การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๒๑)_๑


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๒๑)_๑


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๒๑ มาลงต่อนะครับ    เป็นการเอาตัวโครงการมาให้ทราบ     ขอย้ำว่าข้อเขียนทั้งหมดเขียนโดยมูลนิธิข้าวขวัญ


ภาคผนวก  ก
โครงการ  ส่งเสริมการจัดการความรู้
เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน


1.  ความสำคัญของปัญหา
             ระบบเกษตรกรรมหลักในประเทศไทยปัจจุบันคือระบบเกษตรกรรมในแนวทางปฏิวัติเขียว   (The Green Revolution) ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยว  ในพื้นที่กว้างขวาง โดยอาศัยปัจจัยการผลิตที่นำเข้าจากภายนอกพื้นที่  เช่น  พันธุ์พืช  พันธุ์สัตว์  ปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าแมลง     ยาฆ่าเชื้อรา  ยาปราบวัชพืช  ฯลฯ  รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตรและน้ำมันเชื้อเพลิง  ซึ่งการเกษตรแนวทางปฏิวัติเขียวนี้ดำเนินมาในประเทศไทยตั้งแต่แผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ 1  มาจนถึงปัจจุบัน  มีผลกระทบด้านต่างๆมากมาย  รวมทั้งด้านสุขภาพ ของทั้งเกษตรกรเองและประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภค
             ปัญหาที่เกิดจากระบบเกษตรกรรมแนวทางปฏิวัติเขียวดังกล่าวเป็นที่ตระหนักรู้กันทั่วไปมานับสิบปีแล้ว  โดยเฉพาะในส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนระบบเกษตรแนวทางการปฏิวัติเขียว  ให้เป็นระบบเกษตรกรรมที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังเห็นได้จากการก่อตั้ง  “เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก” ขึ้นเมื่อปี  พ.ศ.  2532  และทำงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
             ในแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่  8  (พ.ศ.2539 – 2544)  ได้กำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรจำนวน  20  %  หรือประมาณ  25  ล้านไร่  ให้เป็นการเกษตรในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  4  รูปแบบ คือ  เกษตรผสมผสาน  วนเกษตร  เกษตรอินทรีย์  และเกษตรธรรมชาติ  จากนั้นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับเกษตรรายย่อยได้เสนอ  “โครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย”   ต่อรัฐบาล  และได้รับการอนุมัติงบประมาณ  633  ล้านบาท  ให้ดำเนินงานในช่วงปี  พ.ศ.2544 – 2546  สำหรับภาครัฐเองก็มีการดำเนินงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนควบคู่ไปกับภาคประชาชนหลายโครงการ
             อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน  ปัญหาจากระบบเกษตรกรรมแนวทางปฏิวัติเขียวก็ยังไม่ได้ลดลง เพราะจากตัวเลขการนำเข้าสารเคมีการเกษตรของประเทศไทยปรากฏว่ายังคงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี  และการเพิ่มขึ้นของสารเคมีการเกษตรดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคร้ายแรงบางโรค เช่น มะเร็งเป็นต้น  ดังนั้น  การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรที่พึ่งพาสารเคมี (ระบบเกษตรกรรมแนวทางปฏิวัติเขียว)  ไปเป็นการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดปริมาณการนำเข้าสารเคมีการเกษตรในอนาคต  ซึ่งจะมีผลทำให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้นด้วย
             ปัจจุบันประชาชนทั่วไปทราบดีถึงพิษภัยของสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร  และเรียกร้องให้มีการควบคุมการสารเคมีในการเกษตร  รวมทั้งผู้บริโภคก็ต้องการสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยจาก “สารพิษ”  “ไร้สารพิษ”  “ปลอดสารพิษ”  หรือสินค้า  “เกษตรอินทรีย์”  กันมากขึ้น  ในประเทศไทยมีองค์กรทำหน้าที่กำหนด ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการเชื่อถือระดับโลกแล้ว  คือ  “มูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  (มกท.)”  ทำงานร่วมกับเกษตรกรไทยทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก  มกท.  สามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลกในฐานะสินค้าเกษตรอินทรีย์  (Organic Products)  เป็นที่ต้องการของตลาดโลกและได้ราคาสูงกว่าสินค้าปกติไม่ต่ำกว่า 30  %  รวมทั้งตลาดในประเทศไทยก็ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
             การขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี  (เกษตรกรรมยั่งยืน)  อันเป็นระบบการเกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพเป็นไปอย่างล่าช้ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของประชาชนและตลาดทั่วโลก ทั้งนี้นอกจากนโยบายและการทำงานของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนจริงจังเท่าการส่งเสริมระบบเกษตรแนวทางปฏิวัติเขียวแล้ว  ส่วนหนึ่งเกิดจากขาดเทคโนโลยีที่ใช้ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและมีประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือดีกว่าเทคโนโลยีในระบบเกษตรแนวปฏิวัติเขียว  เช่น  พันธุ์พืช  พันธุ์สัตว์ที่จะนำมาใช้กับระบบการเกษตรที่ปลอดสารเคมี  แต่ได้ปริมาณและคุณภาพเท่าเทียมหรือดีกว่าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันในระบบสารเคมี  การปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี  แต่ให้ผลผลิตปริมาณเท่ากันหรือดีกว่า  ฯลฯ  เหล่านี้ต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่ใช้ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น
             ความสำเร็จในการส่งเสริมระบบการเกษตรแนวทางการปฏิวัติเขียวนั้นอาศัยการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  ตัวอย่างเช่น  ด้านพันธุ์ข้าว มีการก่อตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ  (IRRI)  ที่ประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี  พ.ศ.2503  พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆที่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีได้ดี  เช่น  พันธุ์  IR  หมายเลขต่างๆ  สืบเนื่องมาจนปัจจุบันในประเทศไทยก็มีกรมงานวิจัยข้าว  ผลิตพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี  เช่น  พันธุ์  กข.  หมายเลขต่างๆ จนเปลี่ยนเป็นกรมวิชาการเกษตรก็ยังผลิตพันธุ์ข้าวมาในชื่อสถานีทดลองข้าว  เช่น  สุพรรณ 60  ชัยนาท 1 ปทุมธานี 1  เป็นต้น
             พันธุ์ข้าวดังกล่าวมานี้ ล้วนได้รับการผสมพันธุ์และคัดเลือกให้เหมาะสมกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งสิ้นโดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อเกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวดังกล่าวนี้จึงต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นทุกที ส่งผลให้ต้องใช้สารเคมีชนิดอื่น  (ฆ่าแมลง  เชื้อรา  วัชพืช)  มากตามไปด้วย  ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมีดังกล่าวจึงไม่เหมาะกับพันธุ์ข้าวเหล่านั้น  แต่เหมาะกับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองดั้งเดิม  (เช่น  พันธุ์หอมมะลิ  นางมล  สังข์หยด  ฯลฯ)  แต่ข้อจำกัดของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านดั้งเดิมคือ  ปลูกได้เพียงปีละครั้งเดียวในฤดูฝน  ดังนั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจึงมีความจำเป็นเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้แทนพันธุ์ที่มีอยู่เดิม  และเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีหรือปัจจัยภายนอก  (เช่น  การชลประทาน)  มากอย่างพันธุ์ที่ได้รับการส่งเสริมในปัจจุบัน
             ด้านการควบคุมศัตรูพืช สัตว์  การปรับปรุงบำรุงดิน  ฯลฯ  ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เช่นเดียวกัน  เพื่อสนับสนุนให้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาพสามารถแทนที่ระบบเกษตรแนวทางการปฏิวัติเขียวได้จริง  เกษตรกรยอมรับได้เพราะได้ผลตอบแทนดีกว่าระบบเดิม  และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนหรือมีราคาแพง  เกษตรกรสารถเรียนรู้และจัดการเทคโนโลยีดังกล่าวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก ยิ่งกว่านั้นยังสามารถพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพไร่นาของตนยิ่งขึ้นไปอีกได้ด้วย
             ที่สำคัญที่สุด การที่เกษตรกรส่งผ่านความรู้  ภูมิปัญญา  และวิธีคิดในการทำการเกษตรที่พอเพียง และเหมาะสมกับสภาพของชุมชน  ครอบครัว  จากรุ่นสู่รุ่น  การเรียนรู้  และการจัดการความรู้เป็นไปอย่างเรียบง่าย  และสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ไม่เป็นทาสของระบบนายทุนได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องแต่กลับสดุดหยุดอยู่กับที่และเริ่มลดน้อยลงจนเกือบจะหมดไปเมื่อรัฐบาลได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ฉบับที่  1  เป็นต้นมา  การเรียนรู้  การจัดการความรู้ถูกเปลี่ยนมือมาสู่ทบวง  กรม  ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร  ได้แก่  กรมการข้าว  ต่อมาเป็นศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว  การตั้งกรมวิชาการเกษตรมาทำหน้าที่ศึกษา  และวิจัยพันธุ์พืชอื่นๆ  ซึ่งอาจจะเป็นการดีถ้ากรมต่างๆที่ตั้งขึ้นเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาเกษตรกรทั้งระบบคิด  ความรู้  การจัดการไร่นาได้ด้วยตัวเอง  ในความเป็นจริงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองเพื่อประโยชน์ของชาวนาส่วนใหญ่  แต่กลับทำหน้าที่เพื่อสนองตอบต่อกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ค้าขายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย  และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแทบทั้งสิ้น
             น่าจะถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรควรจะได้รับสิทธิในการดูแล  ศึกษา  เรียนรู้  และจัดการระบบเกษตรที่ตนเองคิดว่าเป็นทางรอดของตนเอง  ของสังคม  ได้ด้วยตนเอง  ดังนั้นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา  ได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆที่เหมาะสม  ได้ฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สูญหาย  และนำมาวางแผนปฏิบัติในไร่นาให้บังเกิดผลที่ดีต่อสุขภาพทั้งของตนเองและผู้บริโภค   สิ่งแวดล้อม  และที่สำคัญยังสามารถเป็นกำลังที่สำคัญในการเผยแพร่ความรู้ต่างๆสู่สังคมภายนอกได้
             มูลนิธิข้าวขวัญทำงานด้านพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับใช้ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาพมาตั้งแต่  พ.ศ.2532  เมื่อครั้งยังใช้ชื่อ  “ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม”  อยู่  โดยได้ร่วมมือกับชาวนาบางรายพัฒนาเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม  (Participatory  Technology  Development – PTD)  เช่น  การควบคุมศัตรูพืช การปรับปรุงดิน  การพัฒนาพันธุ์ข้าว  และพืชผักบางชนิด  ชาวนาบางคนที่ร่วมการพัฒนาเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมได้รับรางวัล  ชาวนาดีเด่นระดับชาติ  ตั้งแต่ปี  พ.ศ.2538 (คุณชัยพร  พรหมพันธุ์)  ในขณะเดียวกัน  มูลนิธิข้าวขวัญในฐานะสมาชิกของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกก็มีบทบาทสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ  ให้แก่สมาชิกเครือข่ายฯ  ทั้งด้านองค์ความรู้  และการฝึกอบรมในโครงการนำร่องฯ  มูลนิธิฯ ร่วมกับเกษตรกรในโครงการนำร่องฯ ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรด้านต่างๆ  รวม  5  เรื่อง  ตั้งแต่เรื่องพันธุ์ข้าว  พันธุ์ผัก  พันธุ์ไม้ผล  การควบคุมศัตรูพืช  และการปรับปรุงบำรุงดิน
             งานวิจัยและพัฒนาในโครงการนำร่องฯ จะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2547  นี้  มูลนิธิข้าวขวัญจะดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไปเพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะกับท้องถิ่นและมีประสิทธิภาพสูง เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรในท้องถิ่นมากขึ้น  ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่สนับสนุนให้สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกให้สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับใช้ พัฒนาหรือขยายผลให้กว้างขวางออกไปด้วย
2.  วัตถุประสงค์ของโครงการ
             2.1  เพื่อให้ชาวนาได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันอย่างอิสระ  และสามารถสร้างความรู้และเทคโนโลยีของตนเองสำหรับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้ในเรื่องสำคัญ  3  เรื่อง  ได้แก่
                   2.1.1  การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี
                   2.1.2  การปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช้สารเคมี
                   2.2.2  การพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
             2.2  เพื่อให้เกิดการผสมผสานความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ทั้งจากมูลนิธิข้าวขวัญ  ซึ่งเป็น          ผู้อำนวยจัดกระบวนการเรียนรู้  และจากแหล่งภายนอกอื่นๆ  อันจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชาวนาทุกคน  คือ  การมีสุขภาวะที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
             2.3  เพื่อสนับสนุนให้เกิดชุมชนชาวนา  (Community  of  Practice)  ที่สามารถเชื่อมโยงกัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องถึงแม้โครงการจะสิ้นสุดโดยสมาชิกมีทั้งกลุ่มเป้าหมายของโครงการและจากที่อื่นๆทั่วประเทศ
             2.4  นำผลสัมฤทธิ์ของโครงการเป็นเครื่องมือผลักดันเชิงนโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนและนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพแก่เกษตรกรต่อไป
3.  หลักการในการดำเนินงาน
             3.1  ให้ชาวนาเป็นตัวหลัก มีอิสระในการตัดสินใจเลือกใช้ความรู้เพื่อทดลองปฏิบัติ
             3.2  มูลนิธิข้าวขวัญเป็นผู้จัดการโครงการ  และผู้อำนวยให้เกิดกระบวนการกลุ่มและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
             3.3  ค้นคว้า  รวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กรท้องถิ่น  และแหล่งอื่นเพื่อนำมาใช้ใน      กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย
             3.4  พัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติมระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
4.  ขั้นตอนการดำเนินงาน
             4.1  จัดเวทีเพื่อตั้งโจทย์และหาเพื่อนร่วมกิจกรรม
                   4.1.1  ระดมข้อมูล ทบทวนสถานการณ์ การปรับเปลี่ยนการทำนาตั้งแต่อดีต – ปัจจุบันของชาวนาในพื้นที่เป้าหมาย
                   4.1.2  ระดมปัญหาที่พบในการทำนาด้านต่างๆในการทำนาของชาวนาพื้นที่เป้าหมาย
                   4.1.3  วิเคราะห์และคัดเลือกปัญหาที่ชาวนาในพื้นที่มีเหมือนกัน  เพื่อนำมาร่วมกันแก้ไขปัญหา
                   4.1.4  สรรหา คัดเลือกชาวนาที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ค้นพบร่วมกัน
             4.2  จัดเวทีเพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางร่วมกัน
                   4.2.1  ระดมความคิดเห็นทิศทางในการแก้ปัญหาจากเวทีที่  1
                   4.2.2  การให้ข้อมูลแนวทางและทิศทางการแก้ไขปัญหาจากแหล่งเรียนรู้อื่นอย่างเปิดกว้าง
                   4.2.3  นำเสนอทิศทางและเงื่อนไขการทำงานของมูลนิธิข้าวขวัญ  และบทบาทของชาวนาที่ทำงานร่วมกัน
                   4.2.4  สรรหาและคัดเลือกชาวนาจาก  ข้อ  4.1.4  ที่สามารถยอมรับเงื่อนไขได้
             4.3  ทำกิจกรรม
                   4.3.1  ปรับวิธีคิดในการทำการเกษตร  โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่าน  3  หลักสูตรของโรงเรียนชาวนา  โดยแต่ละหลักสูตรจะใช้เวลาทั้งสิ้น  18  สัปดาห์ๆ  ละ  3  ชั่วโมง  ในการศึกษาเรียนรู้แต่ละสัปดาห์ ชาวนาได้รับการเติมความรู้ภาคทฤษฎีจากวิทยากรชาวบ้าน  และลงมือปฏิบัติจริงในแปลงนาของตนเอง  ขณะที่ลงมือปฏิบัติชาวนาจะต้องมีข้อมูลที่ได้จากการสังเกต  การบันทึกการเปลี่ยนแปลงในไร่นาของตนและนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในแต่ละสัปดาห์  และมีการสรุปบทเรียนในสัปดาห์สุดท้ายของแต่ละหลักสูตร  โดย  3  หลักสูตรที่กล่าวถึงข้างต้น  ได้แก่
                             (1)  การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี (Alternative Pest Management - APM)
                             (2)  การปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช้สารเคมี
                             (3)  การปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
                             จากกระบวนการทำงานในข้อ  4.3.1  โครงการสามารถค้นหาตัวชาวนาที่จะนำมาพัฒนาเป็น  Knowledge  facilitator  ในด้านพัฒนาพันธุ์ข้าว ได้จำนวนหนึ่ง 
                   4.3.2  การปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่มีอยู่เดิมให้เหมาะสมในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
                             (1)  ระดมความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น
                             (2)  ศึกษาดูงานนอกพื้นที่เพี่อพัฒนาศักยภาพชาวนา  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวนาในที่อื่นๆ และนักวิชาการหรือปราชญ์ชาวบ้าน เกี่ยวกับการจัดการความรู้ด้านการทำนา
                             (3)  คัดเลือกพันธุ์ข้าวเพื่อนำมาปลูกทดสอบในแปลงนาของอาสาสมัคร ซึ่งร่วมกันวางแผนทั้งชาวนาและคณะทำงานให้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
                             (4)  เวทีสรุปผลการคัดเลือกพันธุ์ข้าว ให้ได้ตรงตามความต้องการของชาวนาและผู้  บริโภค กล่าวคือ มีน้ำหนักดี ต้านทานโรคและศัตรูพืช เหมาะสมกับพื้นที่ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง รสชาติดี
                             (5)  นำพันธุ์ข้าวที่คัดเลือกไปขยายผล ให้กับชาวนาที่สนใจและเครือข่ายชาวนา
                   4.3.3  การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ในท้องถิ่น
                             (1)  เวทีระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชาวนา โรงสี  ผู้บริโภค นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ถึงลักษณะพันธุ์ข้าวที่ต้องการทั้งในรูปของการบริโภคและการจำหน่าย  พร้อมทั้งรวมกันคัดเลือกชาวนาที่ต้องการเข้าร่วมพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้ตามที่ต้องการ 
                             (2)  ศึกษาดูงานนอกพื้นที่ และอบรมการผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ข้าวใหม่  เพื่อพัฒนาศักยภาพชาวนา โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าว
                             (3)  กิจกรรมพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกับอาสาสมัคร  ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ข้าว  และคัดเลือกพันธ์ข้าวที่ต้องการ
                             (4)  เวทีสรุปผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวด้านต่างๆ  ได้แก่  ลักษณะประจำพันธุ์ คุณภาพการหุงต้ม  ผลผลิตต่อไร่  ความต้านทานต่อศัตรูพืช  และคัดเลือกพันธุ์ข้าวตามที่ต้องการ
                             (5)  ได้พันธุ์ข้าวใหม่ที่เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
                   4.3.4 สรุปบทเรียนการทำงาน
                             (1)  ได้พันธุ์ข้าวใหม่ที่เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
                             (2)  เวทีชาวนาเพื่อนเยี่ยมเพื่อนทุก  3  เดือน  เพี่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ  ให้กำลังใจ  โดยการจัดเวทีแบบสัญจรนี้เป็นการศึกษาดูงานไปในคราว เดียวกันด้วย
                             (3)  เวทีสรุปบทเรียนชาวนาทุก  6  เดือน  โดยเป็นการทบทวนการทำงานที่ผ่านมา  และนำ ผลการสรุปมาปรับปรุงการทำงาน  พร้อมกับแผนงานที่วางไว้เดิม  ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
                             (4)  เวทีสรุปบทเรียนการทำงานองค์กรทุก  6  เดือน  โดยร่วมกับ  ส.ค.ส  นักวิชาการ  ปราชญ์ชาวบ้าน  ชาวนา  และมูลนิธิข้าวขวัญ  สรุปผลการทำงาน เพื่อนำผลการสรุปมาพัฒนาการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้  
                             (5)  เวทีสรุปบทเรียนเครือข่ายชาวนา  เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง
                   4.3.5  ขยายผลสู่สาธารณะ
                             (1)  จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว  ให้กับเครือข่ายชาวนาทั่วประเทศ  (ประมาณ  370  คน)  ได้แก่  การปรับปรุงคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีอยู่เดิม การผสมพันธุ์ข้าว  และการรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์  รวมถึงการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องวิธีคิดการทำนาแบบยั่งยืน และการพึ่งตนเอง
                             (2)  การทำสื่อ  จัดทำคู่มือหลักสูตร  3  หลักสูตร  วีดีทัศน์  3  เรื่อง  และนิทรรศการเคลื่อนที่  3  เรื่อง  ได้แก่  การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี  การปรับปรุงบำรุงดิน  และการพัฒนาพันธุ์ข้าว  และคู่มือการจัดการความรู้ของชาวนา  คู่มือนักอำนวยการจัดการความรู้  รวมทั้งการจัดทำทำเนียบแหล่งเรียนรู้  ทำเนียบเครือข่ายชาวนา
                             (3)  การตั้งชุมชนชาวนาพัฒนาพันธุ์ข้าว  (เพื่อการวางแผนในการพัฒนาพันธุ์ข้าวทั้งในส่วนของการบริโภคและการจำหน่าย  โดยการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย  ให้เกิดการเคลื่อนงานอย่างเป็นขบวน  และเกิดการช่วยเหลือกันในด้านต่างๆอย่างยั่งยืน  
                   4.3.6 ประสานการสร้างเครือข่ายชุมชนชาวนา
                             (1)  จัดเวทีเพื่อให้ชาวนา  ได้พบปะ  เข้าถึง  และเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้
                             (2)  จัดเวทีเพื่อให้เกิดเครือข่ายชุมชนชาวนา เพื่อให้ชาวนาในพื้นที่ต่างๆได้พบปะกัน  และแลกเปลี่ยนความรู้กัน  รวมทั้งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2373เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2005 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท