รากเหง้าของปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาคือระบอบเผด็จการทหารพม่า


 

โดย สุรพงษ์ ชัยนาม 27 มกราคม 2552 16:47 น.

 

    กล่าวในภาพรวม ประเทศพม่าประกอบด้วยชาติพันธุ์ 19 กลุ่มหลักโดยชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาถือเป็นกลุ่มย่อยใน 19 กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในรัฐอาราคาน(Arakan) ด้านทิศตะวันตกของพม่า มีพรมแดนติดต่อกับประเทศบังกลาเทศ ซึ่งในรัฐอาราคานมีชนชาติอาราคานที่นับถือศาสนาพุทธประกอบเป็นกลุ่มคนส่วน ใหญ่ของรัฐอาราคาน

รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าสมัยนายพลเนวินได้ทำการรัฐประหารโค่นรัฐบาล ประชาธิปไตยของอูนุเมื่อปี พ.ศ. 2505 และได้สถาปนาระบอบเผด็จการทหารมาตลอด 46 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีทั่วไปว่า นับตั้งแต่ระบอบเผด็จการทหารพม่าขึ้นมามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเป็นเวลา 46 ปีเต็มจนถึงปัจจุบันระบอบเผด็จการทหารพม่ามีนโยบายเพื่อแบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) ในพม่าอย่างชัดเจนมาตลอด ด้วยการใช้ปัจจัยความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง 19 กลุ่มหลักและกลุ่มย่อย เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครอง สร้างความเกลียดชังความแตกแยกระหว่างคนเชื้อชาติพม่า (ซึ่งมีกว่า 70%) กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน ทั้งนี้ ฝ่ายเผด็จการทหารพม่าจะพยายามทำความเข้าใจและให้การสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ ต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธเพื่อดึงมาเป็นแนวร่วม ในการทำสงครามปราบปรามกลุ่มชนส่วนน้อยอื่น ๆ ที่ไม่นับถือศาสนาพุทธ (เช่น ปราบปรามชาวกะเหรี่ยง KNU ที่นับถือศาสนาคริสต์และชาวโรฮิงญาซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น) พร้อมกับให้ความร่วมมือกับกลุ่มชนส่วนน้อยบางกลุ่มหารายได้และผลประโยชน์ มหาศาลจากการผลิตและค้ายาเสพติดทุกประเภท (เช่น ยินยอมหลับหูหลับตาให้กับชนกลุ่มน้อยว้าแดงในรัฐฉานทำการผลิตและค้ายาบ้า เพื่อลักลอบเข้ามาขายในประเทศไทย) ตลอดจนการหารายได้จากการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น การตัดไม้ทำลายป่า)

       สำหรับกรณีของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในพม่านั้น รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรงมาโดยตลอด เพื่อบีบให้ชาวโรฮิงญาหนีการปราบปราม ทิ้งที่อยู่อาศัย อันเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวอาราคาน (ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ) เข้ามาครอบครองพื้นที่อาศัยของชาวโรฮิงญา การบีบให้ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาละทิ้งที่อยู่อาศัยเพื่อหนีการปราบปรามโดย ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าถือได้ว่าเป็นนโยบายการบริหารจัดการเพื่อกำจัด ชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบ (managed ethnic cleansing) ไม่ต่างจากนโยบายของอดีตประธานาธิบดี Slobodan Milosevic ที่ใช้การปราบปรามชาวบอสเนียอย่างรุนแรงเพื่อบีบให้ออกจากพื้นที่อาศัย เปิดทางให้ชาวเซิร์บเข้ามายึดครองพื้นที่อาศัยของชาวบอสเนียในอดีตประเทศ ยูโกสลาเวีย อีกทั้งไม่แตกต่างจากนโยบายและการปฏิบัติการรุนแรงของขบวนการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพื่อหวังสร้างความสะพรึงกลัวให้กับชาวไทยที่ไม่ใช่มุสลิมหนีอพยพออกจาก พื้นที่อันตรายของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำไปสู่สภาพการณ์ของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (internally displaced persons)เพื่อเปิดทางให้กับกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการร้ายย้ายเข้ามายึดครอง พื้นที่ที่ถูกทอดทิ้ง

      รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ทำการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงและ อย่างกว้างขวางครั้งใหญ่ 2 ครั้ง (ช่วงปี พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2544) โดยผลของการปราบปรามอย่างรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมทั้งสองครั้งดังกล่าวได้ทำให้ ชาวโรฮิงญาหนีภัยไปอาศัยอยู่ในประเทศบังกลาเทศ (ครั้งแรกจำนวน 200,000 คน ครั้งที่สอง 250,000 กว่าคน) และแม้ว่าทางสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (องค์การ UNHCR) จะได้ช่วยให้ชาวโรฮิงญาเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานเดิมในพม่าช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2544-2548 แต่เนื่องจากทางรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ปล่อยให้ชาวอาราคานที่นับถือศาสนา พุทธเข้าไปครอบครองพื้นที่อาศัยของชาวโรฮิงญาเกือบหมดแล้ว อีกทั้งไม่เคยให้สัญชาติพม่าแก่ชาวโรฮิงญา (รวมทั้งชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในพม่า) เป็นผลทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติในพม่าและยังต้องประสบกับการ ปราบปรามอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายทหารพม่า ทำให้ต้องหนีกลับไปหาที่พักพิงในค่ายผู้อพยพของ UNHCR (กว่า 60,000 คน) และค่ายที่ทางการบังกลาเทศจัดให้ (กว่า 100,000 คน) ภายใต้สภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค

      เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งในวงการของ NGO ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิมนุษยชนและความช่วยเหลือด้าน มนุษยธรรมว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวโรฮิงญาหนีภัยไปยังประเทศบังกลาเทศนั้น เป็นเพราะการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ส่วนการหนีออกจากค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศโดยเดินทางมาทางเรือโดยส่วนใหญ่อ้าง ว่าเพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย แต่หลงทางหรือถูกลมพัดมายังฝั่งไทยนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการไม่สามารถทนสภาพเลวร้ายของค่ายผู้อพยพ จึงจำเป็นต้องดิ้นรนหาแหล่งพักพิงใหม่ จึงทำให้เกิดขบวนการค้าและลักลอบมนุษย์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การที่ชาวโรฮิงญาสามารถเดินทางออกมาจากประเทศบังกลาเทศทางเรือโดยเลาะมาตาม ชายฝั่งของบังกลาเทศ พม่า จนถึงไทยได้ย่อมต้องได้รับการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ของบังกลาเทศและ พม่าจนสามารถมาขึ้นบนฝั่งไทยได้ มีการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้กับขบวนการลักลอบมนุษย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของบังกลาเทศ พม่า ไทย และมาเลเซียเป็นทอด ๆ ไป (ไม่แตกต่างจากขบวนการลักลอบมนุษย์ทางบกที่นำชาวเกาหลีเหนือหลบหนีออกมาจาก เกาหลีเหนือผ่านทางจีนลงมายังพม่าหรือลาว เพื่อเข้ามายังประเทศไทย) ชาวโรฮิงญาเหล่านี้เมื่อมาถึงไทยหรือมาเลเซียแล้วก็จะกระจายไปอยู่ตามโรงงาน ต่างๆ เป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ไม่ต่างจากแรงงานทาส และเป็นที่ต้องการของบรรดานายทุน เจ้าของโรงงาน เจ้าของไร่ยางพารา เพราะค่าจ้างต่ำมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เป็นผลทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับบุคคลเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหลาย สัญชาติหลายเผ่าพันธุ์ที่ขบวนการค้ามนุษย์และการลักลอบมนุษย์ในภูมิภาค เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก นำมาทิ้งไว้ให้ไทยต้องแบกภาระอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยการสมรู้ร่วมคิดของบรรดาเจ้าหน้าที่ไทยที่ทุจริตประพฤติมิชอบ

          โดยข้อเท็จจริงแล้ว รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ฝ่ายไทยจำต้องรีบดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหา ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายชาวโรฮิงญามาตั้งแต่กรกฎาคม 2550 แล้ว และได้มีบัญชาเป็นทางการมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคง แห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักร่วมกันพิจารณาดำเนินการหามาตรการแก้ไขเป็นการเร่ง ด่วนที่สุด พร้อมทั้งได้สั่งการชัดเจนให้กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมระดับภูมิภาค เกี่ยวกับประเด็นการลักลอบขนคนเข้าเมือง (Human smuggling) ที่กรุงเทพฯ ในโอกาสแรก ซึ่งรวมทั้งกรณีชาวโรฮิงญา แต่เวลาผ่านไป 1 ปีครึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้ดำเนินการอะไรอย่างจริงจัง กลับปล่อยปละละเลยจนมีเหตุการณ์ร้ายแรงตามที่เป็นข่าวเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางกองทัพเรือได้ปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาอย่างไร้มนุษยธรรม เป็นผลให้ชาวโรฮิงญาเสียชีวิตกลางทะเลจำนวนมาก ส่วนข่าวดังกล่าวจะจริงหรือเท็จยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ แต่ที่แน่นอนคือ ภาพลักษณ์และภาพพจน์ของประเทศไทยได้รับความเสียหายไปแล้วจากการรายงานข่าว ของบรรดาสื่อต่างประเทศ เพราะความไม่เอาใจใส่และไม่รับผิดชอบของหน่วยงานของไทย โดยปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่ง

ประเด็นข่าวเรื่องหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ ชาวโรฮิงญาจนมีผลทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมากนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่สิทธิในการผลักดันหรือในการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับ ไปยังแหล่งที่เดิม เพราะทุกประเทศมีอำนาจอธิปไตยที่จะไม่ให้มีการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หากแต่ประเด็นอยู่ที่วิธีการดำเนินการและการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาว่าผิดหลัก มนุษยธรรมหรือไม่ มีการดำเนินการเกินกว่าเหตุ และขัดต่อหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือไม่ แต่สิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่าชาวโรฮิงญามีสิทธิที่เข้าเมืองโดยผิด กฎหมายของไทยหรือมีสิทธิที่จะอ้างสิทธิมนุษยชนเพื่อละเมิดอธิปไตยในน่านน้ำ ของไทย ข้อครหาที่มีต่อรัฐบาลไทยจะเบาบางและหมดไปต่อเมื่อคณะกรรมการที่มีหน้าที่ สอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้สามารถสรุปความจริงออกมาได้อย่างปราศจากข้อ สงสัยใด ๆ ในโอกาสแรก

          โดยสรุปปัญหาเรื่องของคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายชาวโรฮิงญาโดยเนื้อหา แล้วไม่ได้แตกต่างจากแรงงานผิดกฎหมายชนกลุ่มน้อยชาวพม่าอีกกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทย รวมทั้งแรงงานผิดกฎหมายชาวเกาหลีเหนือ ชาวลาว และกัมพูชาอีกหลายหมื่นคนที่เข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมาย แต่ในกรณีของชาวพม่า(ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ) ที่หนีมาฝั่งไทยจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเป็นเพราะถูกปราบปรามอย่าง รุนแรงจากเผด็จการทหารพม่าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุการณ์ยืนยันให้เป็นที่ประจักษ์อย่างปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้นว่า รัฐบาลที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดและอย่างยาวนานที่สุดใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือภูมิภาคอาเซียนคือรัฐบาลของระบอบเผด็จการ ทหารพม่าซึ่งอยู่ในอำนาจมากว่า 46 ปีแล้ว ไม่ใช่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันแน่นอน ตรงกันข้ามประเทศไทยกลับต้องมาแบกภาระหนักหน่วงดูแลผู้อพยพผู้เข้าเมืองโดย ผิดกฎหมายจากประเทศพม่ามาเป็นเวลากว่า 46 ปี ทั้งนี้เพราะรากเหง้าของปัญหาชาวโรฮิงญาและปัญหาชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ จากพม่าที่หนีมาพักพิงในประเทศไทย มีสาเหตุโดยตรงมาจากระบอบการเมืองที่เป็นเผด็จการ และไร้มนุษยธรรมที่มีอยู่ในประเทศพม่า นั่นคือ ระบอบเผด็จการทหารพม่าที่ไม่เอื้ออาทรต่อประชาชนพม่าที่มุ่งแต่จะปราบปราม อย่างรุนแรง ที่ไม่เคยคิดแก้ปัญหาขัดแย้งที่มีกับบรรดากลุ่มชนส่วนน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางการเมืองหรือด้วยการเจรจาหาข้อยุติอย่างสันติวิธี แต่กลับมุ่งใช้การแก้ปัญหาขัดแย้งด้วยวิธีการทางการทหารตลอด 46 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ใส่ใจกับผลกระทบร้ายแรงที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย หากแต่จงใจสร้างปัญหาให้กับไทยมาโดยตลอดอย่างไม่มีที่จบสิ้น และในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวมานี้ จึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเพราะเหตุใดความขัดแย้งระหว่างระบอบเผด็จการทหาร พม่ากับบรรดากลุ่มชนส่วนน้อยกลุ่มต่าง ๆ ถึงไม่เคยได้ข้อยุติแบบสันติวิธีในรูปแบบของข้อตกลงทางการเมือง (political settlement) จะมีบางครั้งก็แต่เพียงในรูปแบบของข้อตกลงหยุดยิง (ceasefire agreement) อันเป็นเพียงการหย่าศึกชั่วคราวเท่านั้น เพื่อรอวันที่จะกลับมาห้ำหั่นกันอีกในอนาคต รากเหง้าของปัญหาร้ายแรงทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในพม่าและส่งผลกระทบทาง ลบโดยตรงต่อความมั่นคงทุกด้านของประเทศไทยคือ ระบอบการเมืองที่เป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ในพม่ามากว่า 46 ปีแล้ว ฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีกระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองภายในพม่าเกิด ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องและอย่างชอบธรรมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงบริเวณชายแดนด้านทิศตะวันตกของไทยก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

บทความพิเศษจากผู้จัดการออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 238132เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2009 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ

มาร่วมเรียนรู้ปัญหาคนเผ่าชนกลุ่มน้อย

ขอบพระคุณค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

....

เข้าใจว่าปัญหาของพม่าส่วนใหญ่แล้ว เกิดขึ้นจาก ระบบการเมืองภายใน เพราะ ผู้นำ ไม่จริงใจ ปชช. -การศึกษา สำคัญสุดค่ะ

....

มาเรียนรู้ เรื่องชนกลุ่มน้อย กลุ่มนี้ ที่คงถูกทอดทิ้ง ให้ทางunhcr & asian รับภาระอีกตามเคย

....

เอวัง เพื่อนบ้านเรา  ... ต้องทำใจ ใช่ไหมคะ

 

ธรรมรักษาโยมเทียนน้อย

อนุโมทนาสาธุ..

ธรรมรักษาโยม poo

ต้นเหตุก็มาจากความอยุติธรรม

ในชนชั้นผู้นำ ที่มองเห็น ชาติเืชื้อเผ่าพันธือื่น

นอกเหนือไปจากเผ่าพันธุ์ตนเองว่าไม่มีคุณค่า

ทั้งที่คนไม่ว่าจะชาติเชื้อ เผ่าพันธุ์ไหน ก็มีคุณค่า

ในตัวเองทั้งสิ้น หากผู้นำ ผู้มีอำนาจไม่เลือก

ปฏิบัติ คนเราก็จะอยู่อย่างเกื้อกูลกันได้ตามอัตตภาพ

อนุโมทนาสาธุ

นมัสการพระคุณเจ้าครับ

ผมต้องถูกตำหนิแน่ๆ ที่จะบอกว่า

เห็นด้วยกับการผลักดัน มนุษย์เรือพวกนี้ ออกไปให้พ้นจากน่านน้ำไทย

ซึ่งประเทศไหนก็คงจะทำเหมือนกัน อยู่ที่ว่า วิธีการ ทำอย่างไร ที่ไม่

ต้องโดน นานาชาติประนาม

ธรรมรักษาโยมวีระริก

อนุโมทนาด้วยที่ให้

ความเห็็้นไว้ โยมเป็นไงบ้าง

เห็นหายไปนาน สบายดีอยู่นะ

บุญรักษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท