เวทีหารือทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันการเงินชุมชน กรณีศึกษา 4 ตำบลในจังหวัดนครศรีธรรมราช


เวทีหารือทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันการเงินชุมชน กรณีศึกษา 4 ตำบลในจังหวัดนครศรีธรรมราช

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ณ วัดป่ายาง ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดโดยหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

เป้าหมายของการจัดเวทีครั้งนี้ ก่อเกิดภาคีการทำงาน(องค์กรการเงินชุมชน)อย่างมีส่วนร่วมนำไปสู่การพัฒนาแผนการขับเคลื่อนสถาบันการเงินชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อไปสู่ทิศทางเป้าหมาย

 

กลุ่มผู้เข้าร่วม จำนวน 18 คน ประกอบด้วย

อำเภอท่าศาลา

1)      สถาบันการเงินบ้านบ่อนนท์(ระดับอำเภอ)

2)      กองทุนหมู่บ้านบ้านบ่อนนท์(ระดับหมู่บ้าน)

3)      สถาบันการเงินบ้านโมคลาน(ซึ่งรวมกองทุนหมู่บ้าน+ธนาคารหมู่บ้าน+กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต)

4)      กองทุนหมู่บ้านศาลาสามหลัง

5)      กองทุนหมู่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลไทยบุรี

อำเภอทุ่งสง

1)      สถาบันการเงินบ้านควนกวด

2)      กองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 และ หมู่ที่ 12

อำเภอถ้ำพรรณรา

1)      ธนาคารวิสาหกิจชุมชนถ้ำพรรณรา

อำเภอเมือง

1)      เครือข่ายสัจจะวัดป่ายาง

กระบวนการในเวที

-          คุณภีม ภคเมธาวี ผู้ประสานงานชุดโครงการฯ นำเสนอ ทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันการเงินชุมชนจังหวัดนครศรีฯ

-     พี่รัช รัชนี สุขศรีวรรณ (เจ้าของเวที^_^) นำเสนอข้อมูลพื้นที่ กรณีศึกษา หลังจากทำการบ้านลงพื้นที่เก็บข้อมูล และสรรหาทีมที่สนใจเข้าร่วมการขับเคลื่อนงานครั้งนี้

-          เครือข่ายสัจจะวัดป่ายางให้ฉายให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ตนเอง โดย พี่ดำ(ไพศาล พรหมสิงห์)และพี่แว (ประเวียง ดุลแก้ว)

-          หลังจากนั้นก็เริ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

ข้อมูลความรู้จากกระบวนการ

 

ส่วนข้อมูลของพื้นที่กรณีศึกษา 1)  สถาบันการเงินบ้านบ่อนนท์ 2) สถาบันการเงินบ้านควนกวด 3) ธนาคารวิสาหกิจชุมชนถ้ำพรรณรา นั้นลองติดตามในบันทึกก่อนหน้านี้นะค่ะ ขอเพิ่มเติมข้อมูลเครือข่ายวัดป่ายาง จากที่นำเสนอในเวที โดยพี่ดำ ค่ะ

เครือข่ายวัดป่ายาง (ปุ๋ย กากน้ำตาล โรงน้ำ )

-          ปัจจุบัน มี 21 กลุ่ม

-          สมาชิก 3,600 กว่าคน

-          ทีมกรรมการบริหารจัดการ 34 คน

-          เงินทุนหมุนเวียน 30 ล้านบาท

-          กิจกรรมเน้นการลงทุนธุรกิจเพื่อชุมชน

-          ประชุมทุกวันที่ 29 ของเดือน

ในส่วนของสัจจะวัดป่ายางนั้น

-          ปัจจุบันมีสมาชิก 1,100 คน

-          ทีมกรรมการบริหารจัดการ 18 คน

-          เงินทุนหมุนเวียน 9.4 ล้านบาท

-          กิจกรรมมี

·         การจัดสวัสดิการ(กองทุน 4 ล้าน) มีการจัดสวัสดิการค่าน้ำ-ค่าไฟ ให้สมาชิกทุกครัวเรือน/ครั้งละ 50 บาท/ครัวเรือ/ต่อเดือน แต่มีข้อจำกัดว่าสมาชิกต้องมาส่งสัจจะด้วยตัวเอง/ โดยมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เดือนละประมาณ 20,000 กว่าบาท ส่วนของสวัสดิการสมาชิกที่นอนโรงพยาบาลจ่ายเป็นรุ่น ๆ รุ่น ที่ 1 คืนละ 500 บาท

·                 สัจจะ(เงินหุ้นสมาชิก 5 ล้าน)

-          ตารางกิจกรรมของสัจจะวัดป่ายาง คือ

·                 วันที่ 20 ของทุกเดือน พิจารณาเงินกู้

·                 วันที่ 24 ของทุกเดือน ทำสัญญาต่อหน้ากรรมการ

·                 วันที่ 25 ของทุกเดือน วันทำการรับสัจจะ/ส่งเงินกู้/ส่งสัจจะด้วยตัวเอง อื่น ๆ

·                 วันที่ 26 ของทุกเดือน สรุปงานบัญชี สรุปภาพรวมทั้งหมด ลปรร.กันด้วยค่ะ

โดยหลักการแล้ววัดป่ายาง นำโดย พระสุวรรณ คเวสโก นั้น แนวคิดอยู่ที่การเน้นคนให้รู้จักการออม และเป้าหมายการจัดบริการขั้นพื้นฐานในชุมชนให้ครอบคลุม อาทิ มีโรงเรียน มีโรงพยาบาล (ครบองค์บ้าน วัด โรงเรียน ค่ะ)

 

กองทุนหมู่บ้านศาลาสามหลัง

-          ปัจจุบันมีสมาชิก 470 คน

-          เงินทุนหมุนเวียน 3.9 ล้านบาท

-          เก็บสัจจะได้ 60,000 บาท/เดือน

-     กำไรสุทธิในปี 2551 ประมาณ 2 แสนกว่าบาท จัดสรรเป็นสวัสดิการประมาณ 4-5 หมื่นบาท(คงเหลือไว้ที่กองทุน)จัดสรรส่วนหนึ่งประกันความเสี่ยงไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์(ยังไม่ได้แจ้งเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการว่ากี่เปอร์เซ็นต์ค่ะ)

-          ด้านการปล่อยกู้คิดดอกเบี้ย 7%

-          ที่นี่ประสบปัญหาเรื่องภาวะหนี้เสีย

-          กำลังจะเปิดเป็นสถาบันการเงิน

 

ก่อนปิดเวทีในช่วงบ่าย 3 นั้นวิทยากรกระบวนการพยายามจะหาข้อสรุปว่าภาคีองค์กรการเงินที่เข้าร่วมวันนี้มีความคิดเห็นกันอย่างไรกับวง ลปรร.ลักษณะนี้ บ้างก็ว่าน่าจะมีการพบปะกันทุก 6 เดือน ดูความเคลื่อนไหวของแต่ละพื้นที่ว่าเคลื่อนไปถึงไหนอย่างไรบ้าง มา ลปรร.กันอีกครั้ง เล่ากันให้ฟังว่ากระนั้นเถอะ (^_^) ในส่วนตัวแล้วนั้นมองว่าหลายพื้นที่ดูจะนิ่งเฉย ที่ทำอยู่ เป็นอยู่ก็ดีแล้ว เกินเป้าที่ตั้งไว้มากมายแล้ว แต่ถ้าให้มีการมาพบปะ ลปรร.กันก็เป็นประโยชน์ยินดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเวทีแบบนั้นก็มีมากมาย ส่วนตัวมองว่ามันไม่สนุก ไม่ท้าทายและไม่น่าจะเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆที่เป็นประโยชน์ เรียบ นิ่ง และก็หายไป.

คำสำคัญ (Tags): #การเงินชุมชน
หมายเลขบันทึก: 243269เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออนุญาตก๊อบปี้ข้อมูลน้องแหม่มไว้ให้ทีมงานไว้อ่านเผื่อต่อยอดค่ะ

ความเห็นสุดท้ายน่าสนใจนะคะ...

"ในความเป็นจริงแล้วเวทีแบบนั้นก็มีมากมาย ส่วนตัวมองว่ามันไม่สนุก ไม่ท้าทายและไม่น่าจะเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆที่เป็นประโยชน์ เรียบ นิ่ง และก็หายไป…."

น่าคิดต่อค่ะ

  • คิดอยู่อย่างหนึ่งคือ การที่แต่ละพื้นที่ไม่เสนอแผนที่จะพัฒนากลุ่มต่อ เนื่องจากเห็นว่าภาคีที่มาร่วมต่างคนต่างมีจุดยืนที่ต่างกันมาก แม้การก่อตั้งจะเป็นแบบเดียวกัน แต่พอผ่านกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ที่ได้เจอประสบการณ์ต่างกัน ทำให้แนวคิด เป้าหมายของแต่ละที่ไปคนละทาง อย่างหนึ่งขึ้นกับผู้นำของกลุ่มนั้นๆ ด้วย
  • มองว่าการเสริมพลังของกลุ่มแต่ละแบบนี้อาจต้องแยกวง ที่เป้าหมายเหมือนกันไปด้วยกันจึงจะสนุกกับการเรียนรู้ กลุ่มแข็งช่วยกลุ่มอ่อน แล้วไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ลักษณะของ เครือข่าย

วงเรียนรู้ครั้งแรกเป็นแบบเปิดตัว/ผสมผสาน จึงมีลักษณะของการแลกเปลี่ยนแบบเวทีทั่วไป ไม่ใช่การเรียนรู้แบบเฉพาะเจาะจงซึ่งต้องคัดเลือกผู้เข้าร่วมในบทบาทเดียวกัน การเรียนรู้จะได้แบบกว้างๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป คือเรียนรู้เพื่อความเข้าใจในภาพรวมของแต่ละแห่ง ช่วยเพิ่มแนวคิด รูปแบบวิธีการจัดการเอาไปปรับใช้ในกลุ่มของตนเองได้บ้าง ก็เป็นประโยชน์อยู่บ้างสำหรับผู้เข้าร่วมตามเงื่อนไขของการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงและเป็นเวทีแรก แต่ส่วนตัวผมได้ประโยชน์มาก เพราะไม่ได้ลงพื้นที่กับ2สาว จึงมีโอกาสรับฟังข้อมูลจากหลายพื้นที่และจากหลายกลุ่มตัวอย่างในคราวเดียวกัน

วันนี้ทีมงานหน่วยฯได้หารือกัน มอบหมายให้รัชนีเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยร่วมกับหทัยศึกษาลงลึกใน3กลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มสัจจะวัดป่ายาง สถาบันการเงินต.โมคลาน และสถาบันการเงินต.ควนกรดว่ามีแนวคิดวัตถุประสงค์เป้าหมาย และดำเนินกิจกรรมอะไร อย่างไรบ้าง?เพื่อดูว่าเกิดผลกระทบขึ้นในสมาชิกและชุมชนอย่างไรบ้าง? คล้ายๆกับการลงไปประเมินอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะร่วมกันวางแผนดำเนินการ(พัฒนา)กลุ่มให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

เป็นการแลกเปลี่ยนผ่านบล็อกที่น่าสนใจมากสำหรับคนสามคนที่นั่งโต๊ะติดกัน :)

โดยส่วนตัวคิดว่า ประโยชน์ของวงแลกเปลียนเรียนรู้ จะเกิดขึ้นเมื่อ แต่ละคนมีข้อมูลประสบการณ์ และมุมมองที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นต่างระดับ หรือ ต่างมิติ แต่ถ้ารู้เท่าๆกัน มองเหมือนๆกัน การ ลปรร ก็อาจดูเหมือนไม่มีประโยชน์

ดังนั้น ในวงเรียนรู้วงหนึ่ง ผู้คนจึงอาจรู้สึกได้หลากหลาย... คุณภีมอาจรู้สึกเป็นประโยชน์ที่ได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่รู้ น้องแหม่มหรือชาวบ้านเองที่ "รู้อยู่แล้ว" อาจไม่รู้สึกสนุก (จนกว่าจะมีคนเปิดมุมมองใหม่)... นักวิจัยจากเมืองบางกอกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในพื้นที่ก็ตื่นเต้น แต่นักวิจัยท้องถิ่นอาจรู้สึกว่าไม่มีอะไรใหม่ ไม่น่าสนใจ... เช่นนี้เป็นต้น..

ความสนุกและประโยชน์ในวงเรียนรู้ คือ การพยายามตั้งใจฟังและค้นหาความรู้ใหม่ มุมมองใหม่ๆ จากคนอื่น

แม้แต่หนึ่งประโยค ก็ยังดี...และบางครั้งก็เป็นประโยคเดียวที่ทรงพลังด้วย.. (เจอบ่อยๆในเวทีชาวบ้าน)..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท