กองทุนหมู่บ้าน ในบริบทชาวสวน


มีโอกาสเข้าไปร่วมวงการประชุมของ กองทุนหมู่บ้านบ้านเขายวนเฒ่า ม.4 ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 7 กพ ที่ผ่านมา

บริบทหมู่บ้าน ม.4 พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ข้อมูลจากแผนพัฒนาสามปี(2552-2554)ขององค์การบริหารส่วนตำบลเทพราช(18 มิถุนายน 2551) ระบุว่าบ้านเขายวนเฒ่า ม.4 มีจำนวนครัวเรือน 110 ครัวเรือน จำนวนประชากร 522 คน สัดส่วนเพศหญิงกับเพศชายใกล้เคียงกันคือ เพศชาย 248 คน เพศหญิง 274 คน (ตำบลเทพราช แบ่งการปกครองเป็น 15 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน 1,719 ครัวเรือน จำนวนประชากร 7,589 คน เพศชาย 3,769 คน เพศหญิง 3,820 คน)

อาชีพของคนที่นี่ส่วนใหญ่เกือบทุกครัวเรือนทำสวนยางพารา+สวนผลไม้ มังคุด ทุเรียน เงาะ  มีเพียง 2-3 ครัวเรือนมีทักษะในการผลิตผลไม้นอกฤดูกาล ทำให้มีรายได้สูง ส่วนใหญ่ที่ไม่ผลิตนอกฤดูกาลเนื่องจากไม่มั่นใจในความยืนนานของต้น รองลงมาเป็นสวนปาล์ม สวนปาล์มเป็นเรื่องใหม่ของที่นี่เพิ่งนิยมกันเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา บ้างเปลี่ยนมาจากสวนผลไม้(ราคาถูกมาก) บ้างเปลี่ยนมาจากยางพารา(ระยะหลังฝนตกไม่ตามฤดูกาล ส่วนใหญ่ตกทั้งปี รายได้ลดและไม่แน่นอน) การถือครองที่ดิน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดิน มีเพียงครัวเรือนแยกใหม่ที่ไม่มีที่ดินจึงรับจ้างกรีดยาง จากอาชีพดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอดทั้งปี

บริการขั้นพื้นฐาน โรงเรียนระดับประถมศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง สำนักสงฆ์ 1 แห่ง  มีไฟฟ้า ประปาหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางสลับลูกรัง

การรวมกลุ่ม ตั้งแต่อดีตมีการรวมกลุ่มสัจจะหลายครั้ง แต่ทุกครั้งประสบความล้มเหลวเนื่องจากปัญหาหนี้ค้างชำระ(หายไปเลย)   

โรงงานรมควันยางพารา ปิดกิจการเนื่องจากขาดทุน ในแผนของอบต.ระบุว่าในปี 2552 จะสนับสนุนเงินเพื่อฟื้นฟูจำนวน 200,000 บาท

                เพราะฉะนั้นตอนนี้กลุ่มในหมู่บ้านมีเพียง กองทุนหมู่บ้าน ผลการดำเนินงาน มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ปล่อยกู้ร้อยละ 12 ต่อปี ประชุมทุกวันที่ 7 ของทุกเดือน(ฝากสัจจะ(บัญชี 2) แจ้งข่าว)

                วนกลับมาที่การประชุมวันนี้ของกองทุนหมู่บ้าน มีการถามถึงผลกำไรจากกองทุนหมู่บ้านให้มีการจัดการเป็นกองทุนสวัสดิการเพื่อรักษาพยาบาลแก่สมาชิก ในประเด็นนี้ประธานกองทุนยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้  กองทุนจะมีการคัดเลือกกรรมการใหม่แทนกรรมการเดิมที่หมดวาระลง 4 คน ในวันที่ 17 กพ 52     

อันที่จริงในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนกันทุกเรื่องของหมู่บ้าน นอกจากเรื่องกองทุนหมู่บ้านแล้วยังแลกเปลี่ยนกันถึงเรื่อง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สมาชิกบางคนไม่เห็นด้วยกับรายชื่อของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพประจำปี ไม่เป็นไปตามข้อมูลจากเวทีประชาคมหมู่บ้าน เรื่องของกองทุน SML ปี 51 นำไปเป็นกองทุนข้าวสาร

แต่วันนี้สมาชิกที่มาร่วมประชุมให้ข้อมูลว่าวันนี้มีผู้มาร่วมประชุมมากหน่อย เพราะมารับฟังเรื่องกำหนดวันชำระคืนเงินกู้ของปี 51 โดยปกติการมาฝากเงินสัจจะของทุกเดือนส่วนมากฝากเพื่อนบ้านมา เห็นว่าการให้ความสำคัญต่อกองทุนหมู่บ้านของคนที่นี่คือเรื่อง การกู้ ทุกคนที่เป็นสมาชิกก็เพื่อกู้ มิใช่การออม

                จากการตั้งข้อสังเกตของงานวิจัย โครงการศึกษาแนวทางการจัดทำเครื่องมือประเมินตนเองขององค์กรการเงินฐานรากเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการเศรษฐกิจชุมช ภายหลังการลงเก็บข้อมูลในจังหวัดชัยนาท มีการตั้งคำถามของทีมวิจัยถึงภาพขององค์กรการเงินชุมชนที่พึงปรารถนา น่าจะมีเป้าหมายช่วยลดการหมุนหนี้และช่วยลดภาระหนี้สมาชิก

                แต่ในภาพความเป็นจริง(ของหมู่บ้านนี้)วันนี้บางส่วนมองการกู้เป็นเพียงการรักษาสิทธิ ไม่ได้มองเป็นภาระ (ผู้กู้บอกว่า)วัตถุประสงค์ก็เพื่อการสำรองจ่ายในครัวเรือน แต่ในรายละเอียดลึกๆ อาจนำไปสู่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่? เป็นสิ่งที่ต้องค้นต่อ  

                ข้อมูล ว่าไปเรื่อย พอสมควร มีข้อจำกัดเรื่องการเผยแพร่ข้อมูล ทำให้สิ่งที่น่าสนใจขาดหายไปหลายอย่าง

หมายเลขบันทึก: 240991เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2009 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะน้องรัชคนขยัน

"การกู้เป็นเพียงการรักษาสิทธิ" ถ้าการกู้ไม่จ่ายดอกเบี้ย

แต่เมื่อต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ถือว่าเป็น "สิทธิ" ที่ต้องแลกด้วย "ต้นทุน" หรือ "ภาระ" บางอย่าง นั่นคือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย

แต่ที่กู้คงเพราะดอกเบี้ยที่เสียไปนั้น ได้ประโยชน์คุ้มกว่า เช่น เดิมเขาก็กู้ที่อื่นอยู่แล้ว แต่หันมากู้ที่นี่จะถูกกว่า หรือดีกว่าเพราะได้ผลตอบแทนด้านเงินปันผลหรือสวัสดิการกลับมาด้วย

ถ้าจะให้ชัด คงต้องถามว่า "ถ้าไม่กู้ จะเสียสิทธิ"อย่างไร? คำตอบที่ได้รับน่าจะสะท้อน "ประโยชน์ที่คาดหวังจากการกู้ยืมจากกลุ่ม" และเป็นประโยชน์ส่วนบุคคลด้วยค่ะ

หนูรัช

ลองใช้วิทยายุทธเพลงกระบี่ที่ร่ำเรียนมาจากสำนัก SLUSE วิเคราะห์หน่อยนะว่าระบบการผลิตทางการเกษตรของชุมชนที่นี่เป็นอย่างไร จะมีทางเลือก/ทางรอดอื่น ๆ ที่ควรเสนอต่อชุมชนอย่างไร

อาจารย์ติดตามดูสถานการณ์ของชุมชนต้นแบบหลาย ๆ แห่ง ได้เปิดวงลปรร.เพื่อพัฒนาวิธีคิด/วิธีทำงานของชุมชนในหลายพื้นที่ พบว่าสิ่งสำคัญคือการต้องมี "แผนแม่บทชุมชน" ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจสภาพปัญหาและการแสวงหาทางออก หากชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องราวของตัวเลขต่าง ๆ โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตทั้งที่เป็นต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ว่าเป็นอย่างไร ก็จะทำให้คิดต่อได้ว่าการวมกลุ่มจะนำไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตอย่างไร รวมถึงแนวทางการใช้วัตถุดิบในพื้นที่เพื่อผลิตปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ที่นำเข้าจากภายนอก.. คิดต่อไปจนถึงเรื่องการแปรรูปผลผลิตและการตลาด...สนุกดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท