เผยแพร่วิทยานิพนธ์


สภาพแวดล้อมทางกายภาพ

การบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3

Physical Environment Administration of Basic Education School

under Sisaket Education Service Area, 3

ผู้วิจัย นายสุริยา เกษอินทร์

หลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ส

าขา บริหารการศึกษา ปีการศึกษา 2551 วิทยาลัยเฉลิมกาญจนา

1. ความเป็นมาและความสำคัญ

            สภาพแวดล้อมในสถานศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา ที่จะทำให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้เปรียบเสมือนครูคนหนึ่ง ที่สามารถให้การศึกษาอบรมและกล่อมเกลาจิตใจของคนได้ เพราะคนที่อยู่ในสภาพสังคมที่ดีย่อมจะซึมซับลักษณะที่ดีติดตัวไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น กระบวนการและวิธีการดำรงรักษาสภาพแวดล้อมที่ถูกต้อง การมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อม ความมีระเบียบวินัย ความสวยงามและความสมดุลทางธรรมชาติในสถานศึกษา นอกจากจะสามารถให้ความรู้ความคิดแก่ทุกคนที่อยู่ในสถานศึกษาแล้ว ยังสามารถส่งเสริมให้คนรู้สึกกระตือรือร้นใคร่รู้ใคร่เรียน รู้จักวิธีการดำรงชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและต่อสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้องด้วย เกณฑ์คุณภาพการพัฒนามาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักวิชาการมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กระทรวงศึกษาธิการ 2549)ได้กำหนดแนวทางด้านการบริหารสภาพแวดล้อมไว้ใน มาตรฐานที่ 16 “สถานศึกษามีการจัดสภาพแวดล้อมและการบริการที่ส่งเสริมให้ ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติเต็มศักยภาพ” ประกอบกับภารกิจตามกฎหมายของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน สู่การปฏิบัติโดยยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษา โดยมีขอบข่ายการบริหารสถานศึกษาที่เป็น นิติบุคคล มีอิสระในการบริหารงาน ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารงบประมาณ และด้านการบริหารทั่วไป (กระทรวงศึกษาธิการ 2546: 69) ทำให้สถานศึกษามีอิสระในการดำเนินการบริหารสถานศึกษามากขึ้น จะเห็นได้ว่า สถานศึกษามีทั้งนโยบายการพัฒนาสภาพแวดล้อม และความเป็นอิสระในการบริหารงบประมาณ แต่การดำเนินการด้านการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร จากการได้อยู่ในพื้นที่พบว่าการบริหารสภาพแวดล้อมในโรงเรียนขนาดใหญ่มีการบริหารชัดเจนและดีเยี่ยม โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ แต่การบริหารสภาพแวดล้อมในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก มีการพัฒนาไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป

2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

              2.1 เพื่อศึกษาสภาพการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3

               2.2 เพื่อเปรียบเทียบสภาพการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 จำแนกตามสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามและขนาดของสถานศึกษา

              2.3 เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3

3. วิธีดำเนินการวิจัย

             การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า (Rating scale) 5 อันดับ และคำถามปลายเปิด แล้วนำไปเก็บข้อมูลจาก ผู้บริหารสถานศึกษา 140 คน ครูผู้รับผิดชอบงานด้านสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา 140 คน และประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 140 คน รวมทั้งสิ้น 420 คน การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้นำแบบสอบถามไปส่งที่สถานศึกษาด้วยตนเอง และได้เดินทางไปรับแบบสอบถามคืนด้วยตนเอง ได้แบบสอบถามกลับคืนมาครบทุกฉบับ แล้วนำมาวิเคราะห์ประมวลผลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้ การแจกแจงความถี่ และหาค่าร้อยละ การหาค่าเฉลี่ย ( ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) การเปรียบเทียบความแตกต่างวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนทางเดียว (One–way Analysis of Variance) เมื่อพบความแตกต่างก็เปรียบเทียบเป็นรายคู่ด้วยวิธีของเชฟเฟ (Scheffe’ method)

 4. ผลการวิจัย

           4.1 ผลการวิเคราะห์ระดับความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 โดยภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถาม มีระดับความคิดเห็น ทั้งโดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านภูมิทัศน์มีความคิดเห็นในลำดับสูงที่สุด และด้านความปลอดภัยมีความคิดเห็นในลำดับต่ำที่สุดด เมื่ออพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า 4.1.1 ด้านภูมิทัศน์ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้บริหารเปิดโอกาสให้คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมในการบริหารสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา มีลำดับความคิดเห็นสูงที่สุด และสถานศึกษาจัดให้มีสนามเด็กเล่นที่เหมาะสมและปลอดภัย มีลำดับความคิดเห็นต่ำที่สุด

                     4.1.2 ด้านอาคารสถานที่ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า การจัดให้มีผู้รับผิดชอบด้านอาคารสถานที่มีลำดับความคิดเห็นสูงที่สุด และมีการจัดทำแผนภูมิอาคาร และควรแสดงแผนภูมิไว้ในที่ที่สะดวกต่อการพบเห็นมีลำดับความคิดเห็นต่ำที่สุด

                       4.1.3 ด้านความปลอดภัย จากแบบสอบถามจำนวน 20 ข้อ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า มีการจัดระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัย โดยจัดวางสายไฟต่าง ๆให้เหมาะสม จัดให้มีระบบความปลอดภัย เวลาที่กระแสไฟฟ้าลัดวงจร มีลำดับความคิดเห็นสูงที่สุด และจัดให้มีพยาบาลไว้คอยดูแลประจำห้องห้องพยาบาลมีลำดับความคิดเห็นต่ำที่สุด

         4.2 ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 จำแนกตามสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามและขนาดของสถานศึกษา

                  4.2.1 ผลการเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 จำแนกตามสถานภาพผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นทั้งโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็น พบว่า โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .01

               4.2.2 ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 จำแนกตามขนาดของสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษาแต่ละขนาดมีการบริหารสภาพแวดล้อมทั้งโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็น พบว่า ทั้งโดยภาพรวมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านภูมิทัศน์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 ด้านอาคารสถานที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นด้านความปลอดภัย ไม่แตกต่าง

               4.2.3 ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวน ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต พบว่า สถานศึกษาที่มีขนาดเล็กมีความคิดเห็นแตกต่างจากกลุ่ม ผู้ตอบแบบสอบถามในสถานศึกษาที่มีขนาดกลางและสถานศึกษาที่มีขนาดใหญ่ มีความเห็นแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

         4.3 ปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 พบว่า

                    4.3.1 ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่กานศึกษาศรีสะเกษเขต 3 พบว่า ปัญหาด้านภูมิทัศน์ ได้แก่ รัฐจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนไม่เพียงพอต่อการพัฒนา บริเวณสถานศึกษาเป็นที่ลุ่มมักมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน บริเวณคับแคบยากแก่การขยายและพัฒนาให้เหมาะสม เส้นทางสัญจรภายในสถานศึกษาไม่สะดวก ปัญหาด้านอาคารสถานที่ พบว่า อาคารผุพังตามอายุการใช้งานไม่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ สถานศึกษาขนาดเล็ก รัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณที่จะนำมาสร้างอาคารใหม่ มีอาคารไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน ตั้งอาคารไม่เหมาะสมไม่รับลมทำให้มีอากาศร้อน ขาดห้องปฏิบัติการที่ใช้การได้ดี ปัญหาด้านความปลอดภัย สภาพอาคารเก่าทำให้ไม่ปลอดภัยกับนักเรียน อาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่มีครูประจำห้องพยาบาล เพราะสถานศึกษาขนาดเล็กมีจำนวนครูน้อยไม่เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน ห้องส้วมไม่เหมาะสมน้ำท่วมถึง โรงเรียนห่างไกลจากหมู่บ้านทำให้ไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร โรงเรียนอยู่ใกล้ทางในเมืองทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

                  4.3.2 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่กานศึกษาศรีสะเกษเขต 3 พบว่า ข้อเสนอแนะด้านภูมิทัศน์ ได้แก่ ระดมทรัพยากรจากภาคส่วนช่วยพัฒนา รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ จัดทำผ้าป่าการศึกษาเพื่อพัฒนา ข้อเสนอแนะด้านอาคารสถานที่ ได้แก่ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาอาคารสถานที่ ระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนปรับปรุงอาคารสถานที่ ปรับปรุงอาคารที่มีอยู่แล้วให้ดีและปลอดภัย จัดให้มีพัดลมระบายอากาศที่เพียงพอ ข้อเสนอแนะด้านความปลอดภัย ได้แก่ อบรมให้นักเรียนมีความรู้ด้านปฐมพยาบาล เพื่อช่วยปฐมพยาบาลในเบื้องต้นแก่นักเรียนที่เกิดอุบัติเหตุ อบรมสุขอนามัยในการใช้ชีวิตในโรงเรียน จัดห้องน้ำห้องส้วมให้อยู่ในระดับพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง ให้นักเรียนเดินกลับบ้านเป็นกลุ่มเพื่อความปลอดภัย มีครูเวรหน้าประตูและตำรวจจราจรคอยกำกับรถเวลาก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน จัดอบรมนักเรียนให้รู้จักกฎจราจร

5. ข้อเสนอแนะ

          5.1 ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ มีดังต่อไปนี้

                     5.1.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 และเขตพื้นที่การศึกษาอื่น ๆ ควรนำผลการวิจัยนี้ ไปเป็นแนวทางให้สถานศึกษาใช้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพในสถานศึกษาทั้ง 3 ด้าน

                 5.1.2 ผู้บริหารสถานศึกษาควรนำผลการวิจัยนี้ไปเป็นแนวทางในการบริหารสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นดังนี้คือ

                          1) ด้านภูมิทัศน์ ควรมีการสนามเด็กเล่นที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อเด็กจะได้ใช้ผ่อนคลายและสนุกสนานภายหลังจากการเรียนการสอน

                          2) ด้านอาคารสถานที่ ควรมีการจัดทำแผนภูมิอาคารสถานที่อย่างเป็นระบบเพื่อจะได้สะดวกแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนสถานศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษา

                         3) ด้านความปลอดภัย ควรจัดให้ครูอยู่ประจำห้องพยาบาล เพื่อจะได้คอยปฐมพยาบาลแก่นักเรียนเมื่อเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดได้ตลอดเวลา หรือเมื่อนักเรียนป่วยไข้ก็คอยดูแลจัดยาให้ในเบื้องต้น

                   5.1.3 ผู้บริหารสถานศึกษาควรมีการระดมทรัพยากรด้านงบประมาณที่นอกเหนือ จากงบประมาณของรัฐบาล จากชุมชม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่น ๆ ตลอดจนถึงการจัดหาหารายได้และผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา มาสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

         5.2 ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป มีดังต่อไปนี้

                   5.2.1 ควรศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

                  5.2.2 ควรศึกษาความพึงพอใจต่อการบริหารสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามความคิดเห็นของนักเรียนทุกช่วงชั้น

                   5.2.3 ควรศึกษาการบริหารสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความปลอดภัยในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ทุกช่วงชั้น

บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ (2546) ขอบข่ายการบริหารสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล (อัดสำเนา)

คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ (2543) ปฏิรูปการเรียนรู้ผู้เรียนสำคัญที่สุด พิมพ์ครั้งที่ 5กรุงเทพมหานคร คุรุสภาลาดพร้าว

นรา สมประสงค์ และเสรี ลาชโรจน์ (2546) การบริหารสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา ในประมวลสาระชุดวิชาการจัดการสถานศึกษาหน่วยที่ 9 สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545

รุ่ง แก้วแดง (2543) ครูสมพร คนสอนลิง พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพมหานคร มติชน สมทรง อินสว่าง (2536) หน่วยที่ 8-15 การจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ในเอกสารการสอนชุดวิชาวิทยาการสิ่งแวดล้อมสําหรับโรงเรียนและชุมชน หน้า 125-250 นนทบุรี สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษเขต 3 (2551) คู่มือการปฏิบัติงานของสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อัดสำเนา)

สำนักงานเขตพื้นการศึกษาที่ศรีสะเกษ เขต 3 (2551) ข้อมูลพื้นฐานทางการศึกษา ปีการศึกษา 2551 สืบค้นข้อมูลจาก http://www.sisaket3.go.th/aoc/data_area.html

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกณฑ์การพัฒนาสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สืบค้นข้อมูลจากhttp://academic.obec.go.th/web49/read_2549/quality2549.htm

หมายเลขบันทึก: 246059เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2009 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจมากครับมีประโยชน์ต่อการศึกษา

เป็นบทความที่ให้ความรู้ด้านการบริหารสภาพแวดล้อมดีมากมีประโยชน์

อ่านแล้วได้ความรุ้ดีนะ มีประโยชน์ต่อการจัดสภาพแวดล้อม

เป็นงานวิจัยที่ดี ศึกษาสภาพบริบทของโรงเรียนและการบริหารจัดการสถานศึกษาในภาพรวม

ขอบคุณครับ เป็นงานวิจัยที่ผมต้องการข้อมูล ดีมากกกกกกกก......

ดีมาก เป็นงานวิจัยที่ต้องการหามานานแล้ว

วิไลวรรณ วิเศษศรี

เป็นวิทยานิพนธ์ที่ดีน่าสนใจมาก อยากขอความอนุเคราะห์ฉบับเต็มเพื่อเป็นแนวทางในการทำการศึกษาค้นคว้าอิสระ

เพราะทำเรื่องการบริหารสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท