Life Corner : ทำไมเราทำงาน อย่างทุกข์ ๆ ทั้ง ๆ ที่ควรจะมีความสุข


สิ่งที่เราอยากได้ อาจไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตเราต้องการจริง ๆ ก็ได้

มื่อเดือนก่อน เข้ากรุงเทพ ผมตั้งใจไปขอหนังสือ พุทธธรรม ของหลวงพ่อ พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ. ปยุตโต )  ฉบับ สมบูรณ์ เล่มหนามาก ๆ  ที่ วัด ญาณเวศกวัน  แถมซื้อหนังสือ ธรรมะ ได้นับสิบเล่ม จากร้านหนังสือ ธรรมสภา จ่ายเงินไปเพียง พันกว่าบาท  นึกในใจว่าทำไม หนังสือที่สามารถชี้นำทางให้ชีวิต สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้  ถึงได้ราคาถูกขนาดนี้   แต่กระนั้น คนส่วนใหญ่ก็มิได้นำพา

 


 

    อ่านหนังสือเรื่อง พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน  ของ หลวงพ่อ พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ. ปยุตโต )  ท่านได้สอน เรื่องสำคัญ ของชีวิต คือการมองชีวิตตามที่เป็นจริง   ความสุขที่นำมาซึ่งความทุกข์  เป็นความสุขที่ต้องพึ่งพิง  มนุษย์เรามีศักยภาพสูง แต่อาจพัฒนาศักยภาพที่ไม่นำมาซึ่งความสุขแท้  ท่านสอนว่า  มนุษย์เราโดยส่วนใหญ่  พัฒนา ความสามารถอย่างมากในการให้ได้มาของสิ่งที่อยากได้และคิดว่าจะบำเรอความสุขของตนได้   แต่ที่ขาดการพัฒนา  ความสามารถที่จะมีความสุข

      แต่สิ่งที่เราอยากได้ก็เป็นไปตาม  กฎธรรมชาติ ไม่เคยอยู่กับเราดี ๆ ได้ดั่งใจสักอย่าง เราก็เลย กลายเป็น คนสุขยาก ขึ้นไปทุกที   เดี๋ยวสุข เดี๊ยวทกุข์   ( รวมแล้ว ความสุข ๆ ทุกข์  ๆ นี่แหละที่มันทุกข์กว่าเพื่อน )     ผมอ่านแล้วเห็นท่าจะจริง เพราะ เราเคยคิดว่าเมื่อได้ รถหรู ๆ ดี ๆ สักคันน่าจะมีความสุขมาก พอได้จริง ๆ ความสุขมีเฉพาะตอนกำลังจะได้ กับตอนได้ใหม่ ๆ แต่พออยู่ ๆ ไป ก็ไม่ได้มีความสุขกับมันมากอย่างที่คิด   เห็นคนมีเงิน หลาย ๆ พันล้าน ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีความสุขสักเท่าไหร่  ยังต้องดิ้นรน หาความสุขให้ตัวเอง อยู่ตลอดเวลา

เมื่อตอนเป็นเด็ก เล็ก ๆ ได้ซื้อหนังสือการ์ตูนอ่าน ได้ของเล่น มีความสุขไปทั้งวัน  ช่างสุขง่ายจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเงินสักบาท   พอจบมาเริ่มทำงาน เงินเดือนน้อย ๆ  ก็ต้องการน้อย  พออยู่ได้ แต่คิดว่าในวันข้างหน้าได้เงินเดือนมากขึ้นน่าจะมีความสุขมากขึ้น  พอโตขึ้นมา มีเงินเดือนมากกว่าตอนจบใหม่ ๆ หลายเท่า ทำไมมันยังอยู่ยากกว่าเมื่อก่อนเสียอีก  ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนมากกว่าเมื่อก่อนตั้ง 3-4 เท่า  เราหาเงินเก่งขึ้นกว่าตอนเด็ก ๆ มาก  แต่ ทำไมมันสุขน้อยลง

 


 

ความสามารถที่จะมีความสุข  ของเราลดน้อยลงไปทุกที  ขณะที่เรามี ความสามารในการให้ได้มาของสิ่งที่อยากได้   มากกว่าเมื่อก่อนมาก

 


 

        หลวงพ่อสอนว่า " เราควรมีความสุขในการดำเนินชีวิตตามความจริงของ ธรรมชาติ "  ไม่ใช่สุขจากสิ่งที่สมมุติ  เราต้องแยกให้ได้ระหว่าง กฎแท้ ๆ ของ ธรรมชาติ  กับ กฏที่มนุษย์ สมมุติขึ้นมา

        งานที่ผมทำ ( เป็นหมอ ฮับ )  อยู่กับความสุข ความทุกข์ของคน แท้ ๆ  เนื้องานแท้ ๆ ก็อยู่บนเรื่องเหล่านี้  หน้าที่ของเรา พอมาหาเราเขามีความทุกข์  พอเราทำหน้าที่ของเราต่อเขา เขาทุกข์น้อยลง   แต่ทำไมคนทำงานแบบผม ไม่ว่าจะเป็น หมอ เป็นพยาบาล เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดูไม่ค่อยจะมีความสุขเอาเสียเลย ?

        ตัวอย่างที่ดีมาก ที่หลวงพ่อเล่าไว้ คือ  ถ้าเราจ้างเด็กให้ทำความสะอาดบ้าน  ครบ 1 เดือนเราจะให้เงิน 3,000 บาท  การที่เด็กได้เงิน    3,000 บาท เป็นผลจากการทำความสะอาดบ้านจริง ่เป็นผลโดยการสมมุติกันเองระหว่างเรากับเด็ก   แต่ที่เป็นผลจากกฏธรรมชาติแท้ ๆ คือความสะอาด ที่เกิดขึ้น


ฏธรรมชาติความจริง   เหตุ : การทำความสะอาด     ผล : ความสะอาดเรียบร้อย

กฏมนุษย์/กฏสมมุติ      เหตู : การทำความสะอาด  ผล : เงิน 3,000 บาท


    การทำงานที่ ผลที่เราต้องการ กับเหตุ ไม่เป็นไปตามกฏธรรมชาติ  มักจะไม่ทำให้มีความสุข

ถ้าเ็ด็ก ทำความสะอาด  ทุกครั้งที่ทำความสะอาด แล้วมีความสุขที่เห็นว่าบ้านสะอาดขึ้น ไม่ต้องร้องขอเด็กก็จะทำเอง เต็มใจ และ พอใจ มีความสุข เห็นคุณค่าในงานที่ตัวเองลงมือทำ    เป็นงานที่สอดคล้องกับความเป็นจริง    ผลที่ได้เป็นผลแท้ ๆ   

                         ท่านเรียกว่า อย่างนี้เกิด ฉันทะในงาน

แต่การทำความสะอาด เพื่อรอรับผลสมมุติ คือเงิน 3,000 บาท  เราก็คงนึกออกว่า มันยุ่งขนาดไหน ระหว่างคนจ่ายเงิน กับคนรับเงิน  คนจ่ายเบี้ยวไม่จ่ายก็ได้  คนทำ อู้ไม่ทำงานก็ได้   ผลสมมุตินี้จึงไม่ใช่ผลที่เป็นความจริง  อย่างนี้ ท่านเรียกว่า

                                      เกิด ตัณหา ในงาน

    งานที่โรงพยาบาล งานที่ชุมชนก็ดี  เราเห็นหลายครั้งมากที่  ไม่ได้ทำงานอยู่กับความเป็นจริง 


***   วันหนึ่ง ผมได้ยิน ผู้นิเทศงาน เพื่อให้ผ่านกระบวนการ HA  บอกว่า ทำไมเราจึงต้องมี Risk management เพราะเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกฟ้อง และเมื่อถูกฟ้องร้อง จะต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อกันตัวเองไว้ เพราะฉะนัน Risk management จึงมีความสำคัญมาก เพื่อรับรองว่าเรามีระบบป้องกันไว้ดีแล้ว

เวลาเราดูคนทั้งคน เพราะคิดว่า เราน่าจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง  เรามักจะระแวดระวังมาก โดยปริยาย ไม่อยากเพิ่มทุกข์ให้เขาอีก  ผมเห็น เภสัชโรงพยาบาลผม พยายามอธิบาย แล้วอธิบายอีกกับคนไข้ในการใช้ยา ณ. วินาทีนั้น ผมรู้เลยว่า น้องเภสัช ไม่ได้คิดถึงเรื่องจะถูกฟ้องร้องเลย แต่ กลัวคนแก่ที่รับยาหลายอย่าง จะกินยาผิด  

          มีบางครั้งที่พลาดจ่ายยาผิด  ผมเห็นน้องเภสัชกังวลมาก ไม่ใช่เพราะ กลัวถูกฟ้องเช่นกันแต่กลัวผลจากการผิดพลาดของตัวเอง จะทำให้คนไข้แย่ลง  น้องก็ตามไปถึงบ้านเพื่อแก้ไข โดยไม่มีใครสั่ง   มันเป็น ระบบ Risk manangement ที่ตรงตามความจริง ไม่ทุกข์ เหมือน Risk Management ที่ต้องระวังตัว ต้องรีบทำเอกสารส่ง กลัวถูกฟ้อง กลัวไม่ผ่าน HA

กฏธรรมชาติความจริง   เหตุ : การดูแล เยียวยาคนไข้   ผล : คนไข้ ญาติ มึทุกข์น้อยลง

กฏมนุษย์/กฏสมมุติ      เหตุู : การดูแล เยียวยาคนไข้    ผล : ไม่ถูกฟ้อง ถึงถูกฟ้องก็มีหลักฐานว่ามีกระบวนการ  ป้องกันไว้แล้ว ผ่าน HA



***  ผมถูกเชิญเข้าประชุม ( หลายครั้งมาก ๆ )    เพื่อทำเอกสาร ประเมินตนเอง และ Tracer ระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ( ที่ไม่เคยเสร็จเสียที )     เพื่อให้มีระบบการดูแลที่ชัดเจน และมี CPG เป็นเอกสารเพื่อให้มีหลักฐาน  ที่ พรพ. จะมาประเมิน ปลายเดือนนี้ ถ้าเอกสารไม่เสร็จ จะประเมินไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ   ก่อนวันประเมิน เราหลาย ๆ คนทำเอกสารหามรุ่งหามค่ำ 

แต่มีน้อยครั้งมากที่ผมเข้าร่วมประชุมเพือ่ทำเอกสาร เพราะมันเป็นเวลาเดียวกันกับที่เรานัดทีม pcu เยี่ยมบ้านคนไข้เบาหวาน เพื่อแก้ปัญหา อะไรสักอย่างของคนไข้ และ ครอบครัว  พอแก้ปัญหาได้ ทั้งทีมก็มีความสุข มีคุณค่าในตัวเองเพิ่มมากขึ้น เชื่อมั่นในการดูแลมากขึ้น อยากทำงานมากขึ้น

ขณะที่ผมเคย นั่งทำเอกสารทั้งวันเสร็จ ่ผ่าน HA   ผมไม่เคยรู้สึกเชื่อมั่นในการดูแลมากขึ้นเลย และไม่เคยรู้สึกว่า งานการดูแลสุขทุกข์  แท้ ๆ มันเป็นยังไงเลย

กฏธรรมชาติความจริง   เหตุ : การดูแล เยียวยาคนไข้   ผล : คนไข้ ญาติ มึทุกข์น้อยลง

กฏมนุษย์/กฏสมมุติ      เหตู : การดูแล เยียวยาคนไข้    ผล : ผ่าน HA


**** เจ้าหน้าที่ สาธรณสุข ถูกเกณฑ์ ให้ค้นหาผู้ป่วยเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  รายใหม่ ตามตารางที่จังหวัด กำหนดมา โดยมีเป้็าหมาย 100 % ในกลุ่มเสี่ยง ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี  ถ้าทำได้ถึงเป้าหมาย เราจะได้นำเสนอเป็น นวตกรรมระดับประเทศ ถ้าทำไมได้ตามเป้าหมาย ต้องชี้แจง

   ช่วงที่จังหวัดไม่ได้สั่งการ อะไร   ผมก็เห็นเจ้าหน้าที่ สาธารณสุข ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ ไปเจาะเลือด วัดความดันโลหิต กลุ่มเสี่ยง เป็นช่วง ๆ ตามความเหมาะสมของเวลา  ผมเห็น เจ้าหน้า train อสม หรืออาสาสมัคร ให้สามารถเจาะเลือด วัดความดันได้้  แล้วก็ค่อย ๆ เก็บงานในหมู่บ้าน  เพิ่ม

     ถามเจ้าหน้าที่ ว่าทำไมถึงทำทั้งที่  ไม่มีใครสั้่งการ  เจ้าหน้าที่บอกว่า  เพราะ เรียนรู้มาว่า ต้องมีการคัดกรอง เพื่อค้นหารายใหม่แต่เนิ่น ๆ ไม่อยากให้ เป็นมานานแล้วค่อยมาเจอ  ถาม อสม. อสม บอกว่าอยากช่วยงาน อยากช่วยตรวจดูว่าเพื่อบ้านใครเป็นบ้าง รวมทั้งตัวเอง กับญาติพี่น้องของตัวเองด้วย  ( ผมได้ยินมาอย่างนั้นจริง  ๆ ช่างเป็นเรื่อง เหตุผลที่เรียบง่าย และ  ตรงไปตรงมาจริง ๆ  )  

    นวตกรรมต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นเองระหว่างการทำงานของคนทำงาน  จะมีนวตกรรม หรือไม่มี ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย ถ้า เหตุ กับ ผล เป็นไปตามความเป็นจริง

    พอจังหวัดสั่งการ ทำงานแบบเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่ด้วยผลที่ต้องการ ต่างกัน  ผม เห็นเจ้าหน้าที่ รุกรี้รุกลน  กลัวทำไม่ทัน กลัวส่งงานไม่ทัน  ต้องจ้าง อสม ให้รีบเก็บงาน อสม. ก็รีบเก็บงาน ถ้าข้อมูลไม่ถึงเป้า ก็ให้ส่งตัวเลขมาก่อน ( คงเข้าใจนะครับว่า ส่งตัวเลขมาก่อน แปล ว่า อะใย ) เจ้าหน้าที่ก็ทุกข์  อสม ก็ทุกข์  คนถูกตรวจก็งง เพราะถูกนับเป็นตัวเลข ไปเสียได้

กฏธรรมชาติความจริง   เหตุ : การคัดกรอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง                                  ผล : คนที่ไม่รู้ตัวว่าเป็น จะได้รับการรักษาแต่เนิน ๆ  ญาติ พี่น้องเราจะได้รับการ ดูแล

กฏมนุษย์/กฏสมมุติ      เหตุู : การคัดกรอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง                                  ผล : เป็นไปตามป้าหมาย 100 % มีนวตกรรมใหม่นำเสนอ


วลารู้สึกว่าเป้าหมาย 100 % ยากไป ไม่เข้าเป้า เรื่องแค่นี้ทำไมทำไม่ได้   ปีต่อมาก็ลดลง เหลือ 85 % ปีต่อมาก็ลดลงอีก เหลือ 60 % ขอให้ได้ชื่อว่า เป็นไปตามเป้าหมายก็แล้วกัน  ( ก็บอกแล้วว่า เป็น ผลจากากรสมมุติ เพราะฉะนั้น ผลมันก็สมมุติ ไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความพอใจของคนตั้ง )

แต่ ผลที่เกิดขึ้นจริง ๆ แน่ แท้คือ คนที่เป็นเบาหวาน แล้วเราไปคัดกรองเจอ แล้วเราก็เริ่มรักษาแต่เนิน ๆ มันจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ทุก ๆ ครั้งที่เราเจอ เราจะมองหน้าคนนั้น แล้วคิดว่า  โชคดีจังที่เราเจอเขาแต่เนิน ๆ   รู้สึกดีจริง ๆ

 


   ทุกข์ในงานของเรา เกือบทั้งหมด ก็มักจะเกิดจากความเป็นไปเหล่านี้  ต้องการผลที่ไม่เป็นไปตาม กฏ ธรรมชาติ และความจริงของชีวิต  มักนำทุกข์มาให้

    หลวงพ่อ ประยุทธ ช่วยเตือนผมไว้หลายเรื่องในการดำเนินชีวิต ท่านหว่านเมล็ดพันธ์ุ์ แห่งปัญญา ที่เหลือก็เป็นหน้าที่เราที่จะเรับเอาไว้มาก ไว้น้อยแล้วแต่ สติปัญญา การแสวงหาของตน

    เมื่อวาน อ่าน เข็มทิศชีวิต 2 ของคุณ ฐิตินาถ ณ พัทลุง เล่าไว้ว่า

   ****    สิ่งที่เราอยากได้  อาจไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตเราต้องการจริง ๆ ก็ได้ *****

หมายเลขบันทึก: 240229เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีใจที่ได้อ่านบันทึกของหมอจิ้นอีก ได้ข้อคิดดีๆ เตือนใจอีกเช่นเคย

๒ วันก่อน หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้รับการประเมินจากสภาวิชาชีพ คล้ายๆ กับที่หมอจิ้นว่าเหมือนกัน คณะผู้ประเมินทำงานหนัก ตรวจสอบตัวเลขจำนวนหน่วยกิตรายวิชา สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา จำนวนภาระงานสอน ฯลฯ

ข้อมูลตัวเลข บางทีก็ไม่ไปทางเดียวกันกับคุณภาพของจริง ถ้าพอใจอยู่กับการมีเอกสารแสดง มีตัวเลขต่างๆ ตามเกณฑ์ ไม่รู้ไม่เห็นว่าการปฏิบัติจริงๆ เป็นอย่างไร ฟังแต่คำพูดและดูแต่ตัวหนังสือ ก็อาจติดกับ (ดัก)อะไรง่ายๆ

ตามมาอ่นอีกแล้วค่ะ เขียนได้ถึงแก่นตามเคยนะคะ สุดยอดเลย

ครูต้อยศรัทธาการทำงานของหมอจิ้นมาก

ใช่เลยทำไมเราต้องทำอะไรต่อมิอะไร ก็ในเมื่อสิ่งที่เราทำมันเป็นกฏธรรมชาติ สุขอันเกิดจากธรมชาติดีแล้ว

ชอบกรณีน้องเภสัช ใช่แล้ว ต้องเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องให้ใครสั่ง แต่ทำด้วยความรับผิดชอบ จริงใจ ปราถนาดี อย่างบริสุทธิ์

ถ้าถามครูต้อยว่าทำไมเจาะนิ้วเด็กอ้วน ก็อยากจะรู้ว่า จะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงไหมไหม และถ้ามีก็บอกผู้ปกครอง เพื่อพาไปพบแพทย์ ตรวจให้ละเอียดอีกที  และช่วยดูแลเรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เข้มงวด และให้ออกกำลังกายทุกวัน

ดีใจจังเลยที่มีคุณหมอดีๆแบบนี้ สาธุ อนุโมทนาค่ะ

ถ้าก่อนตัดสินใครว่าเค้าทำอย่างนั้นเพราะอะไร โดยถามความรู้สึกกันก่อน หลายๆเรื่องคงไม่วุ่นวายและค้างคาใจกันแบบนี้นะคะ

บันทึกวันนี้ยาวดีจังครับ

แต่ก็อ่านแล้วได้ความรู้สึก ดีๆ เหมือนเดิมครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์

แวะมาทักทายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท