การประเมินคุณภาพโรงเรียน


ถือเป็นการสร้างภาพหรือเปล่า

      เมื่อวานนี้(21 มกราคม 2552) คณะกรรมการประเมินคุณภาพของเขตพื้นที่การศึกษาได้เข้ามาตรวจสอบ  ประเมินคุณภาพภายในของโรงเรียน  ซึ่งแน่นอน  อันดับแรกก็ต้องประเมินจากเอกสารหลักฐาน  ดูไปตามข้อกระทง  ตัวบ่งชี้ของแต่ละมาตรฐาน  โรงเรียนไหนอยากได้คะแนนมากๆ  ก็ต้องแสดงตัวบ่งชี้ให้เห็นตามเกณฑ์มาตรฐานนั้นๆ  ไม่ได้ต่อต้านการประเมินนะคะ  แต่บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าอย่างนี้ถือเป็นการสร้างภาพหรือเปล่า  โชคดีีที่คณะกรรมการมาประเมินในวันที่มีชั่วโมงสอนน้อย  จึงมีเวลาไปรับฟังการประเมินโดยไม่ต้องกังวล

     คณะกรรมการประกอบด้วย รองผู้อำนวยการเขต เป็นประธาน ผู้บริหารโรงเรียน และ ศน. ล้วนแต่ผู้เชี่ยวชาญมีความสามารถทั้งนั้น  ลักษณะการประเมินก็เป็นไปแบบกัลยาณมิตร  ถ้อยทีถ้อยอาศัย  ไม่ได้หักหาญว่ากล่าวกันแบบฟันธง  ทั้งที่โรงเรียนก็นำเอกสารหลักฐานมาแสดงกันเท่าที่จำเป็น  ไม่ได้ดึงผลงานครูที่นำเสนอในการประเมินด้านที่ 1 ที่ 2 ของการทำผลงานเพื่อขอวิทยะฐานะมาแสดงด้วย  ไม่เช่นนั้นก็คงต้องเสียเวลาขน  เสียเวลาเก็บกันอีกเป็นโกลาหล 

     ชอบที่สุดของการประเมินคือการสุ่มรายชื่อนักเรียนมาตอบคำถาม  แน่นอน  การสุ่มแบบนี้ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเตรียมตัวนักเรียนไว้ล่วงหน้าได้อยู่แล้ว  ก็ต้องเจอทั้งนักเรียนดี  ปานกลาง  อ่อน  คละเคล้ากันไป แต่การประเมินการเขียนตามคำบอกมีความรู้สึกว่าเป็นคำยากไปสักนิด  น่าจะให้เขียนคำที่ใช้บ่อยๆในชีวิตประจำวันแต่เป็นคำที่มักใช้ผิดๆน่าจะดีกว่า  การให้นักเรียนทำข้อสอบคณิตศาสตร์ก็ดีแต่ถ้าจะให้ผลการสอบออกมาดูดีกว่านี้ก็ต้องสุ่มนักเรียนมาสอบให้มากกว่านี้  อัตราส่วนกลุ่มตัวอย่างน้อยๆ  ก็ทำให้ผลการประเมินไบแอสได้เหมือนกัน  คะแนนการประเมินมาตรฐานเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  อยากให้เขตพื้นที่ลองทบทวนกับสมศ.ดูบ้าง  เพราะคิดว่าตัวเลขเกณฑ์ประเมินที่สมศ.กำหนดดูเป็นจินตนาการมากไป  ปกติโค้งผลการเรียนมันก็ต้องเป็นโค้งปกติ  มีทั้งผลการเรียนสูงและต่ำพอๆกันและคนส่วนใหญ่มีผลการเรียนปานกลาง  ไม่ใช่คนส่วนใหญ่มีผลการเรียนดีและดีมากพยายามจะทำให้โค้งเบ้แบบนี้  ผลการเรียนมันก็อาจจะไม่ได้สะท้อนผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงก็ได้

      ถ้าไม่ต้องเสียเวลาในการประเมินมากๆ  ถือว่าการประเมินก็เป็นผลดีที่จะช่วยกระตุ้นให้โรงเรียนมีความพยายามในการพัฒนาตนเอง   ถ้าแต่ละโรงเรียนไม่มีอคติในตนเองมากนัก  การประเมินก็คงจะช่วยให้หลายโรงเรียนมีมุมมองในการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น  เป็นห่วงก็แต่ผู้ประเมินที่เป็นผู้บริหาร  ต้องไปประเมินคนอื่นตลอดแทบไม่ได้กลับโรงเรียน  แถมค่าใช้จ่ายยังขาดงบประมาณสนับสนุน  ขอให้กำลังใจผู้ประเมินทุกท่านให้ช่วยกันกระตุ้นวงการศึกษา  ถ้าเห็นอะไรไม่เข้าท่าก็ว่ากันบ้างก็ได้  ยินดีน้อมรับการประเมินค่ะ

หมายเลขบันทึก: 236802เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นอีกหนึ่งความคิดที่น่าสนใจค่ะ

อาจารย์ขยันพิมพ์มากเลยครับ

ยังไงก็เขียนอะไรมาเล่าบ่อยๆ น่ะครับ จะคอยอ่านครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท