิจด้านการวิจัย  และภารกิจของอาจารย์ด้านสุดท้ายคือการเผยแพร่และการนำความรู้ไปใช้ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพันธกิจด้านบริการชุมชน

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่างานวิชาการเป็นงานที่ช่วยพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาจารย์  จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาจารย์ด้วย  เนื่องจากอาจารย์มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนางานวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา

 

ข้อจำกัดของอาจารย์ในการพัฒนางานวิชาการทางอุดมศึกษาในปัจจุบัน 

1.  อาจารย์ใหม่ขาดประสบการณ์

อาจารย์ที่เข้ามาทำงานใหม่ แม้ว่าจะมีความรู้ความสามารถเพียงพอในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ของตน แต่ทั้งนี้อาจารย์ที่เข้ามาใหม่ยังขาดประสบการณ์ทางด้านการถ่ายทอดความรู้  ดังที่ ชาญชัย  อาจินสมาจาร  (ม.ป.ป. : 5)  ได้กล่าวว่า การประกอบอาชีพอาจารย์มีทักษะงานเฉพาะหลายอย่างที่ไม่ได้สอนในสถาบันการศึกษา จึงเป็นสาเหตุให้อาจารย์ใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา ไม่สามารถทำงานได้ทันที ซึ่งสอดคล้องกับ Katz,and Henry (1988:  1) ได้กล่าวถึงปัญหาของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าอาจารย์ขาดทักษะในการสอน  โดยอาจารย์มักเลียนแบบการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ที่ตนเคยได้เรียนมา  จากปัญหาดังกล่าวเห็นได้ว่า  แม้อาจารย์จะมีความรู้ทางด้านที่ตนมีความถนัดแล้ว  ยังไม่เพียงพอในการประกอบอาชีพอาจารย์  ควรมีความรู้ในด้านการสอน  การวิจัย และการบริการวิชาการให้กับชุมชนด้วย จึงจะทำให้เป็นอาจารย์ที่มีคุณภาพ 

ไพฑูรย์  สินลารัตน์ (2543 : 22-23)  ได้กล่าวถึงปัญหาที่พบของอาจารย์ที่เข้ามาทำงานใหม่ว่า  เมื่ออาจารย์เข้ามาทำงานใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของไทย  อาจารย์โดยมากจะพบกับวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง คือ การให้ความเชื่อถือแก่คนที่มีตำแหน่งเป็นอาจารย์เท่าๆ กัน  เพราะคิดว่าอยู่ในฐานะอาจารย์เหมือนกัน  ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ทำให้บางคนหรือหลายคนมองว่า  คนทุกคนที่ประกอบวิชาชีพอาจารย์มีความสามารถสูงเท่ากันซึ่งในทางวิชาการแล้วไม่เป็นเช่นนั้น  แนวความคิดและแนวปฏิบัติเช่นนี้ทำให้อาจารย์จำนวนไม่น้อยหมดโอกาส  ที่จะเรียนรู้และเติบโตเป็นนักวิจัยที่ดีต่อไปเพราะขาดโอกาสได้รับการฝึกฝน เรียนรู้จากอาจารย์รุ่นก่อนรวมถึงทำให้การพัฒนาอาจารย์เป็นไปอย่างไม่มีขั้นตอน 

ดังนั้นจึงเห็นว่าหากอาจารย์ขาดประสบการณ์ในทางการสอน และขาดผู้ที่คอยแนะนำในการทำงานด้านวิชาการแล้ว อาจารย์ใหม่ต้องใช้ระยะเวลานานในการเรียนรู้งานทางด้านวิชาการ  และนอกจากนี้หากมีการเรียนรู้ที่ไม่ถูกขั้นตอนก็จะส่งผลให้อาจารย์พัฒนางานทางด้านวิชาการจะทำให้การทำงานด้านวิชาการของอาจารย์ไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ 

2.  เกณฑ์ในการกำหนดภารกิจด้านงานวิชาการไม่ชัดเจน

จากภารกิจของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาระดับสากลซึ่งประกอบด้วย การสอน      การวิจัย การบริการชุมชน และสำหรับในประเทศไทยได้เพิ่มภารกิจด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  เพื่อให้คนไทยนั้นตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย แต่ในปัจจุบันพบว่าภารกิจด้านงานวิชาการของอาจารย์นั้น  อาจารย์ได้ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ในภารกิจทั้งสี่ด้านนั้นไม่เท่ากัน  ดังที่เตือนจิตต์  จิตอารี  (2537 : 28-34) ได้ศึกษาพบว่า อาจารย์ให้ความสนใจต่อภารกิจด้านการสอนมากที่สุด  รองลงมาคือการวิจัย  ทำให้เห็นว่าภารกิจด้านบริการชุมชนและการทำนุบำรุงศิลปะนั้นอาจารย์ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร  สาเหตุหนึ่งนั้นเป็นเพราะงานทั้งสองด้านนี้ยังไม่มีการกำหนดให้ชัดเจนว่าอาจารย์จะต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะบรรลุภารกิจดังกล่าว  ทำให้อาจารย์ส่วนใหญ่มองข้ามภารกิจดังกล่าว และสนใจเฉพาะงานด้านการสอนและการวิจัยซึ่งเป็นภาระงานที่มีความชัดเจนมากกว่า รวมถึงภารกิจด้านงานวิจัยเป็นงานที่สำคัญเนื่องจากมีส่วนช่วยส่งเสริมทางด้านความก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์   จึงทำให้อาจารย์มักสนใจกับภาระงานด้านการสอนและภาระงานด้านการวิจัยเป็นอย่างมาก   ด้วยเหตุนี้ทำให้ภารกิจของอาจารย์ในแต่ละด้านนั้นขาดความความสมดุล  ไม่มีความชัดเจน  เป็นเหตุให้อาจารย์ไม่สามารถปฏิบัติภาระงานได้อย่างครบถ้วน

            จากปัญหาดังกล่าว  ทำให้เห็นว่าเกณฑ์ในการกำหนดภารกิจของอาจารย์นั้นไม่ชัดเจน  ทำให้อาจารย์ให้ความสำคัญกับการสอนและการวิจัยมากเนื่องจากเป็นภารกิจที่ส่งเสริมให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ  จนละเลยการบริการชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ด้วยเหตุนี้อาจารย์จึงไม่มีโอกาสได้รับความรู้และประสบการณ์จากภายนอก  ส่งผลให้การเรียนการสอนและการวิจัยของอาจารย์ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นไปของสังคมภายนอก

3.  อาจารย์ไม่ต้องการพัฒนาตนเอง

การพัฒนาอาจารย์เป็นสิ่งที่จำเป็นในสถาบันอุดมศึกษา  เนื่องจากอาจารย์เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุดในการช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้นได้  ดังนั้นในการรับบุคคลเข้ามาประกอบวิชาชีพนี้จึงจำเป็นต้องคัดเลือกให้เหมาะสม ควรเป็นผู้ที่ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอและสามารถยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้  ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการคัดเลือกผู้ที่จะมาประกอบอาชีพอาจารย์เป็นสิ่งที่สำคัญ  เพราะหากผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพอาจารย์แล้ว เฉื่อยชาในการสอน  ไม่ยอมปรับปรุงการเรียนการสอนเท่าที่ควรซึ่งมีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ให้ความสำคัญของการพัฒนาตนเอง  คิดว่าตนเองมีความรู้ในเรื่องนั้นดีแล้ว  อาจารย์บางคนคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเอง  หรืออาจารย์ไม่ทราบข้อบกพร่องของตนเองคิดว่าตนเองสอนได้ดีแล้ว  หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันเศรษฐกิจที่บีบรัด  ทำให้อาจารย์ต้องหารายได้พิเศษภายนอก  จึงไม่มีเวลาอุทิศให้กับงานในหน้าที่ได้อย่างเต็มที่  จำเป็นต้องหารายได้พิเศษ  ด้วยการเพิ่มชั่วโมงสอน  หรือบางสถาบันกำหนดให้อาจารย์ทำงานด้าบริหารควบคู่กับการทำงานด้านวิชาการด้วย จากสาเหตุดังกล่าวเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้อาจารย์ไม่มีเวลาพอที่จะพัฒนาตนเองทั้งสิ้น

4.  สถาบันอุดมศึกษาไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาอาจารย์

ผู้บริหารเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ควรเห็นว่าการพัฒนาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับอาจารย์จะช่วยส่งเสริมให้อาจารย์มีการพัฒนาขึ้น แต่ในปัจจุบันผู้บริหารยังไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาอาจารย์เท่าที่ควร  เห็นได้จาก  ไม่มีนโยบายการพัฒนาอาจารย์อย่างชัดเจน  เมื่อเกิดความต้องการพัฒนาในด้านใดก็จะไปเร่งในด้านนั้น  ขาดทิศทางในการดำเนินการ   ไม่มีการกำหนดการพัฒนาอาจารย์ระยะสั้นหรือระยะยาว การพัฒนาอาจารย์จึงไม่เป็นรูปเป็นร่างตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ดังที่ จุฑา  เทียนไทย (2546 : 71) ได้กล่าวถึงกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับอาจารย์ที่มีความเข้มงวดมากเกินไป เช่น ในการขอทุนเพื่อศึกษาต่อ มีการกำหนดการชดใช้ทุนการศึกษาในจำนวนที่มาก  หรือการขอทุนก็ต้องยื่นใบสมัครก่อนที่จะไปสอบคัดเลือก  ถ้าหากไปสอบคัดเลือกได้แล้วจึงมาขอรับทุนก็ไม่มีสิทธ์ที่จะรับทุนนั้น  หรือการไปอบรมสัมมนาบางครั้งมีวิทยากรจากต่างประเทศมาบรรยายและต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมฟังซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงพอสมควร  แต่อาจารย์ไม่มีโอกาสเข้าร่วมรับฟัง  เพราะทางสถาบันอุดมศึกษาไม่ช่วยเหลือในเรื่องนี้  คงมีแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมได้  สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า  การส่งเสริมการพัฒนาอาจารย์ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารอย่างเต็มที่ 

5.  งานวิชาการไม่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน

ไพฑูรย์  สินลารัตน์ (2546 : 6-7) ได้กล่าวถึงวิชาการในประเทศไทยไว้ว่า งานวิชาการมีลักษณะเป็นบริโภคนิยม  ไม่ได้เป็นผู้สร้างผลงานหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆขึ้น  เป็นการบริโภคความรู้จากต่างประเทศ ทำให้เห็นว่าความรู้ทางวิชาการนั้นไม่ได้เกิดจากการคิดค้นขึ้นเอง  แต่เกิดจากการรับผลงานวิชาการจากต่างประเทศ  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลงานวิชาการนั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง  ทำให้ความรู้ที่อาจารย์ถ่ายทอดมานั้นไม่ตรงกับความต้องการของสังคมในปัจจุบัน  อีกทั้งเนื้อหาสาระที่นำมาสอนยังมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับสังคมน้อยมาก  ไม่ได้นำปัญหาต่างๆ ในสังคมมาวิเคราะห์และบรรจุลงในหลักสูตรและการสอนเท่าที่ควร  ทำให้ผู้เรียนมีความคิดแคบและเห็นแก่ตัวมากขึ้น  รวมถึงการเรียนการสอนที่ไม่เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการค้นคว้าและแสวงหาคำตอบให้ได้ด้วยตนเอง  แต่เป็นการบรรยายที่รับความรู้โดยตรงจากผู้สอนเพียงอย่างเดียว  และการพัฒนาการเรียนการสอนที่พัฒนาโดยไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการวิจัยและการบริการชุมชน   โดยเห็นได้จากการเรียนการสอนและการให้บริการชุมชนมีการแบ่งแยกกัน  กลุ่มอาจารย์ผู้ให้บริการชุมชนและกลุ่มอาจารย์ผู้สอนเป็นคนละกลุ่มกัน  กิจกรรมก็เป็นคนละชนิดกัน

สาหตุดังกล่าวนี้ทำให้งานวิชาการนั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม  ทั้งจากเนื้อหาที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนที่รับมาจากต่างประเทศ  รวมถึงวิธีการสอนที่ไม่เน้นให้ผู้เรียนเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้  จึงไม่ทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาขึ้นอย่างแท้จริง

 

แนวทางการพัฒนาอาจารย์สู่งานวิชาการทางการอุดมศึกษา

1.  เน้นการนำเทคโลยีมาใช้

สมาน  รังสิโยกฤษฎ์  (2533 : 82-83)  ได้กล่าวไว้ว่า วิทยาการเทคโนโลยีต่างๆ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงและเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ  ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ในสมัยหนึ่ง  อาจกลายเป็นผู้ที่หย่อนความสามารถไปในอีกสมัยหนึ่งได้ 

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการที่อาจารย์ปฏิบัติงานทำงานไประยะหนึ่ง  จึงต้องมีการพัฒนาเพื่อให้ทำงานได้ดีเช่นเดิม    ควรมีการพัฒนาอาจารย์ให้สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพของอาจารย์  ตัวอย่างเช่นการพัฒนาอาจารย์ในสหรัฐอเมริกาเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างองค์กรเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการใช้เทคโนโลยีประเภทต่างๆ และในสถาบันอุดมศึกษามีการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า PT3 (Preparing Tomorrow's Teachers to Use Technology) ทำหน้าที่เตรียมอาจารย์ให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสอน เนื่องจากเห็นว่าอนาคตของสถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องใช้การสอนที่บูรณาการเข้ากับเทคโนโลยี

จากการพัฒนาดังกล่าว  ทำให้เห็นว่าการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของการถ่ายทอดความรู้ที่ดี ในปัจจุบันนี้คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาจะต้องตระหนักถึงโอกาสที่นักศึกษาของตนสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ใช่แต่เพียงในชั้นเรียนจากอาจารย์ผู้สอนโดยตรงเท่านั้น หรือจากตำราเล่มเดียว เนื่องจากในยุคปัจจุบันนิสิตนักศึกษาสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้จากระบบเครือข่ายนานาชาติ  คณาจารย์จึงควรได้รับการพัฒนาในเรื่องการใช้เทคโนโลยี เพื่อที่จะได้นำความรู้ความสามารถดังกล่าว มาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งควรที่จะจัดทำโครงการฝึกอบรมทางด้านการใช้เทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการศึกษาให้แก่อาจารย์ทุกคน โดยคำนึงถึงภารกิจด้านงานวิชาการที่อาจารย์จะต้องปฏิบัติและระดับความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีที่อาจารย์แต่ละคนก็มีความชำนาญแตกต่างกัน  ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีนอกจากจะทำให้อาจารย์บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติภารกิจด้านงานวิชาการแล้วยังช่วยให้อาจารย์ทุกคนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิชาการได้ในสาขาของตนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้นด้วย

          2.  มีฝ่ายสนับสนุนภารกิจอาจารย์ที่ชัดเจน

            การพัฒนาอาจารย์ควรดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอำนวยความสะดวกให้กับอาจารย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจารย์จำเป็นต้องใช้  ดังที่ ไพฑูรย์  สินลารัตน์ (2543 : 35)  ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจัยทางอ้อมที่ช่วยในการพัฒนาอาจารย์  คือ  การจัดบริการต่างๆ อำนวยความสะดวกให้แก่คณาจารย์  ได้แก่  วัสดุ อุปกรณ์  พาหนะเดินทางและที่พัก  เพื่อให้คณาจารย์สามารถใช้เวลากับการทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวล  ทั้งนี้ในปัจจุบันการอำนวยความสะดวกทางด้านวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อาจยังไม่เพียงพอพอสำหรับอาจารย์  อาจารย์ควรได้รับการพัฒนาที่สอดคล้องกับภารกิจหลักของอาจารย์ด้วย จึงควรมีการจัดเตรียมความพร้อม  ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ  เช่น  ห้องสมุดมีหนังสือที่ทันสมัยและมีจำนวนเพียงพอ เพื่อเปิดโลกทัศน์ของอาจารย์ให้กว้างขึ้น  หรือการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอาจารย์ขึ้น  เพื่อสนับสนุนภารกิจของอาจารย์  ในการเป็นหน่วยงานหลักในการจัดอบรม  สัมมนา  ศึกษาดูงานและให้ความรู้แก่อาจารย์ประจำของสถาบันอุดมศึกษา  อีกทั้งเพื่อการสร้างความเข้าใจในบทบาทของวิชาชีพ  พัฒนาทักษะการสอน และการบริหารงานอุดมศึกษาให้แก่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีทั้งอาจารย์ชาวไทยและชาวต่างชาติ  รวมถึงในศูนย์ดังกล่าวมีการติดตามศึกษาความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและนำมาเผยแพร่ให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาได้รับทราบ 

            ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าหากมีการอำนวยความสะดวกด้านการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการมีหน่วยงานสนับสนุนภารกิจของอาจารย์ที่ชัดเจน  จะทำให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นสามารถปฏิบัติงานทางวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาไปได้อย่างถูกทิศทาง   และเป็นผู้นำทางวิชาการให้กับสังคมได้

          3.  มีบรรยากาศในการสร้างงานวิชาการ

สำหรับการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของคณาจารย์ในการพัฒนาองค์ความรู้ที่จะทำให้การอุดมศึกษาของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำโครงการและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้คณาจารย์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ผู้บริหารจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการวิจัย จัดทำโครงการ และกิจกรรม และสร้างระบบจูงใจที่เพียงพอที่จะทำให้อาจารย์หันมาสนใจการทำวิจัยควบคู่ไปกับการเรียนการสอน ดังนั้นบรรยากาศในการสร้างงานทางวิชาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น จัดให้มีการสัมมนาผลงานวิจัยประจำปี สนับสนุนการไปประชุมเพื่อเสนอผลงานวิจัยต่อที่ประชุมต่างประเทศ สนับสนุนการตีพิมพ์บทความลงในวารสารวิชาการต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับกันในวงการวิชาการนั้น ๆ ตลอดจนการประกวดบทความวิจัยในแต่ละสาขาวิชาการ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถจัดเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาอาจารย์ได้

ฉะนั้นหากสถาบันอุดมศึกษาใดต้องการพัฒนางานทางด้านวิชาการ  การสร้างบรรยากาศทางวิชาการให้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม  เนื่องจากอาจารย์มีส่วนช่วยกระตุ้นให้อาจารย์ผลิตผลงานทางวิชาการ  และเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทั้งในสาขาวิชาและความรู้ด้านทักษะการสอนได้มากขึ้น

          4. ส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ทั้งภายในและภายนอก

ในปัจจุบันมีการเปิดเสรีทางการศึกษาขึ้น  ทำให้สถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศสามารถเข้ามาจัดการเรียนการสอนในประเทศได้  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศควรจัดให้มีกิจกรรมความร่วมมือทางด้านวิชาการเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทั้งภายในสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาอื่นภายในประเทศ  เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางงานวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาไทย

นอกจากนี้ก็ควรใช้โอกาสที่มีการเปิดเสรีทางการศึกษานี้  รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีของกระบวนการศึกษาจากนักวิชาการของประเทศที่พัฒนาแล้ว คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาจึงควรได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาความรู้และได้รับรู้กระบวนการเรียนการสอนที่ทันสมัย อีกทั้งควรมีการจัดทำโครงการทางด้านการศึกษา และการพัฒนาองค์ความรู้ด้วยการทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศ เพื่อพัฒนาให้อาจารย์มีความรู้ความสามารถ  ทัดเทียมกับนานาประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าได้รวมถึงในอนาคตอาจารย์จะสามารถผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพและนำงานวิจัยมาสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยได้

ดังนั้นจึงเห็นว่าการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาจารย์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  ช่วยให้อาจารย์มีความร่วมมือกับในหลายๆ หน่วยงาน  เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศช่วยให้งานทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้นต่อไป 

 

บทสรุป

งานวิชาการทางการอุดมศึกษาเป็นงานที่มีความสำคัญในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากเป็นภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา  และอาจารย์ก็มีบทบาทมากในการจะช่วยให้ภารกิจของอุดมศึกษานั้นสำเร็จได้  ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาอาจารย์ให้มีความพร้อมในการทำงานวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาได้  แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าอาจารย์ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร  ไม่ว่าจะเป็นในด้านอาจารย์ใหม่ขาดประสบการณ์ในการสอนและการบริหาร    การกำหนดภารกิจด้านงานวิชาการไม่ชัดเจน  อาจารย์ไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาตนเองหรือไม่ทราบว่าตนเองควรพัฒนาในด้านใด  สถาบันอุดมศึกษาไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาอาจารย์  หรืองานวิชาการไม่สอดคล้องกับความต้องการกับสังคมในปัจจุบัน  ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้อาจารย์ควรได้รับการพัฒนาด้านการใช้เทคโลยี   การมีฝ่ายสนับสนุนภารกิจอาจารย์ที่ชัดเจน              มีบรรยากาศในการสร้างงานวิชาการ  และมีการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ทั้งภายในและภายนอก

 

 

หมายเลขบันทึก: 247470เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

  • อาจารย์เขียนบทความ "การพัฒนาอาจารย์สู่งานวิชาการทางการอุดมศึกษา" ดีครับ ผมอ่านคร่าวๆ
  • เพียงแต่แปลกใจว่า เอกสารอ้างอิงล่าสุดที่เป็นข้อมูลของบทความเป็นปี พ.ศ. 2543 (เกือบ 9 ปีทีเดียว) ในขณะที่พันคำเคยเห็นว่ามีผู้เขียนเรื่องวิกฤตปัญหาการศึกษาไทย (ซึ่งการพัฒนาอาจารย์น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องพูดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะสำคัญ) อยู่เนืองๆ จึงคิดว่าเหตุผล แนวคิด ทิศทาง และข้อเสนอ อาจจะเพิ่มขึ้นมาและสะท้อนภาพปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
  • แต่ที่อาจารย์เขียนนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท