วิสาหกิจชุมชนด้านสุขภาพก็มีด้วยครับ


ความสับสนของวิสาหกิจชุมชน กับธุรกิจด้านสุขภาพแยกได้ชัดเจน

วิสาหกิจชุมชน(SMCE) เป็นการประกอบการของคนในชุมชน ตั้งแต่ ๗ คนขึ้นไป มีการเรียนรู้เป็นหัวใจ มีเป้าหมายที่การพึ่งตนเอง การผลิตและกระบวนการอยู่ในชุมชน เป็นการผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับสากลเข้าด้วยจนเกิดเป็น นวัตกรรมในด้านนั้น ๆ.....

วิสาหกิจชุมชนไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องการประกอบการเชิงธุรกิจ อย่างเดียว (มีการผลิต,มีการจัดการด้านตลาด,มีทำเฉพาะของกิน และของใช้) แต่วิสาหกิจชุมชน ยังกินความไปถึงเรื่องการจัดการทุน หรือกองทุนในชุมชนด้วย เป็นวิสาหกิจชุมชนประเภทพื้นฐานในด้านการจัดการกองทุนไม่ได้หวังผลกำไร แต่หวัง สวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชน สร้างความมั่นคงในชีวิตของคนในชุมชนไว้ ลดการพึ่งพาจากภายนอกให้น้อยลง ลดการพึ่งพาจากระบบการรักษาสุขภาพด้านเดียว เป็นการสร้างความสมดุลของชีวิต 

เหมือนกับการทำวิสาหกิจชุมชนประเภทก้าวหน้าเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ได้หวังผลกำไร แต่หวังให้มีป่าเกิดขึ้น ให้รักษาต้นน้ำลำธารเอาไว้ ให้รักษาความอุดมสมบูรณ์ และความชุ่มชื่นของผืนดินนั้นไว้ มีการจัดการเป็นธนาคารปลา,ธนาคารต้นไม้,ธนาคารวัวควาย,ธนาคารปุ๋ย,ธนาคารน้ำ,ธนาคารสมุนไพร เป็นต้น  เพื่อคนในชุมชนจะได้มีกิน มีใช้ อย่างปลอดภัยจากสารเคมี ไปตลอดชั่วอายุคนรุ่นนั้น ๆ

ดังนั้นวิสาหกิจชุมชนด้านสุขภาพก็มีในชุมชนที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น เหมือนกับวิสาหกิจชุมชนด้านอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ที่ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เรียกสถานที่จัดฝึกอบรมชาวบ้าน และให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปว่า เป็น "ศูนย์วิสาหกิจชุมชนตำบลไม้เรียง" จริงอยู่ศูนย์นี้อาจจะดำเนินการหลายเรื่อง เช่น การเพาะพันธุ์ไม้ ทั้งเป็นอาหาร ทั้งไม้ใช้สอย ไม้ยืนต้น และสมุนไพร หรือการสาธิตการทำเส้นขนมจีน จากแป้งหมัก หรือจะเป็นการเพาะเลี้้ยงปลาดุกไว้กินแบบง่าย ๆ หรือการจัดทำน้ำยาล้างจาน หรือการทำไบโอดีเซล ก็ตาม ไม่ใช่เป็นศูนย์ เพราะทำหลายอย่างครับ  แต่เป็นศูนย์วิสาหกิจชุมชนที่ทำอย่างน้อย ๔ - ๕ ด้านครับ  (ด้านเกษตรยั่งยืน,ด้านของกิน-ของใช้,ด้านสุขภาพ,ด้านสิ่งแวดล้อม,ด้านพลังงาน เป็นต้น)

มาตอนนี้ หลายพื้นที่ได้ดำเนินการเรื่องวิสาหกิจชุมชนด้านสุขภาพไปบ้างแล้ว ไม้เรียงก็เป็นต้นแบบอยู่เพียงแต่ น้อยท่านจะสนใจถามว่า วิสาหกิจชุุมชนด้านสุขภาพไม้เรียง เป็นอย่างไรมากกว่าครับ

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาพร้อม ๆ กับวิสาหกิจชุมชนเรื่องอื่น ๆ กล่าวคือ ผู้นำชุมชนได้ตระหนักถึงเรื่องทำมาหากิน เรื่องอาหารการกิน และเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องต้น ๆ ครับ แต่เราก็ไม่ได้สืบสาวราวเรื่องให้เป็นจริงจัง

เรื่องทำมาหากิน ก็ทำอย่างไรให้ไม่เป็นเบี้ยล่างของนายทุน หรือเป็นเพียงแรงงานราคาถูกในชุมชน ไม้เรียงสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราของตนเอง ส่งออกให้กับบริษัทส่งออกยางพารา แต่ไม่เคยคิดจะทำเรื่องยางเรื่องเดียว ต้องมีเรื่องอื่นเป็นทางเลือกด้วยเสมอ มีการแนะนำให้ปลูกมังคุดในสวนยางพารา มีการปลูกสะตอ ลองกอง และไม้ผลชนิดต่าง ๆในสวนยาง เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร

เรื่องอาหารการกิน เนื่องจากอาหารปัจจุบันถูกกำหนดจากภายนอกชุมชน จากตลาดซึ่งไม่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิต(ชีวิตคนไม่มีค่าเท่ากับยาฆ่าแมลง และสารกระตุ้น สารเร่งเนื้อ สารต่าง ๆ ที่นำมาใส่ในข้าว,ผัก,ปลา,เนื้อ,ไก่,ผงชูรส,สี และอาหารต่างที่ปรุงแต่งมาสำเร็จแล้ว) ศูนย์วิสาหกิจชุมชนจึงเป็นศูนย์ความรู้ที่ให้ความรู้เรื่องอาหารการกินด้วย..

เรื่องสุขภาพ ทางศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง ได้ออกหนังสือ เรื่องสุขภาพชุมชน ของคนไม้เรียง มาให้คนในไม้เรียงได้อ่านและนำไปปฏิบัติ เนื้อหาของหนังสือ เป็นเรื่องการระวังภัยของสารเคมีปรุงแต่งทั้งหลายที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป (เบี่ยงเบน) มีการเสนอแนะว่า สิ่งที่มีคุณค่าของ รูปแบบ การดูแลรักษาสุขภาพ และการนำเอาเมนูอาหารที่ทานกันในชุมชนอดีตมาแบ่งปันกันพร้อมรายละเอีียดของสรรพคุณทางยาด้วย.....น่าสนใจคร้บ ถ้าผ่านไปไม้เรียง ลองติดต่อถามเรื่องหนังสือที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนไม้เรียงดูสิครับ จะได้ความรู้อีกด้านหนึ่ง ของวิสาหกิจชุมชนด้านสุขภาพครับ

 

หมายเลขบันทึก: 241804เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท