คดีมาบตาพุดและแม่เมาะ : กรณีตัวอย่างที่จะพลิกโฉมการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


หน่วยงานที่มีหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศ หน่วยงานที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และองค์กรภาคอุตสาหกรรมคงจะต้องทบทวนแนวทางการทำงานกันพอสมควร เพราะภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศที่เจอปัญหาเดียวกันกับชาวมาบตาพุดและแม่เมาะ เขาก็สรุปบทเรียนการต่อสู้จากเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

วันที่ 3 และ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ข่าวสิ่งแวดล้อมกลับมาข่าวสิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง จากกรณีที่ศาลปกครองระยองได้พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องประกาศให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า ตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางทั้งตำบล ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษ มีแนวโน้มที่ร้ายแรงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วสร็จภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

อีกกรณีหนึ่ง คือ ผลกระทบจากเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 2 คดี ที่ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ประมาณ 300 คน จากอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฐานกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่ ได้พิพากษาให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและจิตใจแก่ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่จริงตามพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำ ตามปริมาณและจำนวนครั้งที่ กฟผ.ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยส่วนใหญ่จะได้รายละ 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย

 

ส่วนคดีที่สอง เรื่อง การทำเหมืองถ่านหินของ กฟผ.เป็นคดีที่ราษฎรฟ้องว่า กฟผ.ไม่ทำตามเงื่อนไขในประทานบัตร และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ กฟผ.ต่อสู้คดีว่า 1.ราษฎรดังกล่าวมิใช่ผู้เสียหาย เพราะอยู่นอกเขตผลกระทบ 5 กิโลเมตร 2. คดีขาดอายุความ และ 3.ในส่วนเนื้อหาของคดี กฟผ.ได้ต่อสู้คดีว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขยกเว้นบางประการ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า

1. ในประเด็นผู้เสียหาย ศาลเห็นว่า กฟผ.ได้รับอนุญาตทำเหมืองแร่ในพื้นที่ 13,229 ไร่ และพื้นที่เก็บกองดิน 23,036 ไร่ ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ซึ่งตามเงื่อนไขและมาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศ น้ำ เสียง และอื่นๆ โดยเฉพาะมาตรการป้องกันสิ่งแวดล้อมนั้น หาก กฟผ.ละเลย ก็จะมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง มิใช่เพียงเฉพาะบริเวณ 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น แต่อาจจะมีผลกระทบในอำเภอื่น หรือจังหวัดใกล้เคียงได้ เมื่อผู้ฟ้องคดีซึ่งอยู่อาศัยใน อ.แม่เมาะ อาจเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จึงมีอำนาจฟ้องคดี

2.ในประเด็นอายุความนั้น ศาลเห็นว่าคดีนี้ราษฎรฟ้องว่า กฟผ.ละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการฯ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีอื่นไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ละเลยไม่ควบคุมดูแลให้ กฟผ.ปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการฯ เมื่อในระหว่างพิจารณา ปรากฏว่า กฟผ.ยังมิได้ปฏิบัติตามมาตรการหลายประการ การละเลยจึงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงไม่ขาดอายุความ

3.ในประเด็นเนื้อหาของคดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากรายงานการตรวจร่วม และรายงานของ กฟผ.เองว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการฯ หลายประการ และพิพากษาให้ กฟผ.ดำเนินการดังนี้

             3.1 กรณีอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร ซึ่ง กฟผ.อ้างว่า กรณีดังกล่าวเป็นมาตรการลดฝุ่น หาก กฟผ.ทิ้งดินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และไม่มีมาตรการดีพอ แต่ศาลเห็นว่า ตามมาตรการมิได้ระบุข้อยกเว้นดังกล่าวไว้ อีกทั้งยังปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวยังมีฝุ่นอยู่ กฟผ.จึงต้องดำเนินการอพยพหมู่บ้านดังกล่าว

             3.2 กรณีนำที่ดินปลูกป่าไปสร้างสนามกอล์ฟ ซึ่ง กฟผ.อ้างว่า การฟื้นฟูสภาพเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟสามารถลดผลกระทบจากการชะล้างของน้ำและลมได้อีก อีกทั้งเป็นที่พักผ่อนของชาวบ้าน แต่ศาลเห็นว่า ตามมาตรการระบุไว้ชัดเจนว่าให้ปลูกป่าทดแทน ซึ่งการปลูกป่าจะได้ไม้ยืนต้น แหล่งต้นน้ำ สัตว์ป่า ส่วนสนามกอล์ฟเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าและไม่สามารถเป็นแหล่งน้ำ อีกทั้งที่ดินของรัฐมีเพื่อกิจการทำเหมืองเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า มิใช่สนามกอล์ฟ จึงให้ กฟผ.ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ทำสนามกอล์ฟ

            3.3 กรณีวางแผนจุดปล่อยดิน กฟผ.ยอมรับ ศาลจึงให้กำหนดพื้นที่ปล่อยดินกับชุมชนและทำบังเกอร์ โดยในจุดปล่อยดินต่ำกว่าบังเกอร์เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง

            3.4 กรณีทำรายงานการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ทุก 2 ปี กฟผ.ยอมรับว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ศาลจึงสั่งให้ กฟผ.จัดทำและเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา หาก กฟผ.มีมาตรการที่ดีกว่าในยื่นแก้ไข

 

คดีตัวอย่างทั้งสอง เป็นภาพสะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างยาวนาน เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แต่ยังไม่เคยเป็นจริง คือ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  สิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนเอง

 

บทเรียนครั้งนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศ หน่วยงานที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และองค์กรภาคอุตสาหกรรมคงจะต้องทบทวนแนวทางการทำงานกันพอสมควร เพราะภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศที่เจอปัญหาเดียวกันกับชาวมาบตาพุดและแม่เมาะ เขาก็สรุปบทเรียนการต่อสู้จากเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

 

ทิศทางการพัฒนากับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไปอย่างไร คงต้องคุยกันอีกยาวๆ แต่มั่นใจได้ว่าจะเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า

หมายเลขบันทึก: 246497เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2009 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • สวัสดีครับ
  • เป็นตัวอย่างที่ดี
  • ผมจำได้ช่วงแรกชาวบ้านร้านตลาดขานรับกันเหลือเกิน
  • กับความเจริญรุ่งเรื่อง
  • บัดนี้ผมของการพัฒนาเห็นผลแล้วว่าลายมากกว่าสร้างสรรค์

ขอบคุณครับ คุณน้อยหน่า และคุณเบดูอิน ที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือน ทั้ง 2 เรื่องนี้น่าจะเดินมาถึงเพียงครึ่งทางเท่านั้นแหละครับ ยังต้องตามดูกันต่อไปอีกนาเป็นมหากาพย์เลยล่ะ

กรณี มาบตาพุด น่าสนใจมากครับ ผมได้สรุปการเสวนา ที่จุฬา เมื่อครั้ง นศ. พระปกเกล้า ได้จัดเวทีขึ้นมา พบว่า มีประเด็นที่เรายังไม่ทราบอีกมาก

ภาคประชาสังคมเองก็พยายามเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่นกัน

ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนน่าจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆครับคุณจตุพร เพื่อให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว

เรื่องข้อมูลก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เภาคประชาชนยังเข้าไม่ถึง ไม่ใช่เฉพาะกรณีมาบตาพุดเท่านั้น เมื่อเช้าก็มีกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง มาชุมชนที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) โครงการโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยา ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เร่งดำเนินการประกาศให้ป่าพรุแม่รำพึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ

มีความคืบหน้าอย่างไรแล้วจะนำมาบอกกล่าวกันครับ

คุณเกาเหลา ครับตอนนี้ผมกำลังศึกษาเกียวกับเรื่องที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น

ผมอยากได้ข้อมูลเชิงลึงของทั้งสองตัวอบ่างจะได้เปล่าคับ

ขอขอบคุณลวงหน้า

ไม่ทราบว่าต้องการข้อมูลเชิงลึกขนาดไหนครับคุณธีระยุทธ ลองตั้งประเด็นมาก็ได้ครับ จะได้ดูว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง หรือควรจะไปคุยกับใครที่มีข้อมูลมากกว่า 

ผมมีความเดือดร้อนของชุมชนบ้านเทพคีรี หมู่ที่ 6 เเละ 7 มาเรียนปรึกษาคุณเกาเหลาครับ คือที่หมู่บ้านมีลานมันเทพเจริญผลตั้งอยู่กลางหมู่บ้านซึ่งส่งกลิ่นเหม็นมาก อีกทั้งมีฝุ่นควันฟุ้งกระจายส่งผลให้ชาวบ้านมีตุ่มผื่นคันเเละเเพ้อากาศ อีกทั้งมีคุณภาพชีวีตที่เเย่มาก จึงอยากเรียนปรึกษาว่าผมจะรวมตัวกับชาวบ้านดำเนินการอย่างไรครับตอนนี้เดือดร้อนมากเพราะต้องทนดมกลิ่นเหม็นเเละเสื่อผ้าก็ตากไม่ได้คันตามผิวหนัง เเล้วมีฬครจะช่วยฟ้องสาลได้ครับ เพราะเขามีเงินมีอิธิพลมากเหมือนกัน ทนไม่ไหวเเล้ว เคยร้องเรียนท่านผู้ว่า ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

เรียนคุณเหลา ลำลูกกาค่ะ มีเรื่องอยากจะปรึกษาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะค่ะ คืออยากรู้ว่าบทบาทของชาวบ้านหรือภาคประชาชนในการต่อต้านกฟผ. ครั้งนั้นทำอะไรกันบ้าง เท่าที่อ่านดูคือ ฟ้องศาล แต่คุณเหลาพอจะมีข้อมูลมั้ยคะว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านก่อนหน้าที่จะมีการฟ้องร้องต่อศาลนั้นมีอะไรบ้าง เช่น มีการชุมนุมประท้วงหรือรวมตัวกันต่อต้านในรูปแบบอื่น และได้รับความช่วยเหลือจากไหนบ้าง เช่น รวมตัวกันเอง หรือว่ามีกลุ่ม NGO เป็นแกนนำ หากมีข้อมูลขอรบกวนคุณเหลาช่วยตอบด้วยนะคะ พอดีกำลังหาหัวข้อทำรายงานอยู่และเห็นว่าเรื่องแม่เมาะนี่น่าสนใจมากๆ เลย หากมีข้อมูลมากพอก็จะทำเรื่องนี้หล่ะค่ะ ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

ขอบคุณครับสำครับข้อมูลดีๆอย่างนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท