สมรรถนะพยาบาลวิชาชีพ


พยาบาลวิชาชีพ

             ปัจจุบันระบบสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก   ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และความคาดหวังของผู้รับบริการที่สูงขึ้น อัตราป่วยและเสียชีวิตของประชากรไทยเปลี่ยนจากโรคติดต่อและโรคติดเชื้อมาเป็นโรคไม่ติดต่อ และโรคที่มีสาเหตุมาจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม   เช่น  โรคหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน   ทำให้ในปี พ.ศ. 2543  เมื่อพิจารณาสถานการณ์ทางสุขภาพ เปรียบเทียบตามดัชนีวัดประสิทธิภาพของระบบสุขภาพองค์การอนามัยโลก  พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่  99  จากสมาชิกทั้งสิ้น  191  ประเทศ ทำให้จึงต้องเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนด้วยวิธีการเน้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง และครอบครัวเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย แต่ที่ผ่านมาการสร้างเสริมสุขภาพยังคงอาศัยมาตรการและเทคโนโลยีทางการแพทย์มากกว่ากระบวนการทางสังคม ทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพมีราคาสูง อีกทั้งการให้บริการมีคุณภาพไม่ดีพอ ขาดการประสานแผนที่ดี  ขาดกำลังคนด้านสุขภาพที่เหมาะสม จากสภาวการณ์ดังกล่าวประกอบกับประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปีพุทธศักราช 2540 ให้มีการปฏิรูประบบราชการ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างระบบสังคมไทย โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุขซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจัดบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ (มาตรา 82) ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานอย่างเสมอภาค (มาตรา 52)  มีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมครบวงจรอย่างต่อเนื่อง (มาตรา 72) ให้บริการเชิงรุกสร้างสุขภาพเกิดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ ประชาชนมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย  จิตใจ  สังคม  และจิตวิญญาณ  ไม่ป่วยตายด้วยโรคติดต่อและโรคที่สามารถป้องกันได้   จึงต้องมีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการดูแลสุขภาพได้อย่างครอบคลุม และเป็นไปตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

การปฎิรูประบบบริการสุขภาพ (Health care reform) เป็นการดำเนินงานที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบายการดำเนินงานด้านสุขภาพ  ได้มีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ  ฉบับที่  9  ให้มีการจัดการสถานบริการของรัฐ โดยปรับบทบาทให้สามารถแข่งขันกับสถานบริการอื่นได้  โดยเฉพาะสถานบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งอยู่ในระดับตำบลอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด  มีการกระจายครอบคลุมทุกตำบล  สามารถเข้าถึงสุขภาพประชาชนได้ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำ เป็นที่ยอมรับกันว่ามีความสำคัญในการทำให้ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสุขภาพประสบความสำเร็จ   จากเดิมที่รู้จักกันในชื่อของสถานีอนามัย มีบุคลากรสาธารณสุขคอยให้บริการกับประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล  การส่งเสริมสุขภาพ  การป้องกันโรค  และการฟื้นฟูสภาพ เป็นการให้บริการแบบตั้งรับในสถานบริการเป็นส่วนใหญ่  มีสัดส่วนของงานรักษาพยาบาลต่องานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 75 : 25  ส่วนการให้บริการเชิงรุกเป็นการให้บริการดูแลมารดาและทารก สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค  และการจัดนิทรรศการ  จากการดำเนินงานแบบตั้งรับทำให้สามารถบริการประชาชนได้เพียงร้อยละ 15-20 ของจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบเท่านั้น  ยังมีประชากรอีกร้อยละ 80-85 ที่ไม่ได้รับบริการสุขภาพ  ผลจากการปฏิรูประบบบริการสุขภาพจึงได้มีการปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่  ยกระดับสถานีอนามัยมาเป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ  กำหนดให้มีแพทย์ออกไปให้บริการ  นำยุทธศาสตร์การสร้างนำซ่อมมาใช้ร่วมกับการดำเนินงานสาธารณสุขเชิงรุก  เน้นการเยี่ยมบ้านซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของพยาบาลวิชาชีพต้องออกปฎิบัติงานเยี่ยมบ้านตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน  พยายามผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผสมผสานกิจกรรม  หน่วยบริการระดับปฐมภูมิจึงมีความสำคัญและเป็นหน่วยบริการด่านแรกของระบบบริการด้านสุขภาพ   มีความใกล้ชิดกับประชาชน  รู้จักสภาพวิถีชีวิตและสังคมของประชาชนในชุมชนที่รับผิดชอบมากกว่าสถานบริการในระดับทุติยภูมิ  และตติยภูมิ  ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งในระดับบุคคล  ครอบครัว  และชุมชน  โดยทำหน้าที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง  จากบทบาทและภาระงานทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีการกำหนดขอบเขตรับผิดชอบ  ให้หน่วยบริการระดับปฐมภูมิแต่ละแห่งรับผิดชอบประชากรในพื้นที่ไม่เกิน 10,000 คน  มีอัตรากำลังบุคลากรด้านสุขภาพจำนวน  8  คน ประกอบด้วย แพทย์ 1 คน ทันตแพทย์ 1 คน พยาบาล  2  คน เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่น  4  คน ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 75  ของเวลาทั้งหมด  หรืออย่างน้อย  56  ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ผลการดำเนินงานในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิที่ผ่านมา   พบว่าผู้ใช้บริการขาดความมั่นใจ   เจ้าหน้าที่ขาดประสบการณ์งานชุมชน ขาดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะแพทย์   ทำให้พยาบาลต้องรับภาระการตรวจรักษา   ผู้รับบริการจึงขาดความมั่นใจในประสิทธิภาพ   นอกจากนี้พยาบาลยังมีความสับสนต่อบทบาทหน้าที่  ขาดทักษะ ขาดความพร้อม   ขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ  จากที่กล่าวมาจะพบว่าบุคลากรในทีมสุขภาพโดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ  จะเป็นกำลังหลักสำคัญในการดำเนินงาน  ทั้งในฐานะผู้ให้บริการ  ผู้จัดการ  ผู้นิเทศงาน ผู้ประสานงาน ทั้งนี้เพราะพยาบาลเป็นเสมือนรากหญ้าและกลุ่มพลังหลักในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ  พยาบาลวิชาชีพเป็นกำลังสำคัญในทีมสุขภาพของหน่วยบริการระดับปฐมภูมิแต่ยังคงประสบปัญหาในการดำเนินงาน   ทั้งนี้เพราะพยาบาลวิชาชีพขาดการเตรียมความพร้อมในด้านทักษะ  ความรู้   ความสามารถ   และเจตคติต่อการปฏิบัติงานในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ  ซึ่งจะเห็นได้จากหลักสูตรการศึกษาของพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านมามุ่งผลิตบัณฑิตพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมากกว่าในชุมชน   มุ่งเน้นการพยาบาล   การแก้ไขปัญหาโรคและอาการของผู้ป่วยมากกว่าการรักษาเบื้องต้น  การสร้างเสริมสุขภาพ  การป้องกันโรค  การสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งความรู้เพื่อการปฏิบัติงานในชุมชนมากนัก ดังนั้นพยาบาลวิชาชีพที่จะไปปฏิบัติงานในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์   ขยายขอบเขตของการปฏิบัติงาน  เตรียมความพร้อมพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะในการปฏิบัติงานในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยที่การกำหนดบทบาทหน้าที่การดำเนินงานในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิที่ผ่านมายึดตามนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   และมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับการประเมินรับรองมาตรฐาน ของสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมจึงต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาบทบาทภาระหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์จริงโดยใช้กระบวนการศึกษาวิจัย   ผลจากการวิเคราะห์องค์ประกอบสมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ  ด้วยสถิติเชิงวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor  analysis) พบองค์ประกอบที่สามารถอธิบายความแปรปรวนร่วมกันได้ร้อยละ 68.89 จำนวน 10 องค์ประกอบ ประกอบด้วย สมรรถนะด้านอนามัยชุมชน  สมรรถนะด้านเวชปฏิบัติครอบครัว    สมรรถนะด้านการบริหารจัดการ   สมรรถนะด้านการสร้างเสริมพลังและการมีส่วนร่วมของชุมชน  สมรรถนะด้านสังคมมนุษย์วิทยา  สมรรถนะด้านวิชาการและการวิจัย  สมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  สมรรถนะด้านการตลาดเชิงวิชาการ  สมรรถนะด้านภาวะผู้นำ  สมรรถนะด้านกฎหมายและจริยธรรม และผลการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างสมรรถนะที่จำเป็นของพยาบาลวิชาชีพในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิกับสมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต พ.ศ.  2545  ของกระทรวงสาธารณสุข  ด้วยสถิติการหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC)  ผลการวิเคราะห์พบว่า  สมรรถนะที่มีความสอดคล้องประกอบด้วย  ด้านอนามัยชุมชน  ด้านการบริหารจัดการ  ด้านการสร้างเสริมพลังและการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านสังคมมนุษย์วิทยา  ด้านวิชาการและการวิจัย ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านภาวะผู้นำ ด้านกฎหมายและจริยธรรม  ส่วนสมรรถนะที่ไม่มีความสอดคล้องประกอบด้วย  ด้านเวชปฏิบัติครอบครัว และ ด้านการตลาดเชิงวิชาการ

 

หมายเลขบันทึก: 238163เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2009 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ตามมาอ่านครับ
  • หายไปนานเลยครับ
  • ลองใช้อักษร
  • Tahoma 16 point
  • พิมพ์ใน word แล้ว copy มาลงใน gotoknow นะครับ
  • จะทำให้อ่านง่ายขึ้น
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ ดิฉันทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพที่เวชกรรมสังคมอยากทราบสมรรถนะของพยาบาลเวชกรรมสังคมค่ะ

กำลังเป็นที่กล่าวขานมากค่ะ เพราะว่าเริ่มประเมินแล้วอยากให้ สภา หรือ สมาคม ระบุให้ชัด พยาบาลแต่ละระดับ (ตามแท่ง) รวมทั้งแต่ขนาดของโรงพยาบาล (ปฐม ทุติ ตติยภูมิ) และวิธีการประเมิน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันค่ะ หรือว่ามีแล้ว ขอข้อมูลว่าจะสืบค้นที่ใดค่ะ

รบกวนสอบถามว่างานวิจัยที่เป็นรูปเล่มเรื่องวิเคราะห์องค์ประกอบสมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ของดร.ผกาวรรณ สามารถยืมได้ที่ไหนคะเนื่องจากกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท