13 สมุนไพร หรือใครกันแน่ที่เป็น 'วัตถุอันตราย' ?


โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 19 กุมภาพันธ์ 2552 18:22 น.

 

ขมิ้นชัน

หลายคนที่กำลังโซ้ยต้มยำกุ้ง หรือกำลังเพลิดเพลินอยู่กับต้มยำพุงปลาช่อนตรงหน้า คงมีอันต้องวางช้อน และแทบสำลักน้ำต้มยำออกมาทันทีที่ได้ยินข่าวว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของพืช 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา, ตะไคร้หอม, ขมิ้นชัน, ขิง, ข่า, ดาวเรือง, สาบเสือ, กากเมล็ดชา, พริก, ขึ้นฉ่าย, ชุมเห็ดเทศ, ดองดึง, และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย 
       
       "เฮ้ย! เป็นไปได้ยังไง กินมาตั้งเจ็ดชั่วโคตรแล้วไม่เห็นเป็นอะไร และไม่มีบรรพบุรุษคนไหนบอกว่ามันอันตรายสักคน ก็กินกันทั้งประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วอยู่ดีๆ คุณมาบอกว่ามันเป็นวัตถุอันตราย..." หนุ่มสะพายกล้องคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นประเด็นร้อนออกมากลางวงข้าวมื้อเย็น เมื่อได้ยินข่าวนี้เป็นครั้งแรก ประกาศนี้สร้างความสับสน สงสัย และปั่นป่วนมวนในกระเพาะอาหารไปหมด 
       
       บางคนลังเลว่าต้มยำกุ้งที่เขาเพิ่งซดลงคอไปนั้นจะเป็นอันตรายหรือ เปล่า (วะ!) ทั้งๆ ที่เขาก็กินอาหารชนิดนี้แทบทุกวัน แต่วันนี้เขาบอกว่ามันเป็นความรู้สึก ที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ก็เพราะสมุนไพรเจ้ากรรมที่ถูก 'จัดให้' เป็นวัตถุอันตรายนั้นมี 'เครื่องต้มยำ' ที่เขาชื่นชอบรวมอยู่ด้วย และ 10 ใน 13 สมุนไพรที่ว่าอันตรายนี้ก็เป็นวัตถุดิบคู่ครัวไทยมาตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้นมา แล้ว เรียกได้ว่ากินกันมาชั่วลูกชั่วหลาน... 
       
       แล้วจะไม่ให้ชาวบ้านเขาสะดุ้งสะเทือนได้อย่างไร ในเมื่ออยู่ดีๆ ก็มีประกาศว่าพืชผักสมุนไพรที่เขากินกันมาไม่รู้กี่ชั่วโคตรนี้เป็นวัตถุ อันตราย!
       
       พอ สะดุ้งตกใจมากๆ และบ่อยๆ เข้า ชาวบ้านเขาก็เริ่มสงสัยกันล่ะสิว่า ประกาศฉบับนี้มีเงื่อนงำอำพรางอะไรไว้หรือเปล่า เพราะเมื่อลองย้อนกลับไปศึกษาพฤติกรรมในอดีตของ 'กรมวิชาการเกษตร' ในฐานะหน่วยงานต้นเรื่องของการออกประกาศฉบับนี้ นอกจากคนลืมง่ายแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจำกรณีโครงการฉาวโฉ่เหลือรับประทานทั้งหลายแหล่ที่ออกมา จากกรมวิชาการเกษตรแห่งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเซ็ลทรัลแล็บ โครงการกล้ายาง 90 ล้านต้น โครงการพืชสวนโลก รวมทั้งการผลักดันฝ้ายและมะละกอจีเอ็มโอ 
        
       
กระทั่ง มาถึงประกาศให้สมุนไพรไทย 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 ที่เล่นเอาสะดุ้งสะเทือนกันทั้งประเทศอยู่ในขณะนี้ ชาวบ้านเขาก็คงกังวลใจเป็นธรรมดาว่ามันจะ 'ฉาวโฉ่' และมีอีแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังอีกไหม ?
       
       มีอะไรในก่อไผ่ (หรือเปล่า?)
       
" เชื่อว่ามาตรการนี้มันต้องมีลับลมคมในแน่นอน จะออกประกาศมาแล้วบอกว่าไม่มีอะไร เป็นเรื่องเข้าใจผิด ทำแบบนี้ไม่ได้ สังคมต้องร่วมกันจับตา" 
        
       มยุเรศ แลวงศ์นิล หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดลำปาง และเครือข่ายเกษตรกรยั่งยืน สะท้อนความเห็นต่อกรณีคำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้ ซึ่งเธอมองว่าสร้างความปั่นป่วนและผลกระทบแก่เกษตรกรไทยในวงกว้าง 
       
       มยุเรศยกตัวอย่างกรณีที่ได้รับฟังมาจากคณะทำงานเกษตรกรยั่งยืนว่า... " เขาเล่าว่าก่อนมีประกาศจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมวิชาการเกษตรประมาณ 2 วัน มีกลุ่มชาวนาที่เพชรบูรณ์ร่ำลือและเดือดร้อนกันมาก เขาบอกว่ารัฐไม่ให้ใช้สารเกษตรอินทรีย์ เพราะมันผิดกฎหมาย จากนี้เขาต้องใช้สารเคมี ซึ่งเขาก็เดือดร้อนกันมาก เพราะไม่มีใครอยากใช้สารเคมี ไม่อยากให้มีสารพิษปนเปื้อนในนาข้าว ตอนนั้น เครือข่ายหลายคนที่ได้ยิน เขาก็ยังตกใจว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้แน่นอน ใครที่ไหนจะประกาศให้พืชสมุนไพรเป็นวัตถุอันตราย ชาวนากลุ่มนั้นพูดยังไงก็ไม่มีใครเชื่อ มีแต่คนสงสัย แต่หลังจากนั้น 2 วัน ก็มีประกาศนี้ออกมา" 
        
       
มยุเรศตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์นี้ว่ามีนัยที่ไม่ธรรมดา... 
       
       "ถ้าถึงขั้นชาวบ้านตัวเล็กๆ ได้รับข่าวสาร ซึ่งเกิดขึ้นล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการอย่างเป็นทางการ เหล่านี้ สะท้อนได้หรือไม่ว่า 'ผู้ร่วมขบวนการ' ในครั้งนี้มีตั้งแต่คนตัวโตบนเก้าอี้ใหญ่ๆ ต่อเนื่องไปถึงกระทั่งผู้นำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่บางคนในองค์กรท้องถิ่น" มยุเรศบอกว่านี่คือการรุกคืบ กลืนกิน ตั้งแต่ 'ฐานที่มั่น' ของประเทศชาติอย่างเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่... 
        
       "แต่ยังดีที่มาตรการอันน่าเคลือบแคลงนี้ถูกระงับไปก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่า 'เก็บไปทบทวน' แต่อย่าหลงเชื่อคำกล่าวที่ว่า 'ไม่มีอะไรในกอไผ่-เป็นเรื่องเข้าใจผิด' สังคมต้องร่วมกันจับตา และตรวจสอบ" มยุเรศย้ำอย่างหนักแน่น 
       
       ทำไมไม่คิดให้ดีก่อนประกาศ ?
       
และอีกผู้หนึ่งที่เฝ้าจับตามองเรื่องที่เกิดขึ้นนี้อย่างใกล้ชิดก็คือ เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ เดชาบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มันไม่ถูกต้อง เพราะพืชที่ประกาศเป็นพืชที่คนบริโภคกันอยู่เป็นประจำ จะมาใช้คำว่าวัตถุอันตรายมันไม่ถูก... นอกจากนี้ เดชายังตั้งคำถามว่าประกาศทำไม เพื่ออะไร และที่สำคัญกว่านั้น เหตุใดจึงประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายขึ้นมาอย่างเร่งด่วน และไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอย่างนี้ 
       
        " จากคำอธิบายของกรมวิชาการเกษตร ที่ผมได้เข้าร่วมประชุมกับเขาที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คำอธิบายของเขาบอกว่า เป็นนโยบายสำคัญเลย ที่รัฐต้องการให้ประชาชนใช้สารจากธรรมชาติ ต้องการลดการใช้สารเคมีโดยเฉพาะการนำเข้า ซึ่งการประกาศนี้แหละ คือการสนับสนุนให้คนใช้สมุนไพรในการควบคุมโรคแมลงมากขึ้น เพื่อลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม เขาบอกว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเขาเป็นแบบนี้" 
       
       ถามว่างงไหม ? งง! เข้าใจไหม ? ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่! ตาสีตาสาฟังคำอธิบายแล้วก็คงส่ายหน้า ส่วนยายมีกับยายมาก็คง รับไม่ได้! 
       
       เดชาขยายความคำอธิบายของตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรว่า เพื่อต้องการควบคุมบริษัทที่ทำสารเคมีซึ่งมีพืชสมุนไพรเหล่านี้เป็นส่วน ประกอบ ทำผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ถ้าบริษัทไหนเอาพืชสมุนไพรเหล่านี้ไปทำเป็นยาฆ่าแมลง เมื่อเอามาจำหน่าย จะต้องไปขึ้นทะเบียน เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีการหลอกลวงเกษตรกร ไม่ใช่ว่าเอาสารเคมีไม่มีคุณภาพมาปนเปื้อน แล้วหลอกว่าทำมาจากพืชสมุนไพร... 
       
       " ขณะเดียวกันก็เป็นการสนับสนุน ส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรที่มีคุณภาพดี ไม่มีสารเคมีเจือปน ถือเป็นการสนับสนุนให้คนใช้สมุนไพรในการใช้เป็นยาฆ่าแมลงมากขึ้น เพื่อลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม นี่คือคำอธิบายของเขา... แล้วคุณอธิบายแบบนี้กับเกษตรกรตั้งแต่ต้นหรือเปล่า ?" เดชาตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม พร้อมกับให้ความเห็นว่า ถ้าไม่มีใครโวยวายขึ้นมา อาจจะไม่มีการชี้แจงแบบนี้ แล้วประชาชนก็อาจจะไม่สามารถใช้พืชเหล่านี้ได้เลย 
       
       " เพราะคำประกาศเมื่อแรกเริ่มมันครอบจักรวาลมาก ถึงขั้นว่า ถือครองก็ไม่ได้ ครอบครองก็ไม่ได้ ใส่ตู้เย็นก็ไม่ได้ ผิดหมด ผู้คนก็เดือดร้อน มันเป็นแบบนั้นเลยนะ เพราะคุณประกาศโดยไม่ชี้แจงรายละเอียด แล้วกลับมาบอกว่า ผู้คนโวยวายกันไปก่อน คำชี้แจงรายละเอียดยังไม่ออกมาเลย ก็แล้วถ้าไม่โวยวายล่ะ จะเป็นอย่างไร นี่คือการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาเลยนะ" 
       
       ทบทวนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
       เราขอคั่นรายการของ เดชา ศิริภัทร ด้วยแถลงข่าวล่าสุด 'กรมวิชาการเกษตรขอให้ทบทวนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2538' เมื่อ 17 ก.พ. โดยมีตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรกล่าวชี้แจงเหตุผลที่มาของการเสนอให้ ทบทวนประกาศฉบับดังกล่าวว่า ขณะนี้ประกาศนี้ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติจนกว่าจะมีประกาศของกระทรวงเกษตรฯ ประกาศคุณสมบัติของพืชที่ชัดเจน ทางกรมวิชาการเกษตรจะกลับไปทบทวนตามที่ได้มีการหารือ ในประเด็นว่าจะทำการพิจารณาดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมเรื่องการใช้ สารธรรมชาติที่มาจากพืชในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำหรับให้ผู้ที่จะผลิตขาย จะดำเนินการได้อย่างไร 
       
       " เราจะทบทวนว่าจะมีรายชื่อพืชอยู่คงเดิม หรือจะถอดรายชื่อพืชชนิดไหนออก หรือจะกำหนดวิธีการอย่างไร ที่ประชุมนี้มีมติให้กรมวิชาการเกษตรนำกลับไปพิจารณา แล้วฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดเสียก่อน" 
       
       ตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของประกาศฉบับดังกล่าว ก็อาจจะยกเลิก... แต่อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนมีความสับสนว่าประกาศบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายฉบับดังกล่าว มีขอบเขตการบังคับอย่างไร ประโยชน์ใครจะได้ และได้ประโยชน์จริงหรือไม่ จึงนำมาสู่การทบทวนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้คลายกังวลและเห็นประโยชน์ที่แท้ จริง พร้อมทั้งฟังเสียงประชาชนทุกภาคส่วนของสังคมให้มากกว่านี้
       
       " ผมยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลานานไหม แต่จะทำให้ดีที่สุด รอบคอบที่สุด และให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นประโยชน์ ถ้าประชาชนทั่วไปไม่เห็นประโยชน์ก็คงจะไม่ทำ..." ตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรกล่าว 
       
        
       มีความโยงใยอย่างน่าเคลือบแคลง
       
หลังจากอ่านคำแถลงข่าวของตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว เรามาติดตามมุมมองความคิดเห็นของ เดชา ศิริภัทร กันต่อ... 
       
       " ข้อมูลอีกด้านที่ได้รับรู้มา มันเป็นด้านลบเลยนะ มันเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะบริษัทที่เขาขายพวกยาเคมี ยาฆ่าแมลง สารเคมีปราบศัตรูพืช เขาได้รับผลกระทบจากการที่ชาวบ้านใช้พืชสมุนไพรเหล่านี้มาปราบศัตรูพืชมาก ขึ้นๆ เขารู้สึกว่าได้รับผลกระทบ เขาก็พยายามผลักดันให้มีมาตรการที่ทำให้ชาวบ้านใช้พืชสมุนไพรเหล่านี้ลดน้อย ลง โดยอาศัยมือของกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมวิชาการเกษตร ประกาศมาตรการนี้ออกมา เพื่อให้คนใช้ได้ยากขึ้น หรือใช้สมุนไพรเหล่านี้ได้น้อยลง นี่คือข้อมูลอีกด้านหนึ่ง รู้กันถึงอักษรย่อของบริษัทที่ว่านี้เลย แล้วก็มีการเปิดเผยอักษรย่อของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ว่าใครมีส่วนร่วม คือเขาทำกัน ผลักดันมาตรการเป็นกระบวนการ เขาว่ากันมาอย่างนั้นนะ แต่เราไม่มีหลักฐานก็จำต้องยกประโยชน์ให้จำเลย...
        
            " แต่ไม่ว่าอย่างไร ผมก็มองว่า มันไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลเลย เพราะเขาบอกว่าเขาต้องการส่งเสริมเกษตรกร แต่การกระทำมันไม่ใช่ มองไม่เห็นเลย ว่าส่งเสริมอย่างไร ถ้าจะส่งเสริมกันจริงๆ ทำไมคุณไม่ถามเกษตรกรว่าเขาต้องการอะไร ต้องการให้ส่งเสริมอะไร มาออกมาตรการนี้ แล้วจะอ้างว่าส่งเสริมได้ยังไง"
       
       จุดที่น่าสังเกตกว่านั้น เดชาบอกว่าการเร่งใช้คำประกาศ มีความโยงใยอย่างน่าเคลือบแคลงกับอายุการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการชุดออกคำ ประกาศที่ใกล้จะหมดลง 
       
       " นั่นเพราะคณะกรรมการชุดนี้ โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคนนอก กำลังจะหมดอายุในการดำรงตำแหน่งในวันที่ 17 ก.พ.2552 ส่วนคณะกรรมการชุดใหม่เขาก็คัดเลือกเข้ามาแล้ว รอแค่ประกาศแต่งตั้งแค่นั้นเอง แล้วหลังจากนั้นคณะกรรมการชุดเดิมก็จะไม่มีอำนาจอะไรแล้ว อำนาจจะขึ้นอยู่กับกรรมการชุดใหม่ที่เข้ามา"
       
       คำถามสำคัญก็คือ... 
       

       " ทำไมคณะกรรมการชุดเก่าต้องเร่งออกคำประกาศนี้ทั้งที่ตัวเองก็จะพ้นจาก ตำแหน่งอยู่แล้วในอีกแค่วันสองวัน จะรีบออกกฎหมายนี้ทำไม และจากข้อมูลที่ได้รับมาก็ทราบว่า ทั้งๆ ที่ มีกรรมการบางท่านที่เป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า อย่าเพิ่งออกประกาศมาตรการนี้ เขาจะขอมาปรึกษาหารือร่วมกันก่อน แล้วจะนัดคุยกันอีกที ในวันที่ 13 ก.พ. ว่าจะตกลงจะออกคำประกาศหรือไม่ แต่ก็กลับกลายเป็นว่า มีการออกมาตรการแล้ว แล้วกรรมการคนนั้นก็ได้รับแจ้งว่า เขาไม่มีการนัดประชุมหารือกันหรอก เขาใช้หนังสือเวียนบอกกล่าวกันให้รับรู้ 
        
       " ซึ่งหนังสือเวียนที่ว่านั้น กรรมการท่านนี้ก็ไม่ได้รับ มันผิดธรรมาภิบาลหรือเปล่า เพราะประชุมหารือกันคุณก็ไม่มี หนังสือเวียนที่คุณบอกทุกคนได้รับ เขาก็ไม่ได้รับ คำถามที่อยากถามอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ธรรมาภิบาลของคณะกรรมการชุดนี้มีหรือไม่ ทำไมคุณรอไม่ได้ ทั้งที่อีกแค่ไม่กี่วันคุณก็จะหมดอายุของการดำรงตำแหน่ง ทำไมไม่รอให้คณะกรรมการชุดใหม่เขาเข้ามาแล้วมาร่วมหารือ เรื่องสำคัญแบบนี้จะทำเป็นหนังสือเวียนได้อย่างไร" เดชากล่าวทิ้งท้ายให้คิด...
       
       มาถึงตอนนี้ ตาสาตาสี ยายมียายมา คงยกมือถาม อันว่า 'วัตถุอันตราย' นั้นคืออะไร...?
       
       

                      **********************
       
       เรื่อง : ทีมข่าวปริทรรศน์ผู้จัดการออนไลน์
       ภาพเกษตรกรโดย : ธัชกร กิจไชยภณ
       
               
                  **********************
       
            
       อีกหนึ่งมุมมองกรณีพืชสมุนไพร 13 ชนิด จากอดีตคนวงใน
       
อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คือคนหนึ่งที่เคยผลักดันเรื่องนี้ในสมัยที่เขายังดำรงตำแหน่ง เขามีคำอธิบายอีกชุดหนึ่งที่อยากจะบอกต่อสังคม... อดิศักดิ์เริ่มต้นว่า การใช้คำว่า 'วัตถุอันตราย' ทำให้เกิดความรู้สึกว่าน่ากลัว แม้ว่าคำนี้จะเป็นคำตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งกินความตั้งแต่วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ ฯลฯ โดยจัดแบ่งวัตถุอันตรายต่างๆ ออกเป็น 4 ชนิด และมีระดับการควบคุมที่เข้มงวดแตกต่างกันไปตามระดับความอันตราย
       
       " วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 จะเน้นไปที่ชีวภัณฑ์ คือยาปราบศัตรูพืชที่ทำจากสิ่งมีชีวิต เช่น ทำจากเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา หรือจากชิ้นส่วนของพืชหรือสัตว์ ซึ่งการทำมี 2 แบบ แบบหนึ่งคือการนำมาสกัดด้วยกระบวนการทางเคมีทำให้เกิดสารออกฤทธิ์ 
        
       " อีกพวกหนึ่งคือพวกที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทางเคมีเลย เราเรียกว่าสารธรรมชาติ เช่น เอามาบด สับ ตำ แล้วนำไปใช้ ชีวภัณฑ์จำพวกนี้ ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นขิง ข่า ตะไคร้ สะเดา โล่ติ๊น หางไหล ถือว่าอยู่ในชนิดที่ 2 ทั้งหมด ซึ่งมีเงื่อนไขว่าใครจะผลิตทำยาปราบศัตรูพืชต้องยื่นขอจดทะเบียนก่อน ต้องมีการตรวจสอบ ทดสอบที่ยุ่งยากมาก กระทั่งพวกที่จะทำสะเดาบด สะเดาอัดเม็ดเฉยๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีก็ทำไม่ได้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายมันเกิดไม่ได้
       
       " กรมวิชาการเกษตรตั้งแต่สมัยผมอยู่จึงมีความพยายามปลดระวางให้สารธรรมชาติที่ ได้จากพืชเหล่านี้ลงมาอยู่ในชนิดที่ 1 เพราะมันง่าย แค่ขอแจ้งว่าต้องการนำผลิตสะเดาอัดเม็ดเพื่อปราบศัตรูพืช แจ้งเสร็จก็ทำการผลิตและจำหน่ายได้เลย กระบวนการกำกับดูแลมันต่างกัน ดังนั้น ในเดือนเมษายนปี 2551 กรมวิชาการเกษตรจึงส่งเรื่องนี้เข้าไป โดยขอให้สารธรรมชาติจากพืชทุกชนิดลงมาอยู่ชนิดที่ 1 ซึ่งคณะอนุกรรมการไม่เห็นด้วยเพราะพืชบางชนิดแม้ว่าจะเป็นสารธรรมชาติ แต่ก็ยังมีพิษอยู่ เช่น โล่ติ๊น คณะกรรมการจึงเห็นว่าไม่ควรนำสารธรรมชาติจากพืชทุกชนิดลงไปอยู่ในชนิดที่ 1 ให้เอาแต่พืชที่มีผลการศึกษามาก่อนแล้วว่ามีอันตรายน้อย ซึ่งก็คือพืช 13 ชนิดที่ประกาศไป"
       
       หมายความว่าการผลิตสารธรรมชาติจากพืชสมุนไพรสำหรับปราบศัตรูพืช 'ในเชิงธุรกิจ' จะสามารถทำได้ง่ายและมีขั้นตอนน้อยกว่าเดิมมาก เพียงแค่แจ้งกับทางกรมวิชาการเกษตร และถ้ามีการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวง ผู้ใช้ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ส่วนเกษตรกรที่ทำใช้เองอยู่ก่อนแล้วจะไม่มีผลกระทบใดๆ จากประกาศฉบับนี้
       
       " มันเป็นเจตนาที่ดีที่ต้องการให้สารปราบศัตรูพืชจากธรรมชาติเกิดขึ้นในตลาด ประเทศไทยได้ เพื่อลดการใช้สารเคมีลง ผมจึงบอกว่ามันเป็นความเข้าใจที่สับสน ซึ่งในความเห็นผมคิดว่ามันเป็นเรื่องถ้อยคำ เพราะถ้อยคำเดิมที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ เราใช้คำว่า 'สารธรรมชาติที่มาจากพืชโดยไม่ผ่านกรรมวิธีทางเคมีเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1' แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็น 'ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช' หมายถึงราก เหง้า คนจึงตีความไปอีกอย่าง ประการที่ 2 คือคนที่มีชื่อเสียงหลายคน ไม่เข้าใจเรื่องอย่างแท้จริง แต่ตีความจากถ้อยคำเท่านั้น บวกกับความสงสัยหรือความเชื่อว่ามีนอกมีในจึงตีความไปในทางลบ
       
       " ประกาศตัวนี้ควบคุมเฉพาะการผลิตเพื่อการจำหน่าย ถ้าเกษตรกรเอาสะเดามาตำๆๆ ผสมน้ำ ฉีด อย่างนี้ไม่ผิด แต่ถ้าบริษัทหนึ่งจะผลิตจำหน่าย อย่างนี้ถือว่าผิดเพราะผลิตยาปราบศัตรูพืชจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต"
        
                        *******

ชุมเห็ดเทศ

ดาวเรือง

ดองดึง

สาบเสือ

ข่า

พริก

ขิง


ขึ้นฉ่าย

สะเดา

ชา


 

ตะไคร้หอม

แหล่งอ้างอิงข้อมูลคลิกที่นี่เวบผู้จัดการออนไลน์

www.manager.co.th


หมายเลขบันทึก: 243407เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2009 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท