พุทธสังเวชนียสถาน (ตอนที่ ๑๔) กรุงกบิลพัสดุ์ - กรุงเทวทหะ : เมืองพุทธบิดา เมืองพุทธมารดา


กรุงกบิลพัสดุ์ - กรุงเทวทหะ : เมืองพุทธบิดา เมืองพุทธมารดา

                เมืองกบิลพัสดุ์เป็นเมืองฝ่ายพุทธบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ ส่วนเมืองเทวทหะ เป็นเมืองฝ่ายพุทธมารดา ทั้งสองเมืองตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าสักกชนบท หมายถึงบริเวณประเทศที่เป็นดงไม้สักกะ เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ก่อนที่จะเสด็จออกผนวช ทรงใช้ชีวิตในฐานที่ทรงเป็นเจ้าชายอยู่ที่เมืองพุทธบิดาคือกรุงกบิลพัสดุ์

ประวัติเกี่ยวกับกรุงกบิลพัสดุ์ คือในเมืองๆ หนึ่งมีพระราชาพระนามว่า พระเจ้าโอกกากราช ทรงมีพระโอรสพระธิดา ทั้งหมด 9 พระองค์ พระโอรส 5พระองค์ พระธิดา 5 พระองค์ ครั้งหนึ่งพระมเหสีทิวงคต พระเจ้าโอกกากราชทรงมีพระมเหสีพระองค์ใหม่ พระนางได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระเจ้าโอกกกราชทรงดีพระทัย ถึงกับพลั้งพระโอษฐ์ว่า อยากได้อะไรก็จะให้ พระนางจึงได้ทูลขอราชสมบัติให้กับพระโอรสของพระนาง พระเจ้าโอกกากราชทรงทัดทาน เพราะสันตติวงศ์ต้องเป็นไปตามวัยวุฒิ คือต้องให้พระโอรสองค์โตครองราชสมบัติ พระนางไม่ยินยอม พระองค์เองก็ไม่กล้าเสียสัตย์ที่ได้ลั่นวาจาไว้ จึงให้พระโอรส พระธิดาทั้ง 9 พระองค์ออกจากเมือง และให้ทรงยกไพร่พล เสนาอำมาตย์ ช้างม้าให้ไปตั้งเมืองอื่นอยู่เถิด เพราะพระองค์จะมอบราชสมบัติให้พระโอรสองค์เล็กนี้ พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งหมดจึงเดินทางออกไปหาเมืองใหม่ ก็ไปพบชัยภูมิอันร่มรื่นเหมาะสม อยู่ใกล้บริเวณอาศรมของกบิลดาบส กบิลดาบสก็มีเมตตา ยกที่ให้สร้างเมืองใหม่ พระโอรส พระธิดาทั้งหมดจึงสร้างเมืองขึ้นให้ชื่อว่า กบิลพัสดุ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่กบิลดาบส (นัยว่ากบิลดาบสนี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้สร้างบารมี) และเพื่อป้องกันมิให้วงศ์แห่งกษัตริย์ต้องแปดเปื้อนกับปุถุชน จึงอภิเษกสมรสกันเอง ยกพระราชธิดาองค์โตที่สุด คือพระเชฏฐภคินี ให้เป็นในฐานะพระมารดา

พระเจ้าโอกกากราชทรงทราบว่าพระโอรส พระธิดาได้สร้างเมืองใหม่ได้แล้ว ทรงโสมนัส ตรัสออกพระโอฏฐ์ว่า "สักโก" หมายถึง ผู้อาจหาญ ดังนั้น เมืองนั้นจึงเรียกชื่อว่า กบิลพัสดุ์ และวงศ์ของกษัตริย์ เรียกว่า ศากยวงศ์

ฝ่ายพระธิดาพระองค์โต หรือพระเชฏฐภคินี ได้ทรงอภิเษกกับพระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ราม พระเจ้ารามนั้นครองกรุงพาราณสี ต่อมาทรงประชวรโรคเรื้อน เป็นที่รังเกียจแก่พระญาติวงศ์ ทรงสละราชสมับติเข้าป่า ได้อาศัยบริเวณป่าไม้โกละ(ต้นกระเบา) อาศัยรักษาพระโรค ต้นโกละมีสรรพคุณรักษาโรคเรื้อนได้ วันหนึ่งทรงช่วยพระเชฎฐภคินีของเจ้าศากยะจากเสือโคร่ง จึงได้ทรงอภิเษกสมรส และสร้างเมืองขึ้นในบริเวณป่าไม้โกละ จึงได้ชื่อว่าโกลิยวงศ์ (วงศ์ของผู้อาศัยในป่าไม้โกละ) และขนานชื่อเมืองว่า เทวทหะ ต่อมาทรงมีพระโอรส พระธิดาได้ 32 พระองค์

ศากยวงศ์ กับโกลิยวงศ์ เพราะความที่เป็นพระญาติกัน จึงได้กลายเป็นบ้านพี่เมืองน้องมักกระทำอาวาห วิวาหมงคลแก่กัน เมืองนี้มีพระราชโอรส ก็ทรงอภิเษกกับพระธิดาอีกเมืองหนึ่ง ส่วนพระธิดาก็อภิเษกกับพระโอรสอีกเมืองหนึ่ง เป็นเช่นนี้สืบมาจนถึงยุคพุทธกาล พระเจ้าชัยเสนกษัตริย์เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงมีพระโอรส คือ  สีหนุ และพระธิดา คือ ยโสธรา (คนละพระองค์กับพระมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ) ส่วนกษัตริย์โกลิยวงศ์ ทรงมีพระโอรส คือ อัญชนะ พระธิดา คือ กัญจนา ทั้งสองเมือง จึงให้พระโอรสและพระธิดาของแต่ละพระองค์อภิเษกกันและกัน เจ้าชายสีหนุ อภิเษกกับเจ้าหญิงกัญจนา เจ้าชายอัญชนะ อภิเษกกับเจ้าหญิงยโสธรา และทรงมีพระโอรส พระธิดา

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติแล้ว ก็ทรงใช้ชิวิตในเมืองของพระราชบิดา ตลอด 29 ปี ลำดับเหตุกาลนับแต่ประสูติอย่างคร่าวๆ มีดังนี้

- หลังจากประสูติได้ 3 วัน อสิตดาบสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระโอรส

- หลังจากประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงเชิญพราหม์ 108 มาฉันโภชนาหาร และทรงให้เลือกพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญไตรเพทไว้ 8 รูป เพื่อทำนายพระลักษณะ และขนานพระนาม พราหมณ์ 7 รูป ทำนายเป็น 2พระลักษณะ ตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ คือ ถ้าหากครองราชย์บัลลังก์ อยู่ในฆราวาสวิสัย จะทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ครองดินแดนมีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นเขต หากเสด็จออกผนวชจะได้ตรัสรู้ธรรมอันยอดเยี่ยม(สัมมาสัมโพธิญาณ) ได้เป็นพระบรมศาสดาเอก แต่พราหมณ์คนสุดท้ายและอายุน้อยที่สุดคือโกณทัญญะ ได้ทำนายพระลักษณะว่า จะทรงเสด็จออกผนวชอย่างแน่นอนและพราหมณืทั้ง 8 ได้ขนานพระนามพระโอรสว่า สิทธัตถะ คือ สำเร็จสมปรารถนา

- หลังจากประสูติได้ 7 วัน พระมารดาคือพระนางสิริมหามายาเสด็จสวรรคต และได้ไปอุบัติที่สวรรค์ชั้นดุสิต ภายหลังจากนั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงอภิเษกกับพระนางมหาปชาบดี พระภคินี(น้องสาว) ของพระนางมหามายาและพระนางมหาปชาบดี จึงทรงเป็นทั้งพระน้านางและพระมารดาเลี้ยงของพระกุมารสิทธัตถะ

- พระชนมายุ 7 พรรษาทรงปลีกพระองค์ไปแต่เพียงผู้เดียว ในงานวันแรกนาขวัฐของเมือง ทรงประทับใต้ร่มไม้หว้าอันร่มรื่นและเจ้าภาวนา จนได้บรรลุปฐมฌาน ใต้ต้นหว้านั้นเอง และในเวลานี้เอง พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงรับสั่งให้ สร้าง ปราสาท 3 ฤดู และขุดสระโบกขรณี 3 สระ เพื่อให้พระกุมารได้ทรงพระสำราญ จะได้ไม่ทรงคิดเรื่องออกผนวช และในเวลานี้พระองค์ได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ จากสำนักครูวิศวามิตร จนสำเร็จทุกวิชาการด้วยพระอัจฉริยะอย่างยิ่ง

- พระชนมายุ 16 พรรษาทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา (พิมพา) พระธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกลิยวงศ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบิดาทรงประสงค์ เพื่อจะให้พระโอรสทรงถูกผูกพันอยู่กับครอบครัว จะได้ไม่คิดเรื่องออกผนวช

- พระชนมายุ 29 พรรษา พระชายาโสธราทรงประสูติพระโอรส คือพระราหุล และเจ้าชายสิทธัตถะเองก็ทรงตระหนักถึง สิ่งที่รัดรึงพระองค์รัดรึงสรรพสัตว์ให้ตกอยู่กับความทุกข์ ทรงเห็นนิมิต 4 ประการ คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตายอันเป็น ความเปลี่ยนแปลงของสังขารธรรม พระองค์ทรงประสงค์จะคิดหาวิธี ที่จะทำให้ หลุดพ้นสิ่งเหล่านี้ทรงมองเห็นความเป็นสมณะ ผู้ออกจากเรือนเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้น ในพรรษาที่ 29 แห่งพระชนมายุนี้เองทรงตัดสินพระทัย เสด็จออกบรรพชาสู่ความเป็นสมณะ เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้น เป็นอันว่า ในพรรษาที่ 29 นี้เอง ไม่มีเจ้าชายสิทธัตถะ แห่งศากยสกุลอีกมีเพียงนักบวชรูปหนึ่ง พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้ออกแสวงหาทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 242759เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ..พุทธประวัติอ่านได้ไม่มีเบื่อเลย...

                          nongnarts

ขอบคุณ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ ที่ติดตามอ่านพุทธประวัติ จะทยอยลงเรื่อยๆๆครับ

สวัสดีค่ะ

เมือ่คราวไปเป็นอาสาสมัครที่กุสินารา

ระหว่างมาพักที่พุทธคยา

ได้ไปชมกรุงเทวทหะมาแล้วค่ะ

ขอบคุณที่นำรายละเอียดมาเล่าให้ทราบกัน

ขออนุโมทนาบุญด้วยคน เมื่อไรจะไปเป็นอาสาสมัครอีกล่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท