การจัดการความรู้การประกันคุณภาพการศึกษา


การจัดการความรู้การประกันคุณภาพการศึกษา

                  การประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นการบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการการศึกษาว่าทุกคนในสถานศึกษาทำงานคุ้มค่ากับภาษีของเขา  ทั้งยังเป็นการป้องกันการจัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพและสร้างสรรค์การศึกษาให้เป็นกลไกที่มีพลังจะพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น

              ระบบการประกันคุณภาพกับการปฏิบัติงานตามปกติ จึงควรจะบูรณาการให้เป็นเรื่องเดียวกัน  เมื่อศึกษาจากแนวคิดของ  Hussey (1995: 64) ที่เรียกว่า รูปแบบ EASIER แนวคิดการจัดการความรู้ และระบบการประกันคุณภาพ ตามวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) ทำให้เห็นว่าสามารถบูรณาการเข้าด้วยกัน เป็นการบูรณาการการประกันคุณภาพ (Quality – Assurance - QA) และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ให้เป็นวิถีแห่งการทำงาน มีรายละเอียดดังนี้  

รูปแบบ EASIER ในการพัฒนาระบบบูรณาการ

           EASIER มาจากคำย่อของ Envision, Activation, Support, Implement, Ensuring และ Recognition กรอบความคิดมีดังนี้

              1.      การมองเห็นภาพร่วมกัน  (Envision) 

                   หมายถึง  การสร้างเป้าหมายสุดท้ายที่ให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นภาพว่าภาพที่ต้องการ  ให้เกิดขึ้นเป็นภาพอะไร  มีลักษณะอย่างไร  เป็นการฉายให้เห็นภาพในอนาคตของผลลัพธ์  ที่เรียกทั่วไปว่ามีวิสัยทัศน์  ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ ที่ทุกคนมีส่วนร่วม  และเห็นพ้องกัน

                   การมองเห็นร่วมกันจึงเป็นการสร้างภาพวันข้างหน้าให้เป็นภาพที่ชัดเจนแจ่มใส  ที่ทุกคนรับได้ และตั้งใจจะปฏิบัติงานร่วมกันให้เกิดผลตามภาพที่มองเห็นหรือฝันที่เป็นจริง

                   การที่จะให้บุคคลมองเห็นภาพร่วมกัน  จึงต้องจัดกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน      ร่วมคิด  ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อมาร่วมปฏิบัติงาน

           2.      การกระตุ้น (Activation)

                   หมายถึง  การให้กำลังใจ  การกระตุ้นให้บุคลากรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์กร  การเข้าใจวิสัยทัศน์  และกระบวนการทำงานที่ตรงกัน  ไปในทิศทางเดียวกัน  ให้เกิดความมั่นใจและมีความมุ่งมั่น  โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Sharing) ผู้นำจึงถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความรู้ในองค์กร (Embed Knowledge) ให้มองเห็นเป้าหมายที่ตรงกัน ในการกระตุ้นควรกระทำเป็นระยะ ๆ ทำตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการทำงานและระยะต่อมาอย่างต่อเนื่อง การกระตุ้นเป็นการเสริมแรงที่ดี

           3.      การสนับสนุน  (Support)

                   หมายถึง การสนับสนุนจากผู้บริหาร ข้อนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ  เมื่อมีกระบวนการทำงานที่เรียกว่า  กระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) หมายถึงการกำหนดงานให้ทำแล้ว หรือให้มีส่วนร่วมแล้ว จำเป็นต้องมีกระบวนการสนับสนุน (Support Process) ได้แก่การให้กำลังใจ การสนับสนุนปัจจัยทางกายภาพ ที่จะทำให้งานดำเนินไปได้สะดวก อย่าให้ติดขัดโดยกระบวนการในระบบราชการ ที่เรียกว่าระบบคอขวดให้หมดไป การเตรียมการสนับสนุน จึงเป็นสิ่งจำเป็นในระบบปฏิบัติงาน

           4.  การปฏิบัติงาน  (Implement)

                   หมายถึง  การพัฒนาระบบแผนงานที่ดีที่ได้มาจาก  การนำวิสัยทัศน์มาทำเป็นแผนกลยุทธ์   จากการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน  หรือมาทำเป็นแผนงานสำหรับสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน  มีช่วงเวลาและ  ผู้รับผิดชอบ

                   ในการปฏิบัติงาน  จะต้องกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น

                   4.1  การสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ต้องปฏิบัติ

                   4.2  กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ

                   4.3  มอบหมายผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน

                   4.4  มีทีมทำงานและโครงสร้างการทำงานสนับสนุน

                   4.5 กำกับเป้าหมายของการทำงานให้เป็นไปตามนโยบาย

                   4.6  การปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องมีความชัดเจนเข้าใจเหตุผลเป็นที่ยอมรับได้

              5.  ตรวจสอบให้มั่นใจ (Ensuring)

                   หมายถึง  การตรวจสอบให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน  ได้แก่กระบวนการควบคุม ติดตาม และประเมินผล  ซึ่งอาจมีการควบคุมโดยใช้เครื่องมือ  เช่น Gantt chart หรือ PERT การควบคุมโดยกลไกการติดตามโดยผู้บริหารระดับต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือให้เกิดผลอย่างน้อย 4 ประการ คือ

                   1.  การปฏิบัติตามเวลาที่กำหนดในแต่ละขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง

                   2.  การปรับปรุงแผนเมื่อมีสถานการณ์ใหม่

                   3.  การปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

                   4.  การปรับแผนการปฏิบัติงานตามผลการประเมินสถานการณ์

           6.  การชื่นชมร่วมกัน (Recognition)

                   หมายถึง  การให้กำลังใจ  การเสริมกำลังใจคนทำงาน  โดยการยอมรับความสามารถของแต่ละคน  และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น  เป็นองค์ความรู้หรือบทเรียน  แม้แต่บางครั้งผลลัพธ์ ที่ได้ออกมาไม่เป็นไปในทางที่คาดหวังไว้  ถือว่าเป็นบทเรียนได้  นำมาให้กำลังใจ  ไม่ให้ย่อท้อ  และให้ข้อสังเกตและแนวทางการแก้ไขในโอกาสต่อไป  สามารถนำมาพูดให้ความชื่นชมในจุดที่ดีได้  การชื่นชมร่วมกันนี้  ทำให้เป็นวัฒนธรรมของคนทำงานออกมาชื่นชมร่วมกัน  และให้ข้อสังเกตกัน  ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบทำงานที่มองคนในแง่ดี  บรรยากาศการทำงานจะดีขึ้น  ความร่วมมือก็จะมีมากขึ้นด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

เทื้อน  ทองแก้ว  และคณะ.  (2549).  การประกันคุณภาพการศึกษา.  กรุงเทพฯ :

               มหาวิทยาลัยราชภัฏ -สวนดุสิต

เทื้อน  ทองแก้ว.  (2547). กระประยุกต์ใช้รูปแบบ EASIER  ในการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยราชภัฏ-

                ให้เป็นเลิศ.  จันทรเกษมวิชาการ,  หน้า 25 35

หมายเลขบันทึก: 245129เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 07:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

esier ดีจังเลยค่ะ  จำง่าย ง่ายต่อการปกิบัติ

และ ไม่ทราบ ง่ายต่อการ..ลืม หรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท