"ราชการเขาให้ตัดสาง โค่นต้นไม้ยืนตายและไม้เล็กอื่นๆไม่ให้รก" แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านเปร็ดในอธิบายไปเรื่อยๆ ขณะพวกเราเดินศึกษาป่าชายเลน
"ที่จริง ไม้ยอดด้วน ต้นไม้ยืนตาย เป็นที่อยู่อาศัยวางไข่ของนกของแมลง"
"โพรงไม้เป็นที่ขังของน้ำจืด ทำให้สัตว์หลายชนิดมีชีวิตรอดในป่าชายเลนได้"
"ไม้เล็กใหญ่หลายชนิดออกดอกไม่พร้อมกัน ทำให้ผึ้งมีดอกไม้ไว้กินน้ำหวานตลอดทั้งปี"
"เวลาตัดสางป่า ใบไม้จำนวนมากถูกริดลงทับถมในดิน เกิดแกสที่รุนแรงเกินไปสำหรับสัตว์เล็กๆ ใบไม้ทับถมลงมากอาจเป็นอาหารอย่างดีของสัตว์บางชนิดในช่วงหนึ่ง แต่หลังสางป่าแล้ว เหลือใบไม้ร่วงลงดินในช่วงต่อมาน้อยลง ช่วงนั้น อาหารกลับไม่พอกิน"
เราชื่นชมกับภูมิปัญญา นักศึกษาบางคนก็ชื่นชม แต่บางคนก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา...
......
ชาวบ้านพาพวกเราเดินไปเรื่อยๆตามทางเดินป่าชายเลนที่ทำด้วยปูน บางช่วงทำเป็นสะพานปูน บางช่วงก็วางทางเดินปูนบนคันดินที่นายทุนมาขุดไว้สมัยบุกรุกป่า
"ราชการจะให้ซื้อเหล็กมาทำโครงปูน แต่เราไม่เอา เพราะเหล็กไม่ทนกับน้ำเค็ม ใช้ไม้ไผ่ทนทานกว่า" เราฟังแล้วนึกถึงพี่เรืองที่นครศรีธรรมราช ที่บ่นอุบกับโครงการของจังหวัด ทำอะไรสักอย่างในทะเล แต่ใช้เหล็กแทนไม้ไผ่ภูมิปัญญา ปัญหาเดียวกันความไม่คงทน
พวกเราเดินมาจนถึงปลายสะพาน โผล่ออกจากป่าเกือบทึบ ก็พบกับทะเลกว้างเวิ้งว้างดูกระจ่างตา ทะเลสงบเงียบ มีกระชังเลี้ยงหอยเป็นระยะๆ เห็นเกาะช้างรางๆ พระอาทิตย์ดวงกลมโตสีแดงอมส้มกำลังจะตกทะเล เปลี่ยนความเหน็ดเหนื่อยให้เป็นสดชื่นได้ทันที
ที่สะดุดตาคือ เต๋ายาง ที่เรียงเป็นระยะๆ บนดินเลนชายฝั่ง เต๋ายางเป็นการเอายางรถยนต์เก่าๆมาผูกไว้ 3-4 เส้น แล้วทิ้งไว้ตรงชายฝั่งเพื่อกันคลื่นกัดเซาะฝั่ง
"ราชการจะใช้ เต๋าปูนซีเมนต์ เราไม่เอา เพราะถ้าน้ำท่วมถึง เรือชาวบ้านที่วิ่งเลียบชายฝั่งจะมองไม่เห็นเต๋า ถ้าชนเต๋าปูนก็ทำให้เรือแตกเสียหาย เรารับผิดชอบเขาไม่ได้"
ชาวบ้านผู้เรียนรู้จากประสบการณ์ปฏิบัติจริง ยังเข้าใจปัญหาและรอบคอบกว่าหน่วยงานราชการอยู่ดึ
........
ขากลับ เราถามว่า เด็กๆมัคคุเทศก์น้อย ที่เคยนำชมป่า อธิบายจ้อยๆ เอาสมุดติดมือมาเก็บข้อมูลด้วย เด็กๆเหล่านี้คงโตขึ้นแล้ว พวกเขาหายไปไหนกันหมด
"โอ้ย.. เห็นพวกเขาเรียนกันจนเครียด การบ้านเป็นร้อยๆข้อ ก็เลยไม่อยากจะกวนแล้ว..."
เมื่อเด็กๆหายไป แล้วใครจะเป็นผู้รับการถ่ายทอด ชื่นชมภูมิปัญญาเหล่านี้... กุ้งหอยปูปลาที่กลับมาชุกชุมในปัจจุบันก็ด้วยภูมิปัญญาเหล่านี้มิใช่หรือ...
ถ้าภูมิปัญญาหายไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ความรู้ในระบบโรงเรียนไม่เคยจัดสิ่งเหล่านี้เข้าไปเป็นองค์ความรู้...
ในระบบกำลังกัดเซาะชาวบ้านอีกแล้ว..