แสงบุญ ลุงทอม:บุคคลที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังไร้สัญชาติ


แม้ตอนนี้แสงบุญและเด็กคนอื่นๆในห้อง ๓ ยังเดินไปไม่ถึงปลายทาง คือ การได้สัญชาติไทย แต่อย่างน้อยเขาก็ได้เรียนรู้ที่จะเอาความรู้จากห้องเรียนไปปรับใช้กับตัวเอง เริ่มที่จะคิดถึงคนที่อยู่รอบข้าง และเริ่มที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง แม้ว่าบทเรียนตามหลักสูตรในห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยจะจบลงเกือบ ๑ เดือนแล้ว(เราปิดห้องเรียนรุ่นแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๒) แต่บทเรียนในชีวิตจริงของเขาเหล่านี้กำลังเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขากำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าต่อไปให้กับชุมชนแม่อาย คราวนี้แม่อายจะไม่สะอื้นอีกต่อไปแล้ว...

 

 

 

-------
ความนำ

--------

              แสงบุญ ลุงทอม เป็นนักเรียนรุ่นแรกของโครงการห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการต่อยอดคลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (คลิกดูบรรยากาศห้องเรียน)

 

ถวยืน จากซ้ายไปขวา : ครูไหม(คนแถว๓), อ.เอ๋(คนแถว๑), เมอร์คอต, แสงบุญ,  หนุ่มแก้ว, นิพนธ์ และ ครูสุ(คนแถว๒) แถวนั่ง จากซ้ายไปขวา : รัตนาพร, บัวติ๊บ, นนท์, หน้อย และสองเมือง

                เขาเป็นหนึ่งในนักเรียนห้องเรียนที่ ๓ ซึ่งเป็นห้องเรียนสำหรับบุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ซึ่งเกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เป็นต้นมา และมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเกิดนอกประเทศไทย โดยนักเรียนในห้องเรียนนี้สามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ (๑) กลุ่มที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้พัฒนาสถานะบุคคลแล้ว เช่น กรณีบุตรของบุคคลบนพื้นที่สูงที่เกิดจากบิดามารดาที่เข้ามาในประเทศไทยก่อนวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๘  โดยบุคคลกลุ่มนี้มีมติณะรัฐมนตรีให้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสองแห่งพรบ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.สัญชาติ(ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕  และ(๒)กลุ่มที่ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีพัฒนาสถานะบุคคล เช่น กรณีบุตรของบุคคลบนพื้นที่สูงที่เกิดจากบิดามารดาที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๘  

  

---------------------------------------------------------------------------------------
จุดเกาะเกี่ยวระหว่างครอบครัวของแสงบุญ กับประเทศไทย
---------------------------------------------------------------------------------------

              แสงบุญ จัดเป็นนักเรียนกลุ่มหลัง เพราะนายต๊ะและนางเฮือนผู้เป็นพ่อและแม่ของเขาได้อพยพหนีภัยเหตุการณ์ความไม่สงบจากเมืองปัน ประเทศพม่า เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๓๕ โดยทั้งคู่เข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างในเขตอำเภอฝาง หลังจากเข้ามาตั้งบ้านเรื่อนอยู่ที่ประเทศไทยได้ไม่นานนักนางเฮือนก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดเด็กชายแสงบุญเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๖ ที่โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แม้ว่าในขณะที่แสงบุญเกิด พ่อและแม่ของเขาจะไม่ใช่คนสัญชาติไทย และไม่มีบัตรประจำตัวใดๆที่แสดงว่ามีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยก็ตาม แต่ทางโรงพยาบาลก็ไม่ปฏิเสธที่จะออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่บุตรของทั้งคู่ นับได้ว่าแสงบุญโชคดีที่เดียวที่เกิดมาแล้วทางโรงพยาบาลออกหนังสือรับรองการเกิด และช่วยดำเนินการให้เขาได้รับสูติบัตร ท.ร.๓ (สูติบัตรสำหรับคนต่างด้าว) และได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๗ และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลางมาตั้งแต่เกิด เขาจึงไม่ประสบปัญหาความไร้รัฐ

  

-------------------------------------------------
สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของแสงบุญ

------------------------------------------------

                 แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วแสงบุญจะเกิดในประเทศไทย แต่เขาก็ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนตามมาตรา ๗(๒)แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ เนื่องจากในขณะเกิดนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพ่อและแม่ของเขาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เขาจึงเป็นเพียงคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และถูกถือเป็นคนต่างด้าวในรัฐทุกรัฐบนโลก และทั้งๆที่เขาเกิดในประเทศไทยแต่เขากลับถูกถือว่าเป็นบุคคลที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา  ๗ ทวิ วรรคสาม ซึ่งนับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า ๑๖ ปีแล้ว ที่เขายังถูกถือเป็น "คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย" แม้ต่อมาภายหลังเมื่อพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๕๑ มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ เขาก็ยังถูกถือเป็นบุคคลที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองจนกว่าจะมีกฎกระทรวงออกมากำหนดสถานะ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๗ทวิ วรรคสาม ประกอบกับมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับดังกล่าว  

 

----------------------------------------------------------------------
แนวทางในการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของแสงบุญ

----------------------------------------------------------------------                

                   แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีนโยบายตาม มาตรา ๑๗ แห่ง พระราชบัญญัติคนเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับเขา แต่ใช่ว่าพวกเขาจะหมดสิ้นหนทางในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติเสียทีเดียว เพราะยังมียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ มาช่วยเยียวยาความไร้สัญชาติโดยการให้สัญชาติไทยแก่บุตรของกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยอยู่เป็นเวลานานแล้ว โดยได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล คือ ให้สถานะบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่มิได้มีเชื้อสายไทยซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปีขึ้นไป และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ และให้สัญชาติไทยแก่บุตรที่เกิดในประเทศไทย และในกรณีเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล คือ ให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดหรืออาศัยในประเทศไทยและศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยติดต่อกันอย่างน้อย ๔ ปี  และสำหรับกลุ่มเด็กที่ศึกษาในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะตามแนวทางกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยอยู่เป็นเวลานานแล้ว

ภาพ:บรรยากาศการเรียนการสอน

                    อย่างช้าที่สุดที่ปัญหาความไร้สัญชาติของเขาจะได้รับการแก้ไขเยียวยาก็คือ...เมื่อเขาเรียนจบปริญญาตรี ที่ทำได้ตอนนี้ก็คือตั้งใจเรียน และพยายามหาทางเรียนจนจบปริญญาตรี ซึ่งเป็นหนทางที่แสนยาวไกล ไกลเกินกว่าจะสามารถคาดการณ์ได้ แต่สิ่งที่ฉันรับรู้และสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของตัวเขาเอง คือการที่ครูสุ(ครูสุ ดวงใจ คนทำงานแถว๒)เล่าให้ฟังว่าเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมาเขาได้ขอให้ครูสุช่วยพาไปอำเภอเพื่อดำเนินการย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลาง(ที่อำเภอฝาง)เข้ามาอยู่ในทะเบียนประวัติของแม่ และดำเนินการเพิ่มชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ท.ร.๑๓ พร้อมกันนี้ได้ขอสมุดทะเบียนราษฎร ท.ร.๑๓ ณ สำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย ซึ่งเขาและแม่มีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน และต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๒  หลังจากเข้าเรียนครั้งที่สองทำให้เขารู้ว่าจริงๆแล้วเขาควรจะมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ. ๒๕๔๘ ไปตั้งแต่เมื่อ ๔ ปีก่อน ตั้งแต่วันที่เขามีอายุครบ ๑๒ ปีบริบูรณ์แต่เขาก็ยังไม่มีบัตรฯ จนเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบันจนกระทั่งมีระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ คราวนี้เขาจึงรู้ว่าตัวเองควรรีบดำเนินการขอมีบัตร ใช่ว่าเขาจะมุ่งแก้ไขปัญหาตัวเองเท่านั้น แต่เขายังเผื่อแผ่ความห่วงใยไปถึงคนในครอบครัว คือ แม่ของเขาด้วย เพราะหลังจากกลับไปสำรวจดูเอกสารและบัตรต่างๆของคนในครอบครัวตามที่ได้รับการบ้านจากครูในห้องเรียน ทำให้เขาพบว่าบัตรประจำตัวผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าของแม่เป็นบัตรรุ่นเก่าและหมดอายุแล้ว คราวนี้เขาจึงเป็นฝ่ายจูงมือแม่ไปที่ที่ว่าการอำเภอฝาง เพื่อพาแม่มาขอเปลี่ยนบัตร พร้อมกับการมาขอถ่ายบัตรใบแรกของตัวเอง หลังจากถ่านรูปเพื่อขอทำบัตรเรียบร้อยแล้วทางอำเภอก็ได้นัดให้ทั้งคู่มารับบัตรในวันที่ ๖กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒(ในอีก๑ เดือนต่อมา)

  

-----------
บทส่งท้าย

-----------

                  แม้ตอนนี้แสงบุญและเด็กคนอื่นๆในห้อง ๓ ยังเดินไปไม่ถึงปลายทาง คือ การได้สัญชาติไทย แต่อย่างน้อยเขาก็ได้เรียนรู้ที่จะเอาความรู้จากห้องเรียนไปปรับใช้กับตัวเอง เริ่มที่จะคิดถึงคนที่อยู่รอบข้าง และเริ่มที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง แม้ว่าบทเรียนตามหลักสูตรในห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยจะจบลงเกือบ ๑ เดือนแล้ว(เราปิดห้องเรียนรุ่นแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๒) แต่บทเรียนในชีวิตจริงของเขาเหล่านี้กำลังเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขากำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าต่อไปให้กับชุมชนแม่อาย คราวนี้แม่อายจะไม่สะอื้นอีกต่อไปแล้ว...


เรียบเรียงโดย กิติวรญา รัตนมณี
เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 239732เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2009 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากบอกว่า เขียนได้ดีมากจ๊ะ
เป็น "คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎร" คนหนึ่งของ อ.ไหมนะคะ
ฝันถึงวันที่เราจะวาดภาพร่วมกันได้แล้วยัง</p>
คำถาม ก็คือ วิทยานิพนธ์ของไหมจะว่าด้วยชีวิตสักกี่ชีวิตคะ ??

 

ใส่หัวข้อ ในแต่ละประเด็น ก็ดีนะคะไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท