สนามหลวง : รัฐธรรมนูญฯ๒๕๕๐ มาตรา ๕๕ ...????


เมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็มีบ้างทั้งประสบความสำเร็จกลับไปอย่างสง่าผ่าเผยและภาคภูมิใจ กลับเป็นแรงกระตุ้นให้คนรุ่นอื่น ๆ อยากที่จะเข้ามาสู่เมืองหลวงแห่งนี้มากยิ่งขึ้น แต่ในมุ้มกลับกัน คนที่ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่กล้ากลับไปสู้หน้าคนในครอบครัว ไม่กล้ากลับไปตอบคำถามของคนในชุมชน กัดฟันที่จะสู้ต่อในเมืองหลวงแห่งนี้ และนั่นเอง คือจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ฅนสนามหลวง

สนามหลวง : รัฐธรรมนูญฯ๒๕๕๐ มาตรา ๕๕ ...????

ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๕๕ ที่ระบุไว้ว่า บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิ ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ .... คำถามที่อยากจะถามต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไล่เรียงมาตั้งแต่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๙-๒๕๕๐ นั้นมีแนวคิดที่เป็นคำตอบในใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ถึงได้ นำเรื่องนี้มาระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญ ฉบับที่กล่าวอ้างว่าดีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน??? เพราะมาจนถึงวันนี้ ตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ยังไม่มีมาตรการใดใด หรือ กฎหมายใดใด ที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา ๕๕ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เลย หนำซ้ำรัฐบาลทั้งของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่แต่งตั้งอดีตองคมนตรีอย่าง พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือ ไล่เรียงมา ถึง นายสมัคร สุนทรเวช มานายสมชายวงษ์สวัสดิ์ และล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังไม่ใครกล่าวถึงการดำเนินการตาม มาตรา ๕๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย ??

สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน(องค์กรสาธารณประโยชน์) ในฐานะที่เข้าคลุกคลีทำงานกับบุคคลที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง พบว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่การขาดที่อยู่อาศัย หากแต่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะมีสภาพการกดดันจากครอบครัว ชุมชนและสังคม ภายใต้กระแสทุนนิยมที่เข้ากลืนกินสังคมไทยมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ที่ส่งผลให้คนชนบทต้องดิ้นรนเข้ามาบางกอก หรือกรุงเทพมหานคร โดยในระยะแรกใช้เส้นทางของรถไฟที่มีศักยภาพขนคนได้คราวละมาก ๆ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อความเป็นบางกอก หรือกรุงเทพมหานคร ผ่านสื่อสาธารณะ หนังกลางแปลง แม้ว่าจะมีความพยายามดึงรั้งคนชนบทบางส่วนไว้ด้วยสื่ออื่น ๆ แต่ ด้วยความเจริญที่เป็นจังหวะก้าวกระโดอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้คนไทยชนบททะลักเข้ามายังใจกลางประเทศพร้อม ๆ กับการหอบหิ้วความหวังของคนที่อยู่ข้างหลังมาด้วยอย่างเต็มทั้งสองบ่า

เมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็มีบ้างทั้งประสบความสำเร็จกลับไปอย่างสง่าผ่าเผยและภาคภูมิใจ กลับเป็นแรงกระตุ้นให้คนรุ่นอื่น ๆ อยากที่จะเข้ามาสู่เมืองหลวงแห่งนี้มากยิ่งขึ้น แต่ในมุ้มกลับกัน คนที่ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่กล้ากลับไปสู้หน้าคนในครอบครัว ไม่กล้ากลับไปตอบคำถามของคนในชุมชน กัดฟันที่จะสู้ต่อในเมืองหลวงแห่งนี้ และนั่นเอง คือจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ฅนสนามหลวง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการกวาดจับ กวาดล้าง ผลักดัน ให้คนกลุ่มนี้ ออกจากพื้นที่สาธารณะด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา การหาที่พักพิง หาบ้านให้อยู่ เป็นโจทย์แรก ๆ ของการแก้ไขปัญหานี้ โดยไม่สืบค้นหารากที่แท้จริงและไม่กระตุ้นให้เขายอมรับความเป็นจริงที่เขาประสบ โดยเฉพาะ การยอมรับในเบื้องต้นก่อนว่า คนทุนคนมีบ้าน แต่จากบ้านมาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป และหากสืบค้นสาเหตุที่มาที่ไปอย่างลงลึกได้ จะพบว่า แท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้ ไม่ได้ต้องการ ฮาร์ทแวร์ที่ชื่อว่าบ้าน หากแต่เขาต้องการ ซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่าบ้านต่างหาก กรมีที่อยู่ให้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ สถานสงเคราะห์ บ้านพักคนไร้บ้าน หรือบ้านอื่น ๆ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงเป้าถูกประเด็น เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องของที่อยู่ที่พักพิงเท่านั้น การแก้ไขปัญหาที่แท้ ต้องเร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจให้เขากลับมายอมรับตนเอง ยอมรับความล้มเหลว เพื่อที่จะลุกขึ้นมาสู้กับชีวิตต่ออย่างมีแบบแผนและมีพลัง

ภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๕๕ อาจจะเป็นโอกาสแรก ๆ ที่ รัฐ ต้องใช้ให้เป็นโอกาสในการปรับวิธีคิดในการแก้ไขปัญหา เลิกที่จะคิดการสร้างงานที่เป็นฐานเสียงทางการเมืองของพรรคพวกตนเอง หันมากล้าที่จะสร้างพลังทางความคิดให้แก้คนยากจน ยากไร้ ที่ ระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ว่า บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิ ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ โดยเฉพาะคำว่า ความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ ..?? อะไร คือความเหมาะสม และทำไม ต้องเป็นเพียงผู้รับเพียงอย่างเดียว ทำไม ไม่สามารถร่วมคิดร่วมเรียกร้องจากความต้องการของเขาเองได้บ้าง ??

หมายเลขบันทึก: 237118เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2009 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท