ความเครียดกับอุบัติเหตุ


กายและจิตสัมพันธ์กัน ภาค 4

          เรื่องอุบัติเหตุใครๆ ก็มีประสบการณ์ด้วยกันทั้งนั้น สุดแต่ว่าใครจะโชกโชนมากกว่ากันเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นการหกล้มแบบชิวชิว หรือการหกล้มแบบอินเตอร์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอตำแหน่งพรีเซนเตอร์ให้

          เรามาว่ากันเรื่องอุบัติเหตุแบบชิวชิวกันก่อนดีกว่า ในวัยเด็กเรามักจะมีนิสัยฉลาดเกินแกง (เอ๊ะ..ยังงัย) นิสัยทะโมน เป็นลิงเป็นค่างชอบปีนต้นไม้ ชอบโลดโผนโจนทะยาน ก็คงเคยหกล้มไม่ว่าจะเป็นท่าตะครุบกบ หรือแบบฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ ไม่นับเกลียวอีก 2 รอบ ที่ไม่มีพื้นที่ให้แสดง

         พอเราล้มเรามักจะได้ยินผู้ใหญ่ท่านปลอบเราว่า "ไม่เจ็บหรอก อย่าร้องนะ เดี๋ยวก็หายแล้ว..คนเก่ง" จิตเราก็จะรับรู้แค่เพียงว่า "เดี๋ยวก็หายแล้ว" ยิ่งได้ฟังคำว่า "คนเก่ง" ด้วย ยิ่งไม่เจ็บ แต่ร่างกายของเราไม่รับรู้ ร่างกายมันเจ็บ ตกใจกลัวเวลาหกล้มและก็เกร็งเป็นลำดับ แต่อาการปวดจะแสดงออกในช่วงแรก แล้วก็จะหายไปเหมือนปาฏิหาริย์ไม่ต้องพึ่งน้ำใบบัวบกให้ยุ่งยาก จนมีหลายๆคน เข้าใจว่า "ดีนะที่ยังเด็กอยู่เดี๋ยวก็หายเอง เพราะเด็กจะหายไวกว่าผู้ใหญ่" แต่กาลหาเป็นเช่นนั้นไม่

         อย่างเด็กชายคนหนึ่ง เล่นที่โรงเรียนแล้วหกล้มแบบถลาไปข้างหน้าเหมือนสะดุด หัวเข่าแตก มือและข้อศอกมีแผลนิดหน่อย เด็กก็ไม่สนใจกับแผลเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเจอแบบนี้ออกจะบ่อย

         ต่อจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมงจะมีความรู้สึกเริ่มเมื่อยไหล่ สะบักไหล่ และมือ แต่ก็ยังคิดว่ามันเป็นปกติ ร่างกายของเด็กเขาจะปรับตัวเอง ส่วนเจ้าตัวพังผืดก็เข้าไปทำงานยึดเกาะกล้ามเนื้อที่ปวดหรือเคลื่อนที่เองอัตโนมัติ จุดไหนที่เคลื่อนก็จะไปทำให้มันไม่เคลื่อน เหมือนความหวังดีแต่ประสงค์ร้าย อาการปวดทั้งหลายก็เริ่มหายไป

         แต่อาการที่ตามมาติดๆ คือ เด็กเริ่มนอนไม่หลับ ปวดข้อมือและปวดศีรษะเล็กน้อย นอนหงายไม่ค่อยได้จะขยับตัวบ่อยเหมือนคนนอนดิ้น ต้องนอนคว่ำหรือเอาหมอนหนุนคอเหมือนนอนแหงนเกยหมอนจึงรู้สึกนอนสบาย มีความรู้สึกเมื่อย อยากออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายคลายเมื่อย มีความต้องการออกกำลังกายทุกวัน

         ถ้าวันไหนไม่ได้ออกจะมีความรู้สึกว่าเมื่อยและเหนื่อยมากกว่าเดิม อารมณ์จะเริ่มแปรปรวน อารมณ์ไม่ดีบ่อย หงุดหงิดง่าย ไม่สนใจเรียน เหม่อลอย เริ่มเบื่ออาหาร ถ้าหากท่านยังคิดอีกว่า เด็กเวลาเป็นอะไรจะหายง่ายและเร็วกว่าผู้ใหญ่ ท่านอาจจะคิดผิด เพราะเด็กยังไม่รู้จักแยกแยะระหว่างจิตกับกาย

        ในผู้ใหญ่บางคนยอมรับและเข้าใจความเป็นไปของร่างกาย ก็จะไม่มีอาการเครียดมากเหมือนเด็ก แต่ก็ใช่ว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ ไม่เป็นอะไร ถ้าผู้ใหญ่อย่างเราๆเกิดข้อเท้าพลิกแล้วเราก็หายาทาน ประคบข้อเท้าอย่างดีไม่กี่วันก็หาย เดินสบาย

         แต่พอนานเข้า ข้อเท้าที่คิดว่ามันหายแล้ว กลับมาแสดงอาการเรียกร้องความสนใจ  คืออยากให้เราออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นวิ่ง หรือเล่นโยคะ หรืออะไรสักอย่างเพื่อให้ข้อเท้าที่มันเคยเจ็บกลับมาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อที่เคยถูกทำร้ายก็อยากได้ออกซิเจนและอยากให้เลือดหมุนเวียนบ้าง เลยเกิดความอยาก แล้วความอยากของร่างกายก็จะมีมากขึ้น จนกระทั่งทำให้เรามีความต้องการออกกำลังกายมากขึ้นจนถึงขั้นหักโหม เพราะถ้าไม่ออกกำลังก็จะรู้สึกไม่สบายตัว เมื่อยขบ

         จึงต้องออกกำลังกายต่อไปเรื่อยๆ ก็จะมีอาการตามมาคือ  เป็นตะคริวที่น่องเพราะกล้ามเนื้อเกร็งเองอัตโนมัติ ใช้เวลานานกว่ากล้ามเนื้อจะคลายและหายเจ็บ เมื่อเป็นบ่อยอาการจะไปขึ้นที่สะโพกทำให้รู้สึกเจ็บขัด เดินไม่สะดวก เวลาลงขาหรือเท้าจะมีอาการปวดแปลบขึ้นสะโพก ทำให้ต้องใช้ขาข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าเดิม หลังจากนั้นเท้าทั้ง 2 ข้างจะไม่เสมอกัน

***(เพราะช่วงที่เกิดอาการเจ็บปวดหรือมีอาการเมื่อย ร่างกายจะทำการบิดตัวเพื่อไล่ความเมื่อยขบ แต่มันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเกร็งอัตโนมัติ ก่อให้เกิดตะคริวน่อง, ตะคริวในท้อง หรือจนกระทั่งเป็นตะคริวด้านข้างลำตัวได้)***

         อุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดว่ามันไม่สำคัญ ไม่ควรมองข้าม เพราะมันอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายเราป่วยได้

 

หมายเลขบันทึก: 247352เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2009 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท