วิจัยแบบมีส่วนร่วม (PAR) : มีเงินก็ทำไม่ดี ไม่มีเงินก็ทำไม่ได้...!


 

การลงไปทำวิจัยในชุมชน โดยเฉพาะเมื่อต้องถูกกำหนดด้วยแนวทางของ “การวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) นั้น หากมีเงิน มีงบก็ทำไม่ดี แต่ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีงบก็ทำไม่ได้...!

หลังจากที่เราเองมีโอกาสได้รับงบประมาณลงไปทำงานวิจัยในชุมชน ทั้งงบแบบที่ “ไม่มีใครจะทำ” คือ ไม่มีใครอยากจะทำ และตอนหลังเริ่ม “มันส์” โดยเริ่มเขียนของบด้วยตนเอง (เรามันส์คนเดียวชุมชนเขาไม่มันส์ด้วย...)
ตอนแรกที่ลงไปทำนั้นทุกอย่างเป็นสีชมพู เลิศหรู อลังการณ์ มองอะไรก็ดีไปหมด ถูกไปหมด (คิดเอาเอง) แต่ทว่า ทุกอย่างที่ผ่านมาต้องสลด เมื่อได้ลงไปร่วมทำวิจัยชิ้นนี้ (สารบัญ "ท่าสักไดอารี่..."  )

(รูปนี้ได้จากพ่อของนักศึกษาคนหนึ่งที่เป็นทีมวิจัย "ร่วม" วาดให้)

เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าที่เราได้งบฯลงไปทำนั้นดีแล้ว ถูกแล้ว แต่เมื่อมาได้ทำงานที่ไม่มีงบประมาณเลย จึงได้เริ่มรู้แจ่มกระจ่างว่าการวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือที่มักเรียกกันว่า “พา” นั้นต้อง “พากันแบบไม่มีเงิน”

เมื่อไม่มีเงิน อื่ม... เราต้องคิดหัวหมุนหลายรอบเลยหละ
เราจะไปได้อย่างไรหนอ...? หากไม่มีงบลงไปให้เขา ชุมชนเขาจะทำกับเราหรือไม่หนอ...? ใครล่ะจะมาประชุมกับเรา ถ้าเขามาแล้วเราจะเอาเงินไหนไปจ่ายเขา…? มาแล้วเขาจะกินอะไร...? ทีมงานที่ลงไปจะเอาเงินค่าเติมน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยงมาจากไหน...? กระดาษ สมุด ปากกา ค่าโสหุ้ย อะไรต่ออะไรอีกจิปาถะ คิดแล้วกลุ้ม แต่กลุ้มจนเกิด “ปัญญา...”

เมื่อไม่มีเงินก็ต้องใช้ “ใจ” กันละ
เราก็มีใจ ทีมงานเราก็มีใจ เอาใจนี่แหละเดินลงไปในชุมชน แล้วใช้ “ใจแลกใจ” กันไปเลย...

สิ่งต่าง ๆ ที่ตามมานั้นกลับได้ผลเกินคาด คือ จากโครงการเดิมที่มีอะไร ๆ ก็ต้องเป็นเงิน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเบรค ค่าน้ำมัน กลับกลายเป็นการถ้อยที ถ้อยอาศัย ได้รู้จัก “ใจ” ของชุมชนอย่างแท้จริง

ถ้าหากมีเงิน เวลาเราลงไป เราก็จะสั่งไว้ก่อนนะว่า “มีคนเข้าร่วมประชุมเท่าไหร่ จัดอาหารมาด้วยนะ เดี๋ยวมีงบจ่ายให้รายหัว...”
แต่เมื่อเราไม่มีเงิน ไม่มีงบฯ เราก็ได้ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวแถว ๆ นั้น พี่ ๆ เขาเลี้ยงบ้าง เราเลี้ยงบ้าง แชร์กันบ้าง ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับ “ใจ...” เพราะเป็นการถ้อยที ถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน

กระดาษ สมุด ปากกาไม่มีเหรอ ไปดึงโครงการนี้มา โครงการโน้นมา เพื่อนบ้าง พี่บ้าง ไปขอเขา ให้เขามี “ส่วนร่วม” (อื่ม... เป็นอุบายที่ดี ใช้ได้)


ไม่มีเงินจ่ายค่าห้องประชุม ก็ไม่ต้องมีห้อง ไม่ต้องประชุม...!
เมื่อไม่มีห้อง ไม่ต้องประชุม กำแพงของห้องที่เคยกั้นเรากับชุมชนก็จางคลายหายไป
มีต้นไม้เป็นหลังคา มีฝาหนังวัดเป็นกำแพง มีลมเย็นจากธรรมชาติแทนเครื่องปรับอากาศ ทุกอย่างดิ้นไปด้วย “ธรรมชาติ...”

รถไม่มีลงไปเหรอ...?
ขอรถมหาวิทยาลัยสิ...!
เมื่อก่อนมีเงินก็เช่ากันอย่างเดียว “ไม่ง้อ”
แท้ที่จริงแล้วมหาวิทยาลัยเขาก็ต้องการมีส่วนร่วมกันเรานะ แต่เรามัน “หยิ่ง” ไม่ไปขอความร่วมมือกับเขาเอง

ค่าน้ำมันไม่มีเหรอ “เพื่อน” พี่ ๆ น้อง ๆ ในคณะฯ ในมหาวิทยาลัย ให้เขามีส่วนร่วมบ้าง เขาจะได้อยากไปร่วมทำงานกับเรา ลงไปชุมชนกับเรา และลงไปด้วยใจ...

เมื่อก่อนที่มีงบฯ เขาก็ไป แต่ไปเพราะหน้าที่ มีเบี้ยเลี้ยง
ถ้าไม่มีงบฯ เขาไม่ได้เงิน แถมยังต้องเสียเงินอีกต่างหาก ถ้าใครไปแสดงว่ามี “ใจ” แล้วเขาก็จะกลายเป็น “อาจารย์ที่รักการวิจัยและทำงานด้วยใจ” ไปโดยปริยาย...

การวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) นั้น มีเงินเป็นตัวตั้งก็ทำออกมาได้ไม่ดี เพราะอะไรก็ “เงิน เงิน เงิน” แต่ถ้าไม่มีเงินก็ทำไม่ได้ เพราะสังคมนี้ทุกอย่างนั้นต้องแลกมาด้วย “เงิน”

แต่ถ้ามีเงินนำหน้า ก็จะพากันไปไม่รอด
แต่ถ้ามีใจนำหน้า ใจจะนำมาซึ่งทุนที่มีคุณค่ามากกว่า “เงิน...”

(โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ต.ท่าสัก อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
จัดทำโดย นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์)

หมายเลขบันทึก: 241624เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2009 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การวิจัยแบบมีส่วนร่วม..คำตอบอยู่ที่ทุกฝ่ายได้ลงมือคิด..ลงมือทำ..รับผลประโยชน์ทุกฝ่าย win...win....แต่หากเราตั้งท่าจะมาวิจัยชุมชนบอกชาวบ้านว่านี่คือการทำวิจัยไม่มีีทางที่เขาจะสนใจ..ต้องใช้กุศโลบาย..ว่าเราเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ..ที่ผ่านมาเข้ามาแล้วก็ออกไปแบบไม่มีเยื่อใย...เพราะไดคำตอบแล้วก็กลับสำนักงานหรือกลับสถานศึกษา..แล้วก็เอาไปเขียนรายงานวิจัยเสนอเลื่อนวิทยฐานะ..ผศ..รศ.เราต้องฝึกและเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านเพราะศักยภาพของคนมีมากมายหากเราต้องช่วยกันเจียรนัย..ฝึกให้เขาคิด...ฝึกช่างสังเกต..ช่างซัก..ช่างถาม..และหาแนวทางด้วยตนเองแบบมีส่วนร่วม..รู้จักโต้แย้งแบบประชาธิปไตย..ปราศจากอารมณ์..อคติ.ขอชื่นชมทีม...มหาวิทยาลัย..แห่งนี้ด้วยจริงใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท