สั่ง 'คลัง' เร่งกู้หนี้ครัวเรือนพุ่งเฉลี่ย 1.4 แสน!


โอบามาร์ค" เรียก "กอร์ปศักดิ์-กรณ์" หารือด่วนหลังตัวเลขเศรษฐกิจดิ่งเหวทั่วหน้า

"โอบามาร์ค" เรียก "กอร์ปศักดิ์-กรณ์" หารือด่วนหลังตัวเลขเศรษฐกิจดิ่งเหวทั่วหน้า สั่งคลังเร่งแผนกู้เงินต่างประเทศเสนอภายใน 2 สัปดาห์ ยันทำให้จีดีพีเป็นบวกได้ไตรมาสที่ 4  "สศค."  ยอมรับความจริงอีกราย
คาดไตรมาสแรกทรุดน่ากลัว พร้อมปรับประมาณการทั้งปีหลังสัญญาณชะลอตัวพุ่ง ชี้ตัวเลขว่างงานน่าห่วง
"หอการค้า" สำรวจหนี้ เผยภาระเพิ่มขึ้น 6.15% เฉลี่ยครอบครัวละ 1.4 แสนบาท มีโอกาสทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี  นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าพบเป็นการด่วนครั้งแรกที่บ้านพิษณุโลก โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เพื่อรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการโลจิสติกส์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ปัญหาการส่งออก และกรอบการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังว่า ประเด็นสำคัญที่หารือคือตัวเลขส่งออกที่หดตัวลงอย่างหนัก โดยนายกฯ ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานตัวเลขทุกสัปดาห์เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแผนสองและสาม พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบกลางปีที่จะลงไปในช่วงเดือนมีนาคมด้วย

นายปณิธานระบุว่า นายกฯ ยังได้เตรียมประเด็นพูดคุยระหว่างการประชุมกลุ่มประเทศจี 20ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย.นี้ ซึ่งในการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมที่เมืองดาวอสที่ผ่านมา  นายกฯ ได้พูดคุยกับนายโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ชื่นชมนโยบายแก้ไขเศรษฐกิจของนายอภิสิทธิ์มาก และกล่าวชมบนเวทีโลกว่านโยบายไทยมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องรอขั้นตอนการปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งนายสติกลิตช์ยังตอบรับเป็นเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลไทยด้วย

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวยอมรับว่า ได้เรียกรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อให้รายงานตัวเลขในไตรมาสที่ 4 ให้ละเอียดมากขึ้น รวมทั้งมาตรการรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการใช้เงินจะเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์หนักขึ้น ตัวเลขในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์หลายประเทศหนักมาก แต่ในแง่เป้าหมายเชิงกรอบเวลายังเหมือนเดิมที่จะลดผลกระทบให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2  และหยุดยั้งวิกฤติในไตรมาสที่ 3  ให้อยู่ในแดนบวกมากขึ้นที่สุดในไตรมาสที่ 4

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการเจรจากรอบการกู้เงินจากต่างประเทศว่า กระทรวงการคลังกำลังเร่งดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์ เพราะหากการค้าโลกหดตัว 30-40% ก็จำเป็นต้องมีแผนสองกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน โดยกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอกรอบและรายละเอียดวงเงิน โดยต้องพิจารณาโครงการที่เหมาะสม เพราะถ้ากู้เงินมามากแต่ไม่มีโครงการที่ดีรองรับก็ไม่ควรทำ

วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ได้ให้การต้อนรับนาย John F. Coyne ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Western Digital Cooperation ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และผู้ผลิต Hard Disk Drive HDD รายใหญ่อันดับสองของโลกเข้าเยี่ยมคารวะ ซึ่งนายกฯ ได้ขอบคุณบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอลของไทย และยินดีให้การสนับสนุนการลงทุนของบริษัท

ด้านนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2552 จะดีกว่าไตรมาส 4 ปี 2551 รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะฟื้นตัวดีกว่าปี 2552 แน่นอน ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้ปลายปี 2552  "เศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากเริ่มมีการใช้จ่ายงบประมาณและการลงทุนของภาครัฐแล้ว ซึ่งหากนำเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วติดลบแน่  เพราะไตรมาส 1 ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยโต 6.1% แต่หากเทียบไตรมาสแรกปีนี้กับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น"  นางธาริษากล่าว และว่า แต่เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2552 ก็มีโอกาสต่ำกว่า 0% ได้ ซึ่งสอดคล้องในทิศทางเดียวกับสภาพัฒน์

เธอยังโต้ข้อมูลของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่ออกมาระบุว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติหนักที่สุดในเอเชียว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่แน่ใจว่ากำลังพูดถึงข้อมูลอะไร เพราะไม่ได้เอาข้อมูลของประเทศอื่นมาให้ดูด้วย มีแต่ข้อมูลของไทยมาพูดเท่านั้น หากดูข้อมูลของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแล้ว จะพบว่าเศรษฐกิจย่ำแย่กว่าไทย การส่งออกต่ำกว่า เพราะฉะนั้นหากดูแล้วไม่น่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง

ในขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กลับกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้จะติดลบมากกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 51 ซึ่งติดลบ 4.3% เพราะภาวะเศรษฐกิจการคลังล่าสุดในเดือน ม.ค. มีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน  ทั้งอุปสงค์และอุปทานแม้ยังมีจุดแข็งในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจ

นายสมชัยกล่าวถึงสัญญาณการชะลอตัวว่า มีหลายตัว อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัวที่ -6.4% สะท้อนการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ -29.8% ในด้านปริมาณการส่งออกก็หดตัว -27.1% ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าก็หดตัวถึง -35.3% ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวถึง -25.6%  ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัว -10.9%

นายสมชัยระบุว่า ในเดือนมีนาคม สศค.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง โดยต้องยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัวกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0-2% โดยเฉพาะในไตรมาสแรก ส่วนไตรมาส 2 จะติดลบน้อยลง  ไตรมาส 3  อาจลบหรือบวกใกล้เคียง 0% ขึ้นอยู่กับประสิทธิผลมาตรการรัฐบาล โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ ถือเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของเศรษฐกิจไทยว่าจะเริ่มเป็นบวกได้ หรือจะชะลอตัวต่อเนื่อง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. ยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยจากแบบจำลองของ สศค.พบว่า หากเศรษฐกิจโลกลดลง 1% จะกระทบเศรษฐกิจไทย 1.03% ซึ่งเดิม สศค.คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้ 1% แต่ล่าสุดประเมินว่าอาจอยู่ที่ -1 ถึง -3% ซึ่งหนักกว่าที่คิด และพบว่าในเดือน ม.ค.การส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าติดลบทั้งหมดทุกตลาด

นายเอกนิติกล่าวอีกว่า สศค.อยู่ระหว่างศึกษามาตรการเพื่อรองรับการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้น โดยหากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 1% จะทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น 1.36 แสนคน ซึ่งล่าสุดแม้ตัวเลขว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่หากพิจารณาจากชั่วโมงการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากตัวเลขผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 30 ชั่วโมงในรอบสัปดาห์ เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 28.2% จากปีก่อนติดลบ -4.7% ผู้ที่ทำงานระหว่าง 30-34 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 8.1% จากปีก่อน -1.9% ผู้ที่ทำงานระหว่าง 35-39 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 10.4%

จากปีก่อน 10.1%  ผู้ที่ทำงานระหว่าง 40-49 ชั่วโมง ติดลบ  -1.5% จากปีก่อน 3.3% และผู้ทำงานมากกว่า
50 ชั่วโมง
ขึ้นไป พบว่า ติดลบ  -4%  จากปีก่อน  1.4%

สศค.ยังได้ออกบทวิเคราะห์เรื่องการส่งออกในปี 2552 ว่า จะหดตัวกว่าปีก่อนหน้า โดยจะหดตัวมากใน 3 ไตรมาสแรก แต่จะฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดี ในขณะที่การส่งออกในตลาดหลักเดือนมกราคมนั้นติดลบทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสแรกปีนี้หดตัวมากขึ้น

นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แถลงผลสำรวจสภาพหนี้ภาคครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสำรวจครัวเรือน 1,202 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-23 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า 58.4% ระบุว่ามีหนี้ ซึ่งแหล่งเงินกู้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 83.8%  นายทุน 75.4%   และธนาคารประชาชน 70.7% และภาพรวมหนี้สินเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา พบว่า 72.01%   หนี้เพิ่มขึ้นจากบัตรเครดิต 69.26%  เพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ และ 68.62%  เพิ่มขึ้นจากการยืมเพื่อนและคนรู้จัก

สำหรับภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 143,476.32  บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 57.40% หนี้นอกระบบ 42.60% ในขณะที่ยอดผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ที่ 9,416.50 บาท โดยวัตถุประสงค์การกู้นั้น 74.9% กู้เพื่อใช้จ่ายประจำวัน 50% ใช้จ่ายอื่น ๆ และ 24.4% ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า 66.8%  ระบุว่ามีปัญหา โดยกลุ่มผู้มีรายได้  5,000-10,000  บาท จะมีปัญหาชำระหนี้มากสุดถึง 82.2%   รองลงมารายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท มีปัญหาชำระ 71.4% และเมื่อเปรียบเทียบภาระหนี้ครั้งนี้กับครั้งก่อน พบว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจากการสำรวจเดือนสิงหาคม 51 นั้น  ภาระหนี้ในขณะนี้เพิ่มขึ้นจาก 45.7% เป็น 58.4% โดยมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 135,166.34 บาท เป็น 143,476.32 บาท หรือเพิ่มขึ้นจาก 2.2% เป็น 6.15%

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและภาวะหนี้ พบว่าครัวเรือน 68.57% ห่วงเศรษฐกิจมากที่สุด 51.17% ห่วงปัญหาการว่างงาน ในขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบันพบว่า 55.4% ระบุว่าซื้อน้อยลง 26.5% เท่าเดิม 10.2%  มากขึ้น ส่วนด้านมูลค่า  47.1%  ระบุว่าซื้อน้อยลง  24.4%  เท่าเดิม  และ 14.9% น้อยลงมาก โดยสาเหตุหลักจากราคาสินค้าแพงขึ้นและภาระหนี้สินที่มากขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนมีสัญญาณเพิ่มมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ทั้งเชิงมูลค่า และผู้ที่จะกู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจไตรมาส 1-3 ที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงเต็มที่ มีความน่าเป็นห่วงว่าระดับหนี้จะเพิ่มสูงมากขึ้น โดยหากมีการว่างงานเพิ่มมากกว่า 1 ล้านคนก็มีโอกาสที่ภาระหนี้สูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปีได้ โดยมีสัดส่วนหนี้มากถึง  28% ต่อจีดีพี  "รัฐต้องเข้าช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงสินเชื่อ สนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน เร่งเบิกจ่ายงบประมาณในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้จ้างงานและผลักดันการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ได้ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ก็จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้" นายธนวรรธน์กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า กระทรวงการคลังได้ออกหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินตามมาตรการช่วยเหลือการครองชีพของบุคลากรภาครัฐ หรือเงิน 2,000 บาทให้แก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 1,326,000 คน  ใช้เงินรวมทั้งสิ้น 2,652,000,000 บาท โดยบุคลากรที่มีสิทธิประกอบด้วย 1.ข้าราชการพลเรือนทุกประเภท 2.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 3.ข้าราชการตำรวจ (ไม่รวมถึงพลตำรวจสำรอง) 4.ข้าราชการทหาร

(ไม่รวมนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมและทหารกองประจำการ) 5.ลูกจ้างประจำเงินในงบประมาณ 6.ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษ หรือบำนาญตกทอด ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  7.กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  แพทย์ประจำตำบล  สารวัตรกำนัน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ  8.สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และ 9.อาสาสมัครทหารพราน

สำหรับเกณฑ์การจ่าย คือ จ่ายให้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ  โดยจะจ่ายเพียงครั้งเดียว โดยรับจากหน่วยงานต้นสังกัด ในขณะบุคคลที่จะไม่ได้รับนั้น ได้แก่ บุคลากรมีเงินเกินกว่า 15,000 บาทหลังจากงบกลางปีมีผล โดยให้ส่วนราชการเรียกเงินคืนที่ได้จ่ายไปแล้ว ข้าราชการที่ถูกสั่งพักราชการ หรือถูกลงโทษทางวินัยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2551 ถึงวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ ผู้อยู่ระหว่างลาตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ เสียชีวิตหลังจากวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ และยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือให้จ่ายเงินให้ทายาท   "ให้ส่วนราชการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้มีสิทธิให้แล้วเสร็จภายในรอบการจ่ายเงินเดือนของเดือน มี.ค. 2552 ซึ่งกรมบัญชีกลางจะตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่งหลังจากมีการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือแล้วเสร็จ และหากพบข้อผิดพลาดจะแจ้งให้ส่วนราชการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป"  รายงานระบุ

ไทยโพสต์  ไทยรัฐ  โพสต์ทูเดย์  โลกวันนี้ 

ข่าวหุ้น  สยามรัฐ  บ้านเมือง  ผู้จัดการรายวัน 27 กุมภาพันธ์ 2552

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 245178เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท