วิทยากร..( สุดหล่อ )


อ.เทวินทร์ วารีศรี

ในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศได้เปลี่ยนไปมาก  มีผู้สนใจศึกษาธรรมชาติของความเป็นเพศมนุษย์ทั้งทางด้านกายวิภาค   สรีระ  และพฤติกรรม จนในที่สุดองค์การ อนามัยโลกลงความเห็นว่า มนุษย์มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือทนทุกข์ทรมานได้จาก ความเป็นเพศมนุษย์เอง  ฉะนั้นจึงได้จัดให้เรื่องทางเพศไว้ในด้านสุขภาพอนามัย (Health) ของมนุษย์ด้วยและเรียกร้องให้มีความสนใจกันอย่างจริงจัง ที่จะจัดให้มีบริการดูแล ด้านสุขภาพทางเพศ (sexual health service) เพศศึกษาจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ เพื่อให้เราได้อยู่กับความต่างของเพศและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

สุขภาพทางเพศของวัยรุ่นไทย

วัยรุ่นไทยขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง ขาดโอกาสในการได้รับข้อมูลและบริการเกี่ยวกับ สุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการ

วัยรุ่นมีความต้องการเรียนรู้เรื่องทางเพศมากกว่าวัยใดๆ และการเรียนรู้เรื่องเพศทั้งในทางที่ดีและไม่ดีที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้จะติดตัวไปจนเข้าสู่วัยต่อๆไป แต่คนไทยกลับมองว่าการเรียนรู้เรื่องเพศเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ขณะที่งานวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นที่สวนทางกับความคาดหวังของสังคม นั่น คือวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานกันมากขึ้น อายุเฉลี่ยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกลดลง และไม่นิยมใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ทัศนคติที่มองว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่วัยรุ่นควรเข้าไปข้องแวะ ส่งผลให้ไม่มีการจัดบริการด้านสุขภาพและข้อมูลทางสุขภาพให้แก่กลุ่มวัยรุ่น ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์อื่นๆ เช่น การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ที่อาจนำมาซึ่งภาวการณ์มีบุตรยากในอนาคต จึงเป็นปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก


ช่วงอายุที่เรียกว่า วัยรุ่นมีความแตกต่างหลากหลายไปในแต่ละสังคมวัฒนธรรม องค์การอนามัยโลกให้คำจำกัดความว่า วัยรุ่นหมายถึงกลุ่มประชากรที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานส่วนหนึ่งใช้ช่วงอายุ 15-24 ปีเป็นตัวบ่งชี้ และในหลายกรณี ก็ขยายช่วงอายุของวัยรุ่นครอบคลุมไปถึงคนหนุ่มสาว (youth หรือ young people) ครอบคลุมช่วงอายุ 10-24 ปี ซึ่งในบทความนี้จะใช้คำจำกัดความหลังสุด คือกลุ่มอายุ 10-24 ปี


อุปสรรคสำคัญของการมีสุขภาพทางเพศที่ดีของวัยรุ่นคืออะไร ?

เราทราบกันดีว่าสังคมไทยให้เสรีภาพเรื่องเพศแก่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกสังคมประณามเมื่อทำผิดบรรทัดฐานเรื่องเพศ มีความเสี่ยงต่อการตั้งท้องที่ฝ่ายชายหนีความรับผิดชอบ และมีความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะฝ่ายชายไม่ใช้ถุงยางอนามัย สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เพราะสังคมไทยไม่รู้ว่าการมีทัศนคติว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชายแต่เป็นเรื่องเสียหายสำหรับผู้หญิงนั้น มีผลต่อรูปแบบการเลี้ยงดูอบรมเด็กหญิงเด็กชาย (socialization) เพราะเด็กผู้ชายจะสามารถแสวงหาข้อมูลความรู้เรื่องเพศตามที่ตนเองสนใจได้อย่างอิสระมากกว่าเด็กผู้หญิง ในขณะที่เด็กผู้หญิงถูกปิดกั้นไม่ให้แสวงหาหรือแม้แต่พูดถึงเรื่องเพศ

เด็กหญิงส่วนมากในสังคมไทยได้รับการสั่งสอนว่าประจำเดือนเป็น เลือดสกปรกอวัยวะเพศเป็น ของต่ำวงจรวัฒนธรรมการเลี้ยงดูอย่างนี้นำไปสู่การพัฒนาความรู้สึกในทางลบที่เด็กหญิงมีต่อร่างกายของตนเอง ทำให้ไม่สนใจที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องระบบร่างกายของผู้หญิงและความรู้อื่นๆ ในเรื่องเพศศึกษา ในขณะเดียวกัน เด็กผู้ชายได้รับการเลี้ยงดูโดยปิดกั้นการเรียนรู้เรื่องเพศน้อยมาก แต่ก็ไม่ได้รับการสั่งสอนให้มีความรับผิดชอบต่อเรื่องเพศ เด็กชายจึงเติบโตมาโดยไม่ใส่ใจเรื่องคุมกำเนิด ไม่สนใจการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เว้นแต่จะเป็นการใช้บริการจากพนักงานบริการทางเพศ ขณะเดียวกัน วัยรุ่นหญิงที่ต้องการหรือจำเป็นต้องได้รับข้อมูลและบริการด้านการคุมกำเนิด กลับไม่สามารถหาข้อมูลหรือไปใช้บริการได้ เพราะเกรงจะถูกสังคมตีตราว่ามีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม


กล่าวได้ว่าความเชื่อของคนไทยในเรื่องบทบาททางเพศ เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการมีสุขภาพทางเพศที่ดีของทั้งวัยรุ่นหญิงและชาย นอกเหนือไปจากนั้น ข้อจำกัดทางฐานะเศรษฐกิจและศาสนา ยังมีส่วนทำให้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพและปลอดภัยของวัยรุ่นน้อยลงไปอีก

วัยรุ่นเผชิญปัญหาสุขภาพทางเพศอะไรบ้าง?

ขาดข้อมูลที่ถูกต้องและบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ : การมีทัศนคติว่าวัยรุ่นเป็นวัยเรียน ไม่ควรสนใจเรื่องเพศ ส่งผลให้ไม่มีการจัดบริการด้านสุขภาพทางเพศ และการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้องแก่วัยรุ่นทั้งหญิงและชาย ผลักดันให้วัยรุ่นรับข้อมูลเรื่องนี้จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้น

วัยรุ่นหญิงเผชิญปัญหาสุขภาพทางเพศมากกว่าวัยรุ่นชาย : การอบรมเลี้ยงดูให้วัยรุ่นชายมีอิสระในการแสดงออกทางเพศมากกว่าวัยรุ่นหญิง ส่งผลให้วัยรุ่นหญิงจำนวนมากเผชิญกับการเอาเปรียบทางเพศ และเผชิญกับวิกฤติในชีวิตในกรณีที่เกิดปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อม การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ปัญหาสุขภาพของแม่และเด็กในกรณีที่มีบุตรเมื่ออายุยังน้อย : การศึกษาในระดับโลกพบว่าการมีบุตรในขณะที่อายุมารดาไม่ถึง 20 ปี โอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทั้งแม่และเด็กมีสูงกว่ากรณีมารดาอายุเกิน 20 ปี อันเนื่องมาจากสภาพร่างกายที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ (AGI, 1997)

การตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม : ข้อเท็จจริงที่ว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานกันมากขึ้น ในขณะที่ยังไม่มีบริการด้านการคุมกำเนิดให้แก่วัยรุ่นโดยตรง จึงมีความเป็นไปได้ว่าวัยรุ่นจะเผชิญปัญหาการตั้งท้องที่ไม่พร้อมกันมากขึ้น สำหรับวัยรุ่นชายที่ไม่หนีออกจากปัญหานี้ ความเสียหายร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคือแผนการในอนาคตที่ต้องเปลี่ยนไป ครอบครัวผิดหวังและเสียใจ แต่วัยรุ่นหญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม อาจต้องเสียโอกาสทางการศึกษา การทำงาน ความอับอายของพ่อแม่ญาติพี่น้อง อาจต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แผนการชีวิตในอนาคตอาจต้องหักเหไปสู่จุดที่ร้ายแรงที่สุด

การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย : การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาที่พบมากในสังคมที่การทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะความต้องการบริการนั้นมีอยู่เสมอ ในขณะที่แพทย์ปริญญาไม่สามารถให้บริการได้ ช่องโหว่ตรงนี้จึงถูกเติมด้วยการให้บริการจากผู้ไม่มีความรู้ความชำนาญ การบริการทำแท้งเท่าที่มีอยู่ในสังคมไทยจึงเป็นบริการที่ไม่สามารถรับประกันคุณภาพ ความปลอดภัย และราคาค่าใช้จ่ายได้ ในขณะที่ความเสียหายด้านสุขภาพกายและใจจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอาจมีความร้ายแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ : ข้อมูลล่าสุดของกองโรคเอดส์และกองกามโรคระบุว่า จำนวนผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยกามโรคที่มีอายุระหว่าง 10-24 ปี มีกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยกามโรคทั้งหมด สะท้อนภาพการขาดข้อมูลที่ถูกต้องและบริการด้านสุขภาพเฉพาะสำหรับวัยรุ่น และชี้ให้เห็นแนวโน้มที่วัยรุ่นจะเผชิญปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้นอีกในอนาคตเพราะผลการสำรวจและวิจัยจำนวนมากพบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคู่รัก และไม่นิยมใช้ถุงยางอนามัยไม่ว่าจะเพื่อคุมกำเนิดหรือป้องกันการติดโรค (Gray and Punpuing, 1999 ; Singh et al., 2000 ; เอแบคโพลล์, 2540) การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างเรื้อรังยังส่งผลให้เกิดภาวะการมีบุตรยากหรือเป็นหมันตามมาอีกด้วย

ความรุนแรงทางเพศ : ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาที่ปรากฏชัดเจนในสังคมไทย วัยรุ่นหญิงเผชิญกับปัญหาทางกายและจิตใจอันเนื่องมาจากการคุกคาม ลวนลามทางเพศ การเอาเปรียบทางเพศ การข่มขืน การล่อลวงไปค้าประเวณี การละเมิดสิทธิของคนรักเพศเดียวกันไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นชายหรือหญิง การเลือกปฏิบัติต่อวัยรุ่นหญิง เช่น ถูกจำกัดโอกาสทางการศึกษา การทำงาน เป็นต้น

 

 ข้อมูลและบริการต่างๆควรได้รับการจัดสรรขึ้นแก่วัยรุ่น เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับเพศ และป้องกันวัยรุ่นจากปัญหาการตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และความเสี่ยงต่อภาวการณ์มีบุตรยากที่อาจเกิดขึ้นตามมา ข้อมูลและบริการที่กล่าวถึงนี้ควรดำเนินไปพร้อมๆ กับสร้างความตระหนักให้แก่วัยรุ่นชาย ให้มีความเคารพในสิทธิเหนือร่างกายและจิตใจของผู้หญิง และตระหนักถึงการร่วมรับผิดชอบในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศและการเจริญพันธุ์

จากแผนปฏิบัติการว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (ICPD 1994)

ตัวผู้เขียนเอง ได้มีโอกาสรับเป็นวิทยากรบรรยายในเรื่องเพศศึกษาแก่กลุ่มเยาวชน...นักเรียน ...นักศึกษา  ในหลายๆสถาบัน  ปัญหาที่ผู้เขียนพบคือ  เยาวชนเหล่านั้นขาดความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างน่ากลัว....บางคนรู้  แต่ไม่ถูกต้อง  จนบางครั้งทำให้ผู้เขียนคิดในใจว่า....เด็กๆของเราเรียนรู้เรื่องนี้กันช้าเกินไปหรือเปล่า

ติดต่อ อ.เทวินทร์  วารีศรี  086-3277561

 

หมายเลขบันทึก: 244559เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • มายินดีต้อนรับครับ
  • ต่อใครไปสนใจ
  • จะแนะนมาที่วิทยากรสุดหล่อนะครับ
  • ฮ่าๆๆๆๆๆ

โอ้โหเข้ามาโพสต์ครั้งแระ ข้อมูลเพียบเลยนะ ดีมาก มาก

ห่างหาย..แต่ยังคิดถึง ช่วงนี้งานเยอะครับ ออกเป็นวิทยากรเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กำลังรวบรวมเนื้อหาเรื่องนมแม่ เขียนหนังสือนมแม่เล่ม 4 หากออกแล้วช่วยกันซื้อหน่อยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท