จากฉันถึงเธอ 2


โชคดีที่ยังมีวันพรุ่งนี้ให้เราก้าวเดิน

สวัสดีท่านผู้อ่าน Sunday weekly ได้ห่างหายไปเสียนานก็คงต้องขอแก้ตัวในเรื่องราวแบบเดิม ๆ คือ ภารกิจการเรียนที่หนักหนาสาหัสเอาการเสียทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามในระยะเวลาที่ห่างเหินจากการเขียนบทความผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมผัสกับประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย และคิดว่าเหตุการณ์ที่ได้มีโอกาสสัมผัสนั้นมีคุณค่าและให้แง่คิดอย่างหลากหลายจึงอยากนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่าน


 

 

 

                   เมื่อปี 2551ผ่านพ้นไป ภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ก็มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของวันเดือนปี ผมยังมีภารกิจอยู่ด้วยกัน 3 ภารกิจ 1.ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อน ๆ ให้เป็น บรรณาธิการฝ่ายผลิตหนังสือพิมพ์อ่างแก้ว 2.การประกวดแผนการตลาดของบริษัท Power Buy และ 3.การเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนด้านนิเทศศาสตร์ระหว่างประเทศ (D’catch)

 

                  ในส่วนภารกิจแรกนั้นต้องดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 18 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นงานที่หนักพอสมควรผมต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในมหาวิทยาลัยและใช้เวลาพักผ่อนที่ไม่เป็นเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในฐานะบรรณาธิการฝ่ายผลิต คือ ความอดทนอดกลั้น การนำพาให้สิ่งที่ต้องร่วมกันทำงานเป็นทีมต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะต่างคนต่างเรื่องต่างราว หากเรายังคงมุ่งมั่นในสิ่งที่เราคาดหวังเราต้องอดทนและอดกลั้น

 

 

                   หนังสือพิมพ์อ่างแก้วฉบับพิเศษ ฉบับพระราชทานปริญญาบัตรก็เสร็จสิ้นออกมาเรียบร้อยและสามารถจำหน่ายได้ในวันพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งความสำเร็จ ณ จุดนี้คงพอทำให้ยิ้มได้ แต่อย่างไรก็ดีผมยังต้องมีภารกิจในการนำเสนอแผนการตลาดรอบชิงชนะเลิศ ของบริษัท Power Buy ซึ่งก็หมายมั่นปั่นมือว่าน่าจะได้รับรางวัลติดไม้ติดมือมาบ้าง

 

                     ภารกิจที่ 2 คือ การประกวดแผนการตลาด ในรอบนี้เป็นรอบสุดท้ายเราได้เตรียมตัวกันอย่างหนัก และเตรียมข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นของการประกวดผมและทีมงานได้ทุ่มเทอย่างหนัก เราได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมายซึ่งคงเป็นประโยชน์ในการปรับใช้ในอนาคต

 

    สิ่งสำคัญประการแรกที่ได้เรียนรู้คือ เรื่องของคน ผมมองว่าการที่องค์กรไหนจะก้าวเดินไปสู่เป้าหมายที่องค์กรวางไว้ ความร่วมมือร่วมใจของพนักงานหรือทีมงานเป็นสิ่งสำคัญ  ณ วันนี้ไม่มีองค์กรไหนที่สามารถจะก้าวเดินเพียงแค่คนเดียว เราต้องเดินไปเป็นทีม การนำทีมไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งเมื่อองค์กรได้ร่วมหัวจมท้ายก้าวเดินไปพร้อมกันแล้ว การหักด้ามพร้าวด้วยเข่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ  หรือ การเปลี่ยนม้าศึกกลางคัน บางครั้งอาจทำได้แต่บางครั้งก็อาจทำไม่ได้ ดังนั้นการเริ่มต้นด้วยทีมงานที่ดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

 

     เรื่องที่ได้เรียนรู้เรื่องที่ 2 คือ เรื่องของการนำเสนอแผนการตลาด บางครั้งเวลาเรานำเสนอแผนการตลาด หรือ แผนงานอะไรก็ตามแต่การมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีมากเกินไปก็ไม่ดีเท่าใดนัก และนี่เป็นเหตุผลที่ผมได้ประเมินเรียบร้อยแล้วว่าจุดนี้เป็นจุดบอดที่ทำให้เราพ่ายแพ้ เราให้ความสนใจต่อเรื่องราวของเทคโนโลยีมากเกินไป ซึ่งในความจริงแล้วเนื้อหาที่เราได้นำเสนอนั้นค่อนข้างดีแต่เราไม่สามารถทำให้ผู้รับฟังหรือกรรมการเห็นว่าแผนของเรานั้นเหนือกว่าแผนคู่แข่งได้อย่างไร ประสบการณ์ตรงนี้คงได้สอนให้เราได้จำอย่างมีคุณค่ามากที่สุด

 

                     ความพ่ายแพ้ที่ได้รับในครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องราวที่น่าคิดหลากหลายประการ ในวันที่เราจะก้าวเดินมาสู่ ณ จุดนี้เราเชื่อมั่นในตนเองสูงมากว่าเราต้องได้รางวัล ผมได้เอาความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมไปเสนอขอกู้ยืมเงินจากเพื่อนเพื่อมาใช้ในการประกวด แต่พอทราบผลผมก็แทบทรุดแต่ก็ไม่เป็นไรเพราะคิดว่าวงเงินที่ไปกู้ยืมมานั้นพอที่จะนำมาคืนได้ตามกำหนด อย่างไรก็ดีผมได้กำลังใจจากหนังสือและคนใกล้ชิดทำให้พอมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาใหม่ เวลาที่เราเจอมรสุมเราอาจอยู่ใกล้มรสุมมากเกินไป หากเพียงแค่เราลองถอยห่างออกมาสักก้าวสองก้าวเราอาจเห็นแสงสว่างก็เป็นได้ แต่กว่าจะเดินไปสู่แสงสว่างใหม่นั้นอาจต้องใช้เวลาและความอดทน สิ่งที่ได้เรียนรู้และสำคัญที่ผมต้องจำไว้ตลอด หากวันใดที่เราลงทุนสิ่งใดไปแล้วมันพลาดไป เราอาจคิดว่าเราไม่เหลืออะไรแล้วแต่ผมคิดว่า ผมยังเหลือวันพรุ่งนี้ที่ให้ผมได้ก้าวเดิน

 

                     ภารกิจที่ 3 การเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนด้านนิเทศศาสตร์ (สาขาภาพยนตร์และสารคดีสั้น) ระหว่างประเทศ ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผมต้องเข้าร่วมต่อจากการนำเสนอแผนการตลาด ซึ่งก็เป็นที่ได้พักใจจากความเหนื่อยล้าและผิดหวัง ผมมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ช้าไป 2 วันแต่ก็ต้องปรับตัวมากพอสมควร แต่ประสบการณ์และความทรงจำที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ช่างตราตรึงใจผมเหลือเกิน

 

             คณะนิเทศศาสตร์จุฬา เป็นคณะที่มีชื่อเสียงอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่านักศึกษาที่เรียนในคณะนี้เขามีความคิดอย่างไร และอะไรคือปัจจัยที่ทำให้นิเทศศาสตร์จุฬายังคงเป็นอันดับ 1  แม้ว่าผมจะได้มีโอกาสสัมผัสอยู่กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยุและโทรทัศน์ แต่ก็พอทำให้ผมได้เห็นภาพเบื้องหลังของการเป็นที่ 1 ได้มากพอสมควร

 

                     รุ่นพี่ปี 4 ของนิเทศศาสตร์จุฬามีเอกลักษณ์พิเศษ คือ กระบวนการคิด การนำเสนอมุมมองของตนเองผ่านผลงานนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมีแนวคิดที่แปลกใหม่ ซึ่งผมต้องชื่นชมว่าเหนือชั้นกว่าคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของที่ผมศึกษาอยู่  หากคณะผมต้องการเป็นที่ 1 อย่างนิเทศศาสตร์จุฬาคงต้องปรับตัวมากกว่านี้อีกเยอะ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ตัวนักศึกษา ผมคิดว่ารุ่นพี่เขามีความกระตือรือร้นสูง และมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้ามาเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคัดบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่ปัญหาของคณะสื่อสารมวลชน คือ เมื่อนักศึกษาเข้ามาเรียนจะทำอย่างไรให้นักศึกษามีความกระตือรือร้น แต่ที่เป็นประเด็นต้องเชื่อมโยงไป คงเป็นเรื่องของจริยธรรมหากทุกคนมีความกระตือรือร้นมากเกินไปจนก็จะนำไปสู่การแย่งชิงกันซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี

 

 

วันนี้คงพอเท่านี้ก่อน พบกันในวันพรุ่งนี้  

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 239485เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2009 01:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • รออ่านต่อไปนะคะ  นักเขียนคนเก่ง
  • ความอดทน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด  เมื่อเราอยู่ใกล้คนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท